“แต๋วจ๋า… เห็นใจเถิดหนา แต๋วของพี่ พี่หลงรักแต๋วมานาน ทุกวันคิดถึงคนดี แต๋วไม่ปรานีพี่บ้างหรือไร
แต๋วเอ๋ย…ก่อนนี้พี่เคยมีน้องอยู่ใกล้ เดี๋ยวนี้แต๋วจากไปไกล ทิ้งพี่ให้โศกอาลัย แต๋วไปอยู่ไหนไม่บอกพี่เลย…”
‘แต๋วจ๋า’ เพลงที่ฮิตที่สุดของสาลิกา กิ่งทอง (จากข้อมูลประวัติที่ผลิตสมัยหลังๆ และ platform สำหรับฟังเพลงสมัยใหม่ เขียนว่า ‘สาริกา’ แต่จากรถบัสคณะวงดนตรีและปกแผ่นเสียงของเขาเขียนว่า ‘สาลิกา’) ที่เล่าถึงชายหนุ่มคร่ำครวญถึงหญิงสาวอันเป็นที่รักชื่อ ‘แต๋ว’ หญิงบ้านนาที่ออกจากหมู่บ้านไปแล้วยังไม่กลับมา คาดว่าไปทำงานในเมืองหลวงตามสไตล์เนื้อเพลงลุกทุ่งที่นิยมกันในยุคแรกๆ ที่มีเพลงแนวนี้ ในฐานะผลผลิตของการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จริงจังเข้มข้นในรัฐบาลเผด็จการของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การเติบโตทางเศรษฐกิจในสังคมเมืองในฐานะศูนย์กลางความเจริญทำให้คนหนุ่มสาวอพยพเข้าเมืองเป็นแรงงาน จากที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตกรในชนบท ก็เริ่มมีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ศิลปินที่เข้าสู่วงการเพลงที่เรียกว่า ‘ลูกทุ่ง’ ก็มาจากชนบทที่หลากหลาย บทเพลงจึงไม่เพียงสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท วัฒนธรรมเมืองความทันสมัยในชนบท ยังบอกเล่าชีวิตการจากบ้านนาเข้ากรุงแล้วไม่หวนกลับไป[1]
เพลงของสาลิกา กิ่งทอง เป็นเพลงลูกทุ่งจากภาคใต้ซึ่งไม่ค่อยปรากฏในยุคนั้น ไม่เพียงใช้สำเนียงภาคกลาง พรรณนาชีวิตความเป็นอยู่และใช้สำนวนภาษาท้องถิ่นภาคใต้ แต่ยังมักมีเนื้อหาเกี้ยวพาราสีหญิงสาว บอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของผู้ชายต่อหญิงสาวที่รัก ทว่าเป็นโทนเสียงของผู้หญิง
เพราะสาลิกา กิ่งทอง มีเพศสรีระหญิงตั้งแต่เกิดมาในพ.ศ. 2492 เขาแต่งตัวเป็นชายผมสั้น สวมสูทผูกไท โบว์ไท อำพรางเพศสรีระด้วยการใช้ผ้าพันรัดหน้าอก หลายคนบอกว่าเขามีเมีย สาลิกาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และมีใจรักในเสียงเพลงตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ และเกิดในครอบครัวศิลปิน เขาชอบไปร้องเพลงประกวดในงานวัดต่างๆ และได้มักชิงรางวัลกลับมา[2]
จูเลี่ยม นายหนังตะลุงชื่อดังแห่งจังหวัดชุมพรผู้เป็นพ่อจึงแต่งเพลงสำหรับผู้ชายให้ลูกสาวในมาดนักร้องชาย และตั้งวงดนตรีคณะเพลงลูกทุ่งชื่อคณะสาลิกา กิ่งทองให้ลูกเดินสายร้องเพลงและควบคุมการบันทึกแผ่นเสียงให้ลูก ปลุกปั้นจนสาลิกาโด่งดัง เพราะในธุรกิจวงการดนตรีลูกทุ่งขณะนั้น ธุรกิจที่สำคัญมีเพียงวงดนตรีและแผ่นเสียง แผ่นเสียงช่วยให้ศิลปินเป็นที่รู้จัก เผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านสถานีวิทยุ และวงดนตรีก็เป็นแหล่งสร้างรายได้ เดินสายไปแสดงทั่วประเทศซึ่งมักเป็นธุรกิจครอบครัวหรือครูกับศิษย์[3]
คุณพ่อเริ่ดมาก…
ความดังของสาลิกามากพอๆ กับความฉงนสนเท่ห์ของมิตรรักแฟนเพลงว่า เขาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย บางคนบอกว่าเขาเป็นชายแต่กำเนิดแต่จริตจะก้านคล้ายผู้หญิง จนกระทั่งมีการเฉลยภายหลังว่าไม่ใช่ผู้ชาย
สาลิกาจึงเป็นศิลปินที่ล้ำหน้าสังคมและวงการดนตรีเพราะเธอมีอัตลักษณ์ ‘ทอม’ (butch) อย่างเปิดเผย ร้องเพลงเกี้ยวหญิงอัดแผ่นเสียงหลายเพลง
อย่างเช่น เพลง ‘รินดาที่รัก’ ซึ่งร้องเกี้ยวจีบสาวมุสลิมที่ตนหลงรักให้เปลี่ยนศาสนามานับถือพุทธแล้วแต่งงานกัน หรือตัดพ้อหญิงพร้อมกับเนื้อหาทะลึ่งสัปดน ด้วยเพลง ‘หมอนข้าง’ ที่สาลิกาแทนตัวเองเป็นหนุ่มโสดบ่นรำพึงรำพันหญิงสาวที่หักอก จนต้องหันไปกอดซุกขยำหมอนข้างแทน เพลงที่สาลิการ้องใช้สรรพนามเรียกตัวเองว่า ‘พี่’ และเรียกคู่สนทนาว่า ‘น้อง’ เหมือนขนบเพลงลูกทุ่งทั่วๆ ไปที่ผู้ชายจะแทนตัวเองว่าพี่ ผู้หญิงจะแทนตัวเองว่าน้อง อย่างเพลงหนุ่มล่องซุง แสนหวังเหวิด นิราศรักพุมเรียง กลับเถิดน้องแต๋ว เมียข้าแฟนเขา อยากเป็นยกทรง ผ้าขาวม้า แม่มะขามลนไฟ ขาอ่อนยั่วเมือง กลัวผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง ‘ชีวิตสาลิกา’ ที่พรรณนาชีวิตของผู้ร้องเองโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ว่า ‘ผม’ เรียกตนเอง
เพลงของเขากลายเป็นตำนานและสร้างประวัติศาสตร์มากมาย เพลงแสนหวังเหวิดที่พ่อของเขาแต่งให้ ได้รับรางวัลพระราชทานเพลงดีเด่นจากพระเทพฯ เนื่องในการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยภาค 2 ปี 2534[4]ซึ่งเป็นช่วงที่ชนชั้นสูงเริ่มเข้ามามีบทบาทในเพลงลูกทุ่ง
และโดยเฉพาะเพลงแต๋วจ๋าที่ดังที่สุดของเขา ซึ่งในช่วงที่เพลงแต๋วจ๋ากำลังดังเป็นช่วงที่ชุมนุมต่อต้านเผด็จการโดยนักศึกษาประชาชน เพลงนี้ก็ได้ถูกไปแปลงจนมีชื่อว่า ‘ตุ๊จ๋า’ ซึ่งเป็นชื่อของประภาส จารุเสถียร ใช้ขับร้องในกลุ่มชุมนุม 14 ตุลา 2516 เพราะประภาสเป็นรองนายกรัฐมนตรีและมือขวาคนสำคัญของ ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และเป็น 1 ใน 3 ทรราช ที่มีถนอม กิตติขจร, ประภาส จารุเสถียร และ ณรงค์ กิตติขจร ที่ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นลูกของถนอมและลูกเขยของประภาสนี่เอง
มากไปกว่านั้นยังกล่าวกันว่า ความดังของเพลงแต๋วจ๋าและอัตลักษณ์ทางเพศที่คลุมเครือของศิลปิน ‘แต๋ว’ จึงกลายเป็นคำใช้เรียกเพศสภาพที่คลุมเครือของบุคคลไป เช่นเดียวกับคำว่า ‘กะเทย’ แต๋วจึงถูกใช้เรียกผู้ชายที่มีรูปร่างหน้าตาน้ำเสียงบางบุคลิกละม้ายผู้หญิง เหมือนที่คนเข้าใจว่าสาลิกาเป็นชายออกสาว
หากสมมติฐานที่มาของคำว่า ‘แต๋ว’ ถูกต้อง ‘แต๋ว’จะมีค่าเท่ากับ ‘กะเทย’ ที่เป็นคำเก่าโบราณ ตามสำนึกที่แบ่ง “เพศ” ตามอัตลักษณ์ ให้ ‘ความเป็นเพศ’มีเพียง 2 อย่างแบบคู่ตรงข้าม ‘ความเป็นชาย’และ ‘ความเป็นหญิง’
บุคคลที่มีอัตลักษณ์ออกนอกกรอบ ‘ความเป็นเพศ’ หรือเลือกที่จะมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศสรีระ จึงถูกเรียกว่า ‘กะเทย’ ทั้งหญิงที่มีอัตลักษณ์ ‘ความเป็นชาย’ และชายที่มีอัตลักษณ์ ‘ความเป็นหญิง’ เช่น ใน ‘จันดารา’ (2508) ของอุษณา เพลิงธรรม “…ตามความรู้สึกร้ายของผม (จัน) เธอ (คุณแก้ว) ไม่ใช่ผู้หญิงอย่างเดียวเสียแล้ว เธอเป็นกะเทย กะเทยซึ่งเป็นคนสองเพศได้อย่างละเท่าๆ กัน และยิ่งปีก็จะยิ่งเป็นข้างผู้ชายแก่กล้าขึ้นทุกที…”[5] แต่เมื่อสังคมไทยพัฒนาซับซ้อนมากขึ้นทั้งเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม คำนิยามเพศสภาพเพศวิถีก็เริ่มถูกประดิษฐ์หรือเลือกใช้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศวิถีรักเพศเดียวกันนับตั้งแต่ในปี 2500 เป็นต้นมา[6]เช่น สังคมไทยเริ่มรู้จักคำว่า ‘เกย์’ จากตามหน้าหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ในเดือนตุลาคมปี 2508 อันเนื่องมาจากข่าวคดีการตายของ Darrell Berrigan บรรณาธิการชาวอเมริกัน ของหนังสือพิมพ์ Bangkok World[7]
ถ้า ‘แต๋ว’ มาจากเพลงแต๋วจ๋าจริง ก็จะเท่ากับว่าเป็นคำที่มาก่อน ‘ตุ๊ด’ ซึ่งมักจะใช้คู่กันว่า ‘ตุ๊ดแต๋ว’ และเข้าใจกันว่า ‘ตุ๊ด’ มาจากหนังอเมริกัน Tootsie (1982)
นักร้องสาลิกา กิ่งทองไม่เพียงเป็นปรากฏการณ์ข้ามเพศของนักร้องลูกทุ่งหญิงเป็นชายผ่านบทเพลงและการปรากฏตัวบนเวที แต่ยังเป็นผลต่อเนื่องมาจากการยอมรับและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบของสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
สาลิกา กิ่งทอง จากไปเมื่อปี 2540 ด้วยโรคมะเร็งเต้านม หลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะการรัดหน้าอกของเธอเพื่อให้ดูเรียบแบนจนทำให้เธอเป็นมะเร็ง[8]แต่ก็มีแพทย์กลุ่มนึงออกมายืนยันแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ศิริพร กรอบทอง.วิวัฒนาการเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : พันธกิจ, 2547, น. 143, 206, 210.
[2] สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. ทำเนียบศิลปิน ฉบับประวัตินักร้องลูกทุ่งกึ่งศตวรรษ 1 และ 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, 2538, น. 89.
[3] ฉกาจ ราชบุรี. ประวัติศาสตร์ธุรกิจเพลงลูกทุ่งไทย พ.ศ. 2507-2535. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต,คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2537,น. 6.
[4] สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. ทำเนียบศิลปิน ฉบับประวัตินักร้องลูกทุ่งกึ่งศตวรรษ 1 และ 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, 2538,น. 89.
[5] อุษณา เพลิงธรรม (นามปากกา) จัน ดารา. พระนคร:ประพันธ์สาส์น. 2508, น.395.
[6] Jackson, Peter A, An Explosion of Thai Identities: Global Queering and Reimagining Queer Theory, Culture, Health and Sexuality, vol. 2, no. 4, (2000), pp. 405-424.
[7] เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. วาทกรรมเกี่ยวกับ “เกย์” ในสังคมไทย พ.ศ. 2508-2542. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. ศิลปศาสตร์ (ประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,น. 67-69.; Jackson, Peter A. An American Death in Bangkok: The Murder of Darrell Berrigan and the Hybrid Origins of Gay Identity in 1960s Thailand. GLQ: A Journal of Lesbian and Gay Studies 5.3 (1999) pp. 361-411.
[8] ภูษิตา อุดมอักษรภาดา. นางมหรสพไทย : พัฒนาการทางอัตลักษณ์ของความเป็นหญิงจากมหรสพหญิงโบราณถึงมหรสพปัจจุบัน. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. สาขาวิชาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551,น.218,225.