ช่วงหลังๆ เรามักจะได้ยิน หรือ แม้แต่ออกปากนินทากันเองว่าฝั่งฮอลลีวูดเนี่ยนิยมจะหยิบจับงานเก่ามารีเมค รีมาสเตอร์ รีรัน หรือบางทีก็แค่เอามาพูดแถลงข่าวออกสื่อเพื่อสร้างกระแส ว่าอาจจะหยิบจับเรื่องเก่าๆ มาทำใหม่อีกรอบ
พอลองมองกลับมาดูตัวที่ฝั่งบ้านเราก็พบว่า ในช่วงหลัง แม่ฝั่งหนังจะรีเมคน้อยลง แต่ฝั่งละครนั้นยังรีเมคกันดุเดือดอยู่พอสมควร จนแอบมีพูดกันขำๆ ว่า “ในชีวิตนึงเนี่ยเราอาจจะได้ดูละครเรื่องเดียวกันสี่ห้ารอบเลยนะ”
จากคำสนทนาที่ว่านี้ The MATTER เลยไปสำรวจดูว่า ละครที่เห็นว่ารีเมคกันเยอะๆ เนี่ย รีเมคมาแล้วกี่รอบ แล้วก็ได้มาเป็นแชมป์ละครไทย 9 เรื่อง ที่รีเมคมาแล้วเกินกว่า 5 ครั้ง และยังมีเรื่องอื่นอีกไหมที่รีเมคออกมาให้เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ
แม่นาคพระโขนง / แม่นากพระโขนง (รีเมคมาแล้ว 7+1 รอบ)
เรื่องราวความรักของคนเป็นกับผู้วายชนม์ที่ความรักทำให้ แม่นาค ยังรอ พ่อมาก อยู่เสมอ และการที่อยากจะอยู่กับคนรักของผีแม่นาคนี้ทำให้เธอคอยวนเวียนอยู่ในพื้นที่บ้านของเธอ รวมถึงคอยหลอกหลอนกลุ่มคนที่พยายามจะขับไล่เธอ หรือแม้แต่กลุ่มคนที่หวังดีต่อพ่อมาก ก็ถูกแม่นาคตามไปหลอกเช่นกัน ก่อนที่ตามตำนานเชื่อว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นผู้สยบความเฮี้ยนของแม่นาคด้วยการนำกะโหลกศีรษะออกมาทำหัวปั้นเหน่ง
เชื่อว่าเดิมทีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ชัดเจนว่าเกิดในช่วงเวลาใดกันแน่ บ้างก็ว่ารัชกาลที่สาม บ้างก็ว่ารัชกาลที่ห้า (คอลัมน์ไทยไทยในโลกล้วนอนิจจัง เคยพูดเรื่องแม่นากมาแล้วครั้งหนึ่ง) แต่สุดท้ายเรื่องราวความรักระหว่างคนเป็นกับคนตายก็ได้รับความนิยมและถูกตีความเพิ่มเติม จัดสร้างกลายเป็นสื่อบันเทิงหลายครั้ง
ถ้าเอาแค่ฉบับละครทีวีนั้น แม่นาคพระโขนง ถูกสร้างมาแล้ว 7 ครั้ง เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 นำแสดงโดย ปริศนา วงศ์ศิริ และ ชานนท์ มณีฉาย ออกอากาศทางช่อง 7 และฉบับล่าสุดถูกสร้างเมื่อ พ.ศ. 2559 นำแสดงโดย สุธีวัน ทวีสิน และ มาร์ติน มิดาล ออกอากาศทางช่อง ช่อง 8
โดยหลักแล้วเนื้อหาของเรื่องราวไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก อาจจะยกเว้นหลังจากที่หนัง นางนาก ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2542 เข้าฉายแล้วละครที่ทำต่อมาหลังจากนั้นก็จะปรับบทบาทให้สมจริงสมจังมากขึ้น เดิมทีแม่นาคพระโขนงถือว่าเป็นละครสร้างกระแสเรียกคนดูได้เสมอๆ จนมาในฉบับหลังๆ ที่อาจจะออกมาติดกันกับการตีความใหม่ๆ (อย่างฉบับละครที่ออกมาหลัง ภาพยนตร์ พี่มาก…พระโขนง) จนทำให้คนดูสนใจลดลง
ส่วนที่ + 1 ไว้เพราะในปี พ.ศ. 2539 ทางช่อง 7 ได้จัดทำละคร ‘แม่นาคพระนคร’ ที่ยกเนื้อหาที่คนไทยคุ้นเคยกันมาผสมกับเนื้อหาใหม่ที่ตีความว่า แม่นาคพระโขนงได้ถูกปิดผนึกก่อนที่จะโดนปลดปล่อยมาในยุคปัจจุบัน (ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2530) และได้พยายามกลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพ่อมาก ที่กลับชาติมาเกิดใหม่ แถมยังเป็นหนุ่มหล่อที่มีสาวๆ มารุมแย่ง เรื่องรักปนหลอนจึงเกิดขึ้นอีกครั้งในเมืองใหญ่แทนท้องทุ่ง ซึ่งเนื้อหาช่วงดั้งเดิมนั้นถูกสร้างไว้ในสองตอนแรกของละครฉบับนี้
แม่นาคพระโขนง – พ.ศ. 2522 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย ปริศนา วงศ์ศิริ และ ชานนท์ มณีฉาย
แม่นาคพระโขนง – พ.ศ. 2532 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย ตรีรัก รักการดี, เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์, และ สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต
แม่นาคพระโขนง – พ.ศ. 2537 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย ลีลาวดี วัชโรบล และ วรุฒ วรธรรม
แม่นาคพระนคร – พ.ศ. 2539 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ และ นุติ เขมะโยธิน
แม่นาค – พ.ศ. 2542 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย พัชราภา ไชยเชื้อ และ พีท ทองเจือ
แม่นากพระโขนง – พ.ศ. 2543 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย กุลณัฐ ปรียะวัฒน์ และ ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ
แม่นาคพระโขนง รักนี้นิรันดร์ – พ.ศ. 2556 ออกอากาศทาง ช่อง 9 นำแสดงโดย อมราพร พร้อมลาภ และ กวี วงศ์จันทรา
แม่นาก – พ.ศ. 2559 ออกอากาศทางช่อง ช่อง 8 นำแสดงโดย สุธีวัน ทวีสิน และ มาร์ติน มิดาล
ผู้กองยอดรัก (รีเมคมาแล้ว 7 รอบ)
รักวุ่นๆ ระหว่างนายทหารหนุ่มกับผู้กองสาว ที่วุ่นวายอลหม่านเพราะนายทหารจริงๆ เป็นเนติบัณฑิตที่มีความรู้แต่ปลอมสถานะ ส่วนผู้กองสาวนั้นก็มีพ่อแม่ที่ห่วงและหวงเธออย่างกับไข่ในหิน รักต่างชนชั้นกับระดับยศจึงเกิดขึ้นได้ยากเพราะสิ่งที่เขาและเธอเป็น
นิยายไตรภาคของ กาญจนา นาคนันทน์ ถูกทำเป็นหนัง 2 รอบ แต่ได้เป็นละคร ถึง 7 รอบ เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 ทางช่อง 4 บางขุนพรหม และรอบล่าสุดคือการฉายในปี พ.ศ. 2558 ทางช่อง 3 พล็อตเรื่องของการทำเป็นละครแทบทุกครั้งไม่ค่อยเปลี่ยนไปนัก อาจจะมีการเพิ่มลดตัวละครจากฉบับนิยายเข้ามาบ้าง และการปรับเปลี่ยนปริบทบางอย่างให้ตรงกับยุคที่สร้างละคร อย่างเรื่องเงินเดือน หรือกิจกรรมทางสังคมตามท้องเรื่อง
เวอร์ชั่นที่น่าจดจำรวมถึงถูกสร้างจนครบถ้วนก็คงไม่พ้นละครในปี พ.ศ. 2538 ที่ได้ วรุฒ วรธรรม มารับบทพระเอก คู่กับ ชลิตา เฟื่องอารมย์ เนื่องจากละครฉบับนี้หยิบยกเอาเนื้อหาและชื่อเรื่องจากนิยายทั้งสามเล่มมาเล่าจนเกือบครบถ้วน
และน่าจะเป็นละครไม่กี่เรื่อง ที่พ่อกับลูกมีโอกาสได้รับบทบทตัวละครเดียวกัน นั่นก็คือ ชุมพร เทพพิทักษ์ ที่รับบท พัน น้ำสุพรรณ ในฉบับ พ.ศ. 2515 ก่อนที่ ศรราม เทพพิทักษ์ จะมารับบทเดียวกันในฉบับ พ.ศ. 2545
ผู้กองยอดรัก – พ.ศ. 2515 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย ชุมพร เทพพิทักษ์ และ กนกวรรณ ด่านอุดม
ผู้กองยอดรัก – พ.ศ. 2522 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา และ ดวงใจ หทัยกาญจน์
ผู้กองยอดรัก – พ.ศ. 2531 ออกอากาศทาง ช่อง 9 นำแสดงโดย ทูน หิรัญทรัพย์ และ สาวิตรี สามิภักดิ์
ผู้กองยอดรัก / ยอดรักผู้กอง / ผู้กองไปไหน – พ.ศ. 2538 ออกอากาศทาง ช่อง 9 นำแสดงโดย วรุฒ วรธรรม และ ชลิตา เฟื่องอารมย์
ผู้กองยอดรัก – พ.ศ. 2545 ออกอากาศทาง ช่อง 9 นำแสดงโดย ศรราม เทพพิทักษ์ และ กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ
ผู้กองยอดรัก – พ.ศ. 2550 ออกอากาศทาง ช่อง TITV นำแสดงโดย เกียรติกมล ล่าทา และ ไดอาน่า จงจินตนาการ
ผู้กองยอดรัก – พ.ศ. 2558 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และ ราศรี บาเล็นซิเอก้า
คู่กรรม (รีเมคมาแล้ว 6 รอบ)
พอเห็นชื่อนิยายของ ทมยันตี เรื่องนี้แล้ว ในห้วงความทรงจำของใครหลายคนน่าจะได้ยินเสียงเพลง “ดั่งนรกชัง หรือสวรรค์แกล้ง…” ดังขึ้นมาในหัวกันทันควัน
เรื่องราวความรักระหว่างนายทหารหนุ่มจากแดนอาทิตย์อุทัยกับหญิงสาวชาวไทย ที่มีบรรยากาศพ่อแง่แม่งอนกันอยู่ค่อนข้างยาวจนกระทั่งตอนท้ายที่ทั้งสองตกเป็นของกันและกัน จนได้รู้จักจิตใจของพวกเขาเอง ก่อนที่โศกนาฎกรรมจะมาเยือนในช่วงท้ายเรื่อง
พูดถึงละครคู่กรรมแล้วหลายคนก็จะนึกถึงคู่พระนางระดับขึ้นหิ้งอย่าง พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ กับ กวาง-กมลชนก โกมลฐิติ ในละครฉบับปี พ.ศ. 2533 ทันที เพราะเชื่อว่าคู่กรรมเป็นละครโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของบ้านเราอยู่ที่ 40 หรืออย่างน้อยที่สุดในวันที่ละครอวสานก็ถึงขั้นที่รถในกทม. โล่งสนิทจริงๆ แถมเพลงที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ก็เป็นเพลงประกอบจากละครฉบับนี้ และทำให้ฉบับที่สร้างหลังจากนี้แทบทุกฉบับโดนเปรียบเทียบว่าไม่ถึงขั้นความคลาสสิกที่เคยถูกทำได้มาก่อน
ส่วนการสร้างละครคู่กรรมครั้งแรกสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2513 ที่ได้ มีชัย วีระไวทยะ และ บุศรา นฤมิตร รับบทคู่พระนาง ส่วนฉบับหลังสุด ถูกสร้างเหมือนปี พ.ศ. 2556 ได้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว กับ หนึ่งธิดา โสภณ รับบท โกโบริ-อังศุมาลิน
คู่กรรม – พ.ศ. 2513 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย มีชัย วีระไวทยะ และ บุศรา นฤมิตร
คู่กรรม – พ.ศ. 2515 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย ชนะ ศรีอุบล และ ผาณิต กันตามระ
คู่กรรม – พ.ศ. 2521 ออกอากาศทาง ช่อง 9 นำแสดงโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา และ ศันสนีย์ สมานวรวงศ์
คู่กรรม – พ.ศ. 2533 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย ธงไชย แมคอินไตย์ และ กมลชนก โกมลฐิติ
คู่กรรม – พ.ศ. 2547 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย ศรราม เทพพิทักษ์ และ พรชิตา ณ สงขลา
คู่กรรม – พ.ศ. 2556 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว และ หนึ่งธิดา โสภณ
บ้านทรายทอง (รีเมคมาแล้ว 6 รอบ)
พจมาน พินิจนันท์ เด็กสาวผู้มีความหยิ่งในศักดิ์ศรีและชาติกำเนิดของตน ได้เข้าไปอาศัยอยู่ใน ‘บ้านทรายทอง’ และเผชิญหน้ากับเหล่าผู้ดีที่อาศัยในบ้านแห่งนั้น ด้วยความเข้มแข็งรวมถึงความใจดีของเธอ ทำให้ชายกลาง หรือ ม.ร.ว. ภราดาพัฒน์ระพี สว่างวงศ์ ชื่นชอบและหลงรักเธอ แม้จะตกอยู่ในภาวะพ่อแง่แม่งอน แถมยังต้องขัดแย้งกับคนอื่นๆ สุดท้ายทั้งสองคนก็ได้แต่งงานกัน แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดสิ้นแค่นั้น และทั้งสองคนต้องฝ่าปัญหานี้ไปด้วยกัน
ละครจากนวนิยาย บ้านทรายทอง และ พจมาน สว่างวงศ์ ของ ก.สุรางคนางค์ ถึงแม้ว่าละครจะถูกสร้างมาแล้วถึง 6 ครั้ง (ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 และ ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2558) และมีดาราหลายคนมารับบท พจมาน – ชายกลาง คนที่โดดเด่นน่าพูดถึงก็คงไม่พ้น สวลี ผกาพันธุ์ ที่ถือว่าเป็นพจมานคนแรก เพราะเป็นผู้รับบทนี้ตั้งแต่ฉบับละครเวทีในปี พ.ศ. 2494 ก่อนจะมาเล่นเอง กำกับเอง และร้องเพลงประกอบด้วยตัวเองในละครฉบับ ปี พ.ศ. 2501
ส่วนเวอร์ชั่นที่น่าจะติดตรึงอยู่ในใจคนไทยมากที่สุดกลับมาจาก ฉบับภาพยนตร์ของทางไฟว์สตาร์โปรดักชั่นเมื่อ ปี พ.ศ. 2533 เหตุเพราะในนิยายต้นฉบับรวมถึงละครก่อนหน้านี้ไม่เคยให้ถือชะลอมมาก่อน แต่ฉบับหนังของ ผู้กำกับ รุจน์ รณภพ ที่เพิ่่งจะได้ถูกบรรจุในหอภาพยนตร์แห่งชาติได้ใส่ชะลอมเพิ่มเติมเข้าไปในฉาก และทำให้คนไทยติดภาพไปโดยปริยายว่า พจมานจะต้องมาพร้อมชะลอมเสมอๆ
และมีข่าวมาพักใหญ่แล้วว่า ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 วางแผนที่จะรีเมคละครเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อออกฉายภายในปีสองปีนี้
บ้านทรายทอง – พ.ศ. 2501 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย ฉลอง สิมะเสถียร และ สวลี ผกาพันธ์
บ้านทรายทอง – พ.ศ. 2513 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย ฉลอง สิมะเสถียร และ อรัญญา นามวงศ์
บ้านทรายทอง – พ.ศ. 2521 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย สมภพ เบญจาธิกุล และ ศันสนีย์ สมานวรวงศ์
บ้านทรายทอง – พ.ศ. 2530 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง และ มนฤดี ยมาภัย
บ้านทรายทอง – พ.ศ. 2543 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย ศรราม เทพพิทักษ์ และ รินลณี ศรีเพ็ญ
บ้านทรายทอง – พ.ศ. 2558 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย วีรภาพ สุภาพไพบูลย์ และ พีชญา วัฒนามนตรี
ผู้ใหญ่ลีกับนางมา (รีเมคมาแล้ว 6 รอบ)
มาลินี หรือ นางมา ได้รับมรดกเป็นที่ดินจำนวนมากจากคุณย่า แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามให้คนอื่นเช่าไปใช้ทำประโยชน์ต่อ หรือถ้าจะขายให้ขายกับ ผู้ใหญ่ลี เท่านั้น และตัว ลีนวัตร หรือผู้ใหญ่ลีตัวจริงก็แอบปลอมแปลงสถานะเล็กน้อยจนทำให้นางมาที่รู้ความจริงทีหลังงอนไป และยังมีเรื่องของแฟนเก่าของนางมา กับหญิงสาวที่เล็งผู้ใหญ่ลี รวมถึงลูกเลี้ยงของผู้ใหญ่ที่ทำให้ความรักของพระนางกว่าจะลงตัวได้ก็กินเวลาอยู่พอตัว
เป็นละครอีกเรื่องที่ถูกสร้างมาแล้วถึง 6 ครั้ง ฉบับแรกออกฉายในปี พ.ศ. 2514 นำแสดงโดย มีชัย วีระไวทยะ กับ ผาณิต กันตามระ ส่วนครั้งล่าสุด ออกฉายใน พ.ศ. 2552 นำแสดงโดย ทฤษฎี สหวงษ์ กับ เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ เนื้อหาหลักในการสร้างแต่ละครั้งนั้นไม่เปลี่ยนไปมากนัก ที่จะเปลี่ยนไปคงเป็นรายละเอียดปลีกย่อย นับตั้งแต่สถานที่เดินเรื่อง ที่นิยายต้นฉบับให้เกิดขึ้นในทุ่งรังสิต แต่ในยุคหลังก็จะถูกปรับเป็นจังหวัดอื่นที่ไกลกว่าเดิมมากขึ้น และความรู้ด้านการเกษตรในแต่ละยุคก็จะอัปเดตแพทช์ใหม่ๆ ตามการสร้างครั้งใหม่เช่นกัน
ผู้ใหญ่ลีกับนางมา – พ.ศ. 2514 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย มีชัย วีระไวทยะ และ ผาณิต กันตามระ
ผู้ใหญ่ลีกับนางมา – พ.ศ. 2520 ออกอากาศทาง ช่อง 9 นำแสดงโดย นฤพนธ์ ดุริยพันธ์ และ กนกวรรณ ด่านอุดม
ผู้ใหญ่ลีกับนางมา – พ.ศ. 2530 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย ทูน หิรัญทรัพย์ และ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์
ผู้ใหญ่ลีกับนางมา – พ.ศ. 2538 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย อนันต์ บุนนาค และ บุษกร พรวรรณะศิริเวช
ผู้ใหญ่ลีกับนางมา – พ.ศ. 2546 ออกอากาศทาง ช่อง iTV นำแสดงโดย อัมรินทร์ นิติพน และ ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์
ผู้ใหญ่ลีกับนางมา – พ.ศ. 2552 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย ทฤษฎี สหวงษ์ และ เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์
คมพยาบาท (รีเมคมาแล้ว 6 รอบ)
ความวุ่นวายของเรื่องเกิดขึ้นจากความแค้นของผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้แค้นชายที่เธอเคยรักกับหญิงที่กลายเป็นภรรยาของเขา เธอจึงลักพาตัวลูกของชายผู้เป็นเศรษฐีไปเลี้ยงดูเอง และหลอกสลับฐานะของเด็กสาวกับหลานสาวอีกคน ทำให้เกิดปัญหาและความเข้าใจผิดตามมาอย่างมาก ละครถูกสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512 และรอบล่าสุดใน ปี พ.ศ. 2557
ถึงจะมีตัวละครพระเอกชัดเจน แต่บทเด่นของละครเรื่องนี้อยู่ที่สามตัวละครเด่น น้าเย็นผู้ลักพาตัวเด็กและเลี้ยงดูเด็กสองคน เปีย และ น้อย ด้วยความที่ว่าโครงเรื่องเดิมก็เก่า (ระดับที่บอกว่า น้าเย้น เป็น ‘ต้นห้อง’) การทำละครเลยเก็บโครงหลักไว้และปรับเปลี่ยนความลึกของตัวละครไปตามการตีความแต่ละครั้งให้ไม่เหมือนกันซะทีเดียว ละครหลายๆ เวอร์ชั่นจึงมีจุดเด่นต่างกันและเท่าที่ค้นเจอคนดูก็ไม่ได้ตัดสินใจ ว่าฉบับไหนดีกว่ากันเพราะเหมือนแต่ละอันก็มีดีไปคนละแบบ
โครงเรื่องของนิยายยังถูกปรับไปสร้างเป็นละครเรื่อง เลือดหงส์ ที่สุดท้ายโดนรีเมคไปเป็นละครเรื่อง แก้วล้อมเพชร อีกที ซับซ้อนและชวนสับสนซะ
คมพยาบาท – พ.ศ. 2512 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย รุจน์ รณภพ, ศิริพร วงศ์สวัสดิ์, และ ฉันทนา ธาราจันทร์
คมพยาบาท – พ.ศ. 2520 ออกอากาศทาง ช่อง 9 นำแสดงโดย ธานินทร์ อินทรเทพ, พัชรา กุญชร ณ อยุธยา, และ ยุวธิดา ผลประเสริฐ
คมพยาบาท – พ.ศ. 2525 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย เมธี บันเทิง, เกษศริน พูนลาภ, และ กมลวรรณ ขวัญศิริ
คมพยาบาท – พ.ศ. 2531 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย ชัยรัตน์ จิตรธรรม, นฤมล ศิลปี, และ ชไมพร จตุรภุช
คมพยาบาท – พ.ศ. 2544 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย วีรภาพ สุภาพไพบูลย์, พัชราภา ไชยเชื้อ, และ จีรนันท์ มะโนแจ่ม
คมพยาบาท – พ.ศ. 2557 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย พ.ศ. 2557 ภัทรเดช สงวนความดี, ทัศนียา การสมนุช, และ ทิสานาฏ ศรศึก
อีสา-รวีช่วงโชติ (รีเมคมาแล้ว 6 รอบ)
อีสา หรือ อุษา เป็นเด็กหญิงที่เกิดในช่วงรัชกาลที่ 6 ก่อนที่เธอจะถูกฝากฝังไว้กับหม่อมนิ่มน้อย และได้กลายเป็นนางรำละคร ชีวิตของอุษาผ่านอะไรไปมากตามยุค มีทั้งรุ่งเรืองและตกต่ำ และข้ามผ่านช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
เดิมทีแล้ว นิยายของ หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ นี้มีเล่มเดียวคือ อีสา แต่เมื่อละครฉบับ พ.ศ. 2531 ได้รับความนิยมอย่างมาก และ อภิรดี ภวภูตานนท์ ก็แสดงบทได้อย่างโดดเด่น ผู้เขียนจึงกลับมาเขียนนิยายเล่มต่อที่ใช้ชื่อเรื่องว่า ‘รวีช่วงโชติ’ ซึ่งชื่อนี้ก็เป็นชื่อของ ลูกชายคนแรกของอุษาในนิยาย ถึงจะใช้ชื่อลูกชายแต่เนื้อเรื่องยังเกี่ยวข้องกับอุษาที่ยังดูค้างคาในภาคแรกให้ชัดเจนมากขึ้น
อีสา-รวีช่วงโชติ ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครเต็มรูปแบบทั้งใน ปี พ.ศ. 2541 ซึ่งฉบับล่าสุดก็ทำการดัดแปลงโดยใช้พื้นฐานของนิยายทั้งสองเล่มเช่นกัน อย่างที่บอกกล่าวไปว่า ฉบับละครในปี พ.ศ. 2531 นั้นดังมากทำให้ฉบับหลังจากนั้นมักจะโดนเปรียบเทียบกับฉบับนั้นเสมอๆ แม้ว่าเนื้อหาฉบับใหม่จะครบถ้วนจากการดัดแปลงนิยายทั้งสองเล่มแล้วก็ตาม
อีสา – พ.ศ. 2514 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย เมตตา รุ่งรัตน์
อีสา – พ.ศ. 2517 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย เปียทิพย์ คุ้มวงศ์
อีสา – พ.ศ. 2525 ออกอากาศทาง ช่อง 9 นำแสดงโดย ลินดา ค้าธัญเจริญ
อีสา – พ.ศ. 2531 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย อภิรดี ภวภูตานนท์
อีสา-รวีช่วงโชติ – พ.ศ. 2541 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย รชนีกร พันธุ์มณี
อีสา-รวีช่วงโชติ – พ.ศ. 2556 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย วรนุช ภิรมย์ภักดี
น้ำผึ้งขม (รีเมคมาแล้ว 6 รอบ)
ปุริม นักธุรกิจใหญ่ถูก โรส ทิ้งจนทำให้ชีวิตเกือบพัง จนกระทั่งเขาได้พบเจอกับ กังสดาล ของโรส ที่ตอนแรกปุริมก็หมายล้างแค้นและกะว่าจะใช้เธอเป็นของเล่นคลายความแค้น จนค่อยๆ พบว่าตัวลูกสาวนั้นแตกต่างจากแม่ แต่ความขมของรักร้าวจะกลับมาหวานชื่นกับรักใหม่ได้ง่ายขนาดนั้นหรือ?
นิยายแนวรักปนล้างแค้นแล้วพลิกเป็นรักอีกรอบ ถูกสร้างครั้งแรกในปี พ.ศ. 2511 และ ฉบับล่าสุดในปี พ.ศ. 2552 ถึงจะถูกสร้างใหม่บ่อยครั้ง อาจจะเพราะเป็นแนวตัวละครแต่ละตัวหันด้านร้ายใส่กันก่อน กว่าจะหวานกันอีกครั้งก็ท้ายเรื่อง และพระนางตามบทก็ต้องมีอายุห่างกัน ในช่วงหลังเลยเว้นการสร้างแต่ละครั้งห่างกันพอสมควร
ส่วนที่น่าพูดถึงก็คงเป็น การที่ อมรา อัศวนนท์ รับบทโรส หนึ่งในตัวละครเด่นของในละครเรื่องนี้ถึง 4 ครั้ง (และฉบับภาพยนตร์อีก 1 ครั้ง) บ่งบอกโดยนัยว่าละครในสมัยก่อนนั้นหาคนที่จะเล่นบทนี้ (สวยจนพระเอกเคยหลงรักและร้ายจนคนดูหงุดหงิด) ได้ยากยิ่ง
น้ำผึ้งขม – พ.ศ. 2514 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์, กนกวรรณ ด่านอุดม, และ อมรา อัศวนนท์
น้ำผึ้งขม – พ.ศ. 2520 ออกอากาศทาง ช่อง 9 นำแสดงโดย สมภพ เบญจาธิกุล, สีตลา เรืองศิริ, และ อมรา อัศวนนท์
น้ำผึ้งขม – พ.ศ. 2523 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย นาท ภูวนัย, หทัยรัตน์ อมตะวณิชย์, และ อมรา อัศวนนท์
น้ำผึ้งขม – พ.ศ. 2529 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา, มนฤดี ยมาภัย, และ อมรา อัศวนนท์
น้ำผึ้งขม – พ.ศ. 2543 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย ยุรนันท์ ภมรมนตรี, รามาวดี สิริสุขะ, และ จารุณี สุขสวัสดิ์
น้ำผึ้งขม – พ.ศ. 2552 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช, เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ, และ จริยา แอนโฟเน่
เมียหลวง (รีเมคมาแล้ว 6 รอบ)
อนิรุทธิ์ และ วิกันดา เป็นหนุ่มหล่อสาวสวยแถมยังมีดีกรีระดับด็อกเตอร์ จนทั้งสองคนมีลูกด้วยกันถึงสองคน การแต่งงานกันของคนทั้งสองทำให้ใครหลายคนต้องอิจฉา แต่ชีวิตคู่ของทั้งสองนั้นไม่ราบรื่นตามภาพฝันของหลายคน เพราะตัวสามีเจ้าชู้อยู่เสมอ แต่วิกันดายังทำทีเฉยชาปนกับปลงชีวิต จนกระทั่งการเข้ามาของ อรอินทร์ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาเข้าสุ่ภาวะวิกฤติถึงขั้นสุด
นิยายเดิมของ กฤษณา อโศกสิน เช่นเดียวกับ น้ำผึ้งขม และเรื่องราวก็ชวนคิดในหลายช่วงถึงการกระทำที่ไม่ควรสวนทางกับความรู้การศึกษาของตัวละครเอก ละครถูกสร้างมาแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกสุดเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2512 ส่วนครั้งล่าสุดก็เพิ่งจบลงไปใน ปี พ.ศ. 2560 นี่เอง
ละครเวอร์ชั่นล่าสุดนี้โดนติงตั้งแต่ประกาศรายชื่อนักแสดง และเมื่อถึงเวลาฉายจริงก็เหมือนไม่ค่อยโดนจดจำมากนัก และถ้าเทียบกับฉบับก่อนหน้าไม่นานนักก็เหมือนจะมีข้อดีที่เห็นได้ชัดมากกว่า อย่างตัวพระเอกแบบ จอนนี่ แอนโฟเน่ ใน ฉบับ พ.ศ. 2542 ก็ดูมีเสน่ห์มากกว่า ตัวละครเมียน้อย อรอินทร์ ในฉบับ พ.ศ. 2552 ก็มี อั้ม พัชราภา ที่แค่ภายนอกคนดูก็เชื่อแล้วว่าสวยเด่นจนแย่งสามีคนอื่นได้แน่ หรือ ฉบับ พ.ศ.2542 เบนซ์ พรชิตา อาจจะหน้าตาไม่ถึงระดับท็อป แต่การตีบทบาทของเธอก็ทำให้เชื่อได้ว่ามีความเผ็ดมากพอจะมัดใจคนได้ …ดังนั้นเราคงต้องรอลุ้นฉบับหน้าว่าจะรีเมคออกมาในรูปแบบไหน
เมียหลวง – พ.ศ. 2512 ออกอากาศทาง ช่อง 4 นำแสดงโดย สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์, อารีย์ นักดนตรี, และ ศิริพร วงศ์สวัสดิ์
เมียหลวง – พ.ศ. 2524 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย จตุพล ภูอภิรมย์, วงเดือน อินทราวุธ, และ วิยะดา อุมารินทร์
เมียหลวง – พ.ศ. 2532 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย ยุรนันท์ ภมรมนตรี, ปรียานุช ปานประดับ, และ อภิรดี ภวภูตานนท์
เมียหลวง – พ.ศ. 2542 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย จอนนี่ แอนโฟเน่, สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์, และ พรชิตา ณ สงขลา
เมียหลวง – พ.ศ. 2552 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย ธีรภัทร์ สัจจกุล, ปิยธิดา วรมุสิก, และ พัชราภา ไชยเชื้อ
เมียหลวง – พ.ศ. 2560 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย กฤษฎา พรเวโรจน์, วรัทยา นิลคูหา, และ คริส หอวัง
ละครเรื่องอื่นๆ
ส่วนละครอีกหลายๆ เรื่องที่คนดูจำกันแม่น ไม่ใช่ว่าไม่โดนรีเมคนะครับ แต่จำนวนรอบรีเมคไม่เกิน 5 รอบ อย่าง สวรรค์เบี่ยง (5 รอบ), ทัดดาวบุษยา (5 รอบ), จำเลยรัก (5 รอบ), น้ำเซาะทราย (5 รอบ), สุสานคนเป็น (5 รอบ), สายโลหิต (4 รอบ), สีแผ่นดิน (4 รอบ), นางทาส (4 รอบ), ห้องหุ่น (4 รอบ), แรงหึง / แรงเงา (3 รอบ), ทายาทอสูร (3 รอบ), ดาวพระศุกร์ (3 รอบ) ฯลฯ
หลายๆ เรื่องที่หลายท่านอาจจะรู้สึกว่าจำนวนน้อยไปหน่อย ก็เพราะละครเหล่านั้นถูกจับไปสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยนั่นเอง (อย่าง ดาวพระศุกร์ นี่เป็นหนังมา 3 รอบ หรือถ้าอย่าง แม่นาคพระโขนง นี่ถือว่ามี ‘สปินออฟ’ เป็นหนังอีกมากมายอย่าง แม่นาคบุกโตเกียว เป็นอาทิ) ไม่ก็ถูกสร้างเป็นละครเวที (อย่างบ้านทรายทอง หรือ สี่แผ่นดิน) หรือถ้าจะบอกว่า สุดท้ายสื่อบันเทิงหลายเจ้าทั่วโลกก็มีภาวะไม่ต่างกันในความรีเมคบ่อย ไม่ว่าจะเหตุผลว่าต้องการตีความผลงานให้ถูกต้องต่อต้นฉบับมากขึ้น ทำใหม่ตามเทคโนโลยีที่อำนวยขึ้น หรือเพราะว่าคนดูเองก็ยังอยากดูอะไรที่คุ้นตาแบบที่เคยเห็นมาก่อนแล้วก็ตามที
เพราะฉะนั้นการรีเมคละคร หรือ รีเมคหนังอาจจะไม่มีทางหายไปจากชีวิตของเราโดยสมบูรณ์ ถ้าจะเปลี่ยนไปจริงๆ ก็คงเป็นแค่การเปลี่ยนเรื่องที่รีเมคเสียมากกว่า และต่อให้รีเมคอะไรมาอีกกี่เรื่อง คนดูหลายๆ ท่าน รวมถึงตัวผู้เขียนเอง ก็ยังจับตามองว่าในฉบับทำใหม่นั้นตัวละครในเรื่องจะก่อการอะไรให้เรารู้สึกอินตามบทบาทที่ปรับเปลี่ยนใหม่นั่นแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก