เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊กย่อยของสำนักข่าวช้ันนำของโลกเพจหนึ่งที่มีไว้สำหรับสนทนาประเด็นเชิงจริยศาสตร์ ได้โพสต์รูปน้องทีมหมูป่าพร้อมแคปชั่นคำถามดังต่อไปนี้
“งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ใช้สำหรับปฏิบัติการกู้ภัยครั้งใหญ่ ควรถูกนำไปใช้ในกิจการอื่นที่สามารถปกป้องชีวิตคนจำนวนมากกว่าหรือไม่?”
หลายคนอ่านแล้วคงอยากถามกลับว่าจะถามทำไม? ก็คนจะตายอยู่ตรงหน้า จะให้ปล่อยทิ้งไปตามยถากรรมหรือไง? ดังนั้นก่อนชวนคิดในประเด็นนี้เลยต้องขอบอกไว้ก่อนว่าในการถามนี้ ทั้งผู้ตั้งและตอบคำถามไม่ได้สงสัยเลย เพราะการช่วยเด็กเป็นสิ่งที่ให้ตายก็ต้องทำ แต่ที่เขาชวนคุยก็เพราะต้องการหาคำอธิบายให้กับคำถามสำคัญคำถามหนึ่ง และเพื่อที่จะเข้าใจคำถามนั้น ลองอ่านกรณีสมมติต่อไปนี้นะครับ
“รัฐบาลอังกฤษเหลืองบประมาณเพียงหนึ่งร้อยล้านปอนด์ สถิติและการทดลองบอกว่าหากรัฐบาลอังกฤษใช้เงินทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนพื้นผิวชานชาลารถไฟให้ดีขึ้น จะช่วยลดอัตราผู้เสียชีวิตจากการสะดุดตกลงรางรถไฟได้แน่นอนสิบห้าคนเป็นอย่างน้อยในเวลาห้าปี (ก่อนผิวจะลอก) แต่รัฐบาลมิอีกทางเลือก คือนำเงินจำนวนเดียวกันไปลงทุนในยาที่สามารถรักษาชีวิตคนในอนาคตได้อย่างแน่นอนหนึ่งร้อยคน”
อ่านปุ๊บคงเห็นตรงกันว่าไม่มีคนบ้าที่ไหนเลือกชานชาลาใหม่แน่ เพราะซื้อยานั้นคุ้มกว่าเยอะ คำถามมันเกิดตรงนี้แหละครับ ว่าทำไมพอเป็นกรณีการลงทุนรักษาชีวิตแบบตัวอย่าง เรากลับมาคำนวณต้นทุนกับทางเลือก แต่พอเป็นกรณีการกู้ภัย เรากลับรู้สึกหรือมีญาณทัศนะทางศีลธรรม (moral intuition) ว่าทรัพยากรเท่าไหร่ก็ใช้ได้เพื่อช่วย 13 ชีวิตในถ้ำ ต่อให้มีนักสถิติมาแย้งว่าทรัพยากรนี้เอาไปซื้อยาที่ช่วยคนร้อยคนได้ในอนาคตก็เถอะ เราก็รู้สึกว่ายังไงก็ปล่อยให้เด็กตายไม่ได้
วิธีหนึ่งบอกให้ทุ่มแบบไม่ต้องคิด แต่อีกวิธีบอกให้คิดแล้วไม่ทุ่ม? ขออธิบายก่อนว่าโดยปกติเราเรียกวิธีคิดที่สนับสนุนให้ทุ่มทรัพยากรเพื่อช่วยชีวิตในยามฉุกเฉินโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนว่ากฎแห่งการกู้ภัย (The Rule of Rescues) ส่วนแนวคิดที่ใช้ในกรณีลงทุนทางการแพทย์หรือการลงทุนป้องกันอุบัติเหตุโดยทั่วไปนั้น เรียกว่าตรรกกะการคิดคำนวณก่อนลงทุนเพื่อหาทางช่วยชีวิตจำนวนมากที่สุด
นี่เรากำลังดราม่าและไร้เหตุผลอยู่หรือเปล่า? เราอาจดราม่าจริงแต่ไม่ได้ไร้เหตุผลนะครับ ลองสมมติว่าสังคมปล่อยเด็กติดถ้ำไว้อย่างนั้นด้วยเหตุผลด้านต้นทุน ต่อให้การคำนวณต้นทุนที่ว่าถูกและคุ้มสุดๆ ทุกคนคงคิดเหมือนผมว่าประเทศเราผิดปกติทางความคิดหรือการให้เหตุผลบางอย่างแน่ๆ (บางคนอาจบอกว่าเหตุผลที่ผิดก็คือการปล่อยเด็กตายจะทำให้คนทั่วโลกหดหู่และเสียความสุขขมวลรวม คำอธิบายนี้ไม่น่าจะใช่ เพราะนั่นแปลว่าเราช่วยเด็กเพียงเพื่อสนองอารมณ์ความสุขของคนส่วนใหญ่เท่านั้น)
จะเอาแบบสุดโต่งอีกทางไปเลยคือให้ใช้หลักการกู้ภัยกับทุกรณี ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้เพราะทรัพยากรมีจำกัด ดังนั้นยังไงการมีสองหลักคิดพร้อมกันก็น่าจะถูกต้อง ทางออกเดียวที่เหลือจึงได้แก่การอธิบายให้ได้ว่ากรณีตัวอย่างที่ยกไปแตกต่างกันอย่างไร ทำไมเราจึงใช้บางหลักกับบางกรณีเท่านั้น การแปลความรู้สึกเป็นหลักเหตุผลนี้เขาไม่ได้ชวนเราทำเพราะว่าง แต่ในต่างประเทศ หลักเหตุผลมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายเลยทีเดียว เพราะมันช่วยบอกว่าเราควรมีท่าทีอย่างไรต่อกรณีที่คลุมเครืออย่างการจัดสรรทรัพยากรให้ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งการกู้ภัยและการลงทุนเพื่อรักษาชีวิตทางสถิติไปพร้อมกัน
ปกติแล้วสามัญสำนึกของเราไม่ชัดว่าโรงพยาบาลควรทุ่มทรัพยากรช่วยคนไข้ที่กำลังจะตายต่อหน้าเหมือนการกู้ภัย หรือต้องคำนึงการเหลือทรัพยากรเผื่อไว้ให้คนในอนาคตด้วย?
ในเรื่องนี้ นักปรัชญาที่สนใจด้านนโยบายสาธารณะและการคำนวณเชิงสถิติอย่าง Jonathan Wolff แห่งมหาวิทยาลัย UCL เสนอว่าทั้งสองวิธีคิดนั้นถูกต้องและไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่หากเราดูจากสถานการณ์สมมติที่ยกตัวอย่างไปแล้วคิดดีๆ จะเห็นว่าเราสามารถแยกแยะกรณีเหล่านี้ออกเป็นสองประเภทที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งหัวใจของความต่างก็คือในทั้งสองสถานการณ์ เราสวม ‘บทบาท’ ไม่เหมือนกัน[1]
ในกรณีการกู้ภัย เรากำลังพูดถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไปต่อหน้าต่อตาเรา (face to face) โดยเราอยู่ในสถานะที่สามารถช่วยเหลือคนกำลังจะตายได้ ในกรณีเช่นนี้ การคำนวณเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายก่อนลงมือช่วยชีวิตที่กำลังจะตายต่อหน้าจึงเป็นการ ‘ตีราคาชีวิต’ ซึ่งผิดทางศีลธรรมอย่างร้ายแรง
ส่วนกรณีการวางแผนลงทุนเพื่อรักษาชีวิตอย่างการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์หรือมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น เป็นการวางแผนจัดสรรทรัพยากรทั่วไป (general planning) ในกรณีเช่นนี้ เรากำลังวางแผนถึงเรื่องที่จะเกิดในอนาคตหรือจัดการบริหารเชิงสถิติในภาพรวมและระยะยาวโดยไม่ได้อยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งวิธีที่แฟร์และให้ผลลัพธ์ดีที่สุดคือการคาดคะเนอย่างเลือดเย็นผ่านตัวเลขสถิติย้อนหลัง เช่นโรคไหนมีคนตายกี่คน โอกาสเกิดอุบัติเหตุเท่าไหร่บ้าง แล้วหาทางจัดสรรทรัพยากรที่จำกัดให้ดีที่สุด (ดูตัวอย่างวิธีคิดคำนวณการจัดสรรทรัพยากรผ่านสถิติได้ในบทความนี้[2])
นอกจากนี้ Wolff ยังบอกอีกว่านอกจากสองแนวคิดนี้จะไม่ขัดแย้งกันแล้ว ยังสอดคล้องกันด้วยซ้ำ เพราะหากคิดดูดีๆ เวลาเรามีสามัญสำนึกว่าเราต้องทุ่ม ‘ทรัพยากรทั้งหมด’ เพื่อการกู้ชีวิตที่กำลังจะตายต่อหน้า ไอ้ ‘ทรัพยากรทั้งหมด’ ที่เราหมายถึงก็คือทรัพยากรที่มีการจัดสรรไว้ผ่านการอ้างอิงสถิติที่ว่า
ถ้าเรายึดคำอธิบาย Wolff ในกรณีห้องฉุกเฉิน ถ้ามีคนไข้เข็นเข้ามาในห้อง โดยหลักแล้วหมอก็จะไม่คำนวณก่อนว่าตามสถิติแล้วควรสงวนยาหรืออุปกรณ์อะไรไว้ให้ผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดมากกว่าที่จะเข้ามาในอนาคตหรือไม่ นี่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารในการประชุมวางแผนทั่วไป ซึ่งทำหน้าที่ประมาณการณ์ว่าแผนกไหนควรได้รับทรัพยากรเท่าไหร่ตามความเหมาะทางสถิติ ที่มักทำไปแล้วล่วงหน้า ส่วนหมอในห้องปฏิบัติการณ์ก็มีหน้าที่คว้าทุกอย่างที่เขาจัดสรรมาให้แล้วมากู้ชีวิตคนไข้เบื้องหน้า หมดก็คือหมด ไม่สามารถไปดึงยาสำคัญที่คณะผู้บริหารตัดสินใจจัดสรรหรือเก็บไว้ให้ไปให้แผนกอื่นตามความเหมาะสมทางสถิติแล้วได้ นี่ก็เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปที่แพทย์ในห้องฉุกเฉินจะไม่ถูกสอบสวนย้อนหลังเรื่องความเหมาะสมในเรื่องต้นทุนทรัพยากรที่ใช้เพื่อกู้ชีวิต ต่างจากพวกผู้บริหารที่ถูกเล่นงานแน่นอนหากมีคนพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่ได้จัดสรรทรัพยากรให้แผนกต่างๆ โดยคำนึงถึงการรักษาชีวิตจำนวนมากที่สุด
หมอบางคนอ่านแล้วอาจแย้ง Wolff ว่าในทางปฏิบัติ แพทย์ไม่ได้ใช้ทรัพยากรทั้งหมดเพื่อกู้หนึ่งชีวิต ถึงที่สุดก็ต้อง ‘คำนึง’ ถึงเรื่องการสำรองทรัพยากรของแผนกฉุกเฉินไว้สำหรับอนาคตบ้าง หรือบางคนอาจแย้งว่าถ้าฝ่ายบริหารเองคำนวณเชิงสถิติอย่างเดียว ไม่ ‘คำนึง’ ถึงภารกิจมนุษยธรรมบบางประเภทเลย ก็จะไม่มีการจัดสรรทรัพยากรให้การกู้ภัยเลยหรือน้อยมาก เพราะตามสถิติแล้ว เหตุการณ์ฉุกเฉินเหล่านั้นนานๆ จะเกิดขึ้นทีและไม่คุ้มค่าที่จะเพิ่มงบประมาณพิเศษให้ ซึ่งตรงนี้ Wolff ก็ยอมรับ แต่ตอบว่าโดยปกติ ไม่ว่าจะในห้องประชุมวางแผนประจำปีของผู้บริหารหรือในปฏิบัติการกู้ภัย เราล้วนมีวิธีคิดทั้งสองแบบปะปนกันไป ประเด็นก็คือ ณ จุดไหนเราใช้วิธีคิดไหนเป็นหลักและเก็บอีกวิธีคิดไว้เป็น ‘ข้อคำนึง’ เบื้องหลัง
ทั้งหมดนี้อธิบายว่าทำไมการทุ่มเททรัพยากรเพื่อกู้ภัยทีมหมูป่าจึงเป็นเรื่องที่ที่ถูกต้องทั้งในเรื่องความรู้สึกและมีเหตุผลทางจริยศาสตร์รองรับ เหตุผลที่ว่าก็คือทรัพยากรที่ใช้ไปคือทรัพยากรที่ถูกจัดสรรไว้แล้วสำหรับภารกิจกู้ภัยหรือการทหารซึ่งก็มีไว้ปกป้องชีวิตประชาชนในความหมายกว้างเช่นกัน ส่วนที่สมทบเข้ามาก็เป็นการให้ความร่วมมือหรืออาสาสมัครจากเอกชนซึ่งเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล การทุ่มทรัพยากรจะผิดก็ต่อเมื่อมีการละเมิดไปใช้ทรัพยากรสาธารณะที่ถูกจัดสรรไปสำหรับภารกิจอื่นไปแล้ว เช่นไล่หรือเอายาที่จะให้ผู้ป่วยคนอื่นในโรงพยาบาลเพื่อเอาทรัพยากรมาช่วยเด็ก (ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้น)
ส่วนการนำทรัพยากรสาธารณะ เช่นการโอกาสทางการศึกษามาใช้เป็นอภิสิทธิ์ให้เด็กๆ หลังการกู้ภัยจบไปแล้วนั้น หาเหตุผลรองรับไม่ได้เลยครับ!
อ้างอิงข้อมูลจาก