ไม่น่าเชื่อว่า ‘งานออกแบบ’ ที่ทำให้ตัวอักษร R และ T บนพื้นแดง สามารถ ‘อ่าน’ หรือ ‘มอง’ เป็นตราสัญลักษณ์ ‘ค้อน’ และ ‘เคียว’ ได้นั้นจะกลายเป็นประเด็นใหญ่โต จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลากหลายฟากฝ่าย แน่นอนครับว่าในกลุ่มแรกที่ได้ชื่อว่า ‘อนุรักษ์นิยม’ ก็ย่อมจะต้องไม่พอใจกับเครื่องหมายที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นของระบอบคอมมิวนิสม์ (communism) ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันที่พวกเขารักและเทิดทูนเสมอมา เรียกว่าเป็นไปในแนวแบบที่สหรัฐอเมริกาได้วางแนวทางไว้ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งกลุ่มแรกนี้มีไม่น้อยเลยทีเดียวที่นิยมชมชอบคอมมิวนิสม์จีน
ในขณะที่อีกฝ่ายซึ่งเรียกได้ว่ามี ‘ความก้าวหน้า’ หรือเป็น ‘เสรีนิยม’ ก็ได้ออกมาปรามว่าเครื่องหมายนี้ในบางแง่ก็ไม่ต่างไปจากสวัสดิกะของนาซีเยอรมัน คือมี ‘มลทินมัวหมอง’ ด้วยประวัติศาสตร์ ซึ่งในกรณีของค้อนเคียวนี้ก็คือผลพวงจากระบอบสตาลิน (stalinism) ที่ทำให้คนจำนวนนับล้านต้องทุกข์ทรมานและล้มตายลง ดังนั้นการหยิบยืมเอาสัญลักษณ์ค้อนเคียวมาใช้ แม้แต่ในเชิงล้อเลียนก็เป็นการไม่สมควร
ดังที่เราทราบกันว่า ภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัสเซียเองก็ได้เปลี่ยนไปใช้ธงสามสีน้ำเงินขาวแดง และธงค้อนเคียวเดิมก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ต้องห้ามโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียต ซึ่งความเปราะบางนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่โดยส่วนตัว ผู้เขียนมีความเห็นว่า หลากหลายประเด็นเรื่องเครื่องหมายค้อนเคียวนี้ได้ถูกวิเคราะห์วิพากษ์ไปอย่างค่อนข้างกว้างขวางแล้ว ส่วนที่ขาดและยังไม่มีใครกล่าวถึงมากนักก็คือ ตัวระบอบสตาลินที่มีความยอกย้อนและสลับซับซ้อนกว่าจะเป็นอาชญากรรมโดยรัฐในแบบเดียวกันกับนาซี ดังที่ บอริส กรอยซ์ (Boris Groys) พยายามชี้ให้เราเห็น
กรอยซ์เป็นนักทฤษฎีร่วมสมัยชาวรัสเซีย ซึ่ง ณ เวลานี้เริ่มเป็นที่รู้จัก หรือถูกอ้างอิงมากขึ้นในหมู่นักวิชาการด้านปรัชญา ศิลปะ และสื่อสารมวลชน ผู้เคยได้อ่านข้อเขียนของเขาย่อมประจักษ์ได้ถึงความแม่นยำในการวิเคราะห์ และความจัดจ้านของฝีปากยามวิพากษ์ศิลปะร่วมสมัย ทั้งจากรวมบทความชุด Art Power (2009) ที่ถกอภิปรายเรื่อง ‘ความใหม่’ ซึ่งกลายเป็น ‘มายาคติ’ ในโลกแห่งความสร้างสรรค์ หรือ In the Flow (2016) ที่บางคนยกย่องให้ผลงานที่ดีที่สุดของกรอยซ์ ณ เวลานี้
ส่วนที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ไม่ใช่หนังสือเล่มใหม่ล่าสุด ทว่าเป็นงานชิ้นก่อนเก่า (เข้าขั้นคลาสสิก) ที่มีชื่อว่า The Total Art of Stalinism : Avant-Garde, Aesthetic Dictatorship, and Beyond ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาเยอรมันเมื่อปี ค.ศ.1987 และตีพิมพ์ครั้งล่าสุดโดยสำนักพิมพ์ Verso ในปี ค.ศ.2011
แม้ผลงานชิ้นนี้จะถูกเขียนขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 หรือก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลายได้ไม่นาน แต่บทวิเคราะห์ต่างๆ ในเล่มทำให้เรามองเห็นพลวัตและความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดทางด้านศิลปะที่ผูกพันกับการเมือง ซึ่งกรอยซ์ได้แสดงให้เห็นว่าโซเวียต-รัสเซียนั้นมีความพิสดารอย่างไร หรือเมื่อกล่าวถึงศิลปะอวองต์-การ์ดของรัสเซียก็จะพบว่าโดยรากฐานแล้วมีความสุดขั้วกว่าศิลปะอวองต์-การ์ดของโลกตะวันตก หรือลัทธิทางศิลปะในโลกที่ได้ชื่อว่า ‘ก้าวหน้า’ ทั้งหลาย
หากการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 วางอยู่บนกรอบคิดเรื่องของสิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์ จาก ‘มนุษย์โดยธรรมชาติ’ (natural man) ไปสู่ ‘กฎหมายโดยธรรมชาติ’ (natural law) ซึ่งวางอยู่ตรงข้ามกับกฎหมายโดยพระเจ้า (divine law) การปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่มีปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นแม่แบบย่อมเรียกว่าไกลกว่า หรือมิได้หยุดลงเพียงเท่านั้น
เพราะเป้าหมายสูงสุดของการปฏิวัติรัสเซียคือการแตกหัก
แม้กับความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ตั้งแต่รูปแบบของการดำรงอยู่
ไปจนกระทั่งวิถีการผลิต ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็น
ธีมความคิดหลักใน The Total Art of Stalinism
กรอยซ์ใช้วิธีศึกษาโบราณคดีวิทยาทางวัฒนธรรม (cultural archaeology) ลงไปศึกษาตัวบทและแนวความคิดต่างๆ นับตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติบอลเชวิคในปี ค.ศ.1917 ซึ่งจะพบว่าแนวรบทางด้านศิลปะวัฒนธรรมของรัสเซียนั้นได้เริ่มต้นมีบทบาทอย่างเข้มแข็งมาก่อนแล้ว
นับตั้งแต่ คาซิมีร์ มาเลวิช (Kashmir Malevich) และกลุ่มศิลปะอนุตรนิยม (Suprematism) ที่พยายามนำเสนอผลงานที่แตกต่าง หรือแม้แต่หักล้างกับความเป็นประเพณีนิยมเดิมอย่างถึงราก ในข้อเขียนชิ้นสำคัญของมาเลวิชที่ชื่อ On the New System in Art (1919) เขาได้เสนอความคิดชนิดสุดขั้วเอาไว้ว่า “ทุกการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติ หรือโดยศิลปิน หรือโดยผู้ทำงานสร้างสรรค์ทั่วไปนั้น คือการตั้งคำถามถึงการสร้างเครื่องมือที่ยุติความก้าวหน้าที่ไม่สิ้นสุด” พูดให้ง่าย มาเลวิชเสนอในสิ่งที่ฝ่ายก้าวหน้าไม่มีวันเสนอก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป เพราะเห็นว่าความก้าวหน้า (ที่ศิลปินหัวก้าวหน้าจำนวนมากยึดถือ) สุดท้ายแล้วปราศจากความหมาย ผลงานชิ้นสำคัญของมาเลวิชอย่าง Black Square ก็วางอยู่บนกรอบคิดที่เปลี่ยนภาพวาดให้กลายเป็นความคิด หรือกระทั่งความรู้สึกที่ไม่อาจลดทอนต่อไปได้ จากภาพวาดที่สะท้อนโลกความเป็นจริงที่พระเจ้ารังสรรค์ขึ้น กลายมาเป็นภาพจากฝีมือของศิลปินอวองต์-การ์ด
กรอยซ์ชี้ให้เราเห็นว่า การมีแสงไฟสว่างไสวยามค่ำคืนสำหรับบรรดาศิลปินชาวโซเวียต-รัสเซียไม่ได้เป็นเรื่องของความสะดวกสบาย แต่มันกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่พวกเขาสามารถเอาชนะดวงอาทิตย์ หรือข้อจำกัดในธรรมชาติได้
ศิลปะอวองต์-การ์ดของโซเวียตจึงไม่อาจแยกออกจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง ที่เป้าหมายไม่ได้มีเพียงแค่โค่นล้มศักดินา หรือผู้มีอำนาจเก่า แต่เป็นการรื้อถอนทำลายเพื่อเป็นจัดวางรากฐานให้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า ‘การปฏิวัติรัสเซีย’ ที่ปฏิสนธิระหว่างสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งทำให้การเริ่มต้นที่ ‘ศูนย์’ เข้าใกล้กับความจริง
การสร้างสิ่งต่างๆ จากศูนย์ หรือ ‘ความว่างเปล่า’ จึงเป็นคุณลักษณะที่เราพบเห็นได้ในบรรดาศิลปินอวองต์-การ์ด ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมเรขาคณิตของมาเลวิช แนวคิดเรื่องภาษาของเวลิมีร์ เคลฟนิคอฟ (Velimir Khlebnikov) ผู้เรียกตัวเองว่า ประธานแห่งโลก (Chairman of the World) หรือ กษัตริย์แห่งเวลา (King of Time) ภายหลังจากเขาค้นพบทฤษฎีที่เชื่อว่าองค์ความรู้มูลฐานนั้นเป็นสัจนิรันดร์ เป็นจริงตลอดกาล
สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ศิลปินอวองต์-การ์ดโซเวียตนั้นเชื่อว่าตัวเองเป็นพวกอนาคตนิยม (futurism) ในแบบหนึ่ง แต่พวกเขาแตกต่างจากพวกอนาคตนิยมอิตาลี (italian futurism) ตรงที่พวกเขาไม่ได้ความสำคัญกับแนวคิดชาตินิยม ความเร็ว หรือสงคราม ซึ่งทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า อนาคตนิยมแบบรัสเซียต้องการสถาปนาโลกใบใหม่และมนุษย์แบบใหม่ขึ้นมา และนั่นทำให้ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์เรื่องศิลปะเพื่อศิลปะ ศิลปะเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันในโลกตะวันตกก็อาจไม่ได้มีสาระสำคัญอีกต่อไปในโซเวียต-รัสเซีย
อาจเป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่า เมื่อระบอบสตาลิน
ก้าวขึ้นมามีอำนาจและพยายามสร้างศิลปะเบ็ดเสร็จ (total art) ขึ้นมา
ศิลปะอวองต์-การ์ดของรัสเซียในยุคแรกก่อนกลับกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เหมือนที่ศิลปะในยุคสตาลินถูกรื้อทำลายและกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในโลกปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนั้นกรอยซ์ได้แสดงให้เราเห็นว่ามันมีความเป็นมาและความซับซ้อนมากกว่าที่เราแลเห็น
ในบทท้ายๆ ของ Total Art of Stalinism กรอยซ์ได้ยกเอาแนวคิดของโรล็อง บาร์ตส์ (Roland Barthes) ในเรื่องมายาคติ (mythology) มาอธิบายโลกศิลปะภายใต้ระบอบสตาลินว่า ถ้าศิลปะในยุคก่อนสตาลินคือการทำลายมายาคติ หรือเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับมายาคติ สิ่งที่สตาลินและยุคสมัยของเขาได้กระทำก็คือการเปลี่ยนการทำลายมายาคตินั้นให้เป็นมายาคติอีกชั้นหนึ่ง