เงินรางวัลจะต้องมีมูลค่ามากเพียงใด คุณถึงจะยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อแลกกับโอกาสได้รับเงินก้อนนั้น?
ใน Squid Game เมื่อมีผู้เล่นเสียชีวิต 1 คน เงินรางวัลก็จะเพิ่มขึ้น 100 ล้านวอน ดังนั้นผลตอบแทนสูงสุดจากการเสี่ยงชีวิตในเกมที่มีผู้เล่น 456 คนจะอยู่ที่ 45.6 พันล้านวอนหรือราว 1.2 พันล้านบาท เงินก้อนนี้เพียงพอที่จะจูงใจให้คุณร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายหรือเปล่า?
คำตอบที่ได้ย่อมแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความเต็มใจที่จะรับความเสี่ยง (risk appetite) ประกอบกับความสามารถในการรับความเสี่ยง (risk capacity) ของแต่ละบุคคล แต่โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มักจะหลีกหนีความเสี่ยง ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับความตายตรงหน้าก็ย่อมต้องการมองหาทางเลือกที่ ‘ไม่เสี่ยง’ แม้ว่าจะหมดสิทธิได้เงินรางวัลก็ตาม นี่คือสาเหตุที่ผู้เล่นเกินครึ่งใน Squid Game ตัดสินใจโหวตยุติเกมในตอนแรก แต่สุดท้ายแทบทุกคนก็ย้อนกลับมาเล่นเกมต่ออยู่ดีหลังจากต้องเผชิญกับโลกความเป็นจริงแล้วพบว่าการต้องมาเสี่ยงตายในเกมอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
แม้ว่าในชีวิตจริงพวกเราคงไม่มีโอกาสรับบัตรเชิญไปเล่น Squid Game แต่โลกปัจจุบันมีโอกาสในการลงทุนมากมายที่เชิญชวนให้เราเข้าไปเสี่ยงที่จะหมดตัวด้วยผลตอบแทนล่อตาล่อใจ บางคราวมันอาจเป็นแชร์ลูกโซ่ที่ฉาบทาด้วยเปลือกของนวัตกรรมยุคใหม่ บางอย่างอาจเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่มูลค่าขึ้นลงหวือหวาชั่วข้ามคืนตามทวีตของคนดัง รวมถึงสารพัดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่การขึ้นลงของราคาแต่ละครั้งชวนให้เกาหัว
ในบทความนี้ผมขอไม่พูดถึงสารพัดวิธีแยกแยะแชร์ลูกโซ่ออกจากการลงทุนทั่วไป เหตุผลที่สกุลเงินเข้ารหัสมีความเสี่ยงสูงลิบลิ่ว หรือเทคนิกการเลือกหุ้นในตลาด เพราะเนื้อหาเหล่านี้มีมากมายนับไม่ถ้วนบนอินเทอร์เน็ต แต่ผมจะชวนมาทำความเข้าใจผ่านแว่นตาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมถึงสาเหตุ 3 ประการที่ทำให้คนจำนวนมากรู้ว่ากำลังกำเงินตัวเองไปเสี่ยง แต่ก็ยังตัดสินใจขอลองสักครั้งทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าอาจไม่ได้เงินคืนทุกบาททุกสตางค์
1. ลงทุนเพราะกลัว ‘พลาดโอกาส’
ในโลกใบที่ท่วมท้นด้วยข้อมูล เรามักจะไถฟีดส์โซเชียลมีเดียเจอกับข่าวชี้ช่องทางรวยที่บอกต่อๆ กัน บางครั้งอาจเป็นโพสต์ของเพื่อนสมัยมัธยมปลายที่กลายเป็นเศรษฐีเพราะซื้อบิตคอยน์ คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวิธีการทำฟาร์มใน DeFi (decentralized finance) หรือกระทั่งข้อความในไลน์กลุ่มญาติผู้ใหญ่ที่เชิญชวนไปลงทุนในแพลตฟอร์มเลี้ยงวัวที่ดูน่าสงสัยแต่กลับได้เงินจริงๆ
ยิ่งอ่านเนื้อหาเหล่านี้นานวันเข้า เราก็จะยิ่งรู้สึกราวกับเป็นตัวเองคนไร้ความรับผิดชอบหากจะปล่อยให้เงินนอนเล่นอยู่ในบัญชีฝากประจำ พร้อมทั้งยากจะอดทนอดกลั้นต่อความเสี่ยงที่จะตก ‘ขบวน’ เมื่อพบโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนมหาศาลในการลงทุนสกุลเงินเข้ารหัสที่เหล่ากูรูบอกว่าจะมาแทนบิตคอยน์
การลงทุนโดยวิ่งตามกระแสก็คล้ายกับ ‘ความกลัวที่จะพลาดอะไรไป’ หรือที่เราเรียกว่า FOMO ซึ่งย่อมาจาก ‘fear of missing out’ เราทุกคนต่างกลัวที่จะตกขบวน แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าเสี่ยงแต่เราก็ยอมที่จะรับความเสี่ยงนั้นเพราะคงทนมองตัวเองในกระจกไม่ได้หากพลาดโอกาสทองแล้วได้แต่เฝ้ามองเพื่อนบนฟีดกลายเป็นเศรษฐีแบบชั่วข้ามคืน
แต่ผมขอบอกความเป็นจริงอันน่าเศร้าว่า เราไม่มีทางเป็นเศรษฐีได้ด้วยการลงทุนตามคนอื่น และการที่มีคนร่วมหัวจมท้ายกับเราจำนวนมากไม่ช่วยทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนลดลงแต่อย่างใด แค่อาจมีเพื่อนคอยปลอบใจกันและกันในวันที่ผลตอบแทนไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง
2. รับความเสี่ยงได้ด้วยความมั่นใจที่มี
เราคิดว่าตัวเองจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ขับรถดีหรือแย่กว่าค่าเฉลี่ย?
เชื่อไหมครับว่าคนเกินครึ่งจะตอบคำถามโดยบอกว่าตัวเอง ‘ขับรถดี’ กว่าค่าเฉลี่ย เช่น การสำรวจในสหรัฐอเมริกาที่พบว่าชาวอเมริกัน 2 ใน 3 คิด (เข้าข้างตัวเอง) ว่าขับรถดีกว่าคนอื่นๆ แต่ผลสำรวจดังกล่าวไม่สามารถเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริงเพราะคนที่ ‘ขับรถดีกว่าค่าเฉลี่ย’ นั้น ไม่มีทางที่จะมีสัดส่วนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ความมั่นใจในตัวเองเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วฉับไวและช่วยให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น แต่การมั่นใจแบบเกินพอดี (overconfidence) คือการคิดเข้าข้างตัวเองว่าเราฉลาดกว่า มีความสามารถเหนือกว่า และคิด (เอาเอง) ว่าไม่น่าจะมีปัญหาถ้าจะเอาเงินไปลงทุนในทางเลือกที่ความเสี่ยงสูงเพราะคงสามารถถอนตัวออกมาได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเผชิญกับวิกฤติ
ความมั่นใจในลักษณะนี้แหละครับที่ทำเอาเราสูญเงินมานักต่อนัก แม้แต่นักลงทุนระดับตำนานอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็พยายามตรวจสอบตัวเองไม่ให้มั่นใจเกินไปอย่างสม่ำเสมอ แต่หนึ่งในความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดของบัฟเฟตต์คือการมั่นใจในตัวเองแบบเกินพอดีที่เข้าซื้อธุรกิจ Dexter Shoe ในปี ค.ศ.1993 หลังจากประสบความสำเร็จจากการเข้าซื้อบริษัทรองเท้ามาแล้วหลายครั้ง
ความมั่นใจของบัฟเฟตต์ปรากฏในจดหมายประจำปีถึงผู้ถือหุ้น เขาเล่าว่า Dexter Shoe คือบริษัทที่มีทีมบริหารยอดเยี่ยมและไม่ต้องปรับปรุงใดๆ ทั้งสิ้น แต่หลังจากนั้น 7 ปี บัฟเฟตต์ก็ต้องจำใจบอกกับผู้ถือหุ้นของเขาว่านี่คือการตัดสินใจที่ผิดพลาด บริษัทถูกหั่นมูลค่าจนเหลือศูนย์เพราะไม่สามารถแข่งขันกับรองเท้าที่ผลิตในประเทศค่าแรงต่ำซึ่งเข้ามาตีตลาดอเมริกา ความผิดพลาดครั้งนี้มีราคาทั้งสิ้นราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ต่อให้เราเก่งแค่ไหน แต่อนาคตก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคาดเดา เราอาจจะต้องปรับระดับความมั่นใจให้พอเหมาะพอควรเสมอก่อนการตัดสินใจลงทุน
3. มองผลลัพธ์ แต่ลืมอุปสรรคระหว่างทาง
เมื่อปี ค.ศ.2017 ราคาของบิตคอยน์อยู่ที่ราวหน่วยละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 30,000 บาท แต่เมื่อไม่นานมานี้ ราคาบิตคอยน์พุ่งไปแตะ 61,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2 ล้านบาท เทียบเท่ากับกำไร 60 เท่า
หุ้น Netflix บริษัทสตรีมมิงยอดนิยมที่ครองใจคนทั่วโลกเริ่มเสนอขายต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2002 และสร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ยราว 38% ต่อปี
อ่านแล้วก็อดไม่ได้ที่จะคิดเอาว่า ‘รู้งี้…’ แต่ความจริงอาจไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เพราะนี่คือการมองสถิติแบบย้อนหลังโดยไม่สนใจว่า ‘ระหว่างทาง’ นักลงทุนเหล่านี้จะต้องเจอกับอะไรบ้าง
แม้ว่าบิตคอยน์จะราคาพุ่งทะลุฟ้าในช่วงเวลาไม่นานก็จริง แต่ระหว่างทางราคาของมันก็ขึ้นลงไม่ต่างจากรถไฟเหาะ เช่นในช่วงต้นปี ค.ศ.2017 ที่บิตคอยน์ราคาร่วงลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ในเวลาเพียงหนึ่งเดือนและสูญมูลค่ากว่าครึ่งภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี เช่นเดียวกับ Netflix ที่ราคาร่วงลงกว่าครึ่งหนึ่งถึงสี่ครั้ง แต่ครั้งที่เลวร้ายที่สุดคือช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ.2011 ที่ราคาหุ้นค่อยๆ ร่วงลงจนถึงจุดต่ำสุดที่ติดลบ 82%
การเห็นผลตอบแทน ‘เฉลี่ยในระยะยาว’ ทำให้นักลงทุนมือใหม่หลายคนเข้าใจผิดว่าราคาหลักทรัพย์คงขึ้นลงในกรอบดังกล่าว แต่ความจริงกลับตรงกันข้ามเพราะราคามักจะเหวี่ยงขึ้นลงชวนใจหายใจคว่ำ ดีดกลับไปกลับมาจนกระทั่งได้ค่าเฉลี่ยอย่างที่ปรากฏเมื่อมองย้อนหลังกลับไปในอดีต
ในการลงทุน เรามีโอกาสที่จะต้องมองเงินลงทุน 10,000 บาท ค่อยๆ หดหายเหลือ 1,800 บาท เราจะต้องตัดสินใจระหว่างคงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นและทู่ซี้ถือต่อไปเพื่อให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคุณคิดถูก (ซึ่งถือเป็นส่วนน้อยเพราะมีหุ้นมากมายที่ราคาร่วงแล้วร่วงเลย ไม่ได้พลิกฟื้นกลับมาได้เหมือน Netflix) หรือยอมกัดฟันขายขาดทุน พร้อมกับโอกาสที่จะต้องแบกรับความรู้สึกเสียดายไปตลอดชีวิตเมื่อพบว่าสิ่งที่ขายออกไปคือเพชรเม็ดงามที่รอวันทอประกาย เหมือนกับโรนัลด์ เวนน์ (Ronald Wayne) หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ที่ขายหุ้น 10% ของบริษัทไปในราคา 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ดังนั้นหากจะลงทุนในหลักทรัพย์ความเสี่ยงสูงก็ต้องทำใจล่วงหน้าว่าจะเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากจากราคาที่ขึ้นลงอย่างน่าหวาดเสียว เราควรตั้งเป้าหมายก่อนการลงทุนว่าขาดทุนแค่ไหนถึงจะยอมตัดใจขาย หรือกำไรมากเพียงใดจึงจะพอใจ นักลงทุนจำนวนไม่น้อยมักจะเจอกับปัญหา ‘ขายในจุดที่ราคาต่ำที่สุด ซื้อในจุดที่ราคาสูงที่สุด’ เพราะในวันใดที่ราคาขึ้นก็มักจะรีบขายเพราะกลัวว่ากำไรจะมลายหายไปในอากาศ ส่วนวันที่ราคาลงก็มักจะกอดเอาไว้ไม่อยากขายพลางปลอบใจตัวเองว่าถ้ายังไม่ขายก็เท่ากับยังไม่ขาดทุน
ถ้าอยากเสี่ยงต้องทำยังไง?
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่าผมกำลังแนะนำว่าห้ามเอาเงินไปลงทุนความเสี่ยงสูงอย่างเด็ดขาด
เปล่าเลยครับคุณกำลังเข้าใจผิด ผมรู้ตัวดีว่าถ้าคนคิดจะลงทุนเราห้ามไปก็เท่านั้น อย่าว่าใครเลยครับกับภรรยาของผมเองยังห้ามไม่ให้ลงทุนในสกุลเงินเข้ารหัสไม่ได้เลย (ฮา) แต่ผมขอมอบคำแนะนำง่ายๆ สำหรับนักลงอยากลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงคือลองถามตัวเองว่ายอมรับผลขาดทุนได้มากแค่ไหน แล้วจัดสรรสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับผลขาดทุนสูงสุดที่รับได้
สมมติว่าผมมีเงินออมสำหรับลงทุน 100,000 บาท เงินก้อนนี้จะถูกใช้เป็นทุนการศึกษาของลูก 80,000 บาท ดังนั้นผลขาดทุนที่ยอมรับได้มากที่สุดคือ 20,000 บาท หากผมคันมืออยากลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงที่คาดว่าให้ตายยังไงก็ไม่น่าจะขาดทุนเกิน 80% ผมก็สามารถแบ่งเงินมาลงทุนตามใจชอบได้ 25,000 บาทเพื่อจำกัดผลขาดทุนไม่ให้เกิน 20,000 บาท ส่วนเงิน 75,000 บาทที่เหลือก็นำไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย
คนจำนวนไม่น้อยหรือแม้แต่ผู้มีอำนาจในไทยมักมองว่าชีวิตมีแค่สองทางเลือก คือ ลงทุนกับไม่ลงทุน แต่ความจริงแล้วเราทุกคนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงได้ เพียงแต่ต้องปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับผลขาดทุนที่ยอมรับได้ สิ่งที่สำคัญกว่าการห้ามลงทุนแบบไม่ลืมหูลืมตา คือ การแนะนำให้กระจายความเสี่ยง อย่าเอาไข่ทุกฟองใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว และอย่ากู้ยืมเงินมาลงทุนอย่างเด็ดขาดหากไม่มีความรู้เพียงพอ
ผลตอบแทนสูงความเสี่ยงต่ำ สิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีในโลก
ประโยคติดปากของเหล่านักการเงินคือ “เสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็สูง” หรือ high risk high return
คนจำนวนไม่น้อยอาจบอกว่าคำกล่าวนี้ไม่จริง เพราะพวกเขาหรือเธอสามารถทำเงินมหาศาลได้จากตลาดแบบแทบจะไม่มีความเสี่ยง แน่นอนว่าโอกาสเหล่านั้นมีอยู่จริง แต่ก็มักจะอยู่ในชั่วเวลาหนึ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ปรากฏโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงความเสี่ยงต่ำในตลาด เม็ดเงินย่อมไหลบ่าไปที่การลงทุนดังกล่าวจนกลไกตลาดปรับให้ความเสี่ยงและผลตอบแทนอยู่ในระดับที่สมน้ำสมเนื้อ
สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือผู้เล่นในตลาดไม่ใช่คนโง่ คนที่เราซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยอาจเป็นเซียนหุ้นมากประสบการณ์หรือนักลงทุนสถาบันที่มีทีมนักวิเคราะห์ซึ่งเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าเรา การทำธุรกรรมทุกครั้งต้องมีฝั่งผู้ขายที่คิดว่าหลักทรัพย์ราคาแพงและฝั่งผู้ซื้อที่คิดว่าหลักทรัพย์ราคาถูก ไม่ว่าเราจะอยู่ฝั่งไหน เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่ากำลังตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องและอีกฝั่งกำลังทำสิ่งที่ผิดพลาด?
หากกำลังตัดสินใจจะลงทุนโดยพร้อมแบกรับความเสี่ยงสูงๆ เพราะกลัวพลาดโอกาส คิดว่าเราน่าจะชนะได้ หรือเข้าใจว่าลงเงินไปแล้วจะได้ผลตอบแทนเหมือนกับค่าเฉลี่ย ผมอยากชวนให้คิดทบทวนอีกครั้ง และเมื่ออยากเดินหน้าต่อ คำแนะนำของผม คือ อย่าเอาไข่ทุกฟองใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Risk Profiling Through a Behavioral Finance Lens
Big Mistakes: The Best Investors and Their Worst Investments
Illustration by Sutanya Phattanasitubon