วันนี้ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์โลก เมื่อปี 2001 เคยเกิดเหตุที่ผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินชนตึกเวิร์ดเทรด จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ และยังสร้างบาดแผลให้กับผู้คนมากมายถึงวันนี้
อย่างไรก็ดี กลับมีหลายคนที่มองว่า เหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง? กลายเป็นคำถามว่าแม้โลกเราจะมีพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ที่ก้าวหน้า ทำให้เราสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แต่ทำไมยังมีบางคนเชื่อมั่นในทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) กันอยู่?
ที่น่ากังวลใจมากๆ คือในช่วงที่ผ่านมา หลายคนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด ยังมีพฤติกรรมที่นำไปสู่ความรุนแรง และการก่อเหตุที่น่ากลัวด้วย ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปยังรัฐสภาของสหรัฐฯ เมื่อปี 2002
“นักทฤษฎีสมคบคิดไม่ได้เป็นคนหัวอ่อน หรือมีปัญหาทางจิตไปเสียทั้งหมด” ชอนา โบว์ส (Shauna Bowes) นักศึกษาปริญญาเอก สาขาจิตวิทยาคลินิก จากมหาวิทยาลัยเอโมรี (Emory University) ระบุ โดยเธอมีงานวิจัยเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด ที่ตีพิมพ์โดยสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association หรือ APA)
ในเชิงจิตวิทยา สาเหตุที่คนเชื่อทฤษฎีสมคบคิดอาจมาจากหลายปัจจัย ที่ทำให้คนพยายามหา ‘ความชัดเจน’ ในสถานการณ์ที่สับสน แต่ที่น่าสนใจคือความต้องการรู้ความจริง หรือสร้างความกระจ่างในเหตุการณ์ กลับ “ไม่ใช่แรงกระตุ้นที่มีผลมากที่สุด” ต่อการเชื่อทฤษฎีสมคบคิด
รับรู้ถึงภัยคุกคาม
งานวิจัยพบว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อทฤษฎีสมคบคิดมากขึ้น เมื่อพวกเขาได้รับแรงจูงใจจากความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationships) ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ แต่หนึ่งในนั้นคือ การรับรู้ถึง ‘ภัยคุกคาม’ ทางสังคม ที่ทำให้ผู้คนเชื่อทฤษฎีสมคบคิดที่อิงตามเหตุการณ์ เช่น ทฤษฎีสมคบคิดที่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้วางแผนก่อวินาศกรรม 9/11
อยากรู้สึกปลอดภัย
นอกจากนี้ งานวิจัยของโบว์สระบุว่าการเชื่อทฤษฎีสมคบคิดทำให้ ‘รู้สึกปลอดภัย’ ซึ่งโดยรวมแล้วผู้คนมีแรงจูงใจให้เชื่อทฤษฎีสมคบคิด เพราะมีความต้องการที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และรู้สึกปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอาศัยอยู่ รวมถึงต้องการที่จะรู้สึกว่าสังคมของตัวเองนั้น ‘เหนือกว่า’ สังคมอื่นๆ
ต้องการรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ
ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับแนวคิด ‘อัตลักษณ์ทางสังคม’ (social identity) ที่งานวิจัยของโบว์ส พบว่าความสนใจในเนื้อหาของทฤษฎีสมคบคิด และการเข้าใจความเป็นไปของโลกในมุมอื่นๆ อาจทำให้บางคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และทำให้สามารถระบุที่ทางของตัวเองในสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น
ขาดความถ่อมตน
ในด้านเงื่อนไขทางบุคลิกภาพ งานวิจัยของโบว์สก็พบความเชื่อมโยงในหลายประเด็น แต่หนึ่งในเงื่อนไขที่ชัดเจนที่สุดคือ ‘ความถ่อมตน’ (humility) ซึ่งผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่า การขาดความถ่อมตนเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเชื่อทฤษฎีสมคบคิด โดยอาจขยายความต่อไปได้ว่า ความถ่อมตนตามแนวคิดจิตวิทยา อาจสะท้อนจาก การยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง รวมทั้งการเปิดกว้างและยอมให้ตัวเอง ‘ถูกสอน’ พร้อมกับรับฟังข้อเสนอแนะของผู้อื่น
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อธิบายการเชื่อทฤษฎีสมคบคิด แต่อาจทำให้เห็นว่าการทำงานของจิตใจของเรานั้น อาจซับซ้อนมากกว่าที่เราคิดมาก ทั้งนี้การทำความเข้าใจนักทฤษฎีสมคบคิดในทางจิตวิทยา ก็ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการมองว่าผู้นั้นมีปัญหาทางจิตใจ
อ้างอิงจาก