ช่วงนี้การเงินจีนกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่—ใหญ่ระดับที่นานาชาติและมหาอำนาจโลกต้องจับตามอง เพราะว่ากันว่าเรื่องนี้กำลังจะกระทบกับโมเมนตัมของเศรษฐกิจทั่วโลก
จีนกำลังทดลองให้ประชาชนใช้ ‘เงินหยวนดิจิทัล’(Digital Yuan) จำนวน 200 ล้านหยวน ในสี่เมืองใหญ่ของประเทศ คือ เซินเจิ้น ซูโจว สงอัน และเฉิงตู รวมถึงร้านเอกชนใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์บัคส์ หรือแมคโดนัลด์ แถมบางเมืองยังมีการทดลองจ่ายครึ่งหนึ่งของเงินเดือนข้าราชการเป็นหยวนดิจิทัล และยังเริ่มทดลองระหว่างประเทศไปแล้ว
หยวนดิจิทัลเป็นสกุลเงินดิจิทัล หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ที่ทางธนาคารกลางจีนเริ่มพัฒนาในปี ค.ศ.2014 และผลิตออกมาให้ใช้จ่ายผ่านระบบบล็อกเชนและระบบออนไลน์ เพื่อสนับสนุนสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ
มาถึงตรงนี้อาจจะเกิดคำถามในใจว่า แล้วหยวนดิจิทัลกับการจ่ายเงินแบบ mobile banking นั้นต่างกันยังไง เพราะที่ผ่านมาประชากรจีนกว่า 500 ล้านคนก็ใช้มือถือจ่ายเงินเป็นหลักผ่าน Alipay หรือ WeChat Pay ซึ่งเป็นเอกชนรายสำคัญที่สร้างรากฐานสังคมไร้เงินสดให้ประเทศจีน ตอนนี้คนจีนกว่าครึ่งประเทศก็ยิงคิวอาร์โค้ดเพื่อใช้จ่ายกันเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้วไม่ใช่หรือ?
แน่นอน ก่อนหน้านี้การใช้จ่ายออนไลน์ของชาวจีนยังเป็นวิธีที่คนเอาเงินเหรียญหรือกระดาษฝากเข้าธนาคาร และโอนเงินจากธนาคารเข้ากระเป๋าเงินออนไลน์เพื่อใช้จ่าย แต่เงินหยวนดิจิทัลถูกพัฒนาขึ้นโดยเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นสกุลเงินบนระบบดิจิทัล —ก็คือจะออนไลน์ตลอดกาลนั่นเอง
ส่วนมูลค่าระหว่างหยวนกระดาษกับหยวนดิจิทัลจะเทียบที่ 1:1 ซึ่งเม็ดเงินหยวนดิจิทัลนั้นจะไหลเวียนอยู่ในระบบบล็อกเชน แต่การพัฒนาบนระบบบล็อกเชนนี่แหละที่ทำให้หยวนดิจิทัล ‘แตกต่าง’ เพราะระบบบล็อกเชนนั้นมีรูปแบบการทำธุรกรรมแบบกระจายสำเนาทั่วถึงกัน ทุกธุรกรรมจะถูกบันทึกเอาไว้เป็นโค้ดคอมพิวเตอร์ หากจะแก้ธุรกรรมใดสักธุรกรรมก็ต้องไปไล่แก้ในสำเนาจำนวนมหาศาล ทำให้การคอร์รัปชั่นหรือฟอกเงินเป็นไปได้ยากมาก ซึ่งทางการจีนก็วางแผนไกลไปถึงว่าในอนาคตการเงินจีนจะใช้หยวนดิจิทัลแบบ 100% เลยทีเดียว
หลักๆ ก็คือทางการจีนจะสามารถติดตามว่าเงินเข้าใครออกใครได้บ้าง ตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกธุรกรรม ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงตั้งใจว่าหยวนดิจิทัลจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น ภาษี ตลอดจนการฟอกเงินและตลาดมืดได้ เพราะเงินทั้งหมดอยู่ในระบบเดียวกัน ไม่มีการเอาเงินไปขุดไหฝังดินได้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นสกุลเงินดิจิทัล แต่เงินหยวนดิจิทัลก็ไม่เหมือนเงินคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐหรือธนาคารใด เพราะหยวนดิจิทัลถูกกำกับและผลิตโดยธนาคารกลางและรัฐบาลจีน มีกฎหมายรองรับการใช้จ่ายชำระหนี้ การให้ค่าก็ยังอ้างอิงราคาทองคำ ไม่ได้เป็นการให้มูลค่าร่วมกันโดยนักลงทุนเหมือนบิตคอยน์แต่อย่างใด
ทีนี้ หยวนดิจิทัลจะเปลี่ยนโลกอย่างไรบ้าง? อย่างแรกเลยคือเรื่องของการจะก้าวมาเป็นสกุลเงินสากลโลก เพราะปัจจุบันสกุลเงินหลักโลกก็คงเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ เวลาเราส่งเงินข้ามประเทศหรือทำธุรกรรมระหว่างประเทศกัน ส่วนใหญ่ก็จะใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่ดิจิทัลหยวนซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เป็นการเงินใหม่ที่ได้รับการรองรับให้ถูกกฎหมาย ว่ากันว่าจะเป็นดิจิทัลสกุลแรกที่นำมาใช้แทนเงินดั้งเดิมได้จริง (อย่างบิตคอยน์ทางกฎหมายทั่วโลกก็ไม่ได้รองรับชำระ เพราะมีฟังก์ชั่นของการเก็งกำไรเสียมากกว่า)
ถ้ามีการใช้อย่างแพร่หลายจริงทั่วประเทศหลังโครงการนำร่องประสบความสำเร็จ ต่อไปนี้เราก็อาจจะได้เห็นว่า ‘ประเทศคู่ค้า’ ของจีนก็จะถูกบังคับให้ใช้หยวนดิจิทัลในการใช้ชำระข้ามพรมแดน และด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้การชำระ ‘สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และต้นทุนต่ำ’ ก็อาจจะทำให้หยวนดิจิทัลก้าวมามีบทบาทเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินที่สำคัญกับทั่วโลกไม่แพ้ดอลลาร์สหรัฐฯ ในอนาคต(อันใกล้นี้)
ซึ่งธุรกิจหลายๆ อย่างของไทย ไม่ว่าจะนำเข้าหรือส่งออกที่ทำกับจีน ก็คงจะหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ‘มาณพ เสงี่ยมบุตร’ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน และอดีตรองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับหยวนดิจิทัลไว้ว่า เขาคิดว่าความคล่องตัวของหยวนดิจิทัลจะทำให้สกุลเงินนี้กลายเป็นสกุลเงินที่สำคัญในอนาคต แต่ในระยะสั้นเขายังไม่คิดว่าหยวนดิจิทัลจะมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจไทย
แต่ในระยะยาว ภาคธุรกิจไทยควรจับตาว่าความคล่องตัวของเงินหยวนดิจิทัลจะมีส่วนผลักดันให้เงินหยวนมีความเป็นสากลมากขึ้นหรือไม่เพียงใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขั้นตอนการโอนเงินเข้าออกเพื่อชำระสินค้าค่าบริการและการลงทุนกับประเทศจีน รวมถึงการเพิ่มน้ำหนักของเงินหยวนในทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับหยวนดิจิทัลหลังจากมีการทดลองใช้งานในหัวเมืองประเทศจีนมาราวหนึ่งปี โดย ‘องค์การเงินตราฮ่องกง’ (HKMA) ได้ทดสอบการใช้สกุลเงินหยวนดิจิทัล และทดสอบการส่งข้ามพรมแดนร่วมกับธนาคารกลางจีน และเตรียมขยายการทดสอบให้กว้างขึ้น
โดย ‘ซิง ยูจิง’ (Xing Yujing) ผู้อำนวยการธนาคารกลางจีนสาขาเซินเจิ้น บอกกับสำนักข่าวซินหัวไว้ว่าอาจจะขยายขอบเขตการทดสอบนำร่อง ผู้กำกับนโยบายอาจจะอนุญาตให้ภาคธุรกิจหรือตลาดที่ต้องการได้ทดสอบการส่งเงินข้ามพรมแดนและคุมควบความเสี่ยง ทดลองใช้หยวนดิจิทัลระหว่างเซินเจิ้น-ฮ่องกง ซึ่งเป็นสองพื้นที่ที่อยู่ใกล้กันและมีการทำธุรกิจธุรกรรมกันค่อนข้างถี่และมูลค่าสูง
การทดสอบดังกล่าวอาจนำไปสู่อนาคตของการชำระเงินข้ามพรมแดนที่รวดเร็วและถูกลงกว่าเดิมอย่างมาก โดยปกติแล้ว ฮ่องกงมีค่าใช้จ่ายชำระเงินข้ามพรมแดนอยู่ที่ประมาณ 2-4 หมื่นล้านดอลลาร์/ปี หรือราว 11% ของ GDP ในปี พ.ศ. 2563 ของฮ่องกง
ซิง ยูจิง บอกว่า ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญ และเป็นโอกาสที่ทางรัฐบาลจีนควรฉกฉวยเอาไว้
ขณะที่เมื่อวานนี้ เพิ่งมีข่าวออกมาจากทางการฮ่องกงว่า ระบบชำระเงินท้องถิ่นฮ่องกงเตรียมรับชำระเงินด้วยหยวนดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการทดลองในขั้นที่สองที่พลเรือนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ชาวฮ่องกงสามารถใช้เงินหยวนในพื้นที่ฮ่องกงได้
ทางสหรัฐอเมริกามีท่าทีอะไรบ้างกับหยวนดิจิทัล? แม้จะยังไม่ได้ออกตัวชัด แต่ก็มีรายงานว่าทางรัฐบาลของ โจ ไบเดน มีท่าทีกังวลใจต่อการมาของหยวนดิจิทัลไม่น้อยเลยทีเดียว โดยมีข่าวว่าฝ่ายบริหารของไบเดนได้จัดวางนโยบายรับมือแผนการพัฒนาของหยวนดิจิทัล เพราะกังวลใจว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาโค่นการเป็นสกุลเงินสำรองที่สำคัญของโลก—ดอลลาร์สหรัฐฯ
ทุกการเคลื่อนไหวของหยวนดิจิทัลช่างน่าจับตา และน่าสนใจตรงที่ว่าจำนวนประชากรจีนมีกว่าพันล้านคนนี่แหละ ทั้งหมดถือเป็นจำนวนผู้บริโภคที่มหาศาลและมีอิทธิพลต่อตลาดทั่วโลก ซึ่งแม้ว่าก่อนหน้านี้ทางการจีนจะออกมาพูดว่า “หยวนดิจิทัลไม่ได้ออกมาเพื่อทดแทนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสกุลเงินต่างประเทศอื่น”
อ้างอิงข้อมูลจาก
Content by Narisara Suepaisal
#Brief #business #TheMATTER