ในยุคที่กระแสการ ‘แบน’ และ ‘ซัพพอร์ต’ แบรนด์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เจ้าของธุรกิจนำมาเสนอขายเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึง ‘คุณค่า’ ของแบรนด์ ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ขึ้นมา ตลอดจนความคิดและจุดยืนที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวตนของแบรนด์ โดยเฉพาะจุดยืนที่มีต่อประเด็นทางสังคมและเรื่องการเมือง นี่เองที่ทำให้เห็นว่าพลัง call out ของแบรนด์ทั้งในแง่ของการออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมา ให้พื้นที่สื่อของแบรนด์ หรือแม้แต่สนับสนุนบุคคลที่กล้าออกมาพูดเรื่องเหล่านั้น ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราเลือกได้ว่าจะไปต่อกับแบรนด์นี้หรือไม่
Eve’s แบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำภัณฑ์และดูแลตัวเอง คืออีกหนึ่งแบรนด์ที่ออกมาส่งเสียงเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและการเมืองอย่างชัดเจน รวมทั้งยังสนับสนุน โฟกัส จีระกุล ศิลปินที่ออกมาพูดเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผย นี่เองที่ทำให้หลายคนรู้จักแบรนด์นี้มากขึ้นในมิติที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเมือง
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ โน้ต-ณัฐพล คงสุวรรณ CEO เจ้าของแบรนด์ Eve’s เกี่ยวกับการสร้าง DNA แบรนด์ที่ตั้งต้นจากการสร้างความเชื่อใจให้กับลูกค้า ตลอดจนออกมาเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนสังคมผ่านตัวแบรนด์ ที่สำคัญ ยังทำให้ได้เห็นมุมมองของเรื่องการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจมากขึ้น
จุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์
โน้ต เล่าถึงที่มาที่ไปที่ตัดสินใจมาทำผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและผิวแบบเปิดโรงงานเป็นของตัวเอง ซึ่งถือเป็นแบรนด์เครื่องสำอางออนไลน์ไม่กี่แบรนด์ที่ทำโรงงานเป็นของตัวเอง นั่นก็เพราะต้องการสร้างฐานลูกค้าบน ‘ความไว้วางใจ’ ในตัวแบรนด์
“ผมตั้งใจจะทำโรงงานเองที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง นอกเหนือจากความน่าเชื่อถือแล้ว ผมยังยึดความไว้วางใจของลูกค้าที่มีให้เราเป็นสำคัญก่อนครับ”
“ก่อนที่เราจะสร้างโรงงานเป็นของตัวเอง เราก็จ้างผลิตมาก่อนเหมือนกันครับ ช่วงนั้นอาจเป็นช่วงที่เราอาจจะยังไม่มีความรู้มากพอ ก็สั่งผลิตสินค้าแบบสเป็กที่เราต้องการไป แต่พอได้สินค้าออกมาไม่ได้ตามที่เราคาดหวัง ทำให้รู้สึกว่าทำไมเราถึงไม่มีความรู้มากพอที่จะซัพพอร์ตลูกค้าที่เขามีความคาดหวังกับเราค่อนข้างสูง หลังจากนั้นเราก็มีญหาช่วงหนึ่ง เลยคิดว่าต้องศึกษาหาความรู้และลุยเองแล้ว นี่คือเป็นที่มา เพราะเรามองว่าจุดที่ลูกค้าต้องการคือคุณภาพนะครับ แต่เราไม่สามารถที่จะทำให้สินค้านั้นมีคุณภาพได้ เราเลยต้องลงมาทำเอง”
“คุณค่าและหัวใจของการทำแบรนด์เราก็คือ ‘ลูกค้า’ เพราะลูกค้ามีความเชื่อและไว้ใจเราตั้งแต่วันแรกตลอดมาจนถึงวันนี้ และนั่นก็หมายถึงการทำสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพูดกับตัวแทนมาตลอด”
จุดยืนของแบรนด์
เมื่อหัวใจของการทำแบรนด์อยู่ที่ ‘ลูกค้า’ นอกเหนือจากคุณภาพผลิตภัณฑ์แล้ว Eve’s ยังใส่ใจต่อ ‘เสียง’ ของลูกค้า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน นั่นก็คือให้พื้นที่และสนับสนุน โฟกัส จีระกุล หนึ่งในนักแสดงที่ออกมาพูดเรื่องการเมืองและประเด็นทางสังคมอย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ นั่นเองที่พอทำให้เห็นถึงจุดยืนของแบรนด์ที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองชัดเจนพอสมควร โดยโน้ตได้เล่าถึงเหตุผลที่เลือกสนับสนุนพรีเซนเตอร์คนนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“ผมติดตามน้องโฟกัสมาสักระยะแล้วครับ ตั้งแต่ช่วงก่อนที่การเมืองจะร้อนแรง ซึ่งตอนนั้นน้องโฟกัสเองไม่ได้เป็นดาราที่อยู่ในวงการอะไร แล้วก็ได้ลงไปขายของในตลาดนัดด้วย เลยเห็นว่าน้องคนนี้เจ๋งว่ะ มีความรู้สึกคล้ายกับตัวเราเอง ถือเป็นความปลื้มส่วนตัวครับ
“พอได้รู้จักมาเรื่อยๆ ก็มีช่วงหนึ่งที่การเมืองค่อนข้างร้อนแรง ผมเข้าไปเห็นโพสต์ของน้องเขาประมาณว่า ขอมา call out ละกัน ถึงวันนี้หนูไม่มีงานก็ไม่เป็นไร หนูก็ได้ออกมาพูดในสิ่งที่อยากพูดแล้ว ถ้าจะไม่มีงานก็ขอขายของตามตลาดนัดก็แล้วกัน…นี่คือข้อความสำคัญ พอเข้าไปเห็นเลยรู้สึกว่าเขายอมสละในส่วนที่เป็นชื่อเสียงของเขา ที่มันเป็นจุดทำมาหากินของเขา เพื่อแลกกับการพูดในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง ซึ่งเป็นอุดมการณ์เดียวกันกับผม ผมรู้สึกว่าคนนี้แหละที่ผมจะต้องซัพพอร์ตเขาให้ได้ จึงเป็นที่มาของการเลือกพรีเซนเตอร์คนแรกของแบรนด์
“ถามว่ากังวลไหมกับกระแสลบ เอาจริงๆ ตั้งแต่วันที่ผมเลือกโฟกัสเป็นพรีเซนเตอร์ ผมคิดไว้อยู่แล้วครับว่ามันต้องมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี แต่ผมยังยึดว่าเราอยากขับเคลื่อนสังคมด้วยแบรนด์เรา เหมือนผมก็วัดใจเหมือนกันครับว่าถ้าจะเดินทางนี้ ผมก็ต้องยอมรับในสิ่งที่จะตามมาให้ได้นะ แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าผมทำสิ่งที่มันถูกต้อง ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่จะเอาชนะความถูกต้องได้ เลยยอมที่จะเสี่ยงครับ เพราะงั้นการที่จะมากังวลในสิ่งที่เป็นผลลบ ผมไม่กังวลครับ”
แบรนด์กับการพูดเรื่องการเมือง
หากย้อนมองแบรนด์สินค้าและบริการหลายๆ เจ้าในยุคนี้ เรามักเห็นแบรนด์เหล่านั้นเลือกแบ่งปันเรื่องราวที่เลี่ยงประเด็นทางการเมืองค่อนข้างมาก ถึงอย่างนั้น Eve’s กลับสื่อสารประเด็นทางการเมืองออกมาแต่ละครั้งตรงไปตรงมา นี่เองที่ทำให้กลับมาคิดว่าจริงๆ แล้ว การที่แบรนด์จะออกมาพูดเรื่องการเมืองหรือประเด็นทางสังคมควรถือเป็นเรื่องปกติที่ทำได้หรือไม่ โดยมุมมองของ CEO แบรนด์ Eve’s ยืนยันว่าสมควรทำให้เป็นเรื่องปกติ
“ใช่ครับ ผมคิดว่าควรที่จะต้องทำได้ครับ อย่างที่ทุกท่านรู้ แม้กระทั่งท่านที่สัมภาษณ์ผมก็รู้อยู่ดีครับว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่มีคนกล้าพูดมานานแล้ว เพราะว่าคนที่พูดมักจะมีผลเสียอยู่เสมอนะครับ บ้านเราถูกกดด้วยระบบนี้มานาน
“เรามักจะถูกทำให้กลัวหรือรู้สึกว่า อย่าพูดเลย พูดแล้วจะมีผู้หลักผู้ใหญ่หรืออะไรที่จะทำให้เราทำงานหรือดำเนินชีวิตลำบาก เพราะเขามีกฎหมายที่กลั่นแกล้งได้อย่างนี้ ผมคิดว่ามันไม่ควรมีสิ่งนี้เข้ามาทำให้เราไม่กล้าที่จะพูดครับ เพราะว่าประเทศเราเป็นประเทศประชาธิปไตยถูกไหมฮะ เราควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดได้เต็มที่นะครับ แต่ต้องอยู่ในกรอบของความถูกต้อง ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัว แม้กระทั่งกับเรื่องการทำธุรกิจ”
“ทุกอย่างมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และในอนาคตจะมีคนพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่เปิดกว้างมากขึ้น”
ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีหลายแบรนด์ที่เลี่ยงจะออกมาพูดเรื่องการเมืองโดยตรง ซึ่งโน้ตก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นที่เจ้าของธุรกิจมักเลือกที่จะไม่ออกมาพูดหรือเคลื่อนไหวใดๆ เมื่อเกี่ยวเนื่องกับประเด็นทางสังคม รัฐบาล และการเมือง
“แน่นอนครับว่ามันเสี่ยง หนึ่ง เสี่ยงต่อกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าของเขาเองอยู่แล้ว แน่นอนว่าในฐานของลูกค้า ก็ไม่รู้ว่าจะมีฝั่งไหนบ้าง ถ้าเลือกพูดออกไปสักหนึ่งอย่าง หรือเลือกฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาไป ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเขา
“ข้อที่สองก็คือ ถ้าธุรกิจนั้นๆ ไปเกี่ยวโยงกับรัฐบาลหรือราชการ หรืออะไรที่มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกัน ผมคิดว่าโดนแน่นอนครับ เพราะฉะนั้นธุรกิจส่วนมากไม่กล้าที่จะออกมาพูด เพราะไม่กล้าที่จะยอมรับความเสี่ยงนั้น ผมใช้คำว่าเสี่ยงไม่คุ้มละกันครับ ทั้งที่บางทีเขาอาจจะอยากออกมาพูดก็ได้นะครับ แต่อาจประเมินความเสี่ยงแล้วมันไม่น่าจะคุ้มก็เลยไม่ค่อยออกมากัน”
การตัดสินใจออกมา call out ของแบรนด์
แม้โน้ตจะเห็นว่าการออกมาพูดเรื่องการเมืองหรือ call out ประเด็นทางสังคมต่างๆ เป็นเรื่องเสี่ยงสำหรับคนทำธุรกิจ แต่แบรนด์ Eve’s กลับเลือกที่จะแบกรับความเสี่ยงที่ว่านั้น โดยตัดสินใจออกมาพูดเรื่องการเมืองและออกตัวในประเด็นต่างๆ อย่างที่หลายคนมักได้เห็นกันบ่อยๆ เมื่อถามถึงเหตุผลที่ตัดสินใจออกมา call out ก็เพราะตนต้องการพูดในสิ่งที่เชื่อนั่นเอง
“จริงๆ แล้ว มันจะย้อนกลับมาที่ตัวผมเองนะครับ เราเป็นคนที่รักในฝั่งประชาธิปไตยอยู่แล้ว แล้วก็ติดตามข่าวมาตลอด เห็นว่ามีน้องๆ ตั้งแต่เด็กมัธยม เด็กมหาลัย ออกมาชุมนุมเรียกร้องกัน โดยสิ่งที่เขาเรียกร้องก็เป็นสิทธิพื้นฐานที่เขาต้องการได้
“ผมเลยคิดว่าเราก็ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหารชุดแรก เสื้อเหลือง เสื้อแดง ผมอยู่มาทั้งสองฝั่งล่ะครับ พอเราโตขึ้น ก็เริ่มตกผลึกว่าอะไรจริงไม่จริง แล้วเราเห็นด้วยกับน้องเขา รู้สึกว่าน้องเขาแม่งเอาว่ะ เด็กแม่งกล้าว่ะ แล้วเรายังหลบอยู่หลังน้องเขาเหรอทั้งที่เราคิดเหมือนน้องเขา
“ก็เลยคิดว่า ในฐานะที่พี่ก็โตแล้ว พี่ก็อยากสู้ไปกับน้อง แต่พี่จะสู้ยังไงล่ะ เพราะงั้นพี่ขอสู้แบบขับเคลื่อนแบรนด์ไปพร้อมกับน้องๆ เลยละกัน เอาแบรนด์เข้าไปอยู่ด้วยกัน แล้วไปด้วยกันเลย ผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมสามารถทำได้แบบเปิดหน้าเลยละกัน และผมคิดว่าในอนาคตมันจะต้องเป็นวันของเราครับ”
การเมืองกับเรื่องธุรกิจ…ที่แยกกันไม่ขาด
เมื่อการเมืองควรเป็นเรื่องที่คนทำธุรกิจ แบรนด์ หรือคนขายของสามารถวิจารณ์และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีภายใต้หลักการเหตุผลและมีวิจารณญาณแล้วนั้น ในมุมมองของโน้ต ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘การเมือง’ กับ ‘ธุรกิจ’ จึงไม่ใช่สิ่งที่แยกขาดจากกัน เพราะทุกความเป็นไปของระบบสังคมนั้นส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจเช่นกัน
“การเมืองนี่มีผลกับธุรกิจโดยตรงเลยครับ”
“ถ้าการเมืองดี ผมเชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ซัพพอร์ตให้ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น”
“เอาจริงๆ ผมขอพูดได้ไหมล่ะ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ เอกชนมักติดขัดหรือทำงานลำบากเสมอเวลาที่ต้องเกี่ยวข้องกับทางราชการหรืออะไรต่างๆ ผมว่าถ้าการเมืองดี แล้วสามารถปรับอะไรตรงนี้ได้ เปลี่ยนมาคอยช่วยซัพพอร์ตเอกชนที่อยากทำงานให้เร็วขึ้น ผมคิดว่าธุรกิจจะทำงานง่ายขึ้นครับ เพราะฉะนั้น ‘การเมือง’ ไม่แยกขาดจากกันแน่นอนครับ”
ทั้งนี้ โน้ตยังเล่ายกตัวอย่างของการเมืองที่ส่งผลต่อการทำงานของเจ้าของธุรกิจเมื่อ The MATTER ถามถึงสิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุนคนทำธุรกิจระดับ SMEs เพื่อช่วยให้เจ้าของธุรกิจเดินหน้าและเติบโตต่อไปได้
“ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการขอใบอนุญาตต่างๆ ครับ ผมว่ากระบวนการค่อนข้างยากตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นตอนสร้างโรงงานในการขอทำผัง ขอใบอนุญาต ร.ง. ต่างๆ
“ผมยกตัวอย่างตัวกัญชงละกัน รัฐบาลเพิ่งปลดล็อกเมื่อต้นปีช่วงเดือนก.พ. – มี.ค. แต่ต้องทำเรื่องเปิด PO เข้าไปก่อนที่ทางภาคเกษตรหรือคนที่ปลูก เพื่อแจ้งว่าคุณต้องการกัญชงเท่าไหร่ จากนั้นถึงจะปลูกแล้วนำมาสกัดไปใช้ทางอุตสาหกรรมได้ แต่คราวนี้กว่าจะปลูกขึ้นและผ่านกระบวนการต่างๆ ก็ใช้เวลา 6-7 เดือน ซึ่งกว่าจะถึงเวลาเสร็จกระบวนการทั้งหมด เราไม่รู้เลยว่ากระแสมันจะยังดีไหม PO ที่เราเปิดไปนั้นจะขายหมดหรือเปล่า เพียงพอไหม
“ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมคุณปลดล็อกให้แล้ว แต่มันทำให้เราเดินต่อลำบาก ลองคิดภาพตามผมเนอะ วันนี้ผมสั่งน้ำมันกัญชงมาหนึ่งร้อยลิตร ถ้าขายหมดก็ถือว่าโชคดีไปนะครับ ถ้าขายไม่พอขึ้นมา ผมจะหาสารสกัดที่ไหนมาซัพพอร์ตในเมื่อผมเปิด PO มาเท่านี้
“เพราะฉะนั้นมันเป็นตัวที่ทำให้เราวางแผนค่อนข้างลำบาก มันติดตรงนี้หมดเลยครับ ด้วยข้อกฎหมายที่ไม่ค่อยเอื้อต่อเอกชนเท่าไหร่น่ะครับ อันนี้ผมฝากถึงละกันนะฮะ”
ลูกค้ากับการเสพตัวตนและคุณค่าของแบรนด์
ท่ามกลางกระแสคว่ำบาตรและสนับสนุนแบรนด์ยุคปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับจุดยืนทางการเมืองนั้น ดูจะเป็นเรื่องปกติและเห็นได้มากขึ้นในตอนนี้ ในฐานะของคนทำแบรนด์ที่ยึดลูกค้าเป็นหัวใจหลักนั้น โน้ตก็ได้พูดถึงสิ่งที่ผู้บริโภคยุคนี้มองหาที่นอกเหนือไปจาก ‘คุณภาพ’ ของสินค้าหรือบริการ แต่ยังรวมไปถึง ‘คุณค่า’ ของตัวตนแบรนด์อีกด้วย
“ยุคนี้นะครับ ผมคิดว่าเรื่องของคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญครับ แต่อย่างที่ทุกท่านทราบกัน ยุคนี้มันเป็นยุคของข้อมูล ลูกค้าเขาฉลาด แน่นอนว่าเขาสามารถรู้หมดว่าอะไรคืออะไร เขา google ดู ก็รู้หมดแล้ว ทั้งเรื่องของคุณภาพหรือที่มาที่ไปต่างๆ
“ยิ่งช่วงมีการเมืองที่ร้อนแรงแบบนี้ เขาก็สามารถศึกษาได้เหมือนกันว่าเจ้าของแบรนด์นี้ พ่อค้าคนนี้ เป็นอะไรยังไง ออกมาเรียกร้องอะไรหรือเปล่า ออกมาช่วยพูดในสิ่งที่ประเทศชาติต้องการให้เขาออกมาพูดหรือเปล่า หรือว่าอยู่ฝั่งไหนกันแน่ เขาเรียกว่า ลูกค้าฉลาดมากพอที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เขาครับ ผมเชื่อว่า การเลือกสินค้าก็เหมือนเลือกตัวตนด้วยน่ะครับ” โน้ตกล่าวทิ้งท้าย