ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่ ที่โตเกียวก็มีการทำสถิติใหม่เกือบทุกวัน นี่ผมไม่ได้หมายถึงโอลิมปิกนะครับ แต่หมายถึง จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในโตเกียว ที่ตัวเลขพุ่งขึ้นทุกวัน ตั้งแต่มีการเริ่มจัดโอลิมปิก แม้เราจะไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่า มันสัมพันธ์กันอย่างตรงไปตรงมา แต่คิดว่าทุกคนก็คิดเหมือนกันนั่นแหละครับ และบทความนี้ก็จะเป็นเรื่องเก็บตกจากโอลิมปิกในครั้งนี้ ว่าสังคมที่นี่เขามองอย่างไรและคิดอย่างไรกันบ้าง
ตามที่ทุกคนคงได้ทราบและได้ชมกันแล้วว่า สุดท้ายแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นก็ตัดสินใจให้โอลิมปิก เป็นโอลิมปิกที่ไร้คนดูในสนาม จากที่แต่เดิมวางแผนไว้ว่าจะให้ชมแบบจำนวนจำกัด และจัดให้ชมถ่ายทอดสดในที่สาธารณะเป็นกลุ่ม (Public Viewing) แต่ก็ต้องเจอการต่อต้านจากฝ่ายท้องถิ่นที่เป็นห่วงสถานการณ์การระบาดในท้องที่ตัวเอง แม้สุดท้ายแล้วในจังหวัดที่ไม่ได้มีการระบาดหนักจะมีการจัดชมเป็นกลุ่มบ้าง แต่ในเมืองใหญ่แล้วก็คงต้องหมดสิทธิ์ไป เพราะในโตเกียวและโซนรอบๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นั่นก็ทำให้พิธีเปิดครั้งที่ผ่านมากลายเป็นพิธีเปิดที่เงียบเหงากว่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อไม่มีเสียงเชียร์ในสนาม แต่ที่น่าสนใจก็คือการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกที่จะใช้วัฒนธรรมป๊อปของตัวเองอย่างเต็มที่ในพิธีเปิดครั้งนี้ หากมองจริงๆ แล้วญี่ปุ่นสามารถเอา ‘ของเก่า’ สารพัดมาขายชาวต่างชาติได้ แต่ครั้งนี้พวกเขากลับเลือกของใหม่มาเป็นหลัก หากจะมองว่าเป็นการเลือกเดินไปข้างหน้าก็คงไม่แปลกอะไร
น่าเสียดายที่มีข้อมูลหลุดมาว่าแผนการณ์เดิมนั้น
ยิ่งอลังการกว่าแผนปัจจุบัน และมีศิลปินชื่อดังอย่าง Perfume
ที่เรียกได้ว่าจัดเต็มกับการแสดงทุกครั้งร่วมด้วย
เอาจริงๆ แล้วก็อยากเห็นศักยภาพของการจัดการของญี่ปุ่นในครั้งนี้อย่างเต็มที่เหมือนกัน แต่ก็ยังดีที่มีโชว์เด็ดๆ มาแก้ตัวได้ เช่นโชว์การบินโดรนที่ทำให้รู้สึกถึงอนาคตได้อย่างแท้จริง รวมไปถึงโชว์ Pictogram ที่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ญี่ปุ่นมากๆ และที่สำคัญคือ จุดกำเนิดของ Pictogram ก็เริ่มใช้ในโอลิมปิกปี ค.ศ.1964 ที่โตเกียวนั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นการย้อนกลับมาบ้านตัวเอง และได้รับการ Tribute อย่างเหมาะสมจริงๆ หลังจากพิธีเปิดก็มีมุขตลกสารพัดที่เล่นด้วย Pictogram นี้ว่อนทั่วโซเชียลเต็มไปหมด
ข้อดีของพิธีเปิดในครั้งนี้ก็คือ การยกย่องคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้คณะนักร้องประสานเสียงเด็กประถมที่ชนะการแข่งขันมาร่วมร้องในชุดนักเรียน การให้คนที่ทำงานที่จำเป็น หรือ Essential Workers ที่สำคัญอย่างมากในช่วงที่มีการระบาดออกมาเชิญธง รวมไปถึงการให้คุณหมอและพยาบาลที่มีบทบาทในการเข้าไปดูแลการระบาดในเรือสำราญ Diamond Princess ที่มีการระบาดแล้วมาจอดที่ท่าเรือในญี่ปุ่นเมื่อปีก่อน มาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือคบเพลิง
แต่จังหวะที่เล่นเอาผมน้ำตาแตกก็คือ การที่ได้เห็น ชิเกรุ นากาจิมะ และ ซาดาฮารุ โอ มาร่วมถือคบเพลิงโดยมี ฮิเดกิ มัตซึอิ คอยประคองชิเกรุ นากาจิมะ เพราะว่า นี่คือสามตำนานของทีมโยมิอุริ ไจแอนต์ ทีมเบสบอลขวัญใจชาวโตเกียว (พูดแบบนี้แฟนทีมยาคูลต์อาจจะเคืองได้ แต่ต้องยอมรับว่าไจแอนต์ใหญ่กว่าจริงๆ ครับ) ทั้งนากาจิมะ และ โอ คือสองคู่หูในตำนานที่พาทีมชนะและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ติดต่อกัน และยังมารับตำแหน่งโค้ชต่ออีกด้วย เป็นสองยักษ์ใหญ่สมชื่อทีม และเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ ชิเกรุ นากาจิมะก็เกิดอาการชัก จนทำให้เดินไม่สะดวก ก็ได้มัตซึอิ หรือ เจ้าของฉายาก๊อดซิลล่า ผู้ตีโฮมรันแบบถล่มทลายที่อเมริกา มาช่วยประคอง เป็นการเชิดชูฮีโร่ในอดีตที่น่าประทับใจ จนทำให้ผมนึกไปถึงการที่โมฮัมมัด อาลี ขึ้นมายืนชูคบเพลิงที่แอตแลนต้าเลยครับ แน่นอนว่าในวงการเบสบอลญี่ปุ่นก็มีผู้เล่นที่เก่งๆ อีกมากมาย แต่ถ้าจะชูว่า โตเกียว ก็ต้องสามคนนี้ล่ะครับ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของพิธีเปิดในครั้งนี้คือ นักกีฬาที่ถือธงชาติญี่ปุ่นตอนเดินเข้าสนามคือ รุย ฮะจิมะระ และผู้รับหน้าที่จุดคบเพลงคือ นาโอมิ โอซาก้า ที่ผมเคยเขียนถึงทั้งสองคนแล้วว่า เป็นนักกีฬาลูกครึ่ง หรือ ฮาฟุ ที่กำลังทำผลงานได้ดีในระดับโลก ฮะจิมุระก็พาทีมเข้ารอบเพลย์ออฟใน NBA ได้ ส่วนโอซาก้านั้นไปไกลแล้ว คือกลายเป็นนักเทนนิสแถวหน้าระดับโลก ขนาดที่นิตยสาร Times ยังยกให้เป็นว่าที่โฉมหน้าของวงการกีฬาคนต่อไป และการรับหน้าที่จุดคบเพลิงทั้งที่ยังเป็นนักกีฬาที่ยังเล่นอยู่นั้นก็ถือเป็นเรื่องที่พบได้น้อยมากครับ ยังไม่นับว่าทั้งชุดและการทำผลของเธอก็ดูแปลกและแตกต่างไปจากธรรมเนียมอันดูเข้มงวดของสังคมญี่ปุ่น
จากที่ลูกครึ่งไม่ได้รับการยอมรับในสังคมญี่ปุ่นมาก่อน โดยเฉพาะลูกครึ่งเชื้อสายแอฟริกัน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติต่ำมาก กลายเป็นว่าทั้งสองคนได้เป็นตัวแทนของประเทศรับหน้าที่ที่สำคัญทั้งสอง ก็กลายเป็นหมุดหมายอันดีเหมือนกัน เพียงแต่ในอีกแง่หนึ่งก็กลัวจะเป็น Tokenism คือการยกย่องเพื่อให้ได้ชื่อว่ายกย่องเท่านี้น รวมไปถึงก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าทั้งสองคนไม่ได้มีบทบาทในวงการกีฬาขนาดนี้จะได้รับการยกย่องขนาดนี้หรือไม่
แน่นอนว่าแม้อะไรหลายอย่างจะออกมาดูดีกว่าที่คิด
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียงของความไม่พอใจ และที่แน่นอนคือ
กว่าพิธีเปิดจะเริ่มได้ก็มีเรื่องอื้อฉาวไม่น้อยเลย
ในส่วนของคนที่ไม่พอใจ คนที่ออกมาส่งเสียงดังสุดคงเป็นทาเคชิ คิตะโนะ ดาราตลกและผู้กำกับชื่อดังที่พูดในรายการทีวีว่า พิธีเปิดไม่ได้เรื่อง อับอายชาวโลก เปลืองเงินเปล่าๆ ตรงๆ แต่ที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือ กลุ่มผู้ต่อต้านโอลิมปิกที่เดินขบวนประท้วงจากฮาราจุกุ
แต่ที่ญี่ปุ่น ขอบอกก่อนว่า เวลาประท้วงเขาก็ทำแบบญี่ปุ่นจริงๆ คือมีการขออนุญาตจากท้องที่ก่อน ทำให้มีตำรวจมาคอยช่วยดูแลขบวนเป็นอย่างดีครับ (ผมเองก็เคยเจอการเดินขบวนเรื่อยๆ) ไม่ใช่มาดักซุ่มหาเรื่องหรือทำร้ายผู้ชุมนุม เอาเข้าจริงๆ มันเลยไม่ได้ดุเดือดขนาดนั้น กลุ่มคนเหล่านี้ไม่พอใจที่รัฐบาลเลือกให้ความสำคัญกับโอลิมปิกมากกว่าปัญหา COVID-19 ที่รุมเร้า เหมือนกับว่าเลือกเอาโอลิมปิกมากกว่าชีวิตของประชาชน ซึ่งก็มีกระทั่งกลุ่มต่อต้านโอลิมปิก ที่ต่อต้านโอลิมปิกโดยรวม ไม่ใช่แค่ที่ญี่ปุ่น เพราะมันกลายเป็นกิจกรรมหาเงินเสียมากกว่าเพื่อเชิดชูศักยภาพของมนุษย์ และคนที่ได้เงินจริงๆ ก็คือคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและเอเจนซี่โฆษณาต่างๆ ปล่อยให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาจากการลงทุนครั้งนี้แทน สำหรับรัฐบาลแล้วก็กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกนั่นแหละครับ จะยกเลิก ก็เลิกไม่ได้ เพราะลงทุนไปแล้ว จะโดนปรับอีกก็เละ คณะกรรมการเองก็อาจจะคิดว่า “เลิกแล้วกูจะเอาอะไรกิน” ก็ได้นะครับ
ที่ชวนปวดหัวยิ่งกว่าคือ กว่าจะเริ่มพิธีก็มีเรื่องราวฉาวโฉ่ไม่น้อย ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ที่ประธานพูดพล่อยๆ จนหลุดจากตำแหน่ง แต่ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นว่ายิ่งใกล้ยิ่งมีปัญหา
เริ่มตั้งแต่ก่อนพิธีเปิดแค่ไม่กี่วัน ที่บทสัมภาษณ์เมื่อหลายปีก่อนของ Cornelius หรือ เคโงะ โอยามาดะ ที่รับผิดชอบทำเพลงประกอบโอลิมปิกครั้งนี้ ผุดขึ้นมาในโลกออนไลน์ และเนื้อหาคือเขาพูดตลกกับอดีตสมัยมัธยมที่เคยจับเพื่อนที่พิการมัดแล้ววบังคับให้ช่วยตัวเอง และป้อนอุจาระให้กิน เรียกได้ว่าเป็นการแกล้งกันแบบที่ดาร์กมาก จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว ทีแรกเจ้าตัวก็เงียบเข้าสู้ แต่สุดท้ายเจอกระแสสังคมจนไม่ไหว ลาออกจากหน้าที่แค่สามวันก่อนพิธีเปิดเท่านั้น ผมเองก็คิดว่า ถ้าจัดพิธีตามกำหนดการเดิมแล้วเรื่องจะแดงตอนไหนแทน
ถ้าคิดว่ากรณีที่แล้วกระชั้นแล้ว ยังมีหนักกว่าคือ เคนโตะ โคบายาชิ ผู้กำกับการแสดง ถูกแฉโดยนิตยสาร Jitsuwa Bunka Taboo ว่าเคยเล่นมุกตลกเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวมาก่อน จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ก่อนพิธีเปิด และทำให้เข้าถูกปลดจากตำแหน่ง พร้อมทั้งทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็แถลงขอโทษมูลนิธิชาวยิว Simon Wiesenthal Center อีกด้วย
และก่อนพิธีเปิดหนึ่งวันก็ยังมีการแฉจาก Latyr Sy นักเพอคัชชั่นชาวเซเนกัล ที่บอกว่าเขาถูกปลดจากการแสดงในพิธีเปิด และถูกบอกว่า เพราะคนจะถามว่าทำไมมีคนแอฟริกันในการแสดง ซึ่งเขาก็โพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองอย่างยาวในทั้งภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส จนกลายเป็นที่ถูกจับตามอง แม้จะมีการแถลงจากทางคณะกรรมการว่าที่ปลดเขาเพราะเป็นเรื่องของงบไม่พอเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงๆ ปลดเขาคนเดียวจะมีผลต่องบประมาณแค่ไหน และส่วนใหญ่แล้วในสัญญามักจะครอบคลุมเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างด้วย เห็นทางวง Minyo Crusaders ที่ผมตามอยู่ก็ให้การสนับสนุนนักดนตรีคนนี้อยู่ ก็คงต้องรอดูต่อไปว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรครับ
และแม้พิธีเปิดเริ่มแล้ว ก็ยังมีปัญหาอีก นั่นคือในช่วงที่หลายๆ คนกรี๊ดมาก ตอนที่นักกีฬาเดินเข้าสนามแล้วเปิดเพลงประกอบเป็นเพลงจากเกมต่างๆ ทำให้หลายต่อหลายคนที่โตมากับเกมเหล่านี้ตื่นเต้นกัน ปัญหาคือ หนึ่งในนั้นคือเพลงจาก Dragon Quest ที่แต่งโดย โคอิจิ สุกิยามะ นักแต่งเพลงที่มากฝีมือ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่อื้อฉาวจากมุมมองขวาจัดของเขา ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมรับบทบาทของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ยอมรับเรื่องหนานกิง เคยบอกว่า Comfort Women หรือหญิงที่ถูกจับมาเป็นทาสบำเรอกามทหารญี่ปุ่น ก็เป็นแค่โสเภณีธรรมดาเท่านั้น และยังต่อต้านสิทธิของชาว LGBT อีกด้วย ธรรมดามุมมองแบบนี้ในยุคนี้ก็เป็นที่อื้อฉาวพอแล้ว การเลือกเพลงที่สุกิยามะแต่งมาใช้ในโอลิมปิก แม้จะเป็นเพลงจากเกมดัง แต่ก็เป็นที่น่าคิดว่ามันเหมาะกับกิจกรรมระดับโลกแบบนี้หรือ
ไปๆ มาๆ แค่เขียนเรื่องพิธีเปิดก็ลากยาวได้ขนาดนี้แล้ว แม้พิธีเปิดจะเสร็จสิ้นด้วยดี แต่จริงๆ ก็มีปัญหาเยอะเอาเรื่องมาตลอด และคงมีเรื่องที่ถูกซุกลงใต้พรมไปอีกไม่น้อย ส่วนเรื่องเกร็ดอะไรต่างๆ คงต้องรอเจอกันรอบหน้าครับ ระหว่างนี้ผมก็ขอเก็บข้อมูลไปพลางๆ ระวังตัวจาก COVID-19 ไปพลางๆ และค่อยพบกันรอบหน้าครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://bunshun.jp/denshiban/