1
ราชาแห่งบอสซาโนวามี 2 คน
ชาว กิลแบร์โต (João Gilberto) หรือที่ต้องออกเสียงว่า ชูเอา ชิลเบร์ตู เพิ่งจากเราไปไม่นานมานี้ด้วยวัย 88 ปี หลายคนบอกว่า เขาคือบิดาแห่งบอสซาโนวา แต่ที่จริงแล้ว บิดาแห่งบอสซาโนวาไม่ได้มีเพียงคนเดียว
ยังมีเพื่อนร่วมงานของเขาอีกคนหนึ่ง—คนคนนั้นก็คือ แอนโทนีโอ คาร์ลอส โจบิม (Antônio Carlos Jobim) หรือถ้าจะให้ถูกต้อง ก็ต้องออกเสียงว่า อังโตนีอู การ์ชูช โชบิง
เขาจากเราไปในปี ค.ศ. 1994
ในวันนี้ โลกจึงไร้แล้วซึ่งราชาแห่งบอสซาโนวา
2
นานมาแล้ว เมื่อพยายามเรียนเปียโนแจ๊ซ ครูผู้สอนเล่าให้ผมฟังถึงทางเดินคอร์ดในทฤษฎีดนตรี ซึ่งทางเดินคอร์ดที่น่าจะเป็นพื้นที่ฐานที่สุด ก็คือ ‘วงกลมแห่งห้า’ หรือ Circle of Fifths คือการเดินคอร์ดเปลี่ยนไปที่ละห้าช่วงเสียง ซึ่งจะทำให้ได้เสียงดนตรีที่ออกมาเรียบง่ายรื่นหูที่สุด เช่น จากคอร์ด C ไป G, D, A, E, B Gb, Db, Ab, Eb, Bb, F แล้วกลับมาที่ C อีกหนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างเพลงหรือ chords progression ต่างๆ ที่หลากหลาย
ครูเล่าไปพร้อมกับพลิกหนังสือเพลงเปิดไปด้วย
แล้วทันใดนั้น หนังสือเพลงก็พลิกมาถึงหน้าที่บรรจุอยู่ด้วยเพลง The Girl from Ipanema
ใช่แล้ว—นี่คือเพลงอันโด่งดังที่ทั้งกิลแบร์โตและโจบิมได้ร่วมกันรังสรรค์ขึ้นมา
ครูบอกผมว่า—นี่คือสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แล้วครูก็เล่าลึกลงไปในรายละเอียด ถึงทางดำเนินคอร์ดในเพลงนี้ ว่ามันวิเศษมหัศจรรย์อย่างไร ไม่เป็นไปตาม Circle of Fifths อย่างไร และแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของผู้รังสรรค์อย่างไรบ้าง
แน่นอน—รายละเอียดเหล่านั้นนำมาเล่าด้วยตัวอักษรได้ยากเย็นยิ่ง เพราะหากปราศจากเสียซึ่งการกดนิ้วลงไปบนคีย์เปียโน เพื่อให้เปียโนเปล่งเสียงออกมาให้เราฟังแล้ว เราก็ไม่มีวันสัมผัสได้ถึงความวิเศษมหัศจรรย์น้ันแม้แต่น้อย
นี่เอง—ที่คือข้อจำกัดของงานเขียน เพราะไม่ว่าจะพยายามบรรยายให้ละเอียดพิสดารอย่างไร ก็ไม่มีวันจะทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงความงามของดนตรีเทียบเท่าการฟัง
แม้การฟังนั้นจะเป็นเพียงการกดคอร์ดไม่กี่คอร์ดเปลี่ยนไปมา
แต่เป็นเสียงที่คล้ายเรียบง่ายเหล่านั้นนั่นเอง ที่ทำให้ผมเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของราชาแห่งบอสซาโนวา 2 คนนี้
พวกเขาบรรลุถึงบางสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปไม่อาจบรรลุ
3
โจบิมแก่กว่ากิลแบร์โต เขาเกิดในปี ค.ศ. 1927 ในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี พ่อของเขาเป็นนักเขียน ทูต นักหนังสือพิมพ์ และอาจารย์ เขาหลงใหลในดนตรีเพราะรักชอบในงานของนักดนตรีและนักแต่งเพลงระดับตำนานของบราซิล คือ Pixinguinha ผู้เป็นนักแซกโซโฟนที่โด่งดังในยุค 30s และเป็นผู้นำดนตรีบราซิลเข้าสู่ยุคใหม่
แต่โจบิมไม่ได้ได้รับอิทธิพลดนตรีจากนักดนตรีชาติเดียวกันเท่านั้น เขายังได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากคีตกวีฝรั่งเศส ที่ได้ชื่อว่าสร้าง ‘คอร์ด’ เพลงที่แปลกประหลาด จนเกิดเป็นดนตรีแนวอิมเพรสชันนิสม์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น คล็อด เดอบุสซี (Claude Debussy) หรือ มอริซ ราเวล (Maurice Ravel)
ทว่างานที่ทำให้เขาโด่งดังระดับโลก ก็คืองานดนตรีที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นร่วมกับใครอื่นอีกหลายคน
และใครอื่นที่ว่านั่น—คนหนึ่งก็คือ ชาว กิลแบร์โต นั่นเอง
4
กิลแบร์โตมีพื้นเพคล้ายๆ โจบิม นั่นคือเกิดในครอบครัวร่ำรวย พ่อของเขาเป็นพ่อค้าผู้มั่งคั่ง แต่เขาไม่ได้โชคดีเหมือนโจบิมเท่าไหร่ เพราะเมื่อเขาเริ่มเล่นกีตาร์ ที่บ้านของเขาผิดหวัง พ่อของเขาไม่ยอมรับ และไม่อยากให้ลูกายกลายเป็นนักดนตรี แต่กระนั้น หลังประชดพ่อด้วยการทำตัวเหลวแหลกเป็นสิงห์กัญชาอยู่พักหนึ่ง กิลแบร์โตก็ลุกขึ้นมุ่งมั่นเดินทางตามฝันของตัวเองด้วยอาชีพทางดนตรี แต่ที่ต่างไปจากโจบิมก็คือ—เขาเป็นนักร้องด้วย
กิลแบร์โตอายุน้อยกว่าโจบิมเล็กน้อย เขาเกิดในปี ค.ศ. 1931 อันเป็นยุคที่เครื่องขยายเสียงเริ่มแพร่หลายมากขึ้นแล้ว
ก่อนหน้านั้น โลกของนักร้องคือการฝึกเปล่งเสียงให้ทรงพลัง เพื่อจะได้ร้องเพลงให้คนฟังได้กังวานไกล แต่กิลแบร์โตตระหนักว่า เมื่อมีเครื่องขยายเสียง นักร้องไม่จำเป็นต้องเปล่งพลังออกมามากมายนักก็ได้ เพราะเครื่องขยายเสียงช่วยทำหน้าที่นั้นให้ มันจะเก็บเสียงของลมหายใจ การกระเพื่อมสั่นเล็กๆ น้อยๆ ในตวัดของเสียง แล้วทำให้ผู้คนได้ยิน กิลแบร์โตคิดว่า วิธีร้องแบบใหม่ที่ใช้เครื่องขยายเสียงนี้ จะช่วยให้ผู้ฟังได้รับรู้ถึงการตีความด้านใน (internalized interpretations) ได้ชัดเจนยิ่งกว่าการร้องแบบเปล่งพลังเสียอีก
และเป็นแนวคิดนี้นี่เอง ที่ทำให้กิลแบร์โตได้ร่วมงานกับโจบิม
5
ในเวลานั้น บราซิลยังไม่มีอุปกรณ์การอัดเสียงที่สามารถบันทึก เก็บ และสร้างเสียงออกมาได้ทุกอณูลึกซึ้งอย่างที่กิลแบร์โตต้องการ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าหากใช้เสียงประสานง่ายๆ ต่อให้แสดงอารมณ์ลึกซึ้งอย่างไร ก็ไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ล้ำลึกมากนัก เพราะเทคโนโลยียังไม่เอื้ออำนวย
แล้วจะทำอย่างไรดีเล่า?
ตรงนี้เอง ที่คืออัจฉริยภาพของโจบิมและกิลแบร์โต ในตอนนั้น โจบิมคือนักเรียบเรียงเสียงประสานที่ทำงานร่วมกับกิลแบร์โต เขาได้คิดค้นเสียงประสานมหัศจรรย์ขึ้นมา โดยนำเอาอิทธิพลของดนตรีอเมริกันที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของคอร์ดเข้ามาใช้
ดนตรีแบบหนึ่งที่โจบิมคุ้นเคยดี ก็คือสเกลที่เรียกว่า Harmonic Minor Scale ซึ่งเวลาไล่เสียงขึ้นไปจากเสียงที่หนึ่ง (หรือเสียงโด ถ้าเป็นคีย์ C) แล้วจะมีเสียงแฟลตที่ตัวที่สาม (เช่นเสียงมี ถ้าเป็นคีย์ C) และตัวที่หก (หรือเสียงลา ถ้าเป็นคีย์ C) แล้วหากเป็นคอร์ดแบบแจ๊ซ ก็จะเติมเสียงที่ 7 เข้าไปในคอร์ดด้วย เช่น คอร์ด CmMaj7 เป็นต้น หรือนอกจากนี้แล้ว ก็สามารถเติมเสียงอื่นๆ เข้าไปในคอร์ดได้อีก
ด้วยการไล่เสียงและสร้างคอร์ดแบบนี้ ในที่สุด โจบิมก็ค้นพบ ‘อัญมณี’ หรือ hidden jewel ของ Harmonic Minor Scale ซึ่งเรียกว่า Enharmonic Harmonization
โจบิมนั้นเล่นทั้งเปียโน กีตาร์ และเรียบเรียงเสียงประสานให้กับวงออร์เคสตร้าด้วย ดังนั้น เขาจึงลุ่มลึกและรอบรู้อย่างยิ่ง ทางดำเนินคอร์ดใหม่ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นนั้น ทั้งสง่างาม โดดเด่น และทำให้อารมณ์ที่ฝังลึกอยู่ในดนตรี สามารถแสดงออกมาได้ด้วยวิธีคล้ายๆ กับที่กิลแบร์โตต้องการแต่ยังไม่สามารถบรรลุได้เพราะเทคโนโลยียังก้าวไปไม่ถึง
ถ้าเราฟังเพลงอย่าง The Girl from Ipanema เราอาจรู้สึกเพียงว่ามีอะไรบางอย่างแปลกๆ อยู่ในนั้น ฟังแล้วชวนให้ ‘ข่อนใจ’ คือมีบางเสียงที่ไม่สอดคล้อง ไม่กลมกลืนอย่างที่เราเคยคุ้น และเสียงนั้นเป็นคล้ายตะขอเล็กๆ ที่เกี่ยวและควักเอาหัวใจของเราออกมา หม่นเศร้าก็หม่นเศร้า ทว่าไม่ใช่หม่นเศร้าอย่างขมขื่น กลับเป็นหม่นเศร้าที่มีความซุกซน ขี้เล่น น่ารัก และสดใสปะปนอยู่ในความหม่นเศร้านั้นด้วย แต่เราอาจอธิบายไม่ได้ว่าคืออะไร
เพลงที่น่าสนใจศึกษามากกว่า The Girl from Ipanema คือเพลงชื่อ Dindi ซึ่งมีหลายเวอร์ชั่น บางเวอร์ชั่น (เช่น เวอร์ชั่นแรกๆ) จะยังไม่มีคอร์ดมหัศจรรย์ เช่นเวอร์ชั่นแรกๆ ที่โจบิมสร้างคอร์ดให้นักร้องบราซิลอย่าง ซิลเวีย เทลเลส (Sylvia Telles) ร้อง แต่ในบางเวอร์ชั่นช่วงหลังๆ เช่นในการอัดเสียงครั้งที่สาม (ที่ซิลเวีย เทลเลส ร้องเช่นเดียวกัน) มีการพัฒนาคอร์ดที่ซับซ้อนมากขึ้น หรือในเวอร์ชั่นที่นักกีตาร์อย่าง บาเดน โพเวลล์ (Baden Powell) บันทึกเสียง ก็เห็นได้ชัดเจนถึงทางเดินคอร์ดมหัศจรรย์ที่มีการแทรกคอร์ดอันเป็นเอกลักษณ์นี้ลงไปในเพลง
แล้วทั้งหมดทั้งมวลนี้ สุดท้ายก็ปะทุออกมากลายเป็น ‘ขบวนการบอสซาโนวา’ หรือ Bossa Nova Movement ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
6
อัลบั้มที่ถือว่า ‘เปลี่ยนโลก’ แห่งดนตรีไปอย่างสิ้นเชิง คืออัลบั้ม Getz/Gilberto ที่มีการอัดเสียงในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1963 เมื่อทั้งกิลแบร์โต โจบิม ได้ร่วมงานกับสแตน เก็ตซ์ และแอสทรุด กิลแบร์โต (ซึ่งเป็นภรรยาของ ชาว กิลแบร์โต) อัลบั้มนี้มีชื่อว่า Getz/Gilberto ที่มีเพลงอันกลายเป็นอมตะอย่าง The Girl from Ipanema และ Corcovado (Quiet Nights of Quiet Stars) บรรจุอยู่ด้วย
อัลบั้มนี้เปลี่ยนโลกดนตรีไปตลอดกาล และทำให้โลกได้รู้จักกับเพลงแบบบอสซาโนวา เป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ได้รับรางวัลแกรมมี่หลายรางวัล รวมทั้ง Album of the Year ด้วย และกระทั่งถึงทุกวันนี้ ผู้คนก็ยังคงฟังอัลบั้มนี้อยู่ และทำให้ทั้งกิลแบร์โตและโจบิมได้ชื่อว่าเป็น ‘ราชาแห่งบอสซาโนวา’ ทั้งคู่
จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของพวกเขา
7
ในปี ค.ศ. 1994 หลังเสร็จสิ้นการทำอัลบั้ม Antonio Brasileiro แล้ว โจบิมบ่นกับแพทย์ประจำตัวว่า เขามีปัญหากับการขับถ่ายปัสสาวะ สุดท้ายจึงเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเมาท์ไซนายในนิวยอร์ก
ที่จริงแล้ว การผ่าตัดดำนินไปด้วยดี แต่ขณะพักฟื้นนั่นเอง โจบิมวัย 67 ปี กลับเกิดอาการหัวใจล้มเหลวเนื่องจากเส้นเลือดอุดตันถึง 2 ครั้งซ้อน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่โจบิมจากเราไป ปล่อยทิ้งไว้เพียงอัลบั้มสุดท้ายในชีวิตของเขา ที่ออกสู่สายตาชาวโลกหลังเขาจากไปแล้วสามวัน
กิลแบร์โตอายุยืนยาวกว่า เขาเสียชีวิตในวัย 88 ปี ที่อพาร์ตเมนต์ในกรุงริโอเดอจาเนโร หลังป่วยเรื้อรังมานาน
ที่จริงแล้ว ชีวิตของกิลแบร์โตในบั้นปลายนั้นไม่ค่อยดีนัก เขามีปัญหาทางการเงินร่วมกับปัญหาสุขภาพรุมเร้า ในปี 2011 เขาถูกฟ้องจนต้องย้ายออกจากอพาร์ตเมนต์ที่พำนักอยู่ และลูกสาวของเขา คือเบเบล กิลแบร์โต (Bebel Gilberto) ก็พยายามฟ้องร้องเพื่อจะได้ควบคุมดูแลสถานะทางการเงินของเขา เนื่องจากกิลแบร์โตทั้งเป็นหนี้หนักและมีอาการป่วยทั้งทางกายและใจที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
8
ในโลกที่ไร้ราชาแห่งบอสซาโนวา ผมหยิบอัลบั้มคุ้นเคย Getz/Gilberto ออกมาปัดฝุ่นฟังอีกครั้ง หลังเคยฟังมาครั้งแล้วครั้งเล่าจนปรุ
เสียงดนตรีเหล่านั้นไม่ได้สอนเราเพียงเรื่องของดนตรี คอร์ดวิเศษ และสเกลล้ำเลิศเท่านั้น
แต่ยังสอนเราถึงเรื่องราวของชีวิตอีกด้วย
ชีวิต—ที่หม่นเศร้าแต่มีความสดใสแทรกซ้อนอยู่ในเสียงดนตรีวิเศษ
และชีวิต—ที่ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นราชาแห่งบอสซาโนวาหรือไม่ก็ตาม