เราได้กล่าวถึงเรื่องราวของศิลปินระดับอาร์ตตัวพ่อจอมแสบผู้โด่งดังแห่งวงการศิลปะอังกฤษจากกลุ่ม YBAs หรือ Young British Artists กลุ่มศิลปินในช่วงปลายยุค 1980s ที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของอังกฤษและโลก อย่าง เดเมียน เฮิสต์ กันไปแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการน้อยหน้า เราเลยจะขอกล่าวถึงศิลปินระดับอาร์ตตัวแม่แห่งกลุ่ม YBAs ผู้โด่งดัง แสบสันต์ และอื้อฉาวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันบ้าง เธอผู้นั้นมีชื่อว่าเทรซี เอมิน (Tracey Emin)
ศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษแห่งกลุ่ม YBAs ผู้สร้างสรรค์ผลงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพวาด, ลายเส้น, ประติมากรรม, ภาพยนตร์, ภาพถ่าย ไปจนถึงงานเย็บปักและปะผ้า เธอเคยถูกเรียกขานว่าเป็น ‘แม่สาวสุดแสบแห่งวงการศิลปะอังกฤษ’ (Bad girl of British art) จากพฤติกรรมห้าวหาญ แสบซ่า ก๋ากั่นต่อหน้าสาธารณชน และผลงานศิลปะที่แสดงออกถึงตัวตนของเธอและความรู้สึกนึกคิดของเพศหญิงอย่างตรงไปตรงมาไปจนเลยเถิด เกินกว่าที่สังคมอนุรักษ์นิยมของอังกฤษจะทนรับไหว
“ฉันตระหนักดีว่าตัวฉันคืองานศิลปะ เป็นหัวใจสำคัญของงาน ฉันมักจะพูดว่า หลังจากที่ฉันตายแล้ว งานของฉันคงดีได้ไม่ถึงครึ่งของตอนที่มีชีวิตอยู่”
เอมิน โด่งดังจากการทำงานที่ตีแผ่ชีวิตและความสัมพันธ์ส่วนตัวต่อสาธารณชนผ่านสื่อสมัยนิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลและความทรงจำอันเลวร้ายของตัวเธอเองอย่าง การถูกข่มขื่นที่ไม่ได้รับการเปิดเผย, ความอับอายขายหน้าต่อหน้าสาธารณะ, การถูกเอาเปรียบและกีดกันทางเพศ, การทำแท้งเถื่อน, การติดสุราเรื้อรัง และความสำส่อนทางเพศ สิ่งเหล่านี้มักจะเป็นหัวข้อในการทำงานของเธออยู่เสมอ
ผลงานของเธอถูกนิยามอยู่ในรูปแบบศิลปะ Confessional Art (งานศิลปะเฉพาะของศิลปินหญิงที่ใช้ผลงานศิลปะเป็นเสมือนเครื่องมือในการถ่ายทอดภาพชีวิต) ด้วยการใช้ประวัติศาสตร์ส่วนตัวเป็นหัวข้อในการทำงาน เธอมักใช้ร่างกายตัวเองเป็นสื่อในการแสดงออกทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นภาพของตัวเอง ศิลปะการแสดงสด หรือวิดีโอ ผลงานของเธอจึงเป็นเสมือนการสำรวจ การรำลึกถึงตนเอง และกระบวนการเยียวยาจิตวิญญาณผ่านมุมมองทางศิลปะ
ชื่อเสียงและความอื้อฉาวที่เธอได้รับ มักมาจากเสียงซุบซิบนินทาของสื่อมวลชน มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวคิดและเนื้อหาในผลงาน ด้วยบุคลิกภาพอันโดดเด่นเป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าเฉพาะตัวของเธอนั้น เป็นอะไรที่ฝ่าฝืนขนบธรรมเนียมของสังคม (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมอังกฤษ) ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่รายการโทรทัศน์แบบเรียลิตี้โชว์ จะกลายเป็นปรากฏการณ์ยอดนิยมที่เห็นกันเกร่อแบบทุกวันนี้ เทรซี เอมิน สร้างชื่อเสียงโด่งดัง จากการนำเสนอตัวเองอย่างโดดเด่น แสบซ่า และฝีปากอันฉะฉาน ยามที่ปรากฏตัวในสื่อสาธารณะ (ถ้าใครนึกไม่ออกก็ลองนึกถึงศิลปินระดับเซเลบของไทยอย่างพี่เหลิมดูก็แล้วกัน) ไม่ว่าจะเป็นความปากกล้า ก๋ากั่นในการแสดงความเห็น หรือการเล่าเรื่องราวชีวิตรัก (หรือชีวิตเซ็กซ์) ส่วนตั๊วส่วนตัวของเธอแบบหมดเปลือกให้ผู้ชมฟังผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ก็เป็นอะไรที่ส่งให้ชื่อเสียงของเธอโดดเด่น ทั้งในแวดวงศิลปะร่วมสมัยและสื่อมวลชน
ด้านผลงานศิลปะของเธอก็แสบสันต์คันคะเยอเหลือร้าย ไม่ว่าจะเป็นผลงานสร้างชื่ออย่าง Everyone I Have Ever Slept With 1963–1995 (1995) (ทุกๆ คนที่ฉันเคยนอนด้วย ตั้งแต่ปี 1963–1995) ผลงานศิลปะในรูปแบบของเต็นท์หลังหนึ่ง ที่ปะเศษผ้าเป็นชื่อของคนที่เธอเคยนอนร่วมเตียงด้วยทุกคน (ทั้งชายหญิง) ผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ Sensation ที่สถาบันรอยัลอะคาเดมีออฟอาร์ต (Royal Academy of Arts) อันทรงเกียรติของลอนดอน ซึ่งแน่นอนว่ามันช็อกผู้ชมงานจนกระเจิดกระเจิง
หรือ My Bed (1998) ผลงานศิลปะจัดวางแบบ readymade ประกอบด้วยเตียงนอนสกปรกยับยู่ยี่ที่เธอใช้เวลาอยู่บนนั้นนานหลายอาทิตย์ ในการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหาร หลับนอน และมีเพศสัมพันธ์บนเตียงนี้ในระหว่างที่เธอกำลังมีประจำเดือนอยู่ (คงไม่ต้องบอกว่าผ้าปูที่นอนจะเปรอะเลอะเทอะอะไรบ้างนะ!) บนพื้นพรมและโต๊ะข้างเตียง ก็เกลื่อนไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างขวดเหล้า ซองบุหรี่ และรองเท้าแตะ นอกจากนี้ยังมีหลอดเจลหล่อลื่น ถุงยางใช้แล้ว และชุดชั้นในเปื้อนเลือดประจำเดือนวางทิ้งระเกะระกะอยู่อีกด้วย!
การปฏิเสธภาพลักษณ์เหมารวมของสุภาพสตรีผู้ดีอังกฤษ ที่ต้องมีความสะอาด สุภาพเรียบร้อย เปี่ยมไปด้วยมารยาทของกุลสตรีอันดีงามทุกกระเบียดนิ้ว เทรซี เอมิน สวมใส่และจัดแสดงเสื้อผ้าสกปรกซกมกของเธอผ่านการแสดงตัวสู่สาธารณะและในผลงานของเธอ เธอสวมบทบาท ‘แม่สาวตัวแสบ’ ให้สาธารณชนได้รับรู้ ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองของคนในสังคมเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะของเธอ เธอกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงแม้มันจะมาในรูปแบบของข่าวซุบซิบนินทาในหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ก็ตามที
อ้อ แล้วก็ไม่ได้มีแค่เตียงสกปรกอย่างเดียว เตียงสะอาดๆ ก็มีด้วยเหมือนกันนะเออ อย่างในผลงาน To Meet My Past (2002) งานศิลปะจัดวางในรูปแบบเตียงนอนสี่เสาหรูหราสะอาดสะอ้่าน มีผ้าคลุมเตียงและผ้าม่านอันประณีต ที่ประกอบด้วยตัวหนังสือปักมือเป็นรูปภาพและถ้อยคำที่เปิดเผยประสบการณ์ในวัยแรกรุ่นของเธอ เกี่ยวกับความกลัวเรื่องเพศและการถูกล่วงละเมิด โดยใช้เทคนิคการเย็บปักถักร้อยซึ่งเป็นกิจกรรมดั้งเดิมของผู้หญิงที่ถูกมองว่าเป็น “งานฝีมือ” มากกว่าจะเป็น “งานศิลปะ”
ผลงานเหล่านี้ของเธอช่วยสร้างนิยามใหม่ และขยายขอบเขตความเป็นไปได้ในเสรีภาพของสตรีเพศ ที่สำคัญคือมันส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปินหญิงในยุคหลังที่สำรวจความเป็นผู้หญิง และทำงานในประเด็นเกี่ยวกับสตรีนิยม (feminism) ไม่ว่าจะเป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสอย่าง มารี จาคอตเต-วอยยาตซี (Marie Jacotey-Voyatzis) หรือศิลปินเจ้าของรางวัล Turner ปี 2013 อย่าง ลอร์ พูร์วูต์ (Laure Prouvost) เป็นต้น
งานของเธอมักถูกตีความว่ามีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของกระแสคลื่นลูกที่สามของลัทธิสตรีนิยม ที่มีความเชื่อว่า ผู้หญิงสามารถนิยามและกำหนดเพศสภาวะได้ด้วยตนเอง ผลงานศิลปะที่ตรงไปตรงมา ปราศจากสัญลักษณ์แฝงเร้นของเธอ ได้กระตุ้นให้ผู้ชมมุ่งประเด็นไปที่มุมมองอันแท้จริงของเพศหญิง ที่มักจะเป็นเรื่องต้องห้ามและน่าอับอายในสังคมที่แม้จะเรียกว่าสมัยใหม่ (แต่ยังแอบแฝงแนวคิดชายเป็นใหญ่อยู่) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีประจำเดือน การทำแท้ง ความสำส่อน (ที่ส่วนใหญ่มักใช้กับผู้หญิงเท่านั้น) เธอหยิบประเด็นเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะที่ทั้งทรงพลังและเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ก็เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนเปราะบาง ด้วยการเชื่อมโยงกิจกรรมทางศิลปะพื้นฐานของเธอเข้ากับอัตลักษณ์และความเจ็บปวดรวดร้าวทางร่ายกายและจิตวิญญาณ โดยใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางศิลปะ เธอเปิดเผยตัวตนและความอ่อนแอของเธอให้ผู้ชมได้รับรู้ผ่านอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสากล แถมยังเปิดทางให้ผู้ชมร่วมกันแบ่งปันความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ในสังคมร่วมกันกับเธอ
แต่อย่างไรก็ดี เธอเองหลบเลี่ยงที่จะจำกัดตัวเองอยู่ในลัทธิหรืออุดมการณ์อันใดอันหนึ่ง เพราะเธอต้องการเล่นกับประเด็นทางการเมืองที่กว้างใหญ่กว่านั้น เธอเคยกล่าวว่า “ฉันไม่มีความสุขกับการเป็นศิลปินเฟมินิสต์เอาเสียเลย และฉันว่ามันควรจะจบลงได้แล้วแหละนะ”
นอกจากงานศิลปะจัดวางอันอื้อฉาวแล้ว เทรซี เอมิน ยังทำงานศิลปะในรูปแบบอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานวาดเส้นที่ถ่ายทอดประสบการณ์อันเจ็บปวดเกี่ยวกับการทำแท้งและความทรงจำส่วนตัวของเธอ หรือภาพวาดสีน้ำ และภาพพิมพ์โมโนปริ้นต์ ( Monoprint ) ที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงในห้วงขณะส่วนตัวออกมา
ทางด้านงานภาพถ่าย โดยเฉพาะผลงาน I’ve Got It All (2000) ภาพถ่ายของเอมิน ที่สวมเดรสของแบรนด์ชื่อดังอย่าง Vivienne Westwood นั่งแหกขากว้างอยู่หน้ากล้อง ก้มหน้าก้มตากวาดกองเศษเหรียญและธนบัตรเข้าถมหว่างขาจนล้น ซึ่งผลงานชิ้นนี้สำรวจการใช้ร่างกายของศิลปินในการเป็นแหล่งกำเนิดของศิลปะ และเสียดเย้ยความเป็นธุรกิจในวงการศิลปะว่ามันมีส่วนคล้ายกับการค้าประเวณีอย่างแสบสันต์ และท้ายที่สุด มันแสดงให้เห็นว่าเงินและศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างขาดไม่ได้ (แล้วอย่างงี้จะพูดกันว่า “ทุนนิยมนี่มันเหี้ยจริงๆ” อีกไหมล่ะจ๊ะเธอจ๋า?)
หรือผลงานศิลปะการแสดงสดอย่าง Exorcism of the Last Painting I Ever Made (1996) ที่เธอขังตัวเองอยู่ในหอศิลป์ของเมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และเปลือยกายวาดรูปอยู่ในนั้น ภายใต้การจับจ้องของกล้องถ่ายภาพเลนส์มุมกว้างที่ฝังอยู่ในผนังหอศิลป์ ผลงานชิ้นนี้เป็นการไขข้อสงสัยส่วนตัวและสำรวจกระบวนการทำงานของศิลปินที่เธอชื่นชมอย่าง เอกอน ชีเลอ (Egon Schiele), เอ็ดวาร์ด มุงค์ (Edvard Munch) และ อีฟว์ คไลน์ (Yves Klein) ด้วยการโดดเดี่ยวตัวเองอย่างสิ้นเชิง ทำการสำรวจ ทดลองเทคนิคและวิธีการวาดภาพของศิลปินเหล่านั้นโดยลำพัง ผลลัพธ์ก็คือภาพวาดขนาดใหญ่ 12 ภาพ, ภาพวาดจากการประทับร่างกายตัวเอง 7 ภาพ และภาพวาดลายเส้น 79 ภาพ ที่ถูกขายไปในราคาแพงหูฉี่
รวมถึงงานภาพยนตร์ 8 มม. ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยเยาว์ ทั้งความทรงจำ ความรัก ความเกลียด ความฝัน และความสัมพันธ์ทางเพศในช่วงวัยรุ่นของเธออย่าง Why I Never Became a Dancer (1995) เป็นอาทิ
นอกจากนั้นเธอยังทำงานศิลปะจากหลอดนีออนที่เขียนเป็นตัวหนังสือ ถ้อยคำ และประโยคที่เป็นเสมือนหนึ่งการสารภาพจากความในใจส่วนตัวของเธอออกมา อย่าง ‘Every Part of Me’s Bleeding’, ‘I Can’t Believe How Much You Loved Me’, ‘I Woke Up Wanting To Kiss You’, ‘It Was Just A Kiss’ หรือ ‘Is Anal Sex Legal?’ เป็นอาทิ
ซึ่งผลงานเหล่านี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าบรรดาหนังที่เสียดสีวงการศิลปะร่วมสมัยอย่าง Boogie Woogie (2009) และ The Square (2017) อีกด้วย
ปัจจุบัน เทรซี เอมิน ลดความแสบซ่าก๋ากั่นลงไปมากโข และได้กลายเป็นนักวิชาการของรอยัลอะคาเดมีออฟอาตส์ ที่เธอเคยท้าทายเอาไว้ โดยมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์แต่งตั้งของภาควิชาวาดเส้น และเป็นหนึ่งในศาสตราจารย์หญิงสองคนแรก ตั้งแต่เคยมีการก่อตั้งสถาบันนี้ขึ้นมา นอกจากนั้นเธอยังเป็นนักอภิปรายและนักบรรยายทางศิลปะ เกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับอัตชีวประวัติและบทบาทของเรื่องส่วนตัวในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ทั้งที่พิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert ในลอนดอน, หอศิลป์แห่ง New South Wales ในซิดนีย์, รอยัลอะคาเดมีออฟอาตส์ และหอศิลป์ Tate Britain ในลอนดอน (2005) แต่โลกก็ยังคงจดจำวีรกรรมและความแสบซ่าท้าทายขนบอันคร่ำครึของโลกศิลปะและสังคมชายเป็นใหญ่ อย่างห้าวหาญ คมคาย และตรงไปตรงมาของเธออย่างไม่เสื่อมคลาย
อ้างอิงข้อมูลจาก