สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้จากการไปญี่ปุ่นบ่อยๆ ในช่วงหลังคือ มีพนักงานร้านสะดวกซื้อที่เป็นชาวต่างชาติในตัวเมืองใหญ่อย่างโตเกียวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกะดึก ที่หลายต่อหลายครั้งผมเข้าไปใช้บริการแล้วเจอแต่พนักงานต่างชาติอยู่ในร้าน บางครั้งก็คละๆ กันกับพนักงานญี่ปุ่น เป็นภาพที่ไม่ค่อยเห็นได้ง่ายในนักอดีต รวมไปถึงพนักงานทำงานในสถานให้บริการต่างๆ เช่นโรงแรมหรือร้านค้าก็เป็นพนักงานชาวต่างชาติเยอะขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นได้ว่า นับวันแรงงานต่างชาติเหล่านี้ก็ยิ่งจำเป็นขึ้นเรื่อยๆ เพราะตัวประชากรญี่ปุ่นก็ค่อยๆ หดตัวลงจนมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน
แน่นอนว่า ถ้าคนนอกสังคมญี่ปุ่นอย่างผมยังรู้สึกได้ คนที่กำหนดนโยบายต่างๆ ในสังคมเขามีหรือจะไม่รู้ ที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ขาดแคลนแรงงานหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะงานประเภทที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะสูง ซึ่งดูเหมือนว่าชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยอยากจะทำงานประเภทนี้เพราะผลตอบแทนไม่คุ้ม โดยเฉพาะงานกลุ่ม 3K ที่อันตราย สกประ และลำบาก งานที่ไม่ว่าใครก็ส่ายหน้า
ที่ผ่านมารัฐญี่ปุ่นก็พยายามรับคนเข้ามาทำงาน แต่ด้วยความที่ทำครึ่งๆ กลางๆ อยากได้แรงงานแต่ก็ไม่อยากให้แรงงานมีโอกาสย้ายมาอยู่แบบถาวร โดยเฉพาะกลุ่มงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะซึ่งไม่สามารถออกวีซ่าให้พักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้ จึงเลี่ยงบาลีออกเป็นวีซ่าฝึกวิชาชีพที่ได้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวตามที่ผมเคยได้เขียนไปแล้ว (อ่านได้ที่นี่) ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่แรงงาน ใช้แรงงานเป็นทาสโดยแทบไม่ได้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ หรือมีการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ภาพลักษณ์ของโครงการนี้เสื่อมลงเรื่อยๆ
ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็คงเริ่มรู้ตัวว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้คงจะแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นว่าญี่ปุ่นจะไม่เป็นประเทศที่น่าพิสมัยในการไปทำงานเพื่อหาเงินส่งกลับประเทศอีกต่อไป
ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลแพร่ไปได้ไว ถ้าโครงการฝึกวิชาชีพของญี่ปุ่นมีปัญหา คนก็เลือกไปทำงานในประเทศอื่นที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า ตัวอย่างเช่นเกาหลีที่เปิดรับแรงงานต่างชาติแบบถูกกฎหมาย ถ้าเป็นแบบนี้เรื่อยๆ ก็คงแย่แน่ ญี่ปุ่นเลยพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายใหม่เพื่อออกวีซ่าให้กับแรงงานประเภทที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูงมาก ให้สามารถมาทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้เสียทีด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรมมากกว่าเดิม
เท่าที่มีการสำรวจเมื่อปลายปีก่อน คนที่อยู่ในวัยทำงานของญี่ปุ่น (อายุ 15-65 ปี) มีจำนวนประมาณ 66 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติประมาณ 1.27 ล้านคน เรียกได้ว่าในคนวัยทำงาน 50 คนจะมีชาวต่างชาติ 1 คน (เพิ่มมาจากปี 2008 ที่มี 480,000 คนโดยประมาณเท่านั้น) แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ เพราะแรงงานต่างชาติในตอนนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานมีฝีมือหรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนทำงานบริษัทหรือธุรกิจเสียมากกว่า ทำให้รัฐต้องการเพิ่มแรงงานไม่เน้นทักษะให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 500,000 คนให้ได้ใน 5 สายงานคือ เกษตรกรรม ก่อสร้าง ผู้ดูแลผู้สูงอายุ โรงแรมที่พัก และการต่อเรือ ซึ่งเป็นสายงานที่ขาดแคลนแรงงานอยู่ จึงตัดสินใจเพิ่มรูปแบบสถานะการพำนักในประเทศญี่ปุ่นแบบใหม่ขึ้นมา ให้แรงงานไม่เน้นทักษะเหล่านี้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2019 หรือปีหน้านี้เอง
แต่ถึงบอกว่าต้องการรับแรงงานเพิ่ม ก็ใช่ว่าจะจัดกระเป๋าแล้วมาได้เลยนะครับ เพราะด้วยความที่เป็นสังคมที่ไม่ได้ชินกับการปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาตินัก ทำให้ต้องมีเงื่อนไขในการเข้ามาทำงานเช่นกัน เท่าที่เห็นแนวทางในตอนนี้ วิธีที่จะได้สถานะนี้ก็คือ ผ่านการฝึกวิชาชีพ (ที่มีปัญหาตามที่บอกไป) เป็นเวลา 5 ปี แล้วถึงค่อยยื่นขอสถานะการพำนักใหม่นี้ได้ หรือต้องผ่านการทดสอบระดับภาษาก่อน ซึ่งคาดว่าจะเป็นระบบการสอบที่ออกแบบมาใหม่ แต่ระดับความยากจะเทียบเท่ากับการสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นระดับ N4 หรือสามารถใช้สนทนาในชีวิตประจำวันได้นั่นเอง
แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องจากเป็นสถานะพิเศษที่แตกต่างกับวีซ่าอื่นๆ จึงให้สิทธิ์อยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้ 5 ปีเท่านั้น แต่ก็สามรถต่ออายุได้อีก 5 ปี แต่หลังจากนั้นก็คือต้องกลับประเทศตัวเอง และไม่อนุญาตให้พาคู่สมรสหรือครอบครัวมาด้วย เรียกได้ว่าเป็นระบบเพื่อให้คนมาทำมาหากินแล้วส่งเงินกลับบ้าน หมดช่วงเวลาก็บ๊ายบายกันอย่างแท้จริง
จริงๆ แล้วเรื่องการรับคนต่างชาติเข้ามาทำงานในสังคมญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องที่ถกกันมานาน เพราะแน่นอนว่าในภาคธุรกิจก็เห็นความจำเป็นเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีแรงงานเข้ามารับรองว่าล่มจมแน่นอนครับ แต่อีกมุมหนึ่ง คนก็กลัวว่าคนต่างชาติที่เข้ามาจะส่งผลกระทบต่อสังคมญี่ปุ่นที่แทบจะไม่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่สุดท้ายแล้ว จากการประกาศในครั้งนี้ก็เห็นได้ชัดว่าความจำเป็นทางเศรษฐกิจนั้นชนะไปในที่สุด แม้จะมีเสียงกังวลบ้าง แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ไม่ได้ออกมาประณามหรือโจมตีแต่อย่างไร มีการวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะว่าผู้ที่เสนอนโยบายนี้คือรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอาเบะซึ่งมีคะแนนนิยมในหมู่ชาวอนุรักษนิยม จึงเรียกได้ว่า แล้วแต่อาเบะแล้วกัน ไว้ใจกันได้
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการยกกรณีตัวอย่างของชาติอื่นมาเทียบด้วยความเป็นห่วง
เช่นกรณีของเยอรมนีในช่วงที่ต้องเร่งการพัฒนาก็มีการดึงเอาชาวตุรกีเข้ามาทำงานในประเทศเป็นอย่างมาก โดยให้โอกาสในการตั้งรกรากในประเทศด้วย และก็มีเงื่อนไขให้เรียนภาษาเยอรมันเพื่อชีวิตประจำวัน รวมถึงการอบรมเรื่องมารยาท สังคม และธรรมเนียมของชาวเยอรมันอีกด้วย จากที่เริ่มอบรมแค่ 30 ชั่วโมง แต่ไปๆ มาๆ ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 120 ชั่วโมง คงเป็นความพยายามอย่างมากในการพยายามปรับให้ชาวตุรกีเข้าใจชาวเยอรมัน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นว่าชาวตุรกีก็ยังคงอยู่รวมกันในชุมชนของตัวเอง ไม่ได้ออกมากลมกลืมนป็นหนึ่งเดียวกับสังคมเยอรมันเท่าไรนัก
ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็มองไปทางเกาหลีใต้ที่มีการรับแรงงานต่างชาติเข้าไปคล้ายๆ กัน แถมทำเป็นระบบได้ดีกว่า และไม่ส่งผลกระทบต่อชาวเกาหลีเลย ไม่มีใครถูกแย่งงาน ก็เพราะว่าระบบของเกาหลีที่นอกจากจะให้สิทธิ์ในการดึงชาวต่างชาติเข้าไปทำงานแก่บริษัทที่ทำการประกาศรับสมัครงานเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้วไม่มีใครสมัครได้แล้ว ยังมีการตรวจสอบเป็นอย่างดีว่าภาคกิจการไหนที่ขาดคนแล้วค่อยเปิดโควตารับคนเข้าไปทำงานอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ใครจะเข้าไปทำก็เข้าได้ และเกาหลีเองก็ใช้ระบบไม่ให้สิทธิ์ในการอยู่ในประเทศถาวรเช่นกัน โดยเงื่อนไขการขออยู่เกาหลีถาวรก็ต้องพำนักอยู่ในเกาหลีเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน แต่ด้วยระบบนี้ แรงงานที่เข้ามาทำงานได้ 3 ปี จะสามารถต่อสัญญาได้อีกเป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน หลังจากนั้นต้องออกจากเกาหลีไปเป็นเวลา 3 เดือน แล้วค่อยยื่นกลับเข้ามาทำงานได้อีก 3 ปีเช่นเดิม ซึ่งแน่นอนว่าการวางระบบแบบนี้ทำให้ไม่สามารถยื่นขออยู่เกาหลีถาวรได้
สิทธิ์ที่จะอยู่ในประเทศได้ 5 ปีของแรงงานไม่เน้นทักษะที่ญี่ปุ่นเลือกใช้ก็คล้ายกับแนวทางของเกาหลีที่ประสบความสำเร็จมาก่อน แต่ก็มีเสียงที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางนี้เช่นกัน ซึ่งก็มีตั้งแต่ว่า จะได้แรงงานที่มีคุณภาพแค่ไหนจากการวางระบบเช่นนี้ เพราะว่าการให้สิทธิ์มาแค่ตัวเปล่าอาจจะได้แค่กลุ่มที่ออกมาเพื่อกะหาเงินส่งกลับอย่างเดียวเท่านั้น และการที่ไม่ให้โอกาสอยู่ญี่ปุ่นต่อหลังผ่านไป 5 ปี 10 ปี จะเป็นเสียโอกาสรึเปล่า เพราะว่าแรงงานที่ทำงานในญี่ปุ่นนานขนาดนั้นก็เข้าใจระบบการทำงานและสังคมญี่ปุ่นได้ดีขึ้นมาก สามารถพัฒนาเป็นแรงงงานคุณภาพได้ แทนที่จะส่งกลับประเทศไป การให้อยู่ญี่ปุ่นต่อน่าจะเป็นประโยชน์กว่าด้วยซ้ำ
ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มก็มองว่าจริงๆ ก็เป็นการเอาระบบเดิมมาปะแป้งใหม่ให้ดูดีขึ้นเท่านั้น รวมไปถึงเสียงเรียกร้องจากบางกลุ่มธุรกิจ เช่นการก่อสร้าง ว่าไม่เห็นจำเป็นต้องวัดระดับภาษาญี่ปุ่นขนาดนั้นเลย นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องของชาวญี่ปุ่นที่จะปรับตัวเข้ากับปริมาณชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นได้แค่ไหน ถ้าเป็นในเมืองใหญ่คงไม่แปลกอะไรหรอกครับ แต่ถ้าออกไปชนบทหน่อยนี่อีกเรื่องนึงเลยทีเดียว
แต่ถึงจะมีเสียงวิจารณ์อย่างไร การประกาศระบบนี้ออกมาอย่างน้อยก็ทำให้โล่งใจได้ในระดับหนึ่งว่า รัฐบาลเองก็เข้าใจถึงอันตรายของปัญหากระชากรลดลง จึงพยายามจะทำอะไรกับปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมและวางระบบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น กว่าที่จะเริ่มใช้จริงก็คงมีการปรับปรุงในรายละเอียดต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงหลังจากเริ่มใช้แล้วก็คงต้องค่อยๆ แก้ไขไป ยกเว้นแต่จะยังคงไม่ปรับตัว ออกระบบมาแล้วก็ได้แต่ทำตามต่อไปเรื่อยๆ ไม่พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ถึงตอนนั้นก็คงต้องปาดเหงื่อกันหนักๆ ล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.nikkei.com/article/DGXMZO31413180V00C18A6MM8000/
business.nikkeibp.co.jp/atcl/report/16/021900010/053100068/?P=2
biz-journal.jp/2018/05/post_23518.html
thepage.jp/detail/20180605-00000007-wordleaf
www.news24.jp/articles/2018/06/05/04395099.html