“ห้ามมีแฟนระหว่างทำงาน”
เวลาไปสมัครงาน เจอเงื่อนไขแบบนี้เข้าไป จะรับกันได้ไหมครับ?
เป็นผมนี่คงลำบากใจนะครับ จะห้ามไม่ให้มีความรักระหว่างทำงาน ซึ่งสำหรับพ่อหนุ่มมากรักแบบผมนี่มันเป็นไปไม่ได้แน่ๆ (ถุย) ซึ่งเงื่อนไขแบบนี้ คนที่ชินกับวงการบันเทิงญี่ปุ่นคงจะไม่แปลกใจมาก เพราะวงการไอดอลส่วนใหญ่ จะดังหรือไม่ดังก็มักจะมีเงื่อนไขแบบนี้แนบมาในสัญญาอยู่แล้ว พอมีคนจับได้ว่ามีแฟน (เรียกอีกอย่างว่า ‘ถูกไฟรเดย์’) ก็อาจจะหลุดจากวงไปเลยก็ได้ มีมาเรื่อยๆ ครับ ซึ่งก็ถือว่าเป็นบรรทัดฐานของวงการเขาไปแล้ว ส่วนของบ้านเราที่เอาแบรนด์เขามาก็ไม่รู้ว่าจะเอามาตรฐานนี้มารึเปล่า แต่ก็เข้าใจได้ว่าคงเป็นความพยายามในการรักษาความแฟนตาซีของไอดอลนั่นล่ะ
แต่ถ้าผมจะบอกว่า ‘อาชีพที่ห้ามมีแฟนระหว่างทำงาน’ ที่จะมาเล่าสู่กันฟังวันนี้ ไม่ใช่ไอดอลอะไร แต่เป็น พนักงานสัญญาจ้างขององค์กรแห่งหนึ่ง จะงงไหมครับ?
อาชีพที่ว่าคือ ‘พี่สาวพาร้องเพลง’ และ ‘พี่สาวพาเต้น’
ในรายการทีวีของทางช่อง NHK ของญี่ปุ่นนั่นเอง
พี่สาวพาเต้น แห่ง NHK
หลายท่านที่อ่านคงรู้จักช่อง NHK กันมาบ้าง ส่วนใครที่ไม่รู้ NHK คือช่องทีวีสาธารณะของญี่ปุ่น เป็นช่องเสรี บริหารงานเหมือนเอกชน แต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลด้วย แต่ช่องจะไม่มีโฆษณา อาศัยรายได้จากการเก็บเงินค่าชมครับ (ใครเคยอยู่ญี่ปุ่นคงจะเคยเจอพนักงาน NHK มาเก็บเงินค่าชมทีวี ซึ่งใครจะตีเนียนหนียังไงก็แล้วแต่สกิลนะครับ)
ซึ่ง NHK ก็จะมีแยกเป็นสองช่อง ช่องแรกคือ NHK General ช่องรายการทั่วไป ข่าว สังคม บันเทิง ส่วนอีกช่องคือ NHK Education ช่องรายการการศึกษาเพื่อความรู้ทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งทั้งสองช่องนี้ก็เป็นช่องที่รับชมได้ทั่วญี่ปุ่น ไม่เหมือนกับช่องของเอกชนที่บางช่องก็ไม่มีฉายในบางพื้นที่ เรียกได้ว่า รับสัญญาณได้ที่ไหน ก็มี NHK ที่นั่นนั่นเอง
และทางช่อง NHK Education นี่เอง
ที่มีรายการหลักรายการดังอยู่รายการหนึ่ง
นั่นคือ Okaasan to Issho หรือรายการ ‘กับคุณแม่’
ฟังชื่ออาจจะงง แต่มันคือรายการพาเด็กเล็กกับคุณแม่ มาร่วมกิจกรรมกับรายการ รูปแบบของรายการก็จะมีการพาร้องเพลง พาเต้น ให้เด็กๆ ได้เต้นตามหน้าจอทีวี ในรายการก็จะมีเด็กๆ จากทางบ้านมาร่วมสนุก มีเพลงที่ใช้ภาษาง่ายๆ สอนเด็กเล็กให้เรียนรู้ศัพท์อีกด้วย
ซึ่งรายการก็ทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1959 จนถึงทุกวันนี้นะครับ!
และผู้ดำเนินรายการหลักของรายการก็คือ พี่ชายพี่สาวพาร้องเพลง พี่ชายพาออกกำลัง และ พี่สาวนักเต้น นั่นเอง ซึ่งพวกเขาและพวกเธอก็จะมานำเด็กๆ ทั้งหลายให้ร้องเต้นกันในรายการตามที่บอกไปนั่นล่ะครับ
แน่นอนว่า เมื่อหน้าที่หลักคือการพาร้องเพลง เขาก็ต้องการคนที่ร้องเพลงได้ และหน้าตาดีพอประมาณ แต่งตัวเข้ากับเสื้อผ้าแบบตะวันตก (ไม่เน้นชุดญี่ปุ่น)
แต่เขาก็ไม่ได้เปิดออดิชั่นทั่วไปนะครับ คือมีออดิชั่นนั่นล่ะ
แต่ประกาศกำหนดการณ์ต่างๆ จะถูกแจ้งไปตามวิทยาลัยดนตรี
และกลุ่มละครเวทีที่มีชื่อเสียงเท่านั้น สามัญชนคนทั่วไปต่อให้
ร้องคาราโอเกะได้คะแนนดีแค่ไหนก็ไม่มีทางได้เข้าไปหรอกครับ
ซึ่งการคัดคุณภาพตรงนี้ ก็แน่นอนว่าต้องดูกันอย่างจริงจัง และถึงจะประกาศในวงแคบ แต่ว่าคนที่เข้ามาสมัครก็ไม่ใช่น้อยนะครับ แต่ว่ารับกี่คนน่ะเหรอครับ?
คนเดียว!
เพราะว่า แต่ละตำแหน่งในรายการมีแค่คนเดียวครับ ไม่มีตัวแทน ไม่รู้กลัวเด็กมีปัญหาเวลาเปลี่ยนตัวนักแสดงไปมารึเปล่า แต่การรับแค่คนเดียวแบบนี้ ก็ทำให้อัตราการแข่งขันโหดไม่เบา ก็ประมาณ 1 จาก 600 คนครับ ส่วนพี่สาวนักเต้นก็ใช้วิธีคัดเลือกคล้ายๆ กัน แต่เงื่อนไขจะต่างกันไปอีกหน่อย เพราะว่า ไม่ต้องเน้นความสวยเท่า แต่ขอให้เต้นเก่ง และแอคชั่นดี เพราะหลายครั้งต้องเล่นใหญ่เอาใจเด็กๆ ทำอะไรที่เด็กๆ ชอบได้
ทำงานกับเด็กๆ ที่ภาระไม่เด็กไปด้วย
ซึ่งพอผ่านเข้ามาแล้ว หน้าที่แรกๆ เลยคือต้อง ซ้อม ซ้อม ซ้อม เพื่อจะจำเพลงทั้งหมดได้ครับ ปัญหาคือ รายการเขามีเพลงประจำหลายร้อยเพลงเลย ก็ต้องซ้อมไปเรื่อยๆ (อารมณ์เหมือนจู่ๆ ต้องมาจำเพลงทั้งหมดของพี่เบิร์ดน่ะครับ) แต่ดีหน่อยตรงถ้าใครเป็นแฟนรายการอยู่แล้วก็อาศัยจำจากการดูรายการนั่นล่ะ แต่ถึงอย่างไร ก็ต้องมาซ้อมร้องให้ถูกต้องตามแบบที่เขาต้องการนะครับ
ส่วนการทำงาน ตารางนี่หนักหนาสาหัสเอาเรื่องครับ จันทร์ถึงพุธ ก็อัดรายการในสตูดิโอ เจอกับเด็กๆ จำนวนมหาศาล ออกรายการทีเป็นสิบๆ คน ก็เหนื่อยแล้ว วันพฤหัส ก็ต้องมาซ้อมเตรียมงานสัปดาห์ถัดไป แล้วศุกร์ ก็ต้องมาอัดเพลงเตรียมไว้ เสาร์อาทิตย์ แทนที่จะได้พัก ถ้าทางสถานีไปจัดรายการนอกสถานที่ ก็ต้องไปร่วมอีเวนต์ด้วย เรียกได้ว่า งานหนักไม่มีวันพัก
อดีตพี่สาวพาร้องเพลงรายหนึ่งเคยบอกว่า
ต้องกินวิตามินบำรุงทุกวัน ไม่งั้นหมดสภาพก่อน
เพราะว่าแต่ละตำแหน่ง มีแค่คนเดียว ไม่มีใครแทนได้
ทำงานหนักแบบนี้ แล้วผลตอบแทนเหรอครับ? ก็อย่าลืมนะครับว่า ต่อให้เป็นงานที่ออกหน้าจอ มีชื่อเสียง โด่งดังเป็นที่จับตามอง แต่ก็เป็นเพียงพนักงานสัญญาจ้างของสถานี ไม่ใช่พนักงานประจำ เพราะว่าไม่มีใครทำงานร้องเพลงได้เรื่อยๆ นี่ครับ ดังนั้นเงินเดือนก็เท่ากับพนักงานของ NHK ซึ่งถ้าดูจากอายุงาน รวมโบนัสแล้วก็น่าจะตกประมาณปีละ 4 ล้านเยน ซึ่งจริงๆ ก็ถือว่าดีเลยถ้าเทียบกับคนทำงานธรรมดา แต่ถ้าเทียบกับชื่อเสียงและปริมาณงานแล้ว ก็ไม่แปลกที่หลายคนจะรู้สึกว่าน้อยไปครับ
ห้ามมีแฟน ห้ามแต่งงาน ห้ามเดินไปกินไป ห้าม ห้าม ห้าม…
ทีนี้มาดูเงื่อนไขต่างๆ ของการทำงานนี้นะครับ จริงๆ แล้ว เงื่อนไขต่างๆ จะไม่ได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการ มีสื่อญี่ปุ่นโทรไปถาม NHK ก็ไม่ได้คำตอบอะไร เพราะถือว่าเป็นเรื่องลับ อยู่ในสัญญา แต่ว่าก็มีอดีตพี่สาวพาร้องเพลงออกมาเล่าเรื่องประสบการณ์ตัวเองในการทำงานนี้นั่นล่ะครับ ถึงเป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมา
ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า NHK เป็นสถานีโทรทัศน์ที่จัดว่าเข้มงวดและอนุรักษนิยมเอาเรื่อง ใครทำอะไรไม่เหมาะสมหน่อยก็โดนแบนได้ง่ายๆ แน่นอนว่า แนวคิดแบบนี้ก็ส่งมาถึงการทำรายการด้วย ซึ่งรายการเด็กอย่าง ‘กับคุณแม่’ ก็เป็นรายการดังของช่อง ทางช่องก็ต้องการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีไว้เต็มที่ ยิ่งกว่าไอดอลที่มีแฟนคลับเป็นลูกค้าหลักเท่านั้น แต่งานพี่สาวพาร้องเพลงนี่ต้องเอาใจทั้งครอบครัว ดังนั้น จึงเป็นที่มาของเงื่อนไขที่ฟังดูไร้สาระสำหรับคนทั่วอย่างเรานี่ล่ะครับ
เงื่อนไขแรกเลยคือ อย่างที่บอกไปล่ะครับว่า ระหว่างทำงานนี้ “ห้ามมีแฟน” แล้วก็ยัง “ห้ามแต่งงาน” และ “ห้ามตั้งครรภ์” อีกด้วย คือ บล็อกทุกทางเลย จะเลี่ยงบาลีว่า ไม่ได้มีแฟน มีสามี ไม่ได้ล่ะ ก็พอเข้าใจว่า ต้องการรักษาภาพลักษณ์ เกิดอยู่มาวันนึง เจอรูปพี่สาวพาร้องเพลงจูบปากกับแฟนอย่างดูดดื่ม ลงในโฆษณานิตยสารกอสสิปในรถไฟ พ่อแม่เด็กจะอธิบายลูกกันยังไงดีนะครับ
นอกจากนี้เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีงามตามธรรมเนียม
เงื่อนไขก็ลามไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันด้วยครับ
เพราะเกิดพบเห็นพวกเธอข้างนอกรายการจะได้ไม่ผิดหวัง ก็มีตั้งแต่ ห้ามแต่งตัวสีสันฉูดฉาด แต่งตัวเปรี้ยวเกิน ห้ามฝ่าไฟแดงเวลาเดินข้ามถนน ห้ามกระทั่งเดินไปกินไป รวมไปถึงห้ามไปปรากฏตัวในย่านที่ไม่เหมาะสม เช่นไปเดินย่านคาบุกิโจที่เต็มไปด้วยร้านสยิว พูดง่ายๆ คือ ห้ามทุกอย่างที่ดูไม่ดี (นี่ไม่เห็นว่ามีห้ามดื่มเหล้าหรือห้ามสูบบุหรี่ด้วยมั้ย ก็น่าสนใจว่าทำไมไม่มี) และที่สำคัญคือ ห้ามไปออกช่องอื่นนอกจาก NHK (อันนี้พอเข้าใจได้)
แต่ที่ฟังแล้วย่างชวนอึ้งเข้าไปอีกคือ เพราะความที่งานนี้ไม่มีตัวแทน ไม่สามารถหาใครสลับมาทำงานแทนได้ ดังนั้นจึงต้องลดความเสี่ยงในการมาทำงานไม่ได้ให้มากที่สุด ดังนั้นจึงมีเงื่อนไขพิลึกๆ อย่าง ห้ามขับรถ (ป้องกันอุบัติเหตุ) ห้ามเล่นกีฬา (นี่ก็ป้องกันการบาดเจ็บ) แต่ที่จัดว่าชวนเศร้าอีกอย่างคือ ห้ามเดินทางไปต่างประเทศครับ ไม่รู้กลัวมีอุบัติเหตุอะไรรึเปล่า แต่เอาจริงๆ ดูจากตารางงานแล้ว ก็ไม่รู้จะไปไหนได้ล่ะครับ
อ้อ แล้ว ‘ว่ากันว่า’ หนึ่งในเงื่อนไขตอนคัดตัวของพวกเธอ โดยเฉพาะพี่สาวนักเต้นเนี่ย คือ ต้องไม่หน้าอกตู้มเกินไป ด้วยนะครับ ฟังแล้วก็เพลีย แต่เขาให้เหตุผลว่า เวลาเต้น เวลาร้องเพลง ถ้าใหญ่ไป มันก็จะส่ายไปมา ชวนให้ผู้ปกครองไม่รู้จะมองอะไรดี คงต้องหลบสายตา ดังนั้นเลยตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเลยดีกว่า งานนี้สาวแบนได้เปรียบครับ แหม่
ฟังเงื่อนไขต่างๆ แล้ว เอาจริงๆ ก็อยากรู้ลึกลงไปอีกว่าจะมีเงื่อนไขที่ฟังดูบ้าๆ บอๆ อะไรอีกรึเปล่านะครับ เพราะแค่นี้ก็เล่นเอาปวดหัวแล้วเหมือนกัน ถึงจะเป็นแค่ช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น แต่หลายคนก็รับงานนี้เกิน 5 ปีนะครับ คงเป็น 5 ปีที่จะทำอะไรก็ต้องระวังไปหมด (ไม่รู้เป็นเล็บขบได้มั้ย เผื่อเต้นไม่ได้) แต่หลายคนที่พอออกจากรายการนี้แล้ว ก็หลายมาเป็นคนดัง ทำเงินได้เยอะกว่าเดิมหลายเท่า ก็ดูเหมือนจะเป็นคุ้มค่าความอดทนเหมือนกัน แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว นี่ก็ฟังดูเหมือนทำงานในธุรกิจมืด (Black Company) เลยครับ ถ้ามีโอกาสวาระหน้าคงต้องขอคุยเรื่องธุรกิจมืดในญี่ปุ่นอีกทีด้วยแล้วกันครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://biz-journal.jp/2016/04/post_14911_2.html
https://middle-edge.jp/articles/I0002069
http://spotlight-media.jp/article/248292168768715439
http://spotlight-media.jp/article/224360392602637873