ในช่วงเวลาหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการบริหารประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทหาร อีกทั้งประชาชนอยังถูกจำกัดริดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด
มีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่ใช้งานศิลปะเป็นสื่อในการแสดงออกถึงสภาวะอันบีบคั้นและความอึดอัดขัดข้องภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างแยบคาย ในยุคสมัยที่การพูดความจริงเป็นสิ่งผิดกฎหมายไม่ต่างอะไรกับอาชญากรรม หนึ่งในจำนวนนั้นคือศิลปินอย่าง ธาดา เฮงทรัพย์กูล
ธาดาเป็นที่รู้จักดีในฐานะเป็นศิลปินที่ใช้ ‘ภาพถ่าย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ภาพถ่ายเปลือย’ เป็นสื่อในการแสดงออกเพื่อสะท้อนถึงสภาวะทางสังคมการเมืองได้อย่างน่าสนใจ
ธาดาเริ่มพัฒนางานภาพถ่ายของเขาจากการบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและคนรู้จักรอบๆ ตัวมาตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานของธาดาโดดเด่นในแง่ของกระบวนการคิดและตั้งคำถามถึงจารีต ความเชื่อทางศาสนา และมาตรฐานทางศีลธรรมอันดีงาม อันเป็นกรอบทางความคิดที่ไม่ต่างอะไรจากคอกที่ล้อมปิดกั้นสังคมไทยอยู่เรื่อยมา
ไม่ว่าจะเป็นผลงานชุด Tong & Note, 2554 ที่ธาดานำคนสองคนที่ไม่รู้จักกันให้มาเจอกันในสภาพเปลือยเปล่า และปล่อยให้คนทั้งคู่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันโดยไม่กำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ
หรือในผลงาน Under The Same Sky, 2559 ที่ธาดาได้พัฒนารูปแบบการทำงานโดยใช้กระบวนการวิจัยและการลงพื้นที่สำรวจเพื่อตามหาประวัติศาตร์ของพื้นที่ทางการเมืองในยุคสงครามเวียดนาม จากร่องรอยหรือสิ่งของที่ตกค้างจากเหตุการณ์ในอดีต
และในนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาอย่าง The Things That Takes Us Apart II ที่แสดงผลงานภาพถ่ายอันเป็นผลลัพธ์จากส่วนผสมระหว่างการทดลองเชิงความสัมพันธ์เช่นเดียวกับงานในยุคต้นของธาดา เข้ากับการลงพื้นที่สำรวจเพื่อทำการวิจัย ธาดาทำผลงานชุดนี้ในช่วงที่เขาพำนักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปลายปี พ.ศ.2559 โดยนิทรรศการครั้งนี้เป็นการจัดแสดงภาพถ่ายคัดสรรที่เพิ่มเติมจากนิทรรศการครั้งแรกที่จัดในหอศิลป์ Seascape จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2560
ธาดาได้แรงบันดาลใจในการทำงานชุดนี้มาจากการทำความรู้จักกับพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ผ่านการอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และการสำรวจพื้นที่ผ่านความทรงจำหรือคำบอกเล่าของคนในท้องที่ จากข้อมูลเหล่านี้เขาพบว่ามีสถานบันเทิงมากมายในจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างด้วยเหตุผลหลากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาการเมืองท้องถิ่น การถดถอยทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา แต่ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่บางแห่งที่ยังคงให้บริการเพื่อให้ผู้คนได้มาปลดเปลื้องอารมณ์ด้วยการเต้นลีลาศ
ดังคำกล่าวของครูสอนเต้นลีลาศท่านหนึ่งที่ว่า “การเต้นรำนั้น ให้มองคู่เต้นเป็นดังกระจกเงาสะท้อนตัวเอง” ถ้าเช่นนั้นการเต้นรำคงเป็นเช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างคนหนึ่งคนขึ้นไป ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะเกิดขึ้นระหว่าง ‘มนุษย์กับมนุษย์’ หรือ ‘มนุษย์กับพื้นที่’ ก็ตาม
ผลงานชุดนี้ของธาดาจึงก้าวไปไกลกว่าเดิม ด้วยการชักชวนคนแปลกหน้าให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทดลองทางศิลปะของเขา ผ่านการประกาศเชิญชวนจากหน้าโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เพื่อให้พวกเธอและเขาเหล่านั้นเข้ามาร่วมทดสอบความเป็นไปได้ในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันบนฟลอร์เต้นรำโดยต่างก็ไม่รู้จักฉันและไม่รู้จักเธอ
โดยตลอดระยะเวลาสองชั่วโมง คนแปลกหน้า 8 คน ต่างที่มา เพศสภาพ รูปลักษณ์ภายนอก ต่างมาทำความรู้จักกันด้วยเงื่อนไขที่พวกเขาและเธอจะต้องเปล่าเปลือย ไม่สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ใดๆ แม้แต่ชิ้นเดียว พวกเขาและเธอจะทำหรือไม่ทำกิจกรรมร่วมกันก็ได้ บ้างเต้นรำ บ้างรับประทานอาหาร พูดคุย อ่านหนังสือ เลียนแบบท่วงท่าของสัตว์ แสร้งทำเหมือนตัวเองเป็นกระจกเงเลียนแบบคู่ตรงข้าม ปราศจากการควบคุมหรือเขียนบท โดยศิลปินทำหน้าที่เป็นเพียงผู้เฝ้ามอง และบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้นออกมาเป็นภาพถ่าย
โดยธาดากล่าวถึงที่มาของนิทรรศการนี้ว่า “ในช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต สถานบันเทิงต่างปิดเพื่อไว้ทุกข์ ด้วยความที่ผมทำงานกลางคืนก็เลยต้องหยุดงาน ผมจึงตัดสินใจเดินทางไปเป็นศิลปินพำนักที่เชียงใหม่ ในระหว่างนั้นก็อ่านหนังสือพิมพ์ข่าวท้องถิ่นของเชียงใหม่ ก็พบว่ามีข่าวอยู่ข่าวหนึ่ง ในช่วงที่สถานบันเทิงต่างๆ ในเชียงใหม่ปิดไว้ทุกข์กันหมด แต่มีกลุ่มเต้นลีลาศเพื่อสุขภาพอยู่ในคลับแห่งหนึ่งที่ใต้ถุนโรงแรมที่เชียงใหม่ ผมก็เลยสนใจว่าทำไมพื้นที่นี้ยังเปิดอยู่ได้ ในช่วงที่ทุกที่ต้องปิดกันหมด ผมก็เลยลองไปดู ก็พบว่าในพื้นที่แห่งนี้มีความก้ำกึ่งบางอย่าง คนที่ไปก็ยังสวมชุดดำกันอยู่ แล้วก็มีแต่ผู้สูงอายุกันหมด ก็เลยถ่ายภาพเก็บเอาไว้ หลังจากนั้นผมก็ไปค้นข้อมูลต่อว่าในเชียงใหม่มีอะไรแบบนี้อีกบ้าง ก็พบว่ามีหลายคลับที่ถูกปิดไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เพราะขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะธุรกิจกลางคืนหลายแห่งมักมีความสัมพันธ์กับอำนาจการเมืองในแต่ละท้องถิ่น
ผมก็เลยสนใจว่าอยากจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับคลับที่มีคนไปเต้นลีลาศกัน เลยได้คุยกับ จ๊อยซ์ (กิตติมา จารีประสิทธิ์ / ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ) ว่าอยากถ่ายภาพเปลือยในคลับนี้ โดยเอาคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันเลยให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะในช่วงเวลาหลังรัฐประหาร นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนที่ถูกจับดำเนินคดี และปรับทัศนคติ ถูกบังคับให้เซ็นรับรองว่าจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก ผมรู้สึกว่าอยากทำงานชุดหนึ่งที่พูดเรื่องคนที่ไม่รู้จักกันเลย ออกมาสร้างความเคลื่อนไหวบางอย่างร่วมกัน
ก็เลยลงประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและในโซเชียลมีเดีย เพื่อหานักแสดงเข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยไม่จำกัดเพศ วัย รูปร่างหน้าตา สถานภาพ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลือยกายตลอดการทำกิจกรรม และให้ผมถ่ายภาพ และเราก็คัดจากคนที่สมัครเข้ามาจนได้คนมาจำนวน 8 คน ก็นัดวันกันมาถ่ายทำ และให้ทำกิจกรรม (โดยไม่สวมเสื้อผ้า) ในรูปแบบต่างๆ โดยไม่มีการควบคุมอะไร แล้วผมก็ถ่ายภาพสิ่งที่เกิดขึ้น และเอามาจัดแสดงในพื้นที่แสดงงานที่ดูเหมือนเวที เพราะในคลับนั้นมีลักษณะเป็นเวทีร้องคาราโอเกะและให้คนมาเต้นลีลาศกัน”
โดยปกติ กิจกรรมเช่นนี้คงดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ถ้าหากผู้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้สวมใส่เสื้อผ้าตามปกติ ดังนั้น นอกจากเสื้อผ้าจะเป็นเครื่องปกป้องและให้ความอบอุ่นกับร่างกายแล้ว ยังเป็นเครื่องมือป้องกันความอับอายหรือความกระอักกระอ่วนระหว่างคนแปลกหน้า อีกทั้งยังเป็นเครื่องบอกสถานะและแสดงออกถึงตัวตน กาละเทศะ ความเหมาะสม เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงเจตนารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม หรือกระทั่งควบคุมความรู้สึกของผู้สวมใส่
เมื่อไม่มีเสื้อผ้า คนเราจึงต้องเผชิญหน้ากับตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย หรือกลับไปสู่สภาวะดั้งเดิม และปลดปล่อยตัวเองจากพันธะ ท้ายที่สุด ผลงานชุดนี้จะนำผู้ไปสู่พรมแดนอันพร่าเลือนระหว่างความปกติและไม่ปกติของชีวิตจริง
“ประเด็นหลักของนิทรรศการ The Things That Takes Us Apart II เราพูดถึงช่วงเวลาที่เราไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ทุกคนจำเป็นจะต้องอยู่ในสถาวะที่ปิดกั้นในการแสดงออกทางความคิดเห็น เหมือนถูกกดทับตลอดเวลา ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองต่างๆ การถอดเสื้อผ้าเปลือยร่างกายเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสภาวะของการปลดปล่อยอะไรบางอย่างออกมา” กิตติมา จารีประสิทธิ์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการกล่าวทิ้งท้าย
ในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังมีการกิจกรรมเสวนาในนิทรรศการโดยศิลปินและภัณฑารักษ์และกิจกรรมลีลาศอันสนุกสนานในพื้นที่แสดงนิทรรศการอีกด้วย