เทศกาลยื่นภาษีประจำปีกำลังเริ่มต้น ประเด็นเกี่ยวเนื่องที่ถูกพูดถึงอีกครั้งก็คือ ‘ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี’ ซึ่งมีหลากหลายเรื่องด้วยกัน
The MATTER ได้รวบรวมและสรุปคำถามน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องควรรู้เกี่ยวกับภาษีคริปโตฯ ครอบคลุมตั้งแต่ข้อกฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับคริปโตฯ ตลอดจนแนวทางที่กรมสรรพากรได้ออกมาเคลื่อนไหวและให้ข้อมูลล่าสุด
ภาษีคริปโตฯ คืออะไร
เดิมที พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 คือกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นช่วงที่คริปโตฯ เข้ามา คนไทยต่างเริ่มเข้าไปถือเหรียญ ลงทุน และเทรดกันมากขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการกำกับดูแลจาก regulator เจ้าหน้าที่รัฐ หรือรัฐ ในกรณีที่จะทำ ICO หรือกระดานเทรด (ส่วนนี้จะต้องทำเรื่องขออนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.)
ส่วนการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ นั้นเริ่มต้นเมื่อมีประกาศออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายของกรมสรรพากรว่าด้วยการแก้ไขเรื่องภาษี โดยเพิ่มรายได้อีกสองประเภทเข้าไป ได้แก่ รายได้จากโทเคนดิจิทัลและคริปโตฯ และกำไรจากการขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตฯ
กรณีไหนบ้างที่ต้องเสียภาษีคริปโตฯ
หากอ้างอิงตามประมวลรัษฎากรฉบับที่ 19 นั้น ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมในมาตรา 40 และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกำหนดประเภทเงินได้เพิ่มเติมขึ้นมา สรุปได้ว่าเงินได้เพิ่มเติมที่ต้องเสียภาษีคริปโตฯ ก็คือ
1. กรณีที่ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือครองโทเคนดิจิทัล
2. กรณีที่มีกำไรจากการขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตฯ โดยตรง โดยต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรก่อน
ทำไมหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้วยังต้องนำมายื่นภาษีประจำปีด้วย
การหัก 15% ของกรณีภาษีคริปโตฯ ไม่ถือเป็น Final Tax หรือเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้มีเงินได้เลือกได้ว่าจะนำมารวมหรือไม่ในการคำนวณยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กล่าวคือ การถูกหักภาษี 15% ของส่วนแบ่งกำไรหรือกำไรจากการขายคริปโตฯ นั้น ไม่เหมือนกับดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่จะนับเป็น Final Tax ตามที่มีกฎหมายรับรองไว้ แต่ในส่วนของคริปโตฯ ที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็น Final Tax ด้วยแล้ว จึงถูกพิจารณาให้เป็นเหมือนรายได้อย่างเงินเดือน ค่าจ้างงานฟรีแลนซ์ หรือรายได้จากการทำธุรกิจทั่วไป
กำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลนี้คำนวณอย่างไร
สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Standard Wealth เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการคำนวณกำไร ซึ่งสรุปความได้ว่า การคิดกำไรจะคิดจากการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง (หรือก็คือ 1 ธุรกรรม) โดยดูว่าแต่ละธุรกรรมนั้นได้กำไรหรือไม่ และต้องจดรายละเอียดแยกแต่ละเดือน และนำมารวบรวมตอนสิ้นปี กำไรทั้งหมดให้ถือเป็นเงินได้ ซึ่งครอบคลุมทั้งกรณีที่เทรดได้กำไรแล้วมี cash out และกรณียังไม่นำเข้าบัญชี สำหรับส่วนที่ได้กำไรแล้วนำไปซื้อต่อและขาดทุนนั้น จะไม่นับเป็นเงินได้ แต่ในส่วนที่ขาดทุนนั้นก็ไม่สามารถนำมาหักลบกับกำไรที่เป็นเงินได้
หลักปฏิบัติในการยื่นแบบฯ ควรส่งอย่างไร เพื่อให้สรรพากรมีหลักฐานเงินได้
นอกจากนี้ ทางโฆษกฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นภาษีคริปโตฯ ในการยื่นแบบภาษีประจำปีด้วย โดยกล่าวว่า ปกติการยื่นแบบฯ ไม่ต้องแนบหลักฐานการมีรายได้ สามารถกรอกตัวเลขได้ทันที เว้นแต่จะมีกรณีที่ต้องถูกตรวจสอบ จึงแนะนำว่าควรเก็บเอกสาร statement หรือบันทึกหน้าจอไว้ เพื่อที่จะได้นำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรณีที่โดนตรวจ
แพลตฟอร์มจะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องข้อมูลมากแค่ไหน
ทั้งนี้ ทางกรมสรรพากรได้พิจารณาเรื่องที่ให้แพลตฟอร์มช่วยส่งข้อมูลมาให้ในอนาคตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อผู้ขาย หากเป็นไปด้วยดีหรือมีแนวระเบียบต่างๆ ที่ต้องการให้ทางแพลตฟอร์มส่งให้ก็สามารถทำได้ในภายภาคหน้า แต่ตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยกัน ถึงอย่างนั้น หากต้องการให้ทางแพลตฟอร์มเป็นผู้ส่งข้อมูล ผู้ซื้อผู้ขายต้องเซ็นยินยอม เพื่อให้ทางแพลตฟอร์มส่งข้อมูลให้ทางกรมสรรพากร
อ้างอิงข้อมูลจาก