เรื่องแปลกอย่างนึงในบ้านนี้ เมืองนี้ก็คือ เวลาที่พี่ไทยเราจับกลุ่มนินทากัน ก็มักจะมีความพยายามในการสร้างมูลค่า และความน่าเชื่อถือของเรื่อง ที่เอามาเม้ามอยหอยสังข์เหล่านี้ ก็คือการอ้างว่าเป็นข่าวจาก ‘วงใน’ แต่พอจะสืบสาวเอาความว่า วงในที่มาว่านั้นหมายถึงใคร? และ/หรือมาจากวงไหน? ก็มักจะเกิดภาวะ ‘dead air’ ขึ้นกับผู้นำสารของวงในเหล่านั้นมาบอกต่อเอาดื้อๆ
เกี่ยวกับเรื่องนี้เราอาจจะทำความเข้าใจจากงานของนักศึกษาสังคมอย่าง นอร์แมน จาคอปส์ (Norman Jacobs) เคยเขียนงานวิจารณ์ประเทศไทยอย่างแสบสันต์ ยิ่งกว่าเวลาที่ถ่ายท้องหลังจากที่กินพริกขี้หนูเข้าไปสัก 48 เม็ด เอาไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า ‘ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ประเทศไทยในฐานะกรณีตัวอย่างของเอเชีย’ (Modernization without Development: Thailand as an Asian Case Study) เนิ่นนานตั้งแต่เมื่อ 46 ปีมาแล้ว คือใน พ.ศ. 2514 โน่นเลย
หนังสือที่ตั้งชื่อได้อย่างชวนเจ็บจี๊ดยิ่งกว่าวินาทีที่น้องน้ำตาล ไม่ได้ไปต่อมากกว่ารอบ 6 คนสุดท้ายที่ว่านี้ มีใจความสำคัญตอนหนึ่ง พูดเปรียบเทียบวัฒนธรรมการทำงานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (ซึ่งในขณะนั้นกำลังเร่งฟื้นฟูชาติจากการประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และตีตื้นขึ้นมาจนใกล้เป็นหนึ่งในแคนดิเดตของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก) ไว้อย่างน่าสนใจว่า
ตามธรรมชาติของวัฒนธรรม ‘ญี่ปุ่น’ คนจะ ‘รวมกลุ่ม’ กัน ‘ทำงาน’ ในขณะที่ธรรมชาติของวัฒนธรรม ‘ไทย’ คนจะ ‘จับกลุ่ม’ กัน ‘นินทา’
ส่วนผลที่ตามมาน่ะเหรอครับ?
จาคอปส์สรุปเอาไว้ว่า ธรรมชาติของวัฒนธรรมอย่างนี้ ทำให้สังคมญี่ปุ่น ‘พัฒนา’ ไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ในขณะที่สังคมของพี่ไทย ‘ทันสมัย’ แต่ไม่พัฒนา (โอ้ยย คุณพี่เขาไม่กะเข้ามาเยี่ยมชมไทยแลนด์แดน ม.44 กันเลยใช่ไหมเนี่ย!)
แถมอีตาจาคอปส์อะไรนี่เค้ายังบอกเอาไว้อีกด้วยว่า ไอ้เจ้าความเป็นสมัยใหม่ที่เราเห็นในสังคมไทยนี้น่ะ มันเป็นแค่เปลือกนอก ที่ไม่ได้ซึมลึกเข้าไปถึงแก่น เหมือนกับเป็นการเอาเครื่องแบบของความเป็นสมัยใหม่ มาสวมทับเนื้อในเชยๆ หลอกสายตาคนอื่นเขาไว้โก้ๆ เท่านั้นแหละครับ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ คุณพี่คนนี้แกจะพูดอะไรขึ้นมาลอยๆ นะครับ เพราะสำหรับจาคอปส์แล้ว ภาวะความเป็น ‘สมัยใหม่’ ของประเทศไทยถูกจำกัดโดยโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ หรือแม้กระทั่งเป้าหมายของสังคมเอง ทำให้สถาบันทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเมือง สถาบันเศรษฐกิจ รวมทั้งสถาบันทางศาสนา ไม่มีศักยภาพ หรือ (/และ) ประสิทธิภาพเต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น
และอันที่จริงแล้ว จาคอปส์ไม่ได้กล่าวร้ายเฉพาะแค่ประเทศไทย เค้าว่าเอเชียทั้งทวีป ยกเว้นก็แต่ญี่ปุ่น เพียงแต่ใช้ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษา (ว่าแต่ทำไมถึงเลือก ‘ไทย’ เป็นกรณีศึกษาล่ะฮึ!) และนำมาใช้ในการเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น โดยอ้างว่า ไทยและญี่ปุ่นเริ่มต้นความพัฒนาประเทศไปสู่สมัยใหม่พร้อมๆ กันในช่วงศตวรรษที่ 19 และในระยะที่เริ่มพัฒนานั้น สังคมไทยกับญี่ปุ่น ก็มีลักษณะใกล้เคียงกันหลายอย่าง เช่น วัฒนธรรม เอกลักษณ์ประจำชาติ มีบุคคลชั้นนำที่ฉลาดและมีภาวะสร้างสรรค์ ดังเช่นที่จาคอปส์ว่าเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้บางตอนว่า
ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศไทยและญี่ปุ่น ได้มีนักวิชาการต่างชาติวิเคราะห์เปรียบเทียบช่องทางและโอกาสในการพัฒนาของประเทศทั้งสองแล้วลงความเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ หรือช่องทาง และโอกาสในการพัฒนาสูงกว่าญี่ปุ่นมาก นักวิชาการบางคนถึงกับเสนอแนะให้ญี่ปุ่นส่งคณะผู้สังเกตการณ์มาดูงานการพัฒนาในประเทศไทยเลยด้วยซ้ำ แต่ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2514- ผู้เขียน) ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่พัฒนาไม่แพ้โลกตะวันตก ในขณะที่ประเทศไทยยังย่ำอยู่กับที่
กล่าวโดยสรุปได้ว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะผู้ปกครองใช้สถาบันทางสังคมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางการเมือง การบริหาร การศึกษา เศรษฐกิจ และแม้แต่สถาบันทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการเสริมอำนาจให้แก่ตนมากกว่าที่จะใช้ในการส่งเสริม และพัฒนาประเทศ (เห็นไหม บอกแล้วว่ามีที่มาที่ไป ไม่ใช่อ้างกันลอยๆ ปั๊ดโธ่!)
หากคิดตามแนวทางที่ว่านี้ของจาคอปส์ สถาบันต่างๆ จึงมีสภาพเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมบารมีให้กับผู้ปกครอง วิธีการที่ทรงพลังอย่างหนึ่งคือการให้สถาบันทางสังคมเหล่านี้ กลายเป็นสถาบันอันแตะต้องหรือล่วงละเมิดไม่ได้ (The Untouchable) ซึ่งจะทำให้สถาบันทางสังคมเหล่านี้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับที่เน้นย้ำลงไปความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้คนในสังคมคือ คือ ‘ชนชั้นปกครอง’ ที่ใช้สถาบันเป็นเครื่องมือ และ ‘ประชาชน’ โดยทั่วไปที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะแตะต้องสถาบันทางสังคมใดๆ ได้ (ถ้านึกไม่ออกก็ลองคิดถึง สารพัดกฎหมายมาตราพิเศษต่างๆ ในบ้านนี้ เมืองนี้ ที่ทำให้ใครต่อใครต่างได้แต่พากันยกสากขึ้นมาเป่า ในเรื่องบางเรื่องดูกันเอาเองนะครับ)
กลไกที่ว่ายังมีผลทำให้ สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่สามารถ ‘วิจารณ์’ (critical) ได้ แต่ผู้คนสามารถบ่นพึมพำกับตัวเองอยู่ในใจ หรือระบายออกในรูปของการ ‘นินทา’ (gossip) เท่านั้น
แน่นอนว่า การวิจารณ์นำไปสู่การพัฒนาเพราะเป็นการ ‘ถก’ ถึงข้อดี ข้อเสียของกรณีตัวอย่างหนึ่งๆ ในขณะที่การนินทา ไม่สามารถทำให้กรณีตัวอย่างถูกปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้นได้เลย เพราะเป็นการกระทำอยู่ลับหลัง
(ตลกร้ายสิ้นดีที่คำว่า ‘gossip’ ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘godsibb’ ในภาษาอังกฤษโบราณ หมายถึง ผู้คนที่เกี่ยวพันหรืออยู่เคียงข้างกับพระผู้เป็นเจ้า ก็มีใครที่ไหนจะอยู่ข้างพระเป็นเจ้าแล้วไม่เคยแอบนินทาถึงพระองค์บ้าง?)
แน่นอนว่า การนินทาอาจจะเป็นเรื่องที่มีเค้าความจริง หรือเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลเลยก็ได้ เรียกได้ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือนัก กลเม็ดในการทำให้เรื่องดูน่าเชื่อถือขึ้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และการที่จะทำให้คำนินทาของตนเองน่าเชื่อถือขึ้นอีกเป็นกระบุงโกยในโครงสร้างสังคมแบบไทยๆ นี้ วิธีการที่ง่ายที่สุดในโครงสร้างสังคมแบบนี้ก็คือการอ้างอิงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘วงใน’ ที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร รู้ก็แต่เป็นวงที่ชวนให้คิดไปได้ว่าเขาใกล้ชิดกับเรื่องราวมากกว่าคนวงนอก (ซึ่งมักจะผูกพันอยู่กับลำดับชั้นสูงต่ำของสถานภาพทางสังคมของคนที่ถูกมโนว่าเป็นวงใน กับคนที่ถูกบรรจงถีบออกมาเป็นวงนอก) นี่แหละครับ
มันจึงไม่แปลกอะไรเลยที่ในประเทศนี้ เมืองนี้ ซึ่งคำว่า วงใน สามารถคล้องเอาตัวผู้อ้าง ให้ลอยขึ้นไปเกี่ยวเข้ากับสถานภาพที่สูงกว่าตนเองได้ (เพราะวงที่ว่านี้ดูจะแผ่ไปตามความสูงต่ำของช่วงชั้นทางสังคม มากกว่าแผ่ไปในแนวระนาบของช่วงชั้นเดียวกัน) จะมีการอ้างถึงความเป็น วงใน อย่างไม่หยุด ไม่หย่อน กันอยู่เรื่อยๆ และถี่ยิบ จนถ้านักศึกษาวิชากฎหมายธรรมดาๆ จะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในศาล ที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในนั้นด้วยก็ไม่เห็นจะแปลก ถ้าท่องคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ให้ไม่ขาดปากเอาไว้ว่า ‘วงใน’ (ส่วนจะทำให้ใครเชื่อได้หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
มันจึงเป็นเรื่องชวนแปลกใจ และเวรี่อนิจจังเป็นอย่างมากเลยนะครับ เมื่อพบว่าข้อคิดเห็นที่ควรจะ ‘เก่า’ ‘เชย’ และ ‘ล้าหลัง’ อย่างงานของจาคอปส์ที่เขียนขึ้นเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาชิ้นนี้ยังคงมีพลัง และสามารถใช้ในการอธิบายความเป็นไปของสังคมไทย ที่เขาเลือกที่จะใช้เป็นกรณีตัวอย่าง อยู่จนแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่งานชิ้นนี้ถูกนำมาพูดถึง และอ้างอยู่ในงานวิชาการเกี่ยวกับสังคมไทยอยู่เรื่อยๆ (ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองเอาชื่อหนังสือเล่มนี้ไปเสิร์ชในวงใน เอ๊ย! กูเกิ้ลดูเอาเองนะครับ) นั่นแหละ