ภาพยนตร์เรื่อง Dunkirk ผลงานล่าสุดของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่เพิ่งเข้าโรงฉายไปเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ได้กลายเป็นขวัญใจของผู้ชมหลายๆ คน พร้อมกับความเห็นที่มีมาจากทั้งฝั่งที่ชอบและไม่ชอบ รวมถึงมีความเห็นจากทหารที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น ก็บอกหลังจากได้ดูว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เขารู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในวันนั้นอีกครั้ง
ด้วยความที่ว่าสงครามโลกครั้งที่สองเป็นมหาสงครามที่กระทำการศึกยาวนานราว 7-8 ปี และสมรภูมิก็ถูกกระจายไปไกลมากกว่าสงครามครั้งก่อนหน้าด้วยความที่ ฝ่ายอักษะนั้นมีแกนนำเป็นชาติในยุโรปอย่าง จักรวรรดิไรซ์ที่สาม กับกองกำลังใหญ่ในเอเซียอย่างจักรวรรดิญี่ปุ่น เมื่อการศึกครั้งนั้นได้ถูกจดจำจากคนทั่วทั้งโลก จึงทำให้มีภาพยนตร์มากมายที่แสดงให้เราได้เห็นว่าแต่ละมุมของสงครามโลกครั้งที่สองมีอะไรเกิดขึ้นกันบ้าง
The MATTER ได้รวบรวมหนังบางส่วนที่มีเนื้อเรื่องอยู่ในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่สอง ที่แม้ใครไม่ได้สันทัดภาพยนตร์ประเภทนี้มาก่อน แต่หากดูดันเคิร์กแล้วอารมณ์ค้างคาง เราก็อยากให้หลายๆ คนไปลองรับชมภาพยนตร์เหล่านี้กันดู
The Sound of Music (1959) – จักรวรรดิไรซ์ที่สามเข้ายึดครองออสเตรีย, ช่วงปลายปี 1937 ถึง เดือนเมษายน 1938
ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่มต้นขึ้นเต็มรูปแบบนั้น จักรวรรดิไรซ์ที่สาม หรือ นาซีเยอรมัน ได้แผ่ขยายอำนาจไปยังอาณาจักรข้างเคียง หนึ่งในอาณาจักรที่ได้รับผลกระทบเช่นนี้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็คือ ออสเตรีย ที่ถูกยึดครองจนประชาชนส่วนหนึ่งต้องหนีออกจากประเทศไปอาศัยอยู่ที่อื่น เหตุการณ์นี้อาจจะไม่มีหนังที่แสดงภาพกระทบชัดนัก จะมีก็เรื่องหนึ่งที่ดัดแปลงประวัติศาสตร์จริงมาบอกเล่าผลกระทบเรื่องนี้ก็คือ The Sound of Music หรือ มนต์รักเพลงสวรรค์
เนื้อหาหลักของหนังนั้นเป็นเรื่องของ มาเรีย ที่มาเปลี่ยนชีวิตของครอบครัว วอน แทรปป์ ด้วยเสียงเพลงเพราะๆ กับฉากวิ่งไปบนทุ่งหญ้าอันงดงามบนแล้วมองไปยังโลกสวยที่อยู่รอบตัวที่หลายคนน่าจะคุ้นกันดี หนังเรื่องนี้จริงๆ เป็นการดัดแปลงชีวิตของ มาเรีย วอน แทรปป์ กับ บารอน วอน แทรปป์ แบบหลวมๆ เพราะในชีวิตจริงทั้งสองคนแต่งงานในปี 1927 ก่อนเหตุการณ์ที่ จักรวรรดิไรซ์ที่สาม จะเคลื่อนทัพมายึดออสเตรียถึงสิบปี ก่อนที่เธอจะเอาประสบการณ์ของตัวเธอเองมาสร้างเป็นละครเพลงและหนังโรง
Dunkirk (2017) – ปฏิบัติการไดนาโม, 26 พฤษภาคม ถึง 4 กรกฎาคม 1940
หนังเรื่องล่าสุดของคริสโตเฟอร์ โนแลน จับเอาเหตุการณ์การถอยทัพของกองกำลังสัมพันธมิตรหลังจากพลาดพลั้งจนถูกยานเกราะและกำลังพลกว่า 800,000 คนของทัพนาซีเยอรมันล้อมกรอบไว้ที่เมืองชายฝั่งดันเคิร์ก ส่งผลให้กองกำลังพันธมิตรกว่า 400,000 คนอาจโดนทำลายได้โดยง่าย และนั่นทำให้เกิดปฏิบัติการไดนาโม ปฏิบัติการเพื่ออพยพทหารทางดันเคิร์กมายังฝั่งเกาะอังกฤษ ผลพวงจากการอพยพที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 7 วัน ทำให้ทหารฝั่งสัมพันธมิตรรอดตายถึง 3 แสนกว่าคน จนเรียกได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์
แม้จะมีความเชื่อหนึ่งเชื่อว่าฮิตเลอร์ตั้งใจปล่อยให้ทหารสัมพันธมิตรหนีรอด แต่อีกความเชื่อก็เห็นว่าเป็นการพยายามแย่งหน้าที่กันของกองทัพเยอรมันเองที่ทำให้ไม่สามารถขจัดข้าศึกที่เสียเปรียบได้ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือผลพวงจากศึกนี้ทำให้อังกฤษตัดสินใจเข้าต่อสู้แบบไม่ยอมเจรจาสงบศึกจนกระทั่งจบสงครามโลกครั้งที่สอง
ส่วนหนังนั้นจะเป็นอย่างไรเราคิดว่าไปรับชมกันเองในโรงหนังน่าจะได้คำตอบที่ดีกว่านะครับ
The Imitation Game (2014) – สัมพันธมิตรไขรหัส Enigma, ช่วงปี 1939 ถึง 1940
The Imiation Game หนังที่เล่าชีวประวัติส่วนหนึ่งของ อลัน ทัวริง (Alan Turing) ตั้งแต่ตอนที่เขาเข้าร่วมกองทัพใหม่ๆ จนถึงจุดที่เขากลายเป็นหัวหน้าของกลุ่ม Hut 8 ที่สามารถพัฒนาอุปกรณ์เพื่อถอดรหัสอุปกรณ์ อีนิกมา (Enigma) ที่กองทัพเยอรมันใช้สำหรับการส่งข้อความเข้ารหัสในช่วง สงครามโลกครั้งที่สอง และสร้างความยากลำบากในการที่ฝั่งสัมพันธมิตรในช่วงต้นของสงคราม
จุดที่แตกต่างกันระหว่างเรื่องจริงและหนังก็คือ ทัวริง ไม่ได้เป็นคนถอดรหัสของอีนิกม่าทั้งหมด แต่เป็นการนำแนวคิดของทางโปแลนด์มาปรับปรังจนกลายเป็นอุปกรณ์ถอดรหัส บอมเบ (Bombe) ก่อนจะมีการพัฒนา บอมเบ ออกมามากกว่าสองร้อยเครื่องจนทำให้รหัสอีนิกมานั้นไร้ค่าไปโดยปริยายในช่วงหลังสงคราม
ต่อมาทัวริงได้พัฒนาเครื่องจักร (Turing machine) ที่กลายเป็นพื้นฐานให้กับวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นการต่อมา ก่อนจะถูกล่าวหาการกระทำอนาจารเพศเดียวกันและต้องรับการบำบัดด้วยการฉีดฮอร์โมน จนกระทั่งปี 2013 ที่อลัน ทัวริงได้รับการอภัยโทษ และได้รับความชื่นชมในฐานะวีรบุรุษสงครามอย่างที่สมควรไปในที่สุด
Tora! Tora! Tora! (1970) – ช่วงเพิร์ล ฮาร์เบอร์ถูกบุก, 7 ธันวาคม 1941
ในช่วงก่อนหน้านี้อเมริกาพยายามวางตัวเป็นกลาง พยายามไม่ไปยุ่งกับใคร แต่เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ก็คือการบุกเข้ามาตีท่าเพิร์ล หรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ของจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ที่อยากอยู่เฉยๆ ได้ขยับตัวเข้าร่วมสงครามอย่างมีเหตุผลเสียที มีหนังหลายเรื่องเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์นี้อยู่ แต่ที่น่าพูดถึงคือเรื่อง Tora! Tora! Tora! หนังที่บอกเล่าเรื่องการบุกเพิร์ล ฮาร์เบอร์ที่นอกจากจะอลังการตาด้วยผลงานการสร้างจากการถ่ายทำบนเรือรบจริง ใช่เครื่องบินที่ยังพอใช้งานได้มาบินจริง ตัวเนื้อเรื่องยังนำเสนอถึงจุดพลาดพลังของทั้งสองชาติ ที่ทำให้เห็นว่าการกระทำบางอย่างไม่ควรเกิดขึ้นจากการตัดสินใจแบบไม่รอบคอบ
ถึงหนังจะอลังการจัดเต็ม แต่ในยุคที่หนังฉายนั้นก็ถูกติงในลักษณะเดียวกับ Dunkirk คือมีตัวละครเยอะจนชวนงง และพล็อตที่ตรงไปตรงมาจนน่าเบื่อ แต่หนังก็ยังสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษกลับมาได้อยู่
Enemy at the Gates (2001) – รัสเซียกับการศึกที่สตาลินกราด ช่วงมิถุนายน 1942 ถึง กุมภาพันธ์ 1943
เมื่อพูดถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพที่นึกออกในหัวกันบ่อยๆ ก็คือการรุกรานของกองทัพเยอรมันและกองทัพญี่ปุ่น ที่ตะลุยไปตีกับอังกฤษ ไม่ก็อเมริกา จนทำให้บางคนลืมไปว่า ในยุคสงครามโลกครั้งที่สองนั้น สหภาพโซเวียตยังเป็นสัมพันธ์มิตรร่วมกับทางอเมริกา, อังกฤษ, และจีนด้วย รวมถึงว่ากองทัพเยอรมันยังทำการบุกโจมตีเมืองสำคัญๆ ของรัสเซียอยู่หลายครั้ง
อย่างในหนังเรื่องนี้่ที่เอาเรื่องของ วาซิลี ไซเซฟ (Vasily Zaytsev) สไนเปอร์มือฉมังของโซเวียต มาบอกเล่าเป็นเชิงแอคชั่นดราม่าท่ามกลางสงคราม แม้ว่าตัวหนังจะอิงมาจากหนังสือและอนุทินส่วนตัวของ วาซิลี แต่ก็ว่ากันว่าการดวลกันเขากับยอดสไนเปอร์จากเยอรมันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตามเทคนิคการซุ่มยิงของทหารรัสเซียท่านนี้ได้ถูกนำมาใช้งานต่อจนถึงปัจจุบันนี้ อีกส่วนที่ในหนังบิดเบือนจากเรื่องจริงไปเล็กน้อยก็คือเจ้าตัวไม่ได้มีโอกาสสวีตวีดวิ้วกับนางเอกในภาพยนตร์และตัวเขาได้รับบาดเจ็บในช่วงปี 1943 ก่อนจะรักษาตัวจนหายดีและเข้าร่วมยุทธการที่ราบสูงซีโลว์ (Battle of the Seelow Heights) ในปี 1945 ที่เป็นการบุกโจมตีเยอรมนีครั้งท้ายๆ และกองทัพฝั่งสัมพันธมิตรก็ได้รับชัยชนะในการศึกครั้งดังกล่าวด้วย
Valkyrie (2008) – กบฎภายในนาซีเยอรมัน ช่วงปี 1942 ถึง 20 กรกฎาคม 1944
เวลาที่เกิดสงครามขึ้นนั้น มีสิ่งหนึ่งที่น่าคำนึงถึงนอกจากการเอาชนะศึกกับศัตรูคู่อาฆาตแล้ว ก็ยังมีเรื่องความมั่นคงของภายในเอง อย่างในกรณีของหนังเรื่อง Valkyrie นี้ จับเอาเหตุการณ์ปฏิบัติการวาลคิรี
(Operation Valkyrie) ที่เดิมทีเป็น ‘แผนสำรอง’ เผื่อในกรณีที่นาซีเยอรมันไม่สามรถควบคุมความสงบเรียบร้อยในสังคมเอาไว้ได้ แต่แผนดังกล่าวได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นแผนการปฏิวัติซ้อนเพื่อยึดอำนาจจากฮิตเลอร์อีกครั้งหนึ่ง
ในหนังนั้นได้ ทอม ครูซ มารับบท พันเอกเคลาส์ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก ที่เกิดคำถามต่อการปกครองของฮิตเลอร์หลังจากเขาได้สูญเสียอวัยวะไปจากการรบในแนวหน้าจึงกลายเป็นผู้นำที่คิดเอาแผนการวาลคิรีนี้มาใช้งานจริง ซึ่งแน่นอนว่าในความจริงแล้วแผนการนี้ล้มเหลวอันเนื่องจากการสังหารฮิตเลอร์นั้นไม่สำเร็จ ทหารที่เกี่ยวข้องกับแผนการดังกล่าวจึงถูกประหาร หรือฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า พันเอกเคลาส์ อาจจะไม่ใช่ผู้ที่ริเริ่มแผนการปฏิวัตินี้ แต่เป็นการยืมมือจากทหารชั้นสูงท่านอื่นๆ
ตัวหนังเองถือว่าล้มเหลวมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ของทอม ครูซ ซึ่งเชื่อว่ามาจากปัญหาส่วนตัวของนักแสดงนำที่ทำให้เยอรมันไม่อนุญาตให้ถ่ายทำในประเทศ รวมถึงพล็อตที่อาจจะแปลกจนไม่โดนใจคนดูในช่วงเวลานั้นด้วย
คู่กรรม – จากการสร้างทางรถไฟสายมรณะ สู่การระเบิดที่บางกอกน้อย, ช่วงปี 1942 ถึง 29 พฤศจิกายน 1944
หนังไทยที่เกี่ยวข้องกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่หลายคนต้องรู้จักและจำได้ ก็ต้องเป็นเรื่องราวความรักใน คู่กรรม ที่เล่าเรื่องรักมากอุปสรรคระหว่าง โกโบริ กับ อังศุมาลิน แม้ว่าความรักของคนทั้งสองอาจจะเป็นเรื่องแต่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากทหารญี่ปุ่นที่มาหลงรักสาวไทยจริงๆ แต่ช่วงเวลาที่เนื้อเรื่องดำเนินอยู่นั้น สอดคล้องกับประวัติศาสตร์จริงที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามาสร้างทางรถไฟในประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังพม่า จนถึงช่วงนี้สัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในเมืองหลวงของประเทศไทยที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย
ด้วยการที่ถูกสร้างซ้ำอยู่หลายครั้ง ทำให้บางเวอร์ชั่นต้องตัดทอนรายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์ออกไป ส่วนในบางเวอร์ชั่นจะใส่รายละเอียดเพิ่มเติมไปเช่นกัน ว่ากันว่าคู่กรรมฉบับที่เก็บรายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์ครบถ้วนที่สุดก็คือเวอร์ชั่นละครทื่ได้ บี้ กับ หนูนา มารับบทเป็นคู่พระนางเมื่อปี 2013 แต่สำหรับคนดูหลายๆ คน เบิร์ด กับ กวาง ก็ยังเป็น โกโบริ และ อังศุมาลิน ที่ตราตรึงใจที่สุดอยู่ดี ส่วนผู้เขียนนั้นกลับจำบทบาทของ คุณหมอทาเคดะ หรือคุณปัญญา นิรันดร์กุลได้แม่นกว่าคู่พระนางเสียอีก
Life Is Beautiful (1997) – เหล่าชาวยิวที่ถูกกวาดล้าง, ช่วงปี 1939 – 1945
ความโหดร้ายประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สองก็คงไม่พ้นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว ที่หนังหลายๆ เรื่องได้บอกเล่าเรื่องราวอันไม่เหมาะสมนี้อย่างจริงจัง หรือไม่ก็บอกถึงอีกแง่มุมของชาวเยอรมันที่พยายามช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่าง Schindler’s List แต่หนังที่เราจะขอนำมาพูดถึง เป็นหนังจากประเทศอิตาลี Life Is Beautiful หรือ La vita è bella ที่ กำกับ, นำแสดง, และร่วมเขียนบทโดย โรแบร์โต แบนิญญี (Roberto Benigni)
เหตุที่หนังเรื่องนี้กวาดรายได้ กวาดรางวัล และกวาดใจของคนดูได้อย่างมากก็เพราะ หนังเลือกที่จะเล่าเรื่องราวของ กุยโด้ ชายชาวยิวอารมณ์ดีที่ตกหลุมรักหญิงสาวและได้แต่งงานจนมีลูกชายวัยน่ารักกับเธอ เรื่องราวน่าเป็นห่วงขึ้นเมื่อชาวยิวในอิตาลีถูกกองทัพเยอรมันกวาดล้างไปยังค่ายกักกัน ทำให้ครอบครัวต้องถูกขังแยกกัน กุยโด้ ที่รับคำของภรรยาให้ดูแลลูกชายให้ปลอดภัยได้หาทางล่อหลอกลูกชายเพื่อให้มีชีวิตรอดจากการกระทำอันโหดร้ายภายในคุก ต่อมาเมื่อเขาหนีออกมาจากค่ายได้เขาก็ยังพยายามปกป้องลูกชายไม่ให้พบกับความโหดร้ายจากสงครามตราบจนลมหายใจสุดท้ายของเขา
นอกจากที่หนังจะนำเอาความอารมณ์ดีของ กุยโด้ มาแจกจ่ายให้ผู้ชมเห็นตลอดทางเรื่อง แต่อารมณ์ขันนี้ก็ทำให้เราเห็นความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนั้นพร้อมจะบั่นทอนชีวิตของคนทุกวัยได้อย่างชัดเจนเช่นกัน
Letters from Iwo Jima (2006) – สมรภูมิอิโวจิมาที่ญี่ปุ่น, ช่วงปี 1944 ถึง 1945
ความจริงแล้วหนังเรื่องนี้เป็นหนังแพ็คคู่ร่วมกับ Flag of our Fathers ซึ่งทั้งสองเรื่องผ่านการกำกับโดย คลินต์ อีสต์วูด ผู้กำกับชาวอเมริกา ทั้งสองเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมรภูมิบนเกาะอิโวจิม่า ชัยภูมิสำคัญของญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ Letters from Iwo Jima จะเล่ามุมมองของทหารญี่ปุ่นในการต่อสู้ถ่วงเวลาเพื่อชาติของตน ขณะที่ Flag of our Fathers จะเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ปักธงชัยที่กลายเป็นภาพลักษณ์สำคัญของอเมริกาในยุคต่อมา
ถึงดูฟอร์มแล้ว Flag of our Fathers น่าจะกวาดรายได้ รวมถึงรางวัลได้อย่างมหาศาลตามวิสัยเอาใจอเมริกันชน แต่พอถึงเวลาจริงแล้ว Letters from Iwo Jima กับสร้างกำไรและได้รางวัลไปมากกว่า ส่วนหนึ่งก็เกิดจากวิสัยทัศนของผู้กำกับเองที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของทหารทั้งสองฝ่ายมากขึ้น จากที่ปกติหนังจากโลกตะวันตกจะใส่ญี่ปุ่นเป็นตัวร้ายตลอด และบูชาความเป็นชาติตะวันตกจนเกินเลย แต่ในหนังแพ็คคู่นี้กลับบอกได้ลำบากว่าใครถูกหรือใครผิด ทั้งสองฝั่งต่างพยายามรบเพื่อให้ทั้งคนในแนวหน้าและคนที่รออยู่แนวหลังมีชีวิตรอดอยู่ได้ คงเหมือนกับที่ใครที่บอกไว้ว่า เมื่อเข้าสู่สงครามแล้วไม่มีฝ่ายใดที่ถูกต้อง
อีกส่วนที่ต้องยกนิ้วชื่นชมทีมผู้สร้างก็คือการพยายามรวบรวมข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ทั้งหมดเท่าที่จะทำได้ (จนถึงระดับที่ยอมให้ Letters from Iwo Jima พูดญี่ปุ่นเกือบทั้งเรื่อง ทั้งๆ ที่เป็นหนังทุนสร้างอเมริกา) และพยายามใส่ตัวละครในจินตนาการลงไปน้อยลงกว่าหนังเรื่องอื่นๆ และนั่นน่าจะเป็นความสำเร็จขั้นต้นที่ทำให้หนังเรื่องนี้ได้คว้ารางวัลทั้งบนเวทีการประกวดและจากใจของคนทั้งหลายๆ ชาติที่จะมองสงครามกันมากกว่าเรื่องชนะหรือแพ้มากขึ้น
Der Untergang (Downfall) (2004) – จุดจบของอดอลฟ์ ฮิตเลอร์, 20-30 เมษายน 1945
ชาวเน็ตแทบทุกท่านคงเคยได้เห็น meme ที่เป็นฮิตเลอร์ระเบิดอารมณ์ใส่คนสนิทหลังจากที่ขัดคำสั่งของผู้นำสูงสุดแห่งนาซีเยอรมัน ทั้งหมดนั้นเป็นฉากสำคัญจากภาพยนตร์ดราม่าสงครามที่ดัดแปลงมาจากหนังสือสองเล่มที่บอกเล่าเรื่องราวช่วงสิบวันสุดท้ายของอดอลฟ์ ฮิตเลอร์
แน่นอนว่าหนังไม่ได้ชื่นชมฮิตเลอร์ในฐานะจอมทัพ หรือผู้ที่สามารถบุกนำทัพนาซียึดครองทวีปยุโรปทั้งหมดได้ หนังพยายามบอกเล่าเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่มีเสน่ห์มากพอจะชักจูงคนให้มากรำศึกและกระทำการอันเลวร้ายเพื่อเขา แต่เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมานั้นถึงจุดพังทลายจากคนใกล้ตัวของเขาเอง สิ่งที่เหลืออยู่ในตัวชายคนนั้นก็คือความสิ้นหวัง กระนั้นในนาทีสุดท้ายที่เขาควรจะสิ้นหวังเพียงผู้เดียวก็ยังมีหลายคนที่พร้อมจะสละชีวิตไปด้วยกัน และผู้ชมกับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชายคนนี้เป็นคนที่มีความสามารถคนหนึ่ง ผิดแต่เขานำมันไปใช้มันในทางที่น่ากลัวจนเกินเลยเท่านั้น
ทั้งนี้เราก็คงต้องชื่นชม บรูโน กันซ์ (Bruno Ganz) ที่รับบทเป็นฮิตเลอร์ ได้อย่างทรงพลังในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
The Railway Man (2013) – จากทหารที่กลายเป็นเชลยสงคราม, สู่การปล่อยวาง ช่วง 1942 – 2011
สงครามโลกครั้งที่สองก็เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอยู่ไม่น้อย อันเนื่องมาจากการที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นนั้นตัดสินใจจะสร้างเส้นทางรถไฟข้ามแม่น้ำแควและจะขยายไปยังฝั่งพม่า สงครามในความเป็นจริงนั้นไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่วันลงชื่อในสัญญาหยุดยิง หลายครั้งนรกของสงครามยังดำเนินต่อไปอีกหลายปี ซึ่งก็มีหนังหลายเรื่องที่บอกเล่าเรื่องนั้น ใเรื่อง The Railway Man ที่ดัดแปลงมาจากหนังสืออัตชีวประวัติของ เอริค โลแมกซ์ (Eric Lomax) อดีตทหารชาวอังกฤษที่เคยตกเป็นเชลยสร้างทางรถไฟสายมรณะ ก่อนจะถูกคุมตัวไปโดนทรมานเนื่องจากเขาสามารถสร้างวิทยุและมีการจดบันทึกเส้นทางรถไฟมรณะเอาไว้ เขาได้ถูกสารวัตรทหาร ทาคาชิ นากาเสะ (Takashi Nagase) ทรมานจนเจียนตาย แต่ยังเอาชีวิตรอดมาได้ หลังจบสงครามไปแล้วอดีตทหารอังกฤษสามารถตามหาตัวอดีตทหารญี่ปุ่นเจอคนนั้นเจอ
ความจริงที่อดีตทหารอังกฤษได้ในภายหลังก็คือ นากาเสะ ไม่ใช่ทหารญี่ปุ่นแต่เป็นพลเรือนที่ถูกเกณฑ์มาช่วยงานเนื่องจากสามารถสนทนาภาษาอังกฤษได้ และการกระทำในช่วงสงครามนั้นเป็นการโดนล้างสมองจากการใช้อำนาจข่มเหงอีกฝ่าย สุดท้ายผู้มีบาดแผลทางใจจากสงครามก็ได้ให้อภัยต่อกัน และกลายเป็นเพื่อนกันในเวลาต่อมา จนกระทั่งนากาเสะที่บวชเป็นพระเพื่อชดเชยความผิดที่ตนเคยก่อเสียชีวิตในปี 2011 ก่อนที่ โลแมกซ์ จะเสียชีวิตในปี 2012
หนังเหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็กมากๆ ของภาพยนตร์ที่เอาฉากหลังและเรื่องราวในสงครามโลกครั้งที่สองมาบอกเล่า หลายเรื่องจับเอาเรื่องจริงมาเล่าใหม่ (เช่น ซีรีส์ Band of Brothers หรือ Pearl Harbour) หลายเรื่องจับประเด็นเล็กๆ ที่ส่งผลยิ่งใหญ่มาบอกเล่า (เช่น Saving Private Ryan) หลายเรื่องบอกเล่าแบบเหนือจริงเพื่อให้คนได้เข็ดหลาบกับสงคราม (เช่น สุสานหิ่งห้อย) และหลายเรื่องก็เลือกที่จะเล่าภาวะอันโหดร้ายให้ดูหดหู่น้อยลงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น สำหรับผู้ที่ได้รับแผลจากไฟสงครามโดยตรงนั้น แม้พวกเขาจะต้องทนกับพิษร้ายของมันอย่างยาวนาน แต่เมื่อพวกเขาเปิดใจเรียนรู้เรื่องราวโดยรอบที่เกิด หลายครั้งมันก็ทำให้แผลเหล่านั้นมีโอกาสถูกเยียวยาจนเกือบหายดีได้
ส่วนผู้คนยุคหลังที่อาจจะไม่รับแผลเหล่านั้นด้วยตนเองก็ควรที่จะรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะก่อไฟสงครามที่พร้อมจะก่อแผลร้ายให้กับใครก็ตามในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก