เพียงแค่เริ่มต้นปีได้เพียงไม่นาน ดังว่า 2016 ก็เห็นจะถูกจดจำในฐานะปีแห่งความเศร้าและการสูญเสีย แต่ไม่ทันที่รอยน้ำตาซึ่งหลั่งไหลเพราะการจากไปของ David Bowie, Alan Rickman หรือ Prince จะได้ชะล้างดี ต้นสัปดาห์นี้โลกก็ต้องกล่าวอำลากับผู้กำกับชาวอิหร่านคนสำคัญ Abbas Kiarostami ที่ไม่เพียงแค่สร้างคุณูปการสำคัญแค่เฉพาะกับวงการหนังอิหร่านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวงการภาพยนตร์โลกอีกด้วย
Where is the Friend’s Home, The Wind Will Carry Us, Taste of Cherry และ Certified Copy เป็นเพียงหยิบมือหนึ่งของตัวอย่างผลงานชั้นครูที่เคียรอสตามีได้พาไปโลดแล่นและกวาดเสียงชื่นชมบนเวทีภาพยนตร์โลกมานับไม่ถ้วนครั้ง ซึ่ง Taste of Cherry ก็เคยคว้ารางวัลสูงสุดประจำเทศกาลหนังเมืองคานนส์ (Palme d’Or) ประจำปี 1997 มาแล้ว
ผมเองก็สะเทือนใจกับกับจากไปของผู้กำกับท่านนี้ไม่น้อย เพราะด้วยมีความผูกพัน (แบบข้างเดียว) กับเขา ขนาดที่ทึกทักเอาเสียบ่อยว่า ต้นเหตุที่เริ่มหลงไหลในโลกภาพยนตร์ก็เพราะได้ดูหนังของเคียรอสตามีนี่แหละ ซึ่งในตอนที่ผมเริ่มรู้จักชื่อผู้กำกับคนนี้ใหม่ๆ การจะหาหนังเขาดูไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องอาศัยโหลดเอาจากอินเตอร์เน็ตเอาเป็นส่วนใหญ่ และแม้พักหลังมานี้จะได้เห็นหนังของเคียรอสตามีวางขายอยู่ตามร้านขายหนังบ้าง แต่ก็ยังมีหนังของเขาอีกหลายเรื่องที่ยังต้องหาโหลดเอาเองอยู่
สารภาพตามตรงว่าหนังส่วนใหญ่ของเขาที่ผมได้ดูหนังก็เพิ่งบิตเอาเหมือนกัน ซึ่งหนังเรื่องแรกของเคียรอสตามีที่ได้มีโอกาสดู และยังคงติดตรึงฝั่งแน่นในความทรงจำก็คือ The Wind Will Carry Us หนังที่ผมเลือกมาพูดถึงในคอลัมน์ประจำอาทิตย์นี้นี่แหละครับ
หนังเริ่มต้นขึ้นด้วยคณะคนถ่ายทำสารคดีกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังหมู่บ้านอันห่างไกลที่หลบซ่อนอยู่ในหุบเขาเพื่อจุดประสงค์ในการบันทึกภาพการประกอบพิธีฝังศพอันเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของถิ่นที่แห่งนั้น แต่กลายเป็นว่าหญิงชราที่พวกเขาคิดว่าจะตายในเร็ววันกลับทำท่าว่าจะฟื้นสุขภาพขึ้นมาเสียนี่ ทำให้ Behzad ตัวเอกของเรื่องที่เริ่มจะไม่แน่ใจว่าต้องแกร่วรออีกนานแค่ไหนถึงจะได้บันทึกภาพพิธีฝังศพอย่างที่ตั้งใจ ก็ได้ค่อยๆ ซึมซับวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่น ผ่านบทสนทนาและการเฝ้ามอง จนทำให้เบฮ์ซาดได้หันกลับมาทบทวนความหมายของชีวิตตัวเองอีกครั้ง
ความเก่งฉกาจของเคียรอสตามีปรากฏชัดนับแต่ฉากแรกของหนัง ด้วยกล้องที่ถ่ายภาพของรถยนต์ที่เคลื่อนตัวไปตามซอกเขา พร้อมกับบทสนทนาของชาวคณะทั้งสามที่ถกเถียงกันเรื่องเส้นทางและจุดสังเกตของหมู่บ้านที่กำลังเสาะหาอยู่ ฉากการเดินรถดำเนินไปเรื่อยๆ จนเมื่อพวกเขาได้พบเข้ากับเด็กชายคนหนึ่งซึ่งมาคอยอยู่ที่ทางเข้าหมู่บ้าน และสานต่อบทสนทนาที่คล้ายจะไม่ประติดประต่อดีนั้นเพื่อเปิดเผยข้อมูลบางอย่างให้กับคนดูอย่างช้าๆ และใจเย็น
การให้คนดูได้ปะติดปะต่อเรื่องราวระหว่างที่หนังดำเนินไปนี่เอง ที่ช่วยขับเคลื่อนจังหวะหนังอย่างเชื่องช้าทว่าแม่นยำ เพราะหนังไม่ได้สนใจจะหยิบจับเอาประเด็นอื่นที่ปรากฏให้เห็นระหว่างทางมาทาบทับเส้นเรื่องหลัก แต่เลือกจะมั่นคงกับความค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งกว่าเราจะรู้ถึงจุดประสงค์ของคณะคนถ่ายสารคดีอย่างที่ผมย่อยให้ฟังก็ปาเข้าครึ่งเรื่องไปเสียแล้ว โดยสิ่งที่เคียรอสตามีหยิบยื่นเพื่อช่วยให้เราคว้าจับเส้นเรื่องหลักอันบางเบาของหนังไว้ได้ก็คือ ความสนใจของเบฮ์ซาดในตัวหญิงชราอย่างออกนอกหน้า ที่แสดงให้เห็นผ่านคำถามที่เขาจะถามผู้คนรอบข้างอยู่เสมอว่า อาการของหญิงชราย่ำแย่แค่ไหนแล้ว
แต่ในทางกลับกัน การดูหนังของเคียรอสตามีก็เปรียบประหนึ่งการดูงานศิลปะ ที่การเข้าใจเรื่องราวของหนังอย่างถ่องแท้ไม่ได้แปลว่าที่สุด เพราะหากมัวแต่จดจ้องจะทำความเข้าใจแต่เนื้อหาอย่างเดียว เป็นไปได้ว่าเราอาจเผลอไผลละเลยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตไป เฉกเช่นเดียวกับที่เบฮ์ซาดหน้าดำคร่ำเคร่งนับวันว่าเมื่อไหร่หญิงชราจะสิ้นอายุขัย เพื่อที่งานของเขาจะได้สิ้นสุดสักที แต่พอเวลาผ่านไป เมื่อเขาได้ค่อยๆ ถอยห่างออกจากเป้าหมาย และสังเกตสิ่งละอันพันละน้อยของสรรพชีวิตรอบข้าง เมื่อนั้นเขาก็ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าอันสำคัญซึ่งชีวิตที่มุ่งมั่นแต่จะไปให้ถึงเป้าหมายไม่อาจให้กับเขาได้
หัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้คือ ชีวิตและความตาย เมื่อชายที่เฝ้ารอจะได้เป็นสักขีพยานแห่งความตายของชีวิตหนึ่ง กลับได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ปฏิทรรศน์ (paradox) ซึ่งเกิดขึ้นนี้ได้ถูกถ่ายทอดอย่างชาญฉลาดผ่านบทสนทนาสั้นๆ ของเบฮ์ซาดกับหมอเฒ่าขณะซ้อนมอเตอร์ไซค์กันไปในผืนท้องทุ่งกว้าง อีกครั้งที่เบฮ์ซาดถามถึงอาการของหญิงชราว่าด้วยโรคภัยอะไรที่เธอกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ หมอตอบว่า ความแก่ชรา
ไม่มีทางเลยที่มนุษย์จะรอดพ้นจากเงื้อมมือของกาลเวลาได้ และสักวันหนึ่งร่างกายเราจะเสื่อมสลายพ่ายแพ้ แต่กระนั้นแล้วก็ยังมีสิ่งที่แย่กว่าความแก่เฒ่า สิ่งที่ว่านี้คือ ‘ความตาย’ ที่ปิดกั้นเราอย่างสมบูรณ์จากความงดงามและความเป็นไปได้สารพัดสารพันของโลกใบนี้
“แต่บางคนบอกว่าโลกหลังความตายนั้นงดงามกว่าโลกที่เราอยู่อีกนะหมอ” เบฮ์ซาดว่า
“แต่เคยมีใครกลับมาบอกเราว่ามันสวยจริงอย่างที่ว่ากันหรือเปล่าล่ะ” หมอถามกลับ
เบฮ์ซาดรับเอาคำถามนั้นมาโดยรู้ว่าหมอไม่ได้ต้องการคำตอบแต่อย่างใด เพราะหมอเองก็ย่อมมีคำตอบของตัวเองอยู่ในใจแล้ว เช่นเดียวกับที่เบฮ์ซาดได้ค้นพบคำตอบของเขาขณะที่สายลมกำลังผ่านพัดไป