“แม้ไม่เคยมีการประกาศสงคราม แต่หลายๆ เมืองในสหรัฐฯ คล้ายจะถูกสร้างขึ้น หรือสร้างใหม่ด้วยความตั้งใจที่กำจัดคนเดินถนน ถนนถูกขยายใหญ่ ทางเท้าที่หายไป ต้นไม้ถูกโค่นทิ้ง ร้านอาหารไดรฟ์ทรู และลานจอดรถกว่าสิบเอเคอร์ ได้ลบล้างทิวทัศน์ตามท้องถนนเราให้เหลือแค่มองเห็นจากการขับรถเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ชีวิตบนท้องถนน (pedestrian life) จึงเป็นได้แค่ในหลักทฤษฎี”
ประโยคข้างต้นปรากฏขึ้นในช่วงต้นของ Walkable City หนังสือที่เนื้อหาโดยคร่าวว่าด้วยแนวคิดที่ว่า ถึงจะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เมืองเมืองหนึ่งดีขึ้นได้ แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่ประสิทธิภาพในการเดิน (walkability) ของเมืองนั้นๆ Jeff Speck ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังและออกแบบแผน คือผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นครับ และสิ่งที่เขาจะพาเราไปสำรวจชวนขบคิดคือ การเพิ่มและให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพทางการเดินให้กับเมืองจะส่งผลให้เมืองแห่งนั้นเปลี่ยนไปสักแค่ไหนกัน
ปัญหาหนึ่งที่เมืองจำนวนมากในสหรัฐฯ กำลังประสบอยู่ก็คือ การย้ายออกของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่ม Millennial หรือคนเจนวาย
ที่เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งก็มักจะเคลื่อนย้ายไปพำนักอยู่ในเมืองอื่น สเป๊กอ้างว่า ประชากรกลุ่มนี้ชื่นชอบชุมชนที่ให้ความสำคัญกับ street life เพราะฉะนั้นแล้วสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจย้ายจากบ้านเกิดก็เป็นเพราะความโหยหาและการขาดแคลนวัฒนธรรมคนเดินถนน (pedestrian culture) นั่นเอง
ว่าแต่ pedestrian culture หน้าตาเป็นอย่างไร ลองนึกภาพครับว่า การสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ต้องอาศัยการขับรถ มีพื้นถนนที่เหมาะสำหรับเดิน ปลอดภัย แถมระหว่างทางอาจมีร้านรวง และสถานที่หย่อนตาหย่อนใจต่างๆ ที่ช่วยให้การเดินไม่รู้สึกทรมานนัก หรือต้องคอยแต่ก้มหน้าย่ำเท้าเพียงอย่างเดียว พูดง่ายๆ ว่า เป็นบรรยากาศที่ใครๆ ก็อยากจะออกมาเดินเท้านั่นเองครับ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนที่เดินสวนกันไปมาบนฟุตปาธ สร้างความรู้สึกผูกพันธ์และเป็นมิตรให้กับคนในชุมชนไปในตัว
สเป๊กยก quote หนังสือชื่อ The Great Car Reset ว่า “หนุ่มสาว (อเมริกัน) ทุกวันนี้ไม่ได้มองว่ารถเป็นสิ่งจำเป็น หรืออิสระส่วนตัวอีกแล้ว เอาเข้าจริง เป็นด้านตรงข้ามด้วยซ้ำที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น นั่นคือการไม่มีรถและไม่มีบ้านถูกมองว่าเป็นหนทางที่นำไปสู่ชีวิตที่ยืดหยุ่น ทางเลือก และอิสระในตัวเอง”
แบบสำรวจยังพบอีกด้วยว่า 64% ของประชากร millennial ที่จบมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับเมืองที่พวกเขาจะอยู่อาศัยเป็นอันดับแรก จากนั้นถึงค่อยมองหางานที่เหมาะสม เช่นกันที่ 77% ก็ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ๆ ของสำหรัฐฯ
คุณรู้จัก walkscore.com ไหมครับ walkscore คือเว็บไซต์ที่คำนวณประสิทธิภาพการเดินในละแวกบ้านหรือพื้นที่หนึ่งๆ ทั่วสหรัฐฯ โดยวัดจากระยะทางที่เชื่อมระหว่างสถานที่เป็นหลัก และประเมินออกมาเป็นคะแนน ซึ่งพื้นที่ซึ่งได้อันดับท็อปๆ ก็อย่างเช่น Chinatown, San Francisco, Tribeca, New York, Beaverton,และรัฐ Oregon ที่หมายความว่า สถานที่ต่างๆ ในพื้นที่เหล่านี้ต่างเดินถึงกันได้ไม่ยาก ต่างกับพื้นที่อย่าง Mulholland Drive หรือ Los Angeles ซึ่งมีคะแนนที่ต่ำมากๆ ก็เท่ากับว่า สถานที่ต่างๆ ในพื้นที่นี้ต้องอาศัยการขับรถเพื่อจะไปถึง
ความน่าสนใจของเจ้า walkscore นี่ก็คือ อิทธิพลของมันที่ส่งผลต่อเหล่านายหน้าค้าที่นี่แหละครับ เพราะใครจะไปคิดว่า เว็บไซต์ให้คะแนนการเดินจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการโน้มน้าวลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อบ้านในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างไม่ยากเย็น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Seattleและ Washington ที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพทางการเดินมาก ขนาดที่ราคาของบ้านสามารถเพิ่มขึ้นอีก 5-10% และลูกค้าเองก็ยังยินดีที่จะจ่าย นี่เองที่แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันส่วนหนึ่งยินดีที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพของชีวิต และช่วยให้พวกเขาไม่ต้องกระโดดขึ้นรถยนต์บ่อยๆ
แต่แม้ว่าประชากรอเมริกันในปัจจุบันจะมองหาที่อยู่อาศัยซึ่งพวกเขาสามารถสัญจรได้ด้วยเท้า กระนั้นสหรัฐฯ ก็ยังเป็นประเทศแห่งรถยนต์อยู่ดี พื้นที่เดินเท้าในหลายเมืองใหญ่ค่อยๆ หายไป
เมื่อถนนหนทางเริ่มเบียดบังทางเท้า และการตัดถนนใหม่ก็ไม่ได้ช่วยให้การจราจรติดขัดน้อยลงแต่อย่างใด กลับจะเพิ่มอัตราของผู้ใช้รถส่วนตัวให้สูงขึ้นด้วยซ้ำ
ว่าแต่ถ้าเมืองเมืองหนึ่งต้องการจะเพิ่มศักยภาพการเดินให้กับประชาชน เขาต้องทำอะไรบ้างล่ะ มีข้อเสนอหลายข้อทีเดียวครับที่สเป๊กเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น การปกป้องคนเดินเท้า โดยการให้ความสำคัญกับรายละเอียดที่มักถูกมองข้าม เช่น ขนาดของบล็อคถนน ความกว้างของฟุตปาธ จังหวะการหักเลี้ยว ป้ายสัญญาณ หรือการรู้จักจัดการพื้นที่
อย่างที่สเป๊กกล่าวว่า จริงอยู่ว่าผู้คนชอบพื้นที่เปิด แต่ในทางเดียวกันพวกเขาก็ชื่นชอบความรู้สึกแนบชิดในฐานะคนเดินเท้าเหมือนกัน ซึ่งบ่อยครั้งที่สองสิ่งนี้ถูกมองกันอย่างแยกขาด ว่าหากชอบที่ว่างก็ย่อมเกลียดความแออัด ทั้งที่จริงๆ แล้วพฤติกรรมและความรู้สึกของมนุษย์นั้นซับซ้อนเกินกว่าที่จะแบ่งออกง่ายๆ ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร หรืออีกข้อเสนอหนึ่งก็คือการสร้างใบหน้าของเมืองให้น่าสนใจ
พูดง่ายๆ คือ คงไม่มีใครอยากเดินชมเมืองที่มีแต่ตึกและอาคารหน้าตาเหมือนกันไปหมดหรอกนะครับ แม้กระทั่งร้านรวงต่างๆ เองที่ต่อให้มีหลากหลาย แต่ถ้าปิดบานกระจกมืดทึบ ไม่เชื้อชวนให้เข้าไปดูก็ช่วยให้เมืองไม่น่าสนใจได้เช่นกัน การติดบานกระจกกว้างใส ที่เผยให้เห็นตัวร้านและสินค้าภายในก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งช่วยกระตุ้นให้คนสนุกกับการเดินมากขึ้นได้ window shopping หรือการเดินดูสินค้าไปเรื่อยๆ นี่แหละครับที่ช่วยให้คนลืมความเหนื่อยได้ชะงัดนัก
Walkable City ถือเป็นหนังสืออ่านสนุกสำหรับใครที่สนใจเรื่องเมืองและการวางผังเมือง กระนั้นด้วยความที่หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นในอีกพื้นที่หนึ่ง จึงไม่ใช่ว่าทุกข้อเสนอของผู้เขียนหนังสือจะสามารถปรับใช้ได้กับทุกเมืองในโลก เช่นกันกับเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ยังดูห่างไกลจากการเป็นเมืองหลวงแห่งการเดินอยู่อีกหลายปีแสงทีเดียวครับ