ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงติดตามปรากฎการณ์ ‘ราคาหุ้นวิ่ง’ ของ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA จากเดิมที่ราคาไต่อยู่ที่ราว 60 บาทเมื่อเดือนกรกฎาคม วันดีคืนดีก็พุ่งแบบฉุดไม่อยู่ แตะราคาสูงสุดที่ 838 บาทเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ทำให้เหล่าผู้ถือหุ้น DELTA ที่กะจังหวะซื้อขายได้ถูกต้องกลายเป็นเศรษฐีใหม่ในชั่วข้ามคืนเพราะราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างน้อยๆ ก็ 1,000 เปอร์เซ็นต์ในเวลาไม่ถึงครึ่งปี หรือกลุ่มที่ตามมาช้าก็อาจได้กำไรเหนาะๆ อย่างน้อย 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
แต่รู้หรือไม่ครับว่า เหล่านักลงทุนที่ฟันกำไรจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักพัน หลักหมื่น หลักแสน หรือหลักล้าน ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้สักบาท เพราะรัฐบาลใจดียกเว้นภาษีให้มานานนมโดยให้เหตุผลว่าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนไทย
แหม! เห็นแล้วก็ชวนตั้งคำถามว่าพัฒนามาล่วงเข้าปีที่ 46 แล้ว รัฐยังจะสนับสนุนกันไปอีกถึงเมื่อไหร่กัน?
การยกเว้นภาษีดังกล่าวดูจะสวนทางกับระบบภาษีอัตราก้าวหน้า (Progressive Tax) ที่ผู้มีรายได้มากต้องเสียภาษีเยอะ แต่ถ้ามีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย หากพิจารณาจากบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีการขยับในเดือนธันวาคม เหล่านักลงทุนรายย่อยผู้ได้รับอภิสิทธิ์ในการยกเว้นภาษีคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนชาวไทย ในทางกลับกัน ประชาชนตาดำๆ ที่ซื้อความหวังจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ถ้าถูกรางวัลขึ้นมาก็ยังต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายตอนที่นำหวยไปขึ้นเงิน
ทำไมต้องเก็บ ‘ภาษีผลได้จากทุน (Capital Gains Tax)’
ผลได้จากทุน (capital gains) หมายถึงกำไรซึ่งเกิดจากการขายสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา เช่น ถ้าเราซื้อหุ้น DELTA ในราคา 60 บาท แล้วขายไปในราคา 860 บาท ผลได้จากทุนจะเท่ากับ 800 บาทนั่นเอง
ข้อเสนอให้มีการเก็บภาษีผลได้จากทุนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เรียกว่ามีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหลายยุคหลายสมัยโดยมีหัวเรี่ยวหัวแรงหลักคือสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มองว่าการเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการบรรเทาความเหลื่อมล้ำและสามารถนำเงินที่จัดเก็บได้มาดำเนินโครงการบรรเทาความยากจน แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติจวบจนปัจจุบัน
โธมัส พิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเจ้าของผลงานวิชาการที่เจาะประเด็นความเหลื่อมล้ำในโลกสมัยใหม่ ‘ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 (Capital in the Twenty-First Century)’ สรุปเหตุผลที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้นได้ด้วยสมการที่เรียบง่ายคือ
‘r > g’ โดยที่ r คือผลตอบแทนจากความมั่งคั่ง และ g คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สมการดังกล่าวสามารถอธิบายปรากฎการณ์ทั่วโลกได้อย่างชัดเจน คนจนทั่วโลกมีจำนวนลดลง ชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นกลางกับอภิมหาเศรษฐีก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
สาเหตุก็เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของมหาเศรษฐีนั้น
มาจากความมั่งคั่ง ขณะที่ชนชั้นกลางและคนจน
หารายได้จากการทำงานเป็นหลัก
เมื่อผลตอบแทนจาก ‘ทุน’ มีค่ามากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งจะสะท้อนในการเพิ่มขึ้นของค่าแรง ต่อให้คนจนและชนชั้นกลางทำงานหามรุ่งหามค่ำไปอีกกี่ชาติ ก็แทบไม่มีโอกาสจะลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้เลย
ทางออกหนึ่งในการบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยอ้างอิงจากสมการดังกล่าวคือการลดค่า r ให้สมเนื้อสมเนื้อกับ g โดยการเก็บภาษีผลได้จากทุนเป็นหนึ่งในทางเลือกที่หลายประเทศบังคับใช้ทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และออสเตรเลีย รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาเพื่อนบ้านไทยอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
หลากข้อโต้แย้งต่อการเก็บภาษีผลได้จากทุน
ภาษีผลได้จากทุนก็เช่นเดียวกับภาษีชนิดอื่นๆ ที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผู้เขียนถือโอกาสรวบรวมข้อโต้แย้งดังกล่าวมาอภิปรายคร่าวๆ ในบทความนี้
ข้อโต้แย้งแรก มองว่าการเก็บภาษีผลได้จากทุนเท่ากับการ ‘เก็บภาษีซ้ำซ้อน’ เนื่องจากนิติบุคคลในไทยก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลไปให้กับรัฐแล้ว ดังนั้นรัฐจึงไม่ควรเก็บภาษี ‘รอบสอง’ กับผู้ถือหุ้นที่ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทผ่านการจ่ายเงินปันผล โดยผู้โต้แย้งในกรณีนี้มองว่าผลได้จากทุนก็คำนวณมาจากกำไรของบริษัทเช่นกัน
ในทางทฤษฎี มูลค่าของหุ้นจะคำนวณจากมูลค่าเงินปันผลที่จะได้รับในอนาคต หรือกระแสเงินสดของบริษัทในอนาคตแล้วคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันซึ่งโดนเก็บภาษีไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัตินั้นห่างไกลอย่างยิ่งจากทฤษฎี เช่นในกรณีการขยับราคาของหุ้น DELTA ที่ปัจจุบันก็ยังเคลื่อนไหววูบวาบ แม้ว่าบริษัทจะประกาศออกมาแล้วว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญซึ่งดูจะขัดต่อหลักการที่อิงตามเงินปันผลหรือกระแสเงินสดของบริษัทอย่างสิ้นเชิง
ในทางปฏิบัติ ผลได้จากทุนจึงไม่อาจตีความได้ว่าเป็น
ส่วนแบ่งกำไรของบริษัท แต่เป็นการสะท้อน ‘มูลค่าสะสม’
ที่งอกเงยขึ้นตามกาลเวลา
ส่วนมูลค่าดังกล่าวคือมูลค่าอะไรนั้นก็ยังไม่มีใครตอบได้อย่างแน่ชัด (เพราะถ้าตอบได้ก็คงรวยไปแล้ว ฮา) ผลได้จากทุนจึงควรจัดอยู่ในหมวดสินทรัพย์ของผู้ถือหุ้น ภาษีผลได้จากทุนจึงไม่ใช่การเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด
ข้อโต้แย้งที่สอง ว่าด้วยผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยหรือที่มีชื่อเล่นน่าเอ็นดูว่าเหล่า ‘แมงเม่า’ เช่น พนักงานออฟฟิศ นิสิตนักศึกษา หรือเหล่าคนที่อยู่ในวันเกษียณซึ่งต้องการแสวงหากำไรในตลาดทุน โดยคนกลุ่มนี้อาจมีมากกว่าเหล่ามหาเศรษฐีในตลาดทุนเสียด้วยซ้ำ
แน่นอนว่านักลงทุนกลุ่มนี้ย่อมได้รับผลกระทบหากรัฐจะจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง นักลงทุนเหล่านั้นยังมีทางเลือกอื่นที่เสี่ยงน้อยกว่า ให้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกว่า และไม่ต้องเสียภาษีผลได้จากทุนนั่นคือการลงทุนผ่านกองทุนรวม เป็นการฝากฝังเงินให้ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพดูแล แทนที่เราจะต้องเสียเวลาชีวิตนั่งดูกราฟ หรือเฟ้นหาช้างเผือกในตลาดทุนซึ่งอาจไม่มีอยู่จริง
แต่หากนักลงทุนเหล่านั้นยังยืนกรานที่จะเอาชนะตลาดด้วยตนเอง รัฐบาลก็สามารถออกแบบโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ เช่น การลดอัตราภาษีผลได้จากทุนโดยอิงจากระยะที่ถือครองหลักทรัพย์ กล่าวคือยิ่งถือนานก็ยิ่งเสียภาษีน้อยนั่นเอง
ข้อโต้แย้งที่สาม คือเสียงสะท้อนความกังวลว่าหากมีการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ นำไปสู่การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนสู่แหล่งอื่น (capital flight) ที่ได้รับผลตอบแทนดีกว่า
ข้อโต้แย้งนี้อาจจะมองโลกแง่ร้ายเกินไปสักหน่อย อย่างแรกคือนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศก็ยังมีทางเลือกอื่นในการลงทุนในตลาดทุน นั่นคือผ่านกองทุนรวมที่ได้รับยกเว้นภาษีผลได้จากทุนเช่นเดิม ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีทรัพยากรเพียงพอที่จะบริหารจัดการภาษี ส่วนฝั่งนักลงทุนต่างชาติ เราอาจต้องลองถามตัวเองว่าสาเหตุหลักที่นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจซื้อหุ้นในประเทศไทยคือผลประโยชน์ทางภาษีหรือโอกาสในการเติบโตและทำกำไรในอนาคต
ผมเชื่อว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับอย่างหลัง เพราะต่อให้ลดแลกแจกแถมเรื่องภาษีแค่ไหน แต่ถ้าธุรกิจไม่มีโอกาสเติบโตก็คงไม่มีใครต้องการลงทุน ดังนั้นแทนที่จะกังวลว่าคนไทยและเทศจะขนเงินหนีไปลงทุนประเทศอื่นเพราะจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน
เราควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘ภาคธุรกิจ’ ให้น่าลงทุนเสียมากกว่า
ข้อโต้แย้งสุดท้าย นับเป็นข้อโต้แย้งคลาสสิกของเศรษฐศาสตร์สำนักเสรีนิยม นั่นคือการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนจะเป็นการบิดเบือนตลาด ลดทอนประสิทธิภาพ ทำลายสภาพคล่อง และทำให้บริษัทระดมทุนได้ยากยิ่งขึ้น
สำหรับข้อโต้แย้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์จะแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ส่วนคือ Lock-in Effect หมายถึงนักลงทุนชะลอการขายหลักทรัพย์เนื่องจากไม่ต้องการเสียภาษีส่งผลให้ปริมาณเสนอขายในตลาดลดลง และ Capitalization Effect หมายถึงนักลงทุนชะลอการซื้อหลักทรัพย์ออกไปเพราะผลตอบแทนที่ลดลงจากภาษีส่งผลให้ปริมาณเสนอซื้อในตลาดลดลง ซึ่งผลรวมของทั้งสองผลกระทบก็คือสภาพคล่องที่ลดลงนั่นเอง
อย่างไรก็ดี สภาพคล่องที่ลดลงอาจไม่ได้มีแต่ผลเสียเสมอไป เพราะการเก็บภาษีผลได้จากทุนจะลดทอนแรงจูงใจของเหล่านักเก็งกำไรระยะสั้น ในขณะเดียวกัน รัฐยังสามารถออกแบบภาษีเพื่อจูงใจการลงทุนระยะยาว เช่น กลุ่มนักลงทุนที่เน้นการลงทุนโดยปัจจัยพื้นฐาน เพื่อให้ราคาและผลตอบแทนจากตลาดหุ้นมีความผันผวนน้อยลงในระยะยาว
การจัดเก็บภาษีใหม่ย่อมมีทั้งผลได้และผลเสีย แต่หากลองชั่งน้ำหนัก ทั้งสถานการณ์การคลังในไทยที่ต้องการเงินสำหรับรับมือการระบาดของ COVID-19 ผนวกกับความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่พุ่งขึ้นสูงติดอันดับ 2 ของโลกรองจากรัสเซีย ผมมองว่าภาษีผลได้จากทุนคงเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ แถมยังเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว!
อ่านเพิ่มเติม
การสำรวจองค์ความรู้ภาษีผลได้จากทุนในตลาดหุ้น และข้อเสนอสำหรับประเทศไทย
The Economic Effects of Capital Gains Taxation