เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงเคยได้ยินชื่อรางวัล Pulitzer กันนะครับ เล่าย่อๆ มันคือรางวัลที่จะมอบให้กับงานเขียนหลายรูปแบบ ทั้งบทความ ข่าว บทกวี และวรรณกรรมในสหรัฐอเมริกา Pulitzer ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และได้รับการยอมรับมากครับ
ผมไม่ค่อยติดตามรางวัลนี้ในสาขาอื่นๆ สักเท่าไรนัก มักวนเวียนอยู่แค่กับสาขาวรรณกรรม หนังสือเล่มดังๆ ที่เคยคว้ารางวัลนี้มาได้ก็มีเช่น The Road นวนิยาย post apocalyptic โดย Cormac McCarthy, The Brief Wondrous Life of Oscar Wao นวนิยายที่ถ่ายทอดชีวิตอันเจ็บปวดของเด็กชายชาวดอมินิกัน โดย Junot Diaz หรือล่าสุดในปีนี้รางวัลก็ตกเป็นของ The Underground Railroad นวนิยายบอกเล่าการหลบหนีของทาสในอเมริกัน โดย Colson Whitehead
เกริ่นมาขนาดนี้ก็แน่นอนครับว่าหนังสือที่ผมหยิบมาเล่าสัปดาห์นี้ก็ปะดวงตราสีทองของรางวัล Pulitzer บนหน้าปกเช่นกัน นวนิยายเล่มนี้ชื่อว่า The Sympathizer โดย Viet Thanh Nguyen นักเขียนชาวเวียดนามอเมริกัน
The Sympathizer ถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่การล่มสลายของไซ่ง่อนในช่วงสงครามเวียดนามและผลกระทบของสงครามหลังจากนั้น ผ่านการบอกเล่าของสายลับคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนาม ที่แฝงตัวเป็นลูกน้องของนายพลฝั่งศัตรูแห่งเวียดนามใต้ Nguyen พาเราติดตามเส้นทางชีวิตของสายลับไร้ชื่อผู้นี้เมื่อเขาจำต้องติดตามนายพลที่หลบหนีความพ่ายแพ้และการล่มสลายของฝั่งตัวเอง จำใจต้องมาหลบซ่อนตัวอยู่ในอเมริกา
เพียงแค่ประโยคเปิดของหนังสือที่ว่า
“I am a spy, a sleeper, a spook, a man of two faces. Perhaps not surprisingly, I am also a man of two minds. I am not some misunderstood mutant from a comic book or a horror movie, although some have treated me as such. I am simply able to see any issue from both sides.”
The Sympathizer ก็คว้าจับความสนใจผมได้อยู่หมัด นั่นเพราะการแนะนำตัวแค่สั้นๆ นี้ได้เผยโครงสร้างคร่าวๆ ของนวนิยายเล่มนี้ได้อย่างชาญฉลาด นั่นคือการที่มุมมองของหนังสือเล่มนี้จะถูกนำเสนอผ่านสายตาของสายลับที่พฤติกรรมภายนอกและความคิดภายในล้วนสวนทางกัน หรือเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว หาได้เกิดจากปฏิกิริยาเช่นมนุษย์ปกติ แต่เป็นไปเพื่อการบรรลุภารกิจ
บทเปิดนี้บอกกับเราว่า ตัวตนของตัวเอกเราคือผลลัพธ์ของการประกอบสร้างขึ้นของสองขั้วความคิด หากแม้ใจเขาจะฝักใฝ่ในอีกฝั่ง หากเพราะการต้องแฝงเร้นตัวอยู่กับฝ่ายตรงข้ามก็ช่วยให้เขารับเอาสายตาที่จะมองเหรียญได้ทั้งสองด้าน พิจารณาประเด็นต่างๆ จากสองมุมมอง หากเปรียบตัวเอกของเราเป็นซูเปอร์ฮีโร่ การที่เขาสามารถมองเรื่องต่างๆ จากสองขั้วของทัศนคติก็เห็นจะเป็นพลังพิเศษของเขา
การนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวเอกที่มีสองมุมมองนี้แหละครับที่กลายเป็นจุดแข็งสำคัญของนวนิยายเล่มนี้ เพราะไม่ค่อยจะบ่อยนักที่จะได้เห็นนวนิยาย หรือกระทั่งบันทึกสงครามสักเรื่องหนึ่งเลือกจะบอกเล่าทัศนะต่อสงครามโดยเลือกจะถ่ายทอดความคิดอันขัดแย้งภายในมนุษย์คนหนึ่งที่มีต่อสงครามเวียดนาม ความสับสน และใจอันมุ่งมั่นภักดี หากบางครั้งก็ตั้งคำถามต่ออุดมการณ์ที่ตนฝักใฝ่กลายเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ซึ่งส่งให้ The Symphathizer กลายเป็นวรรณกรรมสงครามที่มีรสชาติสดใหม่ทีเดียวครับ ผมลองไปอ่านประวัติของ Nguyen ผู้เขียนเพิ่มเติมดู พบว่าตัวเขาเองก็เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมแห่งสงครามเช่นกัน และแม้ว่าครอบครัวของเขาจะโยกย้ายมาสหรัฐฯ ขณะที่เขาอายุเพียงสามขวบ กระนั้นเสียงปืน เสียงกรีดร้อง และเสียงระเบิดก็เป็นเสียงขับกล่อมอันคุ้นเคยที่ฝังลึกอยู่ในความทรงจำของเขา
ทว่า The Sympathizer ไม่ใช่หนังสือที่จะจับจ้องอยู่แค่กับประวัติศาสตร์สงครามเท่านั้น เพราะ Nguyen เลือกจะพาเราสำรวจในประเด็นที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น อย่างชีวิตของชาวเวียดนามอพยพในอเมริกา บรรยากาศในช่วงที่นายพลย้ายมาเริ่มต้นชีวิตในประเทศใหม่ และตัวเอกของเราที่ก็ยังต้องแอบซ่อนตัวตนที่แท้จริงของเขาไว้ภายในสังคมที่คุกรุ่นอยู่กับการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์
Nguyen เผยให้เห็นภาพชีวิตอันยากเย็นของตัวละครต่างๆ ที่แม้จะยึดถือกันคนละความคิด หากพวกเขาต่างก็ต้องรับมือกับปมปัญหาที่ต่างกันไป ไม่เพียงแค่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับชีวิตในฐานะคนนอกของสังคมเท่านั้น แต่รวมถึงการต้องคอยจัดการกับบาดแผลจากสงครามที่ยังตามหลอกหลอนพวกเขาอยู่โดยไม่สนใจว่าพวกเขาจะอยู่ในพื้นที่ใดของโลกนี้
จุดหนึ่งที่น่าชื่นชมคือ The Sympathizer สามารถตีแผ่ความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งและงดงาม ความซับซ้อนที่ฝังรากลึกโดยคัดง้างกระทั่งอุดมการณ์ที่หล่อเลี้ยงพวกเขาขึ้นมา เห็นได้ชัดจากตัวเอกของเราที่แม้จะเป็นสปายให้ฝั่งคอมมิวนิสต์ หากเขาก็รู้สึกผูกพันต่อตัวนายพลในหลายระดับ ไม่ใช่แค่เสแสร้งเคารพเท่านั้น
ตรงนี้เองที่หนังสือได้สะท้อนกลับไปถึงความซับซ้อนของตัวสงครามเวียดนามเองด้วย รวมถึงวิพากษ์ต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างไม่พิจารณารอบคอบ หรือจ้องแต่จะตัดสินหาฝ่ายที่ถูกและผิด มองทุกอย่างเป็นขั้วตรงข้ามไปเสียหมด ทั้งที่จริงๆ แล้ว ตัวสงครามเองมีความซับซ้อนมากกว่านั้น กระทั่งผู้ที่เข้าร่วม หรือกระทั่งระดับผู้บังคับบัญชาในสงครามเองก็เป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนจากเจตนาที่จ้องจะเข่นฆ่าหรือบรรลุภารกิจอย่างไร้เยื่อใยเสมอไป
ในบทสัมภาษณ์หนึ่งของ Viet Thanh Nguyen เขาเคยกล่าวไว้ว่า หนังสือเล่มนี้มีบางอย่างที่จะขัดใจทุกๆ คน ซึ่งเมื่อได้อ่านผมก็เห็นจริงตามประโยคนี้นะครับ เพราะ The Sympathizer เป็นวรรณกรรมที่อาจเรียกได้ว่า ตีแสกหน้าไม่ว่าคุณจะยึดถือ หรือเคยเชื่อในอุดมการณ์ หรือประวัติศาสตร์ขนบใด Nguyen ไม่กลัวที่จะโยนคำถามซึ่งขัดแย้งกับภาพจำที่เรามีต่อสงคราม หรือกระทั่งวัฒนธรรมแบบสังคมอเมริกันที่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้พร้อมจะยอมรับคนนอกเสมอไป รวมถึงคำถามเชิงศีลธรรมต่อเรื่องของความดี ความชั่ว หรือความยุติธรรมเองก็ตาม
และแม้หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงเหตุการณ์หลายสิบกว่าปีที่แล้ว หากผมก็ขอสรุปแบบคลิเช่ๆ (แต่ก็เพราะรู้สึกแบบนี้จริงๆ นะครับ) ว่า หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่จะเขียนขึ้นวิพากษ์อดีตที่ผ่านไปแล้วเท่านั้น แต่หน้าที่ของมันคือบทสนทนาต่อบาดแผลแห่งปัจจุบัน รวมถึงการหมายมาดคาดการณ์ต่ออนาคตที่ก็ยังเป็นสีหม่นๆ เทาๆ ของอเมริกาเอง