ประมาณสองอาทิตย์ก่อนได้มีโอกาสคุยกับน้องคนหนึ่งที่สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพที่เชียงใหม่มาตลอดสามปีที่ผ่านมา ทำให้นึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากไอเดียในหัว จนมันอยู่รอดมาได้จนถึงวันนี้ ตัวผมเองได้ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มามากมายเรียกได้ว่าผิดหวังและล้มมาค่อนข้างเยอะ แต่เชื่อไหมครับว่าทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาก็ยังรู้สึกตื่นเต้นกับงานที่ทำอยู่เสมอและไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งสำหรับผมแล้วนี่คือกรอบความคิดที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนที่อยากทำสตาร์ทอัพ เหมือนกับคำกล่าวของ เบนจามิน บาร์เบอร์ นักสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งที่บอกว่า
“ฉันไม่แบ่งคนในโลกนี้เป็นผู้เข้มแข็งกับผู้อ่อนแอ ผู้สำเร็จกับผู้ล้มเหลว แต่แบ่งเป็นผู้เรียนรู้โลกกับผู้ไม่เรียนรู้โลก”
ช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าในบ้านเรากระแสธุรกิจสตาร์ทอัพถูกนำกลับขึ้นมาพูดกันใหม่อีกครั้งเพราะซีรีส์เกาหลี ‘Start-Up’ บน Netflix ที่โด่งดัง มีหลายฉากที่เรียกเสียงฮือฮา นอกจากเรื่องราวการทำธุรกิจแล้วมันยังมีความดราม่า ความรัก ความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยยิ่งทำให้มันเข้าถึงได้ง่ายและน่าติดตามมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าซีรีส์ก็ต้องพยายามทำให้เนื้อเรื่องและคาแร็กเตอร์ต่างๆ น่าสนใจและดึงดูด หลายคนหลังจากที่นั่งดูซีรีส์จบแล้วอาจจะรู้สึกไฟลุก อยากปั้นไอเดียในหัวให้ออกมาเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นกับเขาบ้าง
มันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครทราบ, เราเห็นความสำเร็จของสตาร์ทอัพระดับโลกอย่าง Facebook, Airbnb, Instagram, Uber, Grab หรือ Line หรือสตาร์ทอัพไทยอย่าง Builk, Omise, Ookbee, QueQ หรือ Jitta ที่ดูว่าสวยหรูและน่าตื่นเต้นเหลือเกิน แต่ต้องบอกความจริงอันโหดร้ายให้ฟังก่อนว่าจากสถิติปี 2019 กว่า 90% ของสตาร์ทอัพทั่วโลกนั้นไปไม่รอด สาเหตุมีทั้งเรื่องของเงินทุนที่มีไม่มากพอ, ทีมแตก, ความเห็นไม่ตรงกันของผู้ร่วมก่อตั้ง, ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว, สินค้าไม่ตอบโจทย์, อยู่ผิดที่ผิดเวลา, การตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือง่ายๆ เลยคือสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตลาดไม่ได้ต้องการจริงๆ
แน่นอนหลายคนอาจจะบอกว่าสถิติมีไว้ทำลาย มันเป็นความคิดที่กล้าหาญและน่ายกย่องครับ แต่หลังจากที่อยู่ในสมภูมิรบแห่งนี้มาสักพักก็จะพอรู้ว่า ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรประมาทหรือมองข้ามแบบผ่านๆ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพที่ผมมีโอกาสรู้จัก (ทั้งส่วนตัวและที่ตามข่าวอยู่ห่างๆ) ได้ร่วงหล่นระหว่างทางนั้นมีมากกว่าที่จะนับนิ้วได้ ทั้งๆ ที่หลายไอเดียที่ฟังตอนแรกนั้น ‘เฮ้ย…เจ๋งวะ น่าจะไปต่อได้ชัวร์ๆ เลย’ แต่แล้วสักพักพอเห็นอีกทีก็มีข่าวว่าธุรกิจปิดตัวไปแล้วด้วยเหตุผลต่างๆ กันออกไป
สตาร์ทอัพเกิดขึ้นและดับไป เป็นเรื่องธรรมดา ส่วนที่เติบโตก็ก้าวกระโดดเมื่อเจอช่องทางของตัวเอง แต่ที่ล้มส่วนใหญ่แล้วมักจะลุกเร็ว ไม่ยึดติด ล้มแล้วกลับไปทำใหม่ ปรับไอเดีย แล้วก็ลองตลาดอีกครั้ง นี่คือสิ่งที่ทำให้การคลุกคลีในวงการสตาร์ทอัพเป็นเรื่องตื่นเต้น เพราะเรามีโอกาสได้เห็นไอเดียใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ
Passion ไม่การันตีความสำเร็จ
ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่มักมีคนถามตอนที่ผมไปแชร์ประสบการณ์เรื่องการทำสตาร์ทอัพคือส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าต้องมี ‘passion’ หรือความหลงใหลในสิ่งที่ตัวเองทำเพื่อจะประสบความสำเร็จใช่รึเปล่า ผมตอบจากประสบการณ์ส่วนตัวเลยว่า ความหลงใหลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีนะ แต่สำหรับผมแล้ว คิดว่าสิ่งที่เราชื่นชอบหรือหลงใหล ไม่ได้การันตีว่าจะมีลูกค้าจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ เลย ที่ผมตอบออกไปแบบนั้นเพราะตัวเองก็ไม่ได้หลงใหลหรือชื่นชอบการทำสตาร์ทอัพเดลิเวอรี่อะไรแบบนั้นตั้งแต่แรก เพียงแต่ในตอนแรกที่ผมตัดสินใจเริ่มต้นนั้นผมมีปัญหารถติดในเชียงใหม่ แค่รู้สึกว่ามันเสียพลังงานและเวลามากในการนั่งอยู่ในรถทั้งๆ ที่สามารถเอาเวลาตรงนี้ไปใช้ทำงานอย่างอื่นที่เรามีความสุขมากกว่านี้ได้ อยากให้คนอื่นไปทำงานยุ่งๆ วุ่นวายแทนเราจัง สุดท้ายจึงเกิดเป็นไอเดียของ ‘Busy Rabbit’ ที่ทำอยู่ในเวลานี้ สตาร์ทอัพเมสเซนเจอร์เล็กๆ ที่ไปทำงานแสนวุ่นวายแทนลูกค้า
อีกคนที่ขอยกตัวอย่างคือพี่โบ๊ท ไผท เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ Builk ของเขาว่า
“เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างมาก่อนครับ แล้วเจอปัญหาที่เยอะมาก เลยอยากพัฒนา Business Process ของผู้รับเหมาให้ดียิ่งขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยี ก่อนอื่นเลยคือเราต้องม่ีความรู้ความเข้าใจปัญหา และวิถึชีวิตของผู้รับเหมา ซึ่งเราพบว่าผู้รับเหมานั้นยุ่งมาก ไม่ค่อยมีเวลาเลย ดังนั้นถ้าเราอยากให้เขามาใช้ระบบของเรา เราต้องชัดในเรื่อง ‘ระบบที่ง่ายต่อเรียนรู้’ และ ‘Value ที่มอบให้ผู้รับเหมา’”
แม้แต่สตาร์ทอัพระดับโลกอย่าง Dropbox ก็เริ่มจากที่ผู้ก่อตั้งอย่าง Drew Houston เจอปัญหาว่าตัวเองมักลืมตัว USB Drive อยู่เป็นประจำ สุดท้ายเลยสร้างเทคโนโลยี Cloud Storage ขึ้นมาจนเป็น Dropbox ที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านเหรียญแล้วในเวลานี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้สตาร์ทอัพเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างแรกเลยคือมันแก้ปัญหาอะไรและปัญหานั้นใหญ่พอที่ลูกค้าจะยอมจ่ายเงินซื้อรึเปล่ามากกว่า จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือปัญหาที่มีอยู่จริงๆ ในเวลานี้ ไม่ใช่แค่ความหลงใหลที่เรามีเพียงเท่านั้น
Paul Graham หนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงสตาร์ทอัพเคยกล่าวว่า
“ลองคิดถึงอนาคตที่ตัวเองอยู่ แล้วสร้างสิ่งที่ยังขาดหายไป”
ระบบนิเวศน์และสังคมสตาร์ทอัพ
เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งเลยที่เรียนรู้หลังจากที่ทำสตาร์ทอัพมาสามปีคือ ‘สังคมและระบบนิเวศน์’ ที่เราอยู่นั้นจำเป็นอย่างมาก ตอนที่ผมเริ่มทำธุรกิจของตัวเองแรกๆ ทุกอย่างผมทำเองโดยไม่มีพื้นฐานทางด้านธุรกิจ ไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำคำว่า MVP (Minimal Viable Product) คืออะไร? Business Model Canvas คืออะไร? ไม่มีการทำ Product Design Thinking ไม่มีการทดสอบตลาด ไม่มีทีมการตลาด ไม่มีฝ่ายบัญชี ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเดลิเวอรี่เลยแม้แต่น้อย ไม่มีคนแนะนำ ไม่มี mentor ไม่มีการไปสมัครโครงการ incubator ต่างๆ
ผมทำเพจ, จดบริษัท แล้วก็เริ่มงานวันแรกเลย (ถือว่าดวงแข็งมากที่อยู่มาได้ถึงตอนนี้ ปาดเหงื่อ…) แน่นอนว่าเส้นทางมันขรุขระมาก เจอปัญหาหลายอย่างก็ไม่รู้จะหันไปปรึกษาใคร อยากคุยไอเดียก็ไม่มีคนรับฟัง พอไปคุยกับคนที่ทำธุรกิจรูปแบบดั้งเดิมก็จะมองอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งภาพก็จะไม่ตรงกันสักเท่าไหร่
จนเวลาผ่านมาเกือบสองปี ผมเริ่มได้ยินเรื่องราวของโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพอย่าง Incubator หรือ Startup Accelerator (เหมือนอย่าง Y Combinator หรือ Techstars ในต่างประเทศ) ในเชียงใหม่อย่าง Step CMU หรือโครงการของทางรัฐบาลอย่าง Open Innovation จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ และยังมีโครงการของเอกชนต่างๆ อย่าง AIS, True, Central Retail Labs และที่อื่นๆ อีก ซึ่งแน่นอนว่าผมเองได้ลองเอาไอเดียหลายๆ อันไปสมัครเข้าโครงการดู ทั้งผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง เฉียดฉิวเกือบได้ทุนบ้าง
แต่ที่สำคัญกว่าเรื่องของเงินทุนคือเครือข่ายที่เราได้สร้างระหว่างทาง
กลุ่มคนเหล่านี้แม้จะมาจากต่างที่ต่างสายงานของธุรกิจ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือมันเป็นกลุ่มก้อนของคนที่ชอบความท้าทาย ชอบเรียนรู้อะไรใหม่และสนุกกับสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ละคนมีปัญหาที่ตัวเองอยากแก้ มีไอเดียที่โยนถามและช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่เสมอ มีคลาสหรืออบรมอะไรก็ชวนกันไปเรียนและพัฒนาธุรกิจไปด้วยกัน มันเป็นสังคมเกื้อหนุนที่ผลักดันให้เราพัฒนาเร็วขึ้นและเต็มไปด้วยศักยภาพ ติดปัญหาอยู่อย่างเดียวก็คือเรื่องของการรับรู้ที่ยังค่อนข้างแคบและขนาดของสังคมตรงนี้ยังเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาไปไกลกว่าเราแล้วอย่างใกล้ๆ บ้านเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือ เกาหลีใต้ โดยไม่ต้องไปเทียบกับทางฝั่งอเมริกา, ยุโรป หรือ จีน ที่เป็นผู้นำโลกในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ แทบทั้งหมดตอนนี้
โครงการบางอย่างที่ดีๆ อย่าง Youth Startup Fund หรือ Social Innovation ที่ให้ทุนสำหรับการทำสตาร์ทอัพของเด็กมหาวิทยาลัยหรือการสร้างธุรกิจเพื่อสังคมก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงในวงกว้าง หรือแม้แต่โครงการที่เด่นๆ อย่าง Open Innovation ที่เปิดรับโครงการจากหลากหลายธุรกิจทั่วประเทศ มีการให้ทุนแบบได้เปล่าเพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อลองตลาด คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวจริงๆ บางทียังไม่รู้เลยว่าโครงการเปิดรับสมัครเมื่อไหร่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง หรือขั้นตอนการสมัครต้องทำยังไง ถ้าไม่ใช่ว่าเคยสมัครมาก่อนหรือนัดเจอเจ้าหน้าที่โดยตรงแทบจะเรียกได้ว่าหลับตาคลำทางเลยทีเดียว
ขั้นตอนการสมัครเข้าโครงการโดยเฉพาะที่เป็นโครงการของรัฐบาลนั้นมีความซับซ้อนและหลายครั้งทำให้ธุรกิจบางแห่งถอดใจตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม อย่างการสมัครเข้าโครงการ incubator ของ Step CMU เอง ซึ่งเป็นโครงการที่ดีและช่วยให้สตาร์ทอัพมีทั้งผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพดังๆ ที่มาให้คำแนะนำ มีแหล่งข้อมูล มีคลาสสอน มีทุนทำการตลาดให้บางส่วน มีพื้นที่ให้ใช้สอยสำหรับบริษัท แต่ขั้นตอนการสมัครจำได้ว่าต้องคอยติดตามรายละเอียดการสมัครจากหน้า Facebook จนตอนที่นึกได้คือวันสุดท้ายของการสมัครพอดี หลายบริษัทที่รู้จักสมัครไม่ทันเพราะเลยกำหนด ขั้นตอนส่งเอกสารเวลาตั้งเบิกงบในระบบก็ยังติดๆ ขัดๆ แม้จะเป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ แต่ขั้นตอนภายในบางทีก็ยังยุ่งยากเหมือนเดิม
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการจองห้องประชุม แทนที่จะทำให้เป็นระบบจองออนไลน์สำหรับบริษัทในโครงการ แต่กลับมีกระบวนการจองหลายขั้นตอนชวนปวดหัว มีครั้งหนึ่งที่ผมต้องเปลี่ยนห้องประชุมทั้งๆ ที่จองไปก่อน เพราะอีกทีมหนึ่งส่งเอกสารใบจองเป็นแผ่นกระดาษมาให้ก่อนเลยได้ไป ซึ่งผมดันไปเข้าใจผิดว่าเมื่อเราจองแล้วก็คือจบ ส่งเอกสารตามไปทีหลังได้ แต่กลายเป็นว่าต้องทำตามขั้นตอนที่เขาวางเอาไว้ทุกอย่าง แม้จะเสียเวลาเกือบทั้งวันเพื่อจองห้องประชุมก็ตามที
แน่นอนเมื่อเทียบกันแล้วกับเมื่อสามสี่ปีก่อน
ตอนนี้ระบบนิเวศน์และสังคมของสตาร์ทอัพดูดีขึ้นกว่าเดิมมากแล้ว
แต่ถามว่าเติบโตและทำได้ดีกว่านี้ไหม ส่วนตัวเชื่อว่าอนาคตคงดีกว่านี้ได้อีกเยอะ ผมเชื่อว่าช่วงยุคต่อไปมันเป็นเรื่องน่าสนใจมาก มันเป็นยุคของเด็กรุ่นใหม่ที่จะเริ่มออกจากรั้วมหาวิทยาลัยสู่โลกการทำงานจริงๆ แล้ว ตอนนี้เราเห็นว่าเขากระหายในการที่อยากจะพัฒนาประเทศ ไม่อยากให้ประเทศอยู่เหมือนเดิม คือมันย่ำอยู่กับที่มาได้สักพักแล้วอันนี้ทุกคนรู้ดี เราเห็นเด็กรุ่นใหม่ที่อยากให้ประเทศพัฒนามากขึ้น ผมว่าตรงนี้จะเป็นยุคที่ดี เป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นของสตาร์ทอัพในเมืองไทยด้วย
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือทั้งทางภาครัฐและเอกชนเองก็ต้องร่วมมือกันผลักดันสร้างระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพให้เติบโตไปด้วยเพื่อเกื้อหนุนให้เด็กรุ่นใหม่มีพื้นที่ สามารถออกมาลงมือลองทำและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อยากทำจริงๆ ได้ปั้นไอเดียของตัวเองโดยไม่ติดอยู่กับกรอบเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่เข้าใจแต่มันไม่ได้หมายความว่าไม่ดี เราแค่ไม่รู้ ลองดูอย่าง Airbnb หรือ Uber ถ้าเป็นคนยุคก่อนแล้วให้ไปนอนบนโซฟาบ้านคนแปลกหน้าหรือนั่งโดยสารรถขนที่ไม่รู้จักคงมีแต่คนบอกว่ารนหาที่ตาย บริบทที่แต่ละยุคสมัยเจอมันเปลี่ยนไป แนวคิดก็เปลี่ยนตามไปด้วย ตัวธุรกิจที่เป็นสตาร์ทอัพเองก็เช่นกัน
สตาร์ทอัพถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา เล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ไม่ใช่เพราะเงิน แต่เมื่อแก้ปัญหาได้แล้วส่วนใหญ่เงินก็จะตามมาเอง
ถ้าอยากประสบความสำเร็จให้ไปทำงานกับบริษัทที่ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะการทำสตาร์ทอัพไม่มีอะไรการันตีความสำเร็จเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าอยากแก้ไขปัญหาเพราะมันท้าทาย อยากเรียนรู้และคิดว่าตัวเองเหมาะกับปัญหาเหล่านั้น นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีของการตัดสินใจที่จะออกมาทำสตาร์ทอัพของตัวเองแล้วครับ
อ้างอิง