ก่อนหน้าที่ผมจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมไม่เคยกระทั่งจะได้ยินชื่อของ Edward Glaeser มาก่อน ซึ่งพอได้ลองมาค้นชื่อของแกดูก็พบว่า คุณ Glaeser มีพื้นเพที่หนักแน่นทีเดียวครับ
ด้วยการงานหลักๆ ของแกคือศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แถมยังเป็นนักเขียนประจำหนังสือพิมพ์ New York Times เป็นสมาชิกอาวุโสแห่ง Manhattan Institute for Policy Research รวมถึงเคยเป็นบรรณาธิการของ City Journal นิตยสารรายสามเดือนที่มุ่งความสนใจไปที่นโยบายเกี่ยวกับเมือง (Urban Policy) เป็นหลัก แต่แม้จะดูเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์หลายแขนง ทว่า Glaeser เองก็ไม่ใคร่จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก กระทั่งหนังสือ-ซึ่งอาจเรียกได้ว่าฮิตติดลม-Trimph of the city ได้วางแผงในปี 2011 ก็ได้ส่งให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักของคนหมู่มากในเวลาอันรวดเร็ว
เกริ่นความเป็นมาของตัวนักเขียนพอหอมปากหอมคอ มาว่ากันที่ตัวเนื้อหาในหนังสือกันบ้างดีกว่าครับ ซึ่งก็คงจะเห็นได้จากชื่อเต็มๆ ของมัน Triumph of the City: How Our Greatest Invention Makes Us Richer, Smarter, Greener, Healthier, and Happier ก็ระบุไว้ชัดแล้วว่าประเด็นที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงคือเรื่องเมืองๆ โดยถือข้างสนับสนุนอย่างชัดเจนว่าเมืองนี่แหละที่ทำให้เรารวยขึ้น ฉลาดขึ้น ชะอุ่มขึ้น สุขภาพดีขึ้น และมีความสุขขึ้น แหม แค่จั่วหัวเรื่องก็อัดคุณประโยชน์ของเมืองมาซะแน่นขนาดนี้ แล้ว Glaeser ให้เหตุผลอะไรบ้างล่ะที่จะมาสนับสนุนชื่อหนังสือของเขา
ข้อเสนอหนึ่งที่สำคัญที่สุดของ Glaser คือ “เมืองช่วยเพิ่มศักยภาพของมนุษย์” โดยเขาเล่าว่า ความเป็นเมืองนี่แหละที่จะเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะมันกระตุ้นให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้า (face-to-face interaction) ระหว่างบุคคลด้วยกัน ซึ่งช่วยให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความร่วมไม้ร่วมมือ ซึ่งการปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้านี้เองที่ Glaser กล่าวว่าเป็นรูปแบบปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ และดึงสมรรถนะของมนุษย์ออกมาได้ดีที่สุด
จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือตัว Glaser เองก็แย้งแนวคิดที่ว่า เทคโนโลยีทำให้มนุษย์สนใจกันน้อยลง ด้วยเขาเห็นว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี่แหละที่จะช่วยให้คนปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นต่างหาก Glaser มองว่า หัวใจของโลกออนไลน์นั้น คือ ความสัมพันธ์ และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันก็ยิ่งจะช่วยสร้างความเหนียวแน่นให้กับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
พูดอีกอย่างคือ พื้นที่ออนไลน์ได้สร้างความเป็นไปได้ให้มนุษย์สามารถพูดคุยกันมากขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่อุปสรรคสำคัญของการพบเจอกันไม่ว่าจะในสังคมไหนๆ คือระยะทาง ฉะนั้นเมื่อระยะทางไม่ใช่อุปสรรค มันจึงแจ่มชัดว่าทำไมการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ย่อมจะเพิ่มสูงขึ้น เพียงแต่มันแค่เปลี่ยนรูปแบบไปจากภาพชินตาที่คนต้องจ้องตาประสานมือกันโดยตรง มาเป็นการพบปะกันผ่านจอมือถือก็เท่านั้น ซึ่งในทางหนึ่งแนวคิดเรื่องโซเชียลมีเดียนี้ก็สะท้อนถึงความสำคัญและประโยชน์เมืองนั่นเอง แม้ในที่สุดแล้วเขาก็ยังคงสนับสนุนให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้าอยู่ดี
Glaser พยายามชี้ให้เราเห็นว่า ในคำว่าเมืองซึ่งเขาหมายถึงนั้นคือพื้นที่รวมตัวและเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ หาใช่พื้นที่ซึ่งรวมตึกสูง อาคารขนาดใหญ่ และบ้านช่องแออัดแต่อย่างใด
ปัญหาของความเป็นเมืองที่บ่อยครั้งเรามักจะสับสนคือการมุ่งความสำคัญไปที่ตึกและอาคาร มากกว่าจะสนใจมนุษย์ เรามองว่าเมืองคือศูนย์รวมของสิ่งก่อสร้าง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันคือมนุษย์ต่างหาก การเร่งเร้าแต่จะขยายตึกขยายอาคารอย่างหน้ามืดตามัวจึงเท่ากับการนิยามความเป็นเมืองอย่างผิดๆ ด้วยถ้าเรามองว่าเมืองเกิดขึ้นได้ก็จากการรวมตัวกันของมนุษย์ ฉะนั้นสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การสร้างพื้นที่ให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงความผูกพันธ์ให้เกิดขึ้นแก่คนในเมือง
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การจ้องแต่จะขยายถนนหรือโทลเวย์อย่างไม่หยุดหย่อนเพราะเชื่อว่าจะช่วยลดความหนาแน่นของการจราจร ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับจะทวีความแน่นหนาของรถบนถนนมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่นโยบายเมืองควรจะให้ความสำคัญจึงควรจะเป็นการสนับสนุนขนส่งมวลชนสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวแล้ว ในทางหนึ่งยังถือเป็นการสร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันด้วย
และเพราะยิ่งเมืองหนาแน่นเท่าไหร่ ก็ย่อมจะเท่ากับความหลากหลายของประชากรมากขึ้นเท่านั้น ความเป็นไปได้หนึ่งจึงอยู่ที่การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆ และเช่นกันที่มันก็เป็นศูนย์รวมทางศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ โรงหนัง พิพิธภัณฑ์ อาร์ตแกลเลอรี่ หรือพื้นที่ทางเลือกเหล่านี้เองที่หากไม่ใช่ในเมืองที่มีความหนาแน่น กับความหลากหลายของชาวเมืองที่สูงแล้วก็ย่อมจะเป็นการยากที่จะเกิดขึ้น เมื่อพื้นที่ทางเลือกมีมาก ก็แน่นอนว่ามันย่อมสร้างโอกาสให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มากขึ้นตาม เช่นกันที่มันก็กระตุ้นความเป็นไปได้ที่ในแต่ละวันเราจะได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ เกิดแนวคิดใหม่ๆ จากการได้พบปะผู้คนที่หลากหลาย หรือการได้เห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตลอดเวลา
สิ่งที่ผมสรุปมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ไอเดียคร่าวๆ (ที่ถูกต้องพูดว่าโคตรจะคร่าว) ที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอ Glaser ยังพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจอย่างเรื่องของชนชั้น ทั้งยังท้าทายมายาคติที่ว่าเมืองนั้นมีแต่จะสร้างความลำบากให้กับคนจน สำหรับใครที่สนใจประเด็นเมืองๆ Triumph of the City ถือเป็นหนังสือน่าอ่านอีกเล่มหนึ่งทีเดียวครับ