เรามักคิดว่า โลกนี้เป็นของคนหนุ่มสาว แต่อย่างที่รู้กันอยู่ว่า ในอนาคต สังคมสูงวัยจะกลายมาเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก The Economist เคยเขียนถึงเทรนด์ที่เรียกว่า YOLD หรือ Young Old หมายถึงคนสูงวัยในช่วงต้น เช่น วัยหลังเกษียณใหม่ๆ ซึ่งก็มีตั้งแต่ห้าสิบกลางๆ ไปจนถึงหกสิบปลายๆ
และจะเป็นคนกลุ่ม YOLD นี่เอง ที่จะสร้าง ‘เทรนด์’ ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ข้าวของเครื่องใช้ที่ขายดี เครื่องสำอาง วิธีเดินทางท่องเที่ยว โลกการเงิน หรือแม้กระทั่งแผนการประกันภัย ที่สอดคล้องกับช่วงวัยของคนเหล่านี้
คำถามที่น่าสนใจก็คือ – ก็แล้วคนในรุ่น YOLD เหล่านี้ จะมีหน้าตา นิสัย และความเป็นไปได้ในรูปแบบไหนบ้าง
รูปแบบหนึ่งที่เป็นไปได้ ก็คือคนสูงวัยที่มีความ ‘แอ็กทีฟ’ หรือยังทำงานกันอยู่โดยไม่ยอมเกษียณ หรือไม่ก็เกษียณแล้วนั่นแหละ แต่ก็ยังทำงานอยู่
ในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะโลกหลัง COVID-19 มีคนทำนายว่า จะมีเทรนด์การทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่เฟื่องฟูขึ้นมา นั่นก็คือการทำงานแบบที่เรียกว่า FlexJob (ซึ่งก็หมายรวมถึง Flextime) ด้วย
FlexJob ก็คือการทำงานที่ยืดหยุ่นในหลากหลายมิติ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือคนทำงานจะเลือกทำงานที่ไหน ในเวลาไหน ได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่กับคนสูงวัย FlexJob ก็ส่งผลดีตามไปด้วย
มีการสำรวจ FlexJobs Super Survey ในปี ค.ศ.2017 พบว่าเมื่อดูคนที่ทำงานแบบนี้แยกแยะตามกลุ่มอายุแล้ว พบว่าในผู้ตอบแบบสอบถาม 5,551 คน มีคนที่อายุมากกว่า 50 ปี มากถึง 2,163 คน
แต่คำถามไม่ได้ถามแค่เรื่องของ FlexJobs เท่านั้น ทว่ายังถามเลยไปถึงความต้องการในการทำงานด้วย ซึ่งเมื่อดูเฉพาะคนที่อายุเกิน 50 ปี พบว่ามีมากถึง 64% ที่ตอบว่ายังอยากทำงานอยู่ คือใช้คำว่าทั้ง need และ want ที่จะทำงาน นั่นคือยังมีความ ‘จำเป็น’ ที่จะทำงาน รวมถึงยังอยากจะทำด้วย ไม่ว่าจะจำเป็นหรือไม่ก็ตาม โดยมีอีก 22% ที่ยังจำเป็นต้องทำงานอยู่ และอีก 17% ที่บอกว่าตัวเองยังอยากทำงานอยู่
เหตุผลที่ผู้สูงวัยยังอยากทำงานกันอยู่มีมากมายหลายอย่าง
แรกสุดก็คือเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่างๆ (70%)
แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ คนเหล่านี้ยังสนุกกับการทำงานกันอยู่ (59%) แต่มีข้อแม้ว่า งานที่ทำต้องเป็น FlexJobs คือเป็นงานที่เลือกเวลาและสถานที่ในการทำงานได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตัวเองมีสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต หรือ work-life balance โดยตัวเลือกนี้มีมากถึง 72%
สำหรับผู้สูงวัยที่ยัง ‘จำเป็น’ ต้องทำงานอยู่ ก็มีตัวเลขน่าสนใจไม่น้อย คือผลการสำรวจของ Northwestern Mutual Study ที่ระบุว่า สำหรับคนอเมริกันรุ่นเบบี้บูมเมอร์นั้น มีอยู่มากถึง 17% ที่มีเงินเก็บน้อยกว่า 5,000 เหรียญ (ซึ่งต้องจัดว่าน้อยมาก เพราะเงินจำนวนนี้ไม่ได้ทำให้อยู่รอดไปได้นานมากเท่าไหร่) ดังนั้น คนเหล่านี้จึงยังจำเป็นต้องทำงานกันอยู่
มีผลสำรวจของ AARP หรือ American Association of Retired Persons พบว่าผู้สูงวัยที่ ‘จำเป็น’ ต้องทำงาน และตอบแบบสอบถามกลับมานั้น มีถึงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ที่คาดว่าตัวเองจะทำงานต่อไปจนถึงอายุ 65 ปี และมีอยู่ถึง 11% ที่คาดว่าจะต้องทำงานต่อไปจนเลยอายุ 80 ปี ซึ่งจะถือว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าผู้สูงวัยเหล่านี้ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ก็อาจถือว่าเป็นเรื่องดีไม่น้อย เพราะการทำงานจะช่วยให้สุขภาพทั้งกายและใจยังสมบูรณ์แข็งแรงต่อไปได้อีกเป็นเวลานาน
ที่น่าสนใจก็คือ คนสูงวัยเหล่านี้ (ไม่ว่าจะทำงานเพราะจำเป็นต้องทำ หรือทำเพราะอยากทำ) อาจไม่ได้ทำแต่งานอย่างเดียวเท่านั้น ทว่าความแอ็กทีฟยังเผื่อแผ่ไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตด้วย นั่นคือคนเหล่านี้อาจจะมีกิจกรรมยามว่างที่ได้เคลื่อนไหวต่างๆ มากกว่าเดิม เช่น ปั่นจักรยานทางไกล วิ่งมาราธอน หรือเล่นโยคะอย่างหมกมุ่น ทั้งยังอาจจะไปไกลถึงขั้นทำกิจกรรมผจญภัยในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อนในวัยหนุ่มสาว เช่น ไปกระโดดร่ม เล่นบันจี้จัมพ์ ฯลฯ ถ้าหากว่าสภาพร่างกายอำนวย ซึ่งก็มีคำแนะนำจาก Centers for Disease Control and Prevention ของสหรัฐอเมริกา ออกมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความที่ผู้สูงวัยมีเงินออมน้อย และยังต้องทำงานกันอยู่ จึงมีปัญหาเรื่องการใช้เงินอยู่เหมือนกัน มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Personal Finance ที่บอกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงวัยเหล่านี้ กลัวการต้องใช้เงินออมหรือเงินเก็บของตัวเอง เนื่องจากมีอยู่ไม่มากพอ และไม่รู้ว่าอายุจะยืนยาวมากเพียงใด เงินที่มีอยู่จะช่วยให้อยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน
ที่สำคัญก็คือ เมื่ออายุมากขึ้น หลายคนย่อมกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็จะทำให้เกิดความกังวลและความกลัวขึ้น ความกลัวนี้ส่งผลหลายอย่าง เช่น ทำให้คนสูงวัยที่จำเป็นต้องทำงาน ยังคงทำงานต่อไปด้วยความเครียด และสุดท้ายก็มาบั่นทอนสุขภาพ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อเจ็บป่วย ก็ต้องใช้เงิน แต่เงินออมก็มีไม่มากพอ จึงเกิดความเครียดขึ้นมาอีก กลายเป็นวงจรวนไปเรื่อยๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ
ความกลัวที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุมีหลายมิติ ยิ่งคนที่เจ็บป่วยและต้องอยู่ลำพัง ก็อาจเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว คิดว่าตัวเองถูกตัดขาดทางสังคม (เกิด social isolation) ซึ่งจะส่งผลต่อความรับรู้โลกที่บิดผันไป
ความเหงาในผู้สูงวัยเป็นเรื่องร้ายแรง
และไม่สามารถบำบัดได้ด้วย ‘ปริมาณ’ ของการพบปะกับผู้อื่น
แต่ขึ้นอยู่กับ ‘คุณภาพ’ ของความสัมพันธ์ ทว่าคนสูงวัยมักจะมีโอกาสที่จะพบเจอคนที่แมตช์กันน้อยกว่าคนหนุ่มสาว จึงเกิดวงจรอุบาทว์แบบเดียวกับความกลัวในด้านการเงิน ซึ่งหากเกิดประกอบกัน ก็อาจสร้างผลร้ายมากยิ่งขึ้นไปอีก
มีรายงานจากการทำโพลระดับชาติในเรื่องการแก่ตัวอย่างมีสุขภาพดีของมหาวิทยาลับมิชิแกน นักวิจัยพบว่า ผู้สูงวัยมากถึงหนึ่งในสาม มีอาการเหงา และเป็นอาหารเหงาเรื้อรังด้วย ความเหงานั้นส่งผลไปถึงการทำงานของสมอง การรับรู้โลก ความเป็นปรปักษ์กับผู้อื่น และอาจส่งผลต่อสุขภาพจริงๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ฯลฯ ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนในกลุ่มนี้สั้นลงได้
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงวัยที่มีเงินทองมากเพียงพอ ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นคนอีกแบบหนึ่ง นั่นคือกลุ่มคนที่คิดว่าช่วงเกษียณเป็นช่วงที่ดีที่สุดของชีวิต มีการสำรวจของเมอรีล ลินช์ ที่บอกว่าผู้สูงวัยในกลุ่มที่มีความเป็นอยู่ดีพอสมควร และหันไปทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม จะมีสุขภาวะส่วนตัวดีขึ้น ทั้งยังพบด้วยว่า คนที่เกษียณแล้ว มีแนวโน้มที่จะทำงานช่วยเหลือสังคมมากกว่าคนกลุ่มวัยอื่นๆ ถึงสามเท่า นอกจากนี้ ก็ยังให้เงินอุดหนุนแก่คนรุ่นถัดๆ ไปด้วย เช่น คนรุ่นหลานที่อาจจะเรียนอยู่ แต่ส่วนใหญ่ ผู้สูงวัยประเภทนี้มักจะเป็นกลุ่มที่เรียกว่า empty nesters หรือคนที่อยู่คนเดียวหรืออยู่กับคู่ชีวิตโดยไม่มีคนอื่นๆ อยู่ร่วมด้วย โดยมีผลสำรวจระบุว่า เกือบ 40% ของคนกลุ่มนี้จะสนับสนุนทางการเงินให้กับคนรุ่นหลาน โดยจะให้เงินกับเด็กๆ เฉลี่ยราวเดือนละ 254 เหรียญ
จะเห็นว่า เมื่อความชรามาเยือน เราอาจกลายไปเป็นผู้สูงวัยได้หลายแบบ บางแบบเราก็เลือกได้ แต่บางแบบเราก็เลือกไม่ได้
คำถามสำคัญกว่านั้นก็คือ เราได้เตรียมตัวที่จะเป็นผู้สูงวัยในสังคมอันคาดเดาไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ นี้หรือยัง