ลองมองดูสิ่งของรอบๆ ตัว คุณคิดว่าพวกมันมีมูลค่าหรือไม่ หากใช่…ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะมันมีราคา สามารถซื้อ-ขายได้หรือเปล่า หากยังตอบว่า ‘ใช่’ คงถึงเวลาที่เราลองทบทวนการตีความหมายคำว่า ‘มูลค่า’
ในหนังสือเล่มใหม่ของ Mariana Mazzucato (ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง University College London และผู้ได้รับรางวัล Leontief Prize ประจำปี 2561 ด้านความก้าวหน้าทางเศรษฐศาสตร์) ที่มีชื่อว่า ‘The Value of Everything: Making and Taking in the Global Economy’ เราจะได้รู้จักที่มา-ที่ไปของการมอง ‘มูลค่า’ ในแต่ละยุคสมัย และเหตุใด ความเข้าใจเรื่องของมูลค่าในปัจจุบัน จึงทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้นทุกหนทุกแห่ง
‘มูลค่า’ หรือ ‘Value’ นั้น เคยเป็นหัวใจหลักของวิชาเศรษฐศาสตร์มาก่อน นักเศรษฐศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 17 (เช่น Quesnay, Adam Smith, และ David Ricardo เป็นต้น) ได้ถกเถียงกันถึงรื่องทฤษฎีของมูลค่าว่า เราจะวัดมูลค่าของสิ่งต่างๆ อย่างไร แม้แต่ละคนจะมีแนวคิดและขอบเขตของคำนิยามที่ต่างกัน แต่หัวใจหลักของคำว่า มูลค่า เกิดมาจากการไปดูว่า ‘ต้นทุนที่แท้จริง’ ในการผลิตสิ่งๆ นั้น เป็นเช่นไร เช่น คุณค่าของไวน์เกิดมาจากวัตถุดิบ (องุ่น) และแรงงานที่ใช้ในการผลิตไวน์ เป็นต้น เมื่อเรารู้ต้นทุนแล้ว ราคาจึงสอดคล้องตามต้นทุนดังกล่าว ยอดขายทั้งหมดก็แบ่งสรรปันส่วนไปตาม ‘มูลค่า’ ที่สร้างขึ้น พูดง่ายๆ คือ ทำเท่าไหร่ ก็ได้ไปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม Karl Marx ได้มีแนวคิดที่ส่งผลต่อเรื่องมูลค่าในระบบทุนนิยมว่า เป็นระบบที่บีบบังคับ หรือเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ให้ผลิตมากเกินกว่าที่จะเอาไปลงทุนใหม่ ส่วนเกินเหล่านั้นจึงตกไปอยู่ในมือของนายทุน แรงงานจึงได้รับผลตอบแทนที่น้อยกว่าที่ตนเองผลิตได้จริงๆ
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 19 ถึงปัจจุบัน (หลักๆ แล้วได้รับอิทธิพลจาก Walras, Leontief และ Samuelson) ตีความมูลค่าในทางที่ต่างออกไป โดยได้รับอิทธิพลจากเรื่อง ‘อรรถประโยชน์’ (Utility) ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคสินค้าและบริการ ความขาดแคลนและความชอบเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดราคา ราคาจึงเป็นตัวสะท้อนมูลค่าของสิ่งต่างๆ นำมาสู่ข้อสรุปว่า หากสิ่งไหนมีราคา…สิ่งนั้นย่อมมีมูลค่า และด้วยทัศนคติที่ดังกล่าว ทำให้มูลค่าถูกทำลายและเป็นช่องทางในการหาผลประโยชน์ของนายทุนในยุคปัจจุบัน
Mazzucato ได้อธิบายถึงคุณค่าใน 3 ประเด็นด้วยกัน คือ ภาคการเงิน ภาคนวัตกรรม และภาครัฐ
สำหรับภาคการเงิน ในสมัยก่อน ภาคการเงิน (financial sector) ถือเป็นภาคที่ไม่มีผลิตภาพ เพราะไม่สามารถ ‘ผลิต’ สินค้าออกมาให้จับต้องได้ ภาคการเงินจึงถูกมองว่า มีไว้เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น หากเราเปิดร้านอาหารแต่ไม่มีเงินทุน ก็ไปกู้ยืมมาลงทุน แล้วจ่ายดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของการยืมไปให้ธนาคาร แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่า บทบาทของภาคการเงินไม่ได้มีไว้เป็นที่กู้เงินเท่านั้น แต่เป็นภาคที่ก่อให้เกิดอาชีพ ทำให้คนเป็นมหาเศรษฐีหรือกลายเป็นคนจนได้ในพริบตา
ภาคการเงินเติบโตอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากการผ่อนคลายกฏระเบียบต่าง ๆ (financial deregulation) ทำให้ธุรกรรมทางการเงินเกิดได้ง่ายและเร็วขึ้น ลูกค้าของธนาคารไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนธรรมดา แต่รวมไปถึงบริษัทต่าง ๆ และบริษัททางด้านการเงินทั้งหลายที่ต้องการกู้เพื่อนำเงินไปลงทุน นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เสนอขายโดยธนาคารก็ขยายไปมากมาย (เช่น security และ derivative เป็นต้น) ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคนมีรายได้มากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลอยากจะหักลดงบสวัสดิการสังคม ทำให้ประชาชนอยากจัดสรรเงินออมมากขึ้น ธนาคารหรือบริษัททางด้านการเงิน ที่หัวใส คิดหาวิธีที่ใช้ประโยชน์จากเงินทุนของคนรวยเหล่านั้น โดยจัดตั้งกองทุนและนำไปลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพ เป็นที่มาของอาชีพที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของโลกทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 อย่าง ‘ผู้จัดการกองทุน’ ซึ่งค่าตอบแทนของคนที่ทำงานในภาคการเงินค่อนข้างสูง จึงดึงดูดคนที่มีศักยภาพเข้าไปทำงาน มีสถิติว่า กว่าครึ่งของนักศึกษาด้านบริหารธุรกิจจาก Harvard ทำงานในภาคการเงิน ทั้งๆ ที่เรียนมาว่าจะบริหารธุรกิจอย่างไรหรือผลิตสินค้าอะไรดี
แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ กิจกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในภาคการเงิน ไม่ได้เข้าไปสนับสนุนการผลิตจริงๆ เสียเท่าไหร่ แต่เป็นการจัดสรร/โยกย้าย/บริหารเงินทุน ‘ที่มีอยู่แล้ว’ ให้งอกเงยขึ้น เมื่อภาคการเงินเติบโต แทนที่เราจะหวังว่าภาคเศรษฐกิจจริงจะโตไปด้วย ก็กลับไม่ใช่แบบนั้น การเติบโตของการภาคเงินจึงกระจุกตัวอยู่ในมือของคนรวยไม่กี่คนที่ ‘เล่นเป็นและดวงดี’ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกิจกรรมในภาคการเงินถูก ‘นับ’ รวมอยู่ในตัวเลขมหัศจรรย์อย่าง GDP การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่อง ‘ลวงตา’ พ่อค้า แม่ค้า พี่ป้าน้าอาจึงรู้สึก ‘ตลก’ เมื่อได้ยินคำข่าวว่า “จีดีพีโต 4 เปอร์เซ็นต์”
นอกจากนั้น Mazzucato ยังได้อธิบายถึงอิทธิพลของการเติบโตในภาคการเงินต่อบริษัทเอกชนในการจัดตั้งบริษัทด้านเงินทุนขึ้นมา เช่น GE ที่มี GE Capital หรือบริษัทรถยนต์อย่าง Ford ที่มีสินเชื่อขายด้วย อย่างไรก็ตาม ความบิดเบือนเรื่องของมูลค่าเกิดขึ้นจากการที่บริษัทเอกชนบริหารจัดการโดยบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนในโครงการหรือบริษัทอื่นๆ โดยเฉพาะ (เช่น Venture capitalist/Private Equity) บริษัทพวกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้น (Shareholder) ผ่านการซื้อหุ้นกลับ Share buy-back) ซึ่งส่งผลให้ค่าตอบแทนต่อหุ้นสูงขึ้น โดยไม่ได้คิดถึงการสร้างสินค้าใหม่ๆ ในตลาด ทำให้ตลาดที่ดูเหมือนว่าจะโต แต่แท้จริงแล้ว ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจจริง
สำหรับภาคนวัตกรรม สินค้าไอที อย่างเช่น Iphone ก็มีประเด็นไม่แพ้กัน โดยMazzucato อธิบายว่า เราจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย Cumulativeness (นวัตกรรม คือ ผลลัพธ์ของการลงทุนระยะยาวซึ่งพึ่งพานวัตกรรมระหว่างกัน), Uncertainty (การลงทุนในนวัตกรรมมีความเสี่ยง ส่วนมากล้มเหลว), และ Collectiveness (กระบวนการเกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และสัมพันธ์กันข้ามสาขา) ตัวอย่างการฉกฉวยมูลค่าในสินค้าไอที เกิดขึ้นจากการตั้งราคาที่สูง โดยไม่ได้คำนึงว่า นวัตกรรมทั้งหลายที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานนั้น แท้จริงแล้ว บริษัทไม่ได้ลงทุนหรือเป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้นๆ เสียเท่าไหร่ เช่น การขายยาราคาแพง โดยอ้างว่าผู้ผลิตมีความเสี่ยงและลงทุนมาก ทั้งที่ความจริงบริษัทได้รับประโยชน์โดยตรงจาก Lab ที่ลงทุนโดยรัฐ เมื่อเราไม่สามารถแยกระหว่างการสร้างมูลค่าและการฉกฉวยมูลค่าได้ เราจึงยอมรับคำกล่าวอ้างของบริษัทที่ตั้งราคาสินค้าสูงๆ อย่างไม่สงสัย
ระบบสิทธิบัตร (Patent system) ก็เป็นอีกตัวอย่างของการขโมยมูลค่าเช่นกัน เพราะแต่เดิมนั้น สิทธิบัตรมีการให้เพื่อคุ้มครองผลิตภัณฑ์ในระยะเวลาสั้นๆ แลกกับการเปิดเผยสูตรหรือที่มาต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีการขยายความครอบคลุมเรื่องของสิทธิบัตร (ครอบคลุมทั้งตัวผลิตภัณฑ์และงานวิจัย) การขยายระยะเวลาการคุ้มครอง รวมถึงการค้าสิทธิบัตร (Patent trolling) สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้ที่ถือสิทธิบัตร ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมในอนาคต แต่เป็นเพียงการปกป้องผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ยาวนานมากขึ้น ทำกำไรได้นานขึ้น นายทุนเจ้าของบริษัทก็รวยต่อเนื่อง
อีกตัวอย่างหนึ่งของภาคนวัตกรรมที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลก็คือ การลงทุนในสินค้าจำพวกเทคโนโลยีนั้นมีความเสี่ยง ภาคเอกชนมักมีความลังเลที่จะลงทุนด้วยตัวเอง ภาครัฐจึงเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในการลงทุนในช่วงแรก หากสำเร็จ บริษัทเอกชนก็สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ สินค้าไอทีในปัจจุบัน ที่ขายโดยบริษัทเอกชน จึงได้รับประโยชน์ที่ลงทุนโดยรัฐอย่างมาก ยกตัวอย่าง ระบบอินเทอร์เน็ตและ SIRI ในไอโฟน ที่รัฐบาลสหรัฐ (The Defense Advanced Research Projects Agency) เป็นผู้ริเริ่มลงทุน หรือกรณีของระบบ GPS ที่ลงทุนโดยนาวิกโยธินของสหรัฐ รวมไปถึงอัลกอริธึมของกูเกิลที่ถูกพัฒนาโดย National Science Foundation สิ่งต่างๆ เหล่านี้ กำลังสื่อว่า การสร้างมูลค่าในสินค้าเทคโนโลยี เป็นความพยายามของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกัน (collective action) อย่างไรก็ตาม ราคาของสินค้าเหล่านี้กลับมีราคาแพง ไม่สะท้อนประโยชน์ที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับจากการลงทุนโดยภาครัฐ ผู้บริโภคอย่างเราๆ จึงจ่ายเงินให้รัฐในรูปของภาษีไปลงทุนในสินค้าไอที และยังต้องจ่ายเงินแพงๆ เพื่อซื้อสินค้าดังกล่าวกลับมาใช้
มาคิดถึงบริบทของสังคมไทย ตัวอย่างของ LTF และ RMF ค่อนข้างชัดเจน วัตถุประสงค์ของมันก็เพื่อการออมส่วนบุคคล (แม้คนรวยจะซื้อมันเพื่อลดภาษี) แต่ระบบภาษีของเราอนุญาตให้คนที่ซื้อกองทุนสามารถนำยอดเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ โดยที่ LTF และ RMF ไม่ได้ช่วยสร้างมูลค่าอะไรให้กับภาคเศรษฐกิจจริง (ไม่ได้ก่อให้เกิดการผลิตอะไรใหม่ๆ) หนำซ้ำยังลดรายได้ของรัฐบาล (ซึ่งสามารถนำไปลงทุนระยะยาวในโครงการที่ก่อให้เกิดมูลค่า/สร้างงาน) แต่ผู้ลงทุนได้รางวัลเป็นการเสียภาษีน้อยลงเป็นของตอบแทน ขณะที่แรงงานผู้หาเช้ากินค่ำ ผู้สร้างสินค้าและบริการที่แท้จริง กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกเหนือไปจากค่าจ้างรายวัน
อีกตัวอย่างหนึ่งคือคอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นทุกสี่แยกของกรุงเทพมหานคร แทนที่จะเป็น ‘การสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย’ แต่กลับเป็น “การสร้างเพื่อเก็งกำไร” ราคาของคอนโดที่แพงขึ้นทุกปีก็ไม่ได้สะท้อนราคาของอิฐ หิน ดิน ปูน รวมถึงค่าจ้างคนงาน/วิศวกรที่ร่วมกันก่อสร้าง แต่แพงจากทำเลและความเป็นที่นิยมของแบรนด์ เมื่อขายห้องได้ กำไรจึงไปตกอยู่ในมือของเจ้าของนายทุน รวมถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเมื่อขายห้องหมด ท้ายที่สุด…คนที่ไม่ได้เป็นคนสร้างมูลค่ากลับเป็นคนที่ได้มูลค่าไปเกือบทั้งหมด
ดังนั้น เราควรถามหันกลับมาถามตัวเองว่า มูลค่าของสิ่งของรอบตัว กับราคามันสวนทางกันหรือไม่ หากใช่…ใครคือคนที่ได้ประโยชน์จากราคาดังกล่าว หากมูลค่าไปอยู่ในมือของคนที่ไม่ได้สร้าง เราจะไม่มีทางแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้เลย ท้ายที่สุด รัฐบาลสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมอันเกิดมาจากระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวได้ โดยการตาหาผู้สร้างมูลค่าให้เจอ และตอบแทนคนเหล่านั้นอย่างเหมาะสม