กระแสข่าวในโลกการเมืองในช่วงที่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ประเด็นที่ผมคิดว่าร้อนแรงที่สุด ไร้ยางอายที่สุด และสมควรพูดถึงมากที่สุดนั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง ‘โต๊ะจีนรับบริจาค โต๊ะละ 3 ล้านบาท’ (รวม 650 ล้านบาท) ของพรรคพลังประชารัฐ ที่หากไม่ได้ตามืดบอดกันจนเกินไปนักก็คงจะทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นพรรคตัวแทนหรือพรรคที่มุ่งจะต่อยอดทางอำนาจของ คสช. ในปัจจุบันนี้เอง และแคนดิเดตนายกอันดับหนึ่งก็หนีไม่พ้นประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกตามเคย
แน่นอนครับว่าหลังจากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ก็ได้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ไปมากมาย โดยเฉพาะข่าวสายสืบสวน หรือ Investigative news ว่าใครไปร่วมบ้าง ใครซื้อกี่โต๊ะ อาหารมีเมนูอะไร เป็นอย่างไร กระทั่งลองหารออกมาดูว่าค่าใช้จ่ายน่าจะตกคำละกี่บาท ซึ่งผมเองคงไม่มีปัญญาจะไปทำอะไรแบบนั้นได้ และต่อให้ทำได้ก็คงทำไม่ได้ดีอย่างที่สำนักข่าวอิศราหรือที่อื่นๆ ได้เจาะหาข้อมูลไว้ รวมไปถึงอีกประเด็นหนึ่งที่มีการออกมาพูดถึงแพร่หลายแล้วก็คือ ‘ความถูกต้องทางกฎหมาย’ ของการจัดโต๊ะจีนในครั้งนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผมจึงตั้งใจที่จะไม่พูดในสองประเด็นที่ว่ามานี้
จากกรณีของ ‘โต๊ะจีนราคาแพงแสนแพง’ ที่เกิดขึ้นนั้น ในขณะที่เกิดเหตุขึ้น การวางความสนใจหรือให้น้ำหนักหลักในทางการเมืองอาจจะอยู่ที่ ‘ตัวการจัดโต๊ะจีนขอเงินบริจาค’ ซึ่งโดยตัวมันเองแน่นอนว่า หากมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือมีการใช้งบประมาณของรัฐมาเกี่ยวข้องด้วยก็ย่อมเป็นปัญหาและผิดแน่ๆ อย่างที่หลายคนได้พูดถึงไปแล้ว (และควรต้องพูดถึงให้หนักๆ) แต่ผมอยากจะลองดึงเราออกมามองจากระยะห่างบ้าง คงจะไม่เป็นเรื่องยากเลยที่เราจะพบว่ากรณีโต๊ะจีนนี้ เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งของ ‘ความหน้าด้านชนิดไม่รู้จักความสะทกสะท้านใดๆ’ (Unwavering Shamelessness) ของรัฐบาล คสช. นี้
แน่นอนว่าหากวาระของเราคือการพูดเรื่อง ‘ความหน้าด้านของรัฐบาล คสช.’ จะมีกี่หน้ากระดาษ หรือกี่ตัวอักษร ก็ยากจะเขียนถึงหมดได้ง่ายๆ เพราะกระทำไว้หลากหลายเหลือเกิน แต่สโคปมาที่นโยบายหลักที่สุดของรัฐบาล คสช. อย่างนโยบายประชารัฐนี่แหละครับ ผมคิดว่าหากเราลองขยับวิธีมองหรือเข้าใจตัวตนของนโยบายนี้สักเล็กน้อย เราอาจจะได้เห็นภาพที่เปลี่ยนไปได้
ปัญหาต่างๆ ของ ‘ประชารัฐ’ นั้นมีการพูดถึงมามากแล้ว โดยเฉพาะในงานของ อ.วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร กับ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่ชื่อ The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของประชารัฐมากมายโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงบทความต่างๆ อีกมากที่อธิบายถึงปัญหาของประชารัฐ (ตัวผมเองก็เคยเขียนถึงไปสองครั้งแล้ว) อย่างไรก็ตาม แทบทั้งหมดนั้น เป็นการพูดถึงประชารัฐในฐานะ ‘ตัวนโยบาย’ ทั้งสิ้น ต่างเพียงแต่การมองจุดตั้งตั้นบ้าง, จุดเน้นของนโยบายบ้าง, หรือผลลัพธ์ของนโยบายนี้บ้าง ซึ่งก็ทำให้เราได้เห็นความผิดปกติและด้านของนโยบายนี้ไม่น้อยแต่หากไม่ได้มองประชารัฐในฐานะ ‘นโยบาย’ เล่า ถ้ามองมันในฐานะ ‘แคมเปญหาเสียงทางการเมืองขนาดใหญ่แต่ต้น’ ผมคิดว่าเราจะได้เห็นมุมความด้านของ คสช. ที่แฝงอยู่อีกมากทีเดียวครับ
แน่นอนว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘นโยบาย’ (ของรัฐบาล) มันมีจุดร่วมที่ใหญ่มากของการเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญการหาเสียงทางการเมือง เพราะผลสัมฤทธิ์ของนโยบายต่างๆ ที่ทำการบริหารนั้น มันสัมพัทธ์โดยตรงกับความพึงพอใจของประชาชนที่จะกลายมาเป็นผู้เลือกตั้งในอนาคต นโยบายทำออกมาดี ก็จะส่งผลให้คนเลือกเรามาก นโยบายทำออกมาแล้วห่วย ก็มีแนวโน้มที่ผลการเลือกตั้งจะออกมาแย่ (แต่บ่อยครั้งที่ผลลัพธ์พวกนี้เอง ก็ไม่ได้แสดงออกอย่างทันควัน หรือมีทิศทางที่เป็นเหตุเป็นผลในเชิงตรรกะแบบนี้นัก เช่น ราคายางพาราในยุครัฐบาลทักษิณที่สูงมากๆ เมื่อเทียบกับสมัยประชาธิปัตย์ หรือรัฐบาล คสช. แต่ความนิยมในตัวทักษิณก็ยังเป็นรองได้ในพื้นที่ปลูกยางในภาคใต้ เป็นต้น)
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่านั่นเป็นคนละเรื่องกันกับ ‘นโยบายของรัฐ’ ที่ทำขึ้นมาเพื่อหวังผลหรือทำงานในฐานะส่วนหนึ่งของแคมเปญการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งผมคิดว่า ‘ประชารัฐ’ นั้นสามารถถูกมองในสถานะที่ว่านี้ได้ด้วย แน่นอนว่าคงไม่มีทางที่ผมจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ว่ามันถูก ‘วางตัว’ มาให้อยู่ในสถานะ ‘แคมเปญหาเสียงใหญ่ทางการเมือง’ มากกว่าเป็นเพียงนโยบายลอยๆ อันหนึ่งซึ่งผลลัพธ์ของนโยบายถูกนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งดังเช่นนโยบายอื่นๆ แต่ในเมื่อมันมีลักษณะที่จะมองในมุมนี้ได้ ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะ ‘ทดลองเสนอ’ มุมมองตัวนี้ดูบ้าง
หากเราย้อนกลับไปมองประชารัฐที่จุดเริ่มต้นเลย คือ จากการเป็นข้อเสนอหรือไอเดียของ นพ.ประเวศ วะสี (และคณะ) ที่ต้องการเสนอ ‘วาทกรรมชุดใหม่’ เข้าแทนที่วาทกรรมของชาติชุดเดิมๆ ที่เริ่มอ่อนพลังลง ด้วยความคิดบนฐานของ “การแทนคุณแผ่นดินและการรู้จักตำแหน่งหน้าที่ของตนในสังคม ว่าตนนั้นอยู่ในกลไกส่วนไหนของสังคม” คำว่าประชารัฐ จึงถูกคัดเลือกมาเพื่อใช้แทน ‘วาทกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้’ โดยคัดมาจากเพลงชาติไทย ซึ่งเราคุ้นหูคุ้นปากกันอยู่แล้วแทบทุกคน (ไม่ต้องนับว่าคำว่า ‘เป็นประชารัฐ…’ ในเพลงชาติไทยนั้น เป็นหนึ่งในท่อนที่เด่นมาก เป็นคำที่คนไทยจำได้มากๆ ในทันทีด้วย) และคำว่าประชารัฐนั้น นับแต่ต้นก็ยังไม่ได้เคยมีนิยามที่ ‘ชัดเจนลงไป’ ด้วย เพราะฉะนั้นคำคำนี้จึงดูเหมาะสมในทุกองค์ประกอบของการพยายามสร้าง ‘วาทกรรมใหม่’
เมื่อตั้งต้นได้แล้ว หมอประเวศ ก็ได้นำความคิดนี้ไปเสนอให้กับทางรัฐบาล คสช. ผ่านทางสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดดังกล่าว อันนำมาสู่การเปิดตัวนโยบายประชารัฐ และตั้งองค์กรต่างๆ ตามมา ดังที่เราพอรู้กัน (แม้ว่าหลังจากนั้น หมอประเวศจะแยกตัวออกจากการดำเนินการขององค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายประชารัฐ เนื่องจากความเห็นไม่ลงรอยกับผู้ทำงานคนอื่นๆ และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ก็เคลมว่า ‘ประชารัฐ’ นี้เป็นไอเดียของเขานับจากนั้นมา)
หลังจากที่เปิดตัวนโยบายประชารัฐขึ้นมา ไม่ว่าเราจะชอบหรือรังเกียจนโยบายนี้ปานใดก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันเป็นนโยบายหนึ่งที่ได้ถูกสร้าง ‘กลไกเชิงโครงสร้าง’ เพื่อมารองรับการมีอยู่และการทำงานของตัวนโยบายนี้อย่างครบครันและรวดเร็วที่สุดนโยบายหนึ่งในสมัยของรัฐบาลประยุทธ์เลย ทั้งตัวองค์กรที่มารองรับ หรือนโยบายย่อยต่างๆ ไปจนถึง ‘แก็ดเจ็ต’ ประกอบนโยบาย อย่างบัตรคนจน หรืออินเทอร์เน็ตประชารัฐ
ความครบครันของ ‘กลไกเชิงโครงสร้าง’ ของนโยบายประชารัฐนี้ เอาเข้าจริงมันทำให้ผมเองที่คอยตามนโยบายนี้มาโดยตลอด ก็รู้สึกงง หากจำกันได้ มีช่วงหนึ่งที่คำว่าประชารัฐนี้ ‘ขายไม่ค่อยออก’ นัก เงียบๆ ซบเซากันไป จนกระทั่งมีการวิ่งการกุศลของคุณพี่ตูน บอดี้แสลมขึ้นมา รัฐบาลก็ปักหมุดใช้คำนี้แบบกระหึ่มอีกครั้ง และก็ยังคงติดตลาดมาได้เรื่อยๆ จนกระทั่งตอนนี้ กระนั้นในช่วงที่ระดับความนิยมของนโยบายนี้ค่อนข้างซบเซา ท่าทีของรัฐบาลนี้ที่มีต่อการสนับสนุนนโยบายนี้ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดละหรือเปลี่ยนแปลง ยังคงเข็นตลาดประชารัฐ โรงเรียนประชารัฐ ร้านค้าธงฟ้า และอื่นๆ ออกมาอีกมาก มากจนดูไม่ได้คุ้มทุนนักกับการลงแรง จะเรียกว่า ‘คะยั้นคะยอดันนโยบายนี้มากอย่างผิดปกติ’ ก็ไม่ผิดนักในสายตาผม และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเกิดอาการงงๆ กับ ‘ประชารัฐในฐานะนโยบาย’ บ้างในบางครั้ง
แต่เมื่อเกิดการตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้น และดำเนินการอย่างที่เราเห็นมาจนตอนนี้ เช่น การสนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู การโฆษณารัฐบาล คสช. ด้วยผลงานที่ไม่ได้จะเรียกหรือนับว่าเป็นผลงานได้ หรือกระทั่งการประกาศออกมาชัดว่าตนต้องการแค่ร้อยกว่าเสียงเพื่อตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งการพูดแบบนี้ยืนยันชัดเจนเลยอยู่แล้วว่า สว. นั้นถูกล็อคตัวเอาไว้แล้ว และจะเข้าข้างพรรคนี้แน่นอน ไปจนถึงเรื่องการจัดโต๊ะจีน หรือบังคับให้คนที่ลงทะเบียนบัตรคนจน สมัครเป็นสมาชิกพรรค[1] เป็นต้น
ผมก็คิดว่าเอาเข้าจริงแล้วตัวตนของ ‘ประชารัฐ’ ในมือของสมคิดเองอาจไม่ได้ถูกออกแบบมาในฐานะนโยบายบริหารรัฐแต่แรกก็ได้ แต่ถูกออกแบบมาในฐานะเครื่องมือหาเสียงทางการเมืองที่แฝงอยู่ในรูปของนโยบายเฉยๆ ซึ่ง 2 เรื่องนี้แตกต่างกันอย่างมาก แต่พร้อมๆ กันนั้นก็ทรงพลังมากๆ
เพราะหากประชารัฐมันถูกออกแบบขึ้นมาในฐานะเครื่องมือของการหาเสียงตั้งแต่ต้น แค่อยู่ในรูปแบบของตัวนโยบาย มันมีลักษณะที่ตอบโจทย์มากกว่าการเป็นตัวนโยบายในตัวมันเองเสียด้วยซ้ำครับ เพราะการคะยั้นคะยอดันนโยบายนี้อย่างสุดตัว ไม่ท้อไม่ถอยเกินไปทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้ขายออก หรือมีเสียงตอบรับที่ดีนัก และไม่ได้สร้างสัมฤทธิ์ผลอะไรที่ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมานั้น มันค่อนข้างจะผิดวิสัยการบริหารจัดการตัวนโยบายอยู่บ้าง (แม้กระทั่งเมื่อมองจากมาตราฐานรัฐบาล คสช. นี้) ไม่เพียงเท่านี้ หาก ‘ประชารัฐ’ ถูกออกแบบมาในฐานะเครื่องมือสำหรับเลือกตั้งแต่แรกจริงๆ แล้ว มันก็จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากๆ อีกด้วย เพราะสามารถใช้ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐได้อย่างแทบจะไร้ขีดจำกัด ในการปูทางการหาเสียงไว้ก่อน ภายใต้รูปแบบของการเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าเกลียดมากๆ ของเคสที่ผมพยายามนำเสนอนี้ก็คือ การบังคับให้คนที่ยังไม่ได้รับบัตรคนจน ที่มาลงทะเบียนบัตร ต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐไปด้วย หรือการที่ตัวบัตรคนจนเองทำหน้าที่เป็น ‘สื่อกลาง’ ในการให้เงิน 500 บาท กับผู้ถือบัตรโดยตรง จากแคนดิเดตหลักในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ต่างๆ นั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยเร็ววัน กว่าจะมีการลงทะเบียนบัตรจนเกือบครบทั้งประเทศ กว่าจะทำให้คำว่าประชารัฐมันติดหู กว่าจะเตรียมงบประมาณให้พร้อมแจกเงินได้พร้อมกันหมด และทำราวกับว่า เงิน 500 บาทจะเปลี่ยนสถานะจากคนจนให้กลายเป็นคนไม่จนได้
สิ่งเหล่านี้อาศัยการเตรียมการและเวลาทั้งนั้น ในแง่นี้ จึงบ่งชี้เสียด้วยซ้ำว่า “ประชารัฐเกิดขึ้นเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ใช่การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ คสช. อาศัยประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากตัวนโยบายประชารัฐ”
ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ฝ่ายลิเบอรัลไทยอาจละเลยบ่อยๆ ก็คือ การพยายามทำความเข้าใจถึง ‘ความสำคัญของการเลือกตั้งในสายตารัฐบาลเผด็จการ คสช.’ แน่นอนว่าเรามีการพูดถึงกันซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงบทบาทที่สำคัญของการเลือกตั้งกับระบอบประชาธิปไตย หรือพรรคฝั่งลิเบอรัลนั้นมองเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งอย่างไร แต่ตรงกันข้าม เรามักประเมินเผด็จการต่ำไปเสมอ เรามักดูถูกหรือตัดขาดความเข้าใจในความสำคัญของการเลือกตั้งออกจากสายตาของเผด็จการเสียเรื่อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมคิดว่ารัฐบาล คสช. นี้เองต่างหากที่เป็นคนที่ ‘ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้’ มากไม่แพ้ใคร และอาจจะมากกว่าทุกพรรคการเมืองเลยก็เป็นได้
เราต้องไม่ลืมนะครับ ว่าเรากำลังพูดถึงรัฐบาลที่ใช้เวลา 4 ปี 7 เดือนกว่าๆ ในการร่างกฎหมาย ทั้งฉีกและสร้างรัฐธรรมนูญ (รวมไปถึงร่างรัฐธรรมนูญ) และระเบียบข้อบังคับทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อประกันผลลัพธ์ให้คนของตนเองจะได้เป็นคนที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ว่ากันอีกแบบก็คือ เราจะมองรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในฐานะเครื่องมือเพื่อให้พรรคพลังประชารัฐได้ขึ้นเป็นรัฐบาลให้ได้ ก็ยังไม่ผิด (และหน้าที่อื่นๆ ของมันค่อยตามมา) โดยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเครื่องมือสำรองในกรณีที่แผนหลัก ‘ผิดพลาดไป’ … กับคนแบบนี้ กับรัฐบาลแบบนี้ ต่อให้เขาเป็นเผด็จการ เราก็พูดไม่ได้หรอกครับว่าเขาไม่เห็นความสำคัญ หรือไม่เข้าใจความสำคัญของการเลือกตั้ง แต่พวกเขาเข้าใจมากๆ และต้องการมันมากๆ เลยต่างหาก จึงพร้อมจะทำทุกวิถีทางและใช้ทุกทรัพยากรเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้ง ไม่ว่านั่นจะหมายถึงความไร้ยางอายเพียงใดก็ตาม แต่ก็ทำได้โดยไม่สะทกสะท้าน
เมื่อมองจากฐานนี้แล้ว ผมจึงคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่นโยบายประชารัฐจะเป็นเพียงอีกหนึ่งเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาและวางตัวไว้เพื่อปูทางให้กับการกุมชัยชนะในการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นแล้ว โต๊ะจีน 650 ล้าน จึงไม่ใช่การระดมทุนที่สลักสำคัญนักหรอกในสายตาผม เพราะเขามีงบประมาณรัฐแทบทั้งหมดให้เอามาใช้ได้อยู่แล้วในนาม ‘นโยบายประชารัฐ’ และทุกๆ ครั้งที่ออกชื่อว่าใช้นโยบายนี้ไป ก็เป็นการหาเสียงโดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณาให้กับพรรคไปโดยปริยาย เช่นนั้นแล้ว เมื่อ โต๊ะจีน 650 ล้านบาทไม่ใช่การระดมทุนอย่างที่อ้าง ก็เป็นได้อย่างเดียวคือ การแสดงความสวามิภักดิ์ หรือเป็น Emblem of Trust เท่านั้นเอง ว่าใครบ้างพร้อมสนับสนุนหรือร่วมมือกับพวกเขาต่อไป
อย่างที่บอกไปครับว่านี่เป็นอีกมุมที่อยากจะ ‘ทดลองเสนอ’ ให้มองประชารัฐดู นอกเหนือไปจากการเป็นนโยบายโดยตัวมันเอง ความหน้าด้านไร้ยางอายเมื่อมองจากมุมนี้ อาจจะทำให้โต๊ะจีน 650 ล้าน กลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ ไปเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.khaosod.co.th/politics