ระหว่างที่กำลังดูภาพยนตร์เก่าเรื่องหนึ่งทางอินเทอร์เน็ต ด้วยสำเนียงซาวด์แทรค และก็แน่นอนด้วยว่า ความรู้ภาษาอังกฤษระดับผมก็ต้องมี ‘ซับไทย’ มาเพิ่มอรรถรสในการรับชม (ไม่งั้นก็ดูไม่รู้เรื่องเส่ะ!) ด้วยเหตุการณ์ในท้องเรื่องกำลังเข้มข้น สายสืบสองนายเข้าไปสอบสวนในคดีฆาตกรรมคดีหนึ่ง จนได้ลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัยมา
ภาพตัดไปที่ห้องทำงานของพี่ๆ สายสืบคู่นี้ สายสืบคนหนึ่งกำลังจ้องเขม็งไปที่จอคอมพิวเตอร์ ภาพข้างในจอเป็นรูปลายนิ้วมือคนร้ายอยู่ทางฟากหนึ่งของจอคอมพ์ ส่วนอีกฟากของจอเป็นรูปถ่ายของผู้คนในโปรแกรมระบบทะเบียนของสายสืบ ที่กำลังสืบหาว่า เจ้าของลายนิ้วมือนี้มีหน้าตาอย่างไรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ส่วนพี่สายสืบอีกคนกำลังยุ่งขิงอยู่กับเอกสารกองพะเนิน ก่อนที่อยู่ดีๆ พี่แกจะพูดออกมา โดยผมอ่านผ่านซับไตเติลได้ความว่า
“คุณมีไม้ขีดไหม?”
ไก่ตาแตกก็คงจะงงไม่เท่าผมใน ณ ขณะจิตนั้นนะครับ เพราะสิ่งที่พี่แกพูดไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับเหตุการณ์ในหนัง พี่นักสืบคนนั้นเขาก็ไม่ได้ควักบุหรี่ออกมา เพื่อที่จะสูบเสียหน่อย แถมพออีกฝ่ายตอบว่า “ไม่” พี่นักสืบคนนั้นก็ทำหน้าย่อท้อแบบเล่นใหญ่เกินคนอยากบุหรี่ทั่วไป ผมจึงจำใจต้องรีไวนด์ภาพกลับไปดูว่า ทำไมอยู่ๆ พี่นักสืบคนนี้เขาถึงรู้สึกเสี้ยนบุหรี่ขึ้นมา?
“Do you have the match?” คือประโยคที่พี่นักสืบแกบ้วนออกมาจากปาก แล้วมีซับไตเติลแปลให้เราอ่านกันว่า “คุณมีไม้ขีดไหม?”
…(ขออนุญาตไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งหนึ่งย่อหน้า ก่อนที่จะพิมพ์ต่อ)…
คือที่ซับไตเติลแปลมานั้นก็ไม่ผิด เพราะ ‘match’ นั้นก็แปลว่า ‘ไม้ขีดไฟ’ จริงๆ แต่อีกความหมายหนึ่งก็คือ ‘การจับคู่’ และเมื่ออยู่ในสถานการณ์อย่างในภาพยนตร์ที่ผมพูดถึงนั้น มันควรจะแปลว่า “คุณเจอภาพที่แมตซ์ (กับลายนิ้วมือ) หรือยัง?” ต่างหาก
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงอีกหนึ่งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ในตอนที่ขี้เกียจจะแปลความหมายของเพลง แล้วก็เลือกที่จะพึ่งพิงคำแปลที่อาจจะมีใครแปลเอาไว้ในอินเทอร์เน็ต
เพลงที่ผมเสิร์ชหาคำแปลเพลงนั้นคือเพลง ‘Champagne Supernova’ ของบริตร็อค (ส่วนใครจะจัดว่าเป็น บริตป๊อปก็ช่าง) สุดแสบอย่าง Oasis (เอาน่า เพลงก็เก่า คนฟังก็แก่แล้ว ไม่รู้จักก็ไม่เป็นไร)
แน่นอนว่า มีคนไทยใจดีที่แปลเพลงนี้เอาไว้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเป็นใครหรอกนะครับ แต่เพียงแค่ประโยคน้อยๆ ท่อนแรกที่ว่า “Where were you while we getting high?” ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นการแปลแบบสวยใสราวกับวิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์เลยว่า “เธออยู่ที่ไหนกันนะ ในตอนที่ตัวฉันทะยานขึ้นสู่ดวงดาว”
…(นี่ก็ต้องขอนุญาตยืนไว้อาลัยอีกสักหนึ่งย่อหน้า)….
ออกทะเลไปไกลจนเกือบจะข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกได้เลยนะครับ ทั้งระดับภาษาที่ใช้ ทั้งความหมายที่แปล เพราะสำนวน ‘getting high’ ไม่ได้แปลว่าไปที่สูง หรือทะยานขึ้นสู่ดวงดาว (ว่าแต่มันมีคำว่า ดวงดาว อยู่ตรงไหนในประโยค?) แบบที่ใครคนที่ผมแอบเอามาบ่นถึงคนนี้เขาแปลไว้ เพราะสำนวน ‘get high’ นั้นหมายถึงอาการ ‘เมายา’ โดยเฉพาะเมากัญชา นี่แหละ มีประโยคที่ใช้บ่อยๆ ในหมู่ฮิปปี้ยุคทศวรรษ 60’s ว่า ‘Let’s get high’ ซึ่งหมายถึง การชวนกันไปปุ๊น ดังนั้นเนื้อเพลงเขาจึงไม่ได้จะชวนใครทะยานไปดาวดวงไหน ถ้าจะชวนก็คือชวนไปพี้กัญชาต่างหาก
ดังนั้นความหมายจริงๆ ถ้าจะแปลท่อนฮุคประโยคน้อยๆ ประโยคนี้ให้ถูกต้องตรงกับอารมณ์เพลงมากกว่าตามที่ผมคิดก็คือ “มึงหายหัวไปไหนวะ ตอนที่พวกกูกำลังเมาเนื้อกันอยู่!!” (ขออนุญาต ขึ้นมึง ขึ้นกู แบบพ่อนขุนรามคำแหงสไตล์ ตามอารมณ์และระดับภาษาในเพลง)
ถ้าแค่นี้ยังไม่เชื่อผมก็ไปดูท่อนฮุคหลักของเพลงอีกสักท่อน ซึ่งก็เป็นท่อนที่เขาเอามาตั้งเป็นชื่อเพลงเลยแหละ
“Some day you will find me, Caught beneath the landslide, In a Champagne Supernova in the sky”
ท่อนฮุคท่อนนี้ ใครคนเดิมคนนั้นเขาแปลเอาไว้ว่า “สักวันหนึ่ง เธอและฉัน คงจะพบกัน ในเวลาที่โลกและฟ้ามันคงมลาย ในช่วงที่แสงดาวนวลอร่าม ส่งสัญญาณมา แสงดาวนวลอร่าม ที่ขอบฟ้า”
ถ้าประโยคแรกของเพลงจะเป็นการแปลด้วยอารมณ์โลกสวยระดับการวิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์แล้ว ที่แปลฮุคท่อนนี้ก็ต้องเป็นระดับการเริงระบำบัลเล่ต์บนปลายเท้า แล้วหมุนตัวจนกลีบลาเวนเดอร์ปลิวกระจายเป็นรูปหัวใจไปทั่วทุ่งเลยนะครับ
เพราะคำ ‘Supernova’ ในชื่อเพลง คำเดียวกับที่โผล่อยู่ในท่อนฮุคนี้น่ะ แปลตรงตัวมันก็คือ ‘การระเบิดของดาวฤกษ์เมื่อสิ้นอายุขัย’ แบบเดียวกับที่ทำให้เกิดโลกนัวๆ ใบนี้ และระบอบสุริยจักรวาลที่เราอยู่นี่แหละ ดังนั้นตอนที่เกิด supernova นี่มันจึงไม่ได้ดูนวลอร่ามเอาเสียเลย แต่เป็นอารมณ์ฉากโลกระเบิดในภาพยนตร์ฮอลลีวูดประเภทวันสิ้นสุดของโลกต่างหาก
ถ้าจะมองว่าเป็นอารมณ์กวีก็คงจะพอเข้าใจได้ เพราะเนื้อเพลงบ้านเรามันมีแต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ (ปนเลี่ยนๆ) จนถ้าใครต่อใครในบ้านนี้เมืองนี้จะเข้าใจว่าเนื้อเพลงของประเทศอื่นๆ เขาจะเป็นแบบนี้ไปเหมือนกันทั้งนั้นกระมัง? แต่ศิลปินเขาก็บอกอยู่ตั้งแต่ในชื่อเพลงแล้วนะครับว่า ไม่ใช่ ‘supernova’ เฉยๆ แต่หมายถึง ‘Champagne Supernova’ ซึ่งแม่งคนละเรื่องกันเลยนะ เพราะอันหลังคือชื่อเพลงนี่คือชื่อค็อกเทลสายโหด (และผิดกฎหมายในทุกประเทศ) แก้วหนึ่ง ที่จะเอาผงโคเคนขาวๆ แปะไว้ที่ริมขอบแก้วมาร์ตินี่ (เลียนแบบการเอาเกลือ แปะไว้ที่ริมขอบมาร์การิต้า) ซึ่งค็อกเทลแก้วนี้เป็นที่นิยมกันในช่วงทศวรรษ 80-90 ดังนั้นถ้าจะให้ผมแปลท่อนฮุคเพลงนี้ ผมจะแปลว่า
“สักวันมึงจะพบกูเอง ไม่ติดอยู่ใต้ผืนแผ่นดินที่ถล่ม ก็อยู่ในแก้วแชมเปญซุปเปอร์โนวาบนฟ้าโน่น” (โปรดฟังอีกครังหนึ่ง ขออนุญาต ขึ้นมึง ขึ้นกู แบบพ่อนขุนรามคำแหงสไตล์ ตามอารมณ์และระดับภาษาในเพลง)
และเอาเข้าจริง โนล กัลลาเกอร์ (Noel Gallagher) ผู้แต่งเพลงและมือกีตาร์แห่งวง Oasis เองก็เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า ท่อนฮุคเพลงนี้มัน “That’s probably as psychedelic as I’ll ever get. It means different things when I’m in different moods.” ซึ่งก็แปลง่ายๆ ว่า “นี่เป็นเพลงที่ไซคีเดลิคที่สุดเท่าที่ผมเคยแต่งมาเลย มันมีความหมายต่างไปทุกครั้งในเวลาที่เฮียมีอารมณ์แตกต่างกันออกไป” และคงต้องบอกไว้นิดนึงว่า ไซคีเดลิค (psychedelic) แปลตรงตัวว่า ‘อาการที่เกิดจากยา (เสพติด) ที่ทำให้ประสาทหลอน’ ส่วนใครจะแปลตามบริบทยังไงก็อีกเรื่องหนึ่ง
จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดอีกเช่นกันที่ เนื้อหาหลายตอนในเพลงที่ว่าจะเต็มไปด้วยประโยคที่ฟังแล้วชวนงงอย่าง “Slowly walking down the hall, Faster than a canon ball” หรือ “เดินไปที่โถงแบบสโลว์ไลฟ์ เร็วยิ่งกว่าลูกกระสุนปืนใหญ่” เป็นต้น ในเมื่อทั้งเพลงมันเป็นเรื่องของการ ‘getting high’ ที่หมายถึงอาการ ‘เมายา’ ไม่ได้หมายถึงอะไรที่สวยใสอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์อย่าง ‘การทะยานขึ้นสู่ดวงดาว’ นี่ครับ
ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ทำไมพี่ไทยเราถึงได้มีการแปลอะไรแบบไม่ได้สนใจบริบทอยู่บ่อยๆ แต่นึกๆ ดูแล้วก็ไม่ค่อยจะแปลกใจอะไรนัก เพราะเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ค่อยจะสนใจบริบททุกเรื่องอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะแค่การแปล 😛