พื้นที่สีเขียวที่ใช้งานได้ในละแวกบ้านคุณ อยู่ห่างออกไปไกลแค่ไหน?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเขียวขจีและลานกว้างสำหรับทำใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย นัดเดท แหล่งสูดดมอากาศบริสุทธิ์กลางป่าคอนกรีต เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกๆ เมือง ยิ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอย่าง กทม. พื้นที่สีเขียวยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น
แต่ทุกวันนี้ เรามีพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอกับจำนวนประชากรไหม ยิ่งกว่านั้น พื้นที่สีเขียวที่เรามีใช้ประโยชน์ได้สักแค่ไหนกันเชียว?
ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาพื้นที่สีเขียวใน กทม.มักเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่หลายคนรอฟังจากผู้ว่าฯ กทม.อยู่แล้ว เพราะไม่ว่าใครก็อยากได้พื้นที่ไว้พักผ่อนหย่อนใจ หรือนั่งชิลกลางกรุงกันทั้งนั้น ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมาในแต่ละยุคต่างก็ออกนโยบายมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในรูปแบบที่หลากหลายกันไป ทั้งให้ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สวนเพิ่ม แต่ปัญหาพื้นที่สีเขียวก็ยังคงอยู่คู่ กทม.เสมอมา
The MATTER เลยขอพามาดูว่า ที่ผ่านมาเรามีพื้นที่สีเขียวเท่าไหร่ แล้วต้องทำยังไงถึงจะเพิ่มขึ้นมาให้ได้ตามค่ามาตรฐาน ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กัน
ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั้น พื้นที่สีเขียวในแต่ละเมืองควรมีอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน และมีมาตรฐานอุดมคติ (มาตรฐานที่ถ้าเป็นไปได้จะดีมาก) อยู่ที่ 50 ตารางเมตรต่อคนด้วย
และยังต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ซึ่ง WHO เสนอว่า ในระดับย่านควรมีพื้นที่สีเขียวกระจายตัวอยู่ในระยะการเดินเท้า 300–500 เมตร
หรือถ้าลองเทียบให้เห็นภาพขึ้นอีกนิดคือ ในหนึ่งพื้นที่ที่ควรเป็นของเราคนเดียว หากเป็นไปตามมาตฐานแล้ว ก็จะมีตัวเราเข้าไปยืนอัดกันได้เยอะๆ เช่น ภาพนี้ที่สามารถยืนได้อย่างน้อย 49 คน แต่ตามมาตฐานก็คือ 1 คนต่อ 9 ตารางเมตรต่อคนเนี่ยแหละ
กลับมาดูที่ กทม. ของเรา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่มาลงชิงตำแหน่งต่อในครั้งนี้ บอกว่า เมื่อปี 2559 กทม.เคยมีพื้นที่สีเขียวเพียง 5.97 ตารางเมตรต่อคน ต่ำกว่าค่ามาตรฐานของ WHO อยู่ที่ 3.03 ตารางเมตรต่อคน
ก็เท่ากับว่า พื้นที่จะแคบลงกว่าที่เกณฑ์ WHO กำหนดไว้
หรือถ้าให้เห็นภาพขึ้นอีกนิด ก็จะเท่ากับว่ามีคนเข้าไปยืนอยู่ได้น้อยลง อย่างกรณีนี้ก็เหลือเพียง 32 คนเท่านั้น
แล้วในปี 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ก็ประกาศว่า สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม.ได้เฉลี่ย 7.34 ตร.ม./คน ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานของ WHO ขึ้นมาอีกนิด ห่างเพียง 1.66 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น
แปลว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เรามีพื้นที่ต่างๆ ให้ทำกิจกรรมได้กว้างขึ้นแหละ (ว้าววววว)
หรือถ้าเทียบคร่าวๆ ก็คิดได้ว่า สามารถเข้าไปยืนอัดกันได้เพิ่มขึ้นถึง 40 คน
แต่ช้าแต่ รายงานจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) เพื่อ ‘ประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวิน และข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่’ ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านต่างๆ ของ พล.ต.อ.อัศวิน รวมถึงนโยบายพื้นที่สีเขียว กลับเผยข้อมูลสุดพีคว่า ตัวเลขที่อดีตผู้ว่าฯ กทม. ประเมินไว้นั้นอาจสูงเกินจริง!!
และ กทม. มีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวจริงๆ แค่ 2.3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น!
สาเหตุก็มาจากการไปนับรวมพื้นที่บางประเภทที่ไม่ตรงกับนิยามของ WHO มาด้วย เช่น เกาะกลางถนนวิภาวดีรังสิต เกาะกลางถนนแยกพระราม 9 ถึงคลองน้ำแก้ว เกาะกลางถนนศรีอยุธยา เกาะกลางถนนอรุณอมรินทร์ เป็นต้น แถมพื้นที่สีเขียวของ กทม.ยังไปนับรวมเอาพื้นที่ที่ผู้คนข้ามถนนไปใช้ได้ยาก มีขนาดเล็ก รวมมีฝุ่นควันจากการจราจร ทำให้ไม่สามารถใช้เพื่อการพักผ่อนได้จริงมาด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น การนำประชากรมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยก็ยังนับเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านด้วย ทั้งที่ใน กทม.มีประชากรแฝงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ยิ่งกว่านั้น การศึกษาของ UDDC ยังระบุอีกว่า ระยะทางเฉลี่ยที่คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ที่สุดคือ 4.5 กิโลเมตร นับว่าสูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ถึง 9 เท่า
การกระจายตัวของพื้นที่สีเขียวในแต่ละเขตก็มีความเหลื่อมล้ำอีก อย่างพื้นที่ในย่านพาณิชยกรรม เช่น ปทุมวัน ซึ่งเป็นเขตที่มีสวนสาธารณะใหญ่ๆ หลายแห่ง มีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียว 13.8 ตารางเมตรต่อคนโดยมีระยะทางเฉลี่ยในการเข้าถึง 1.5 กิโลเมตร
พื้นที่เหลือเวอร์ๆ ทำกิจกรรมได้เยอะมาก
แต่อีกหลายเขต กลับมีพื้นที่สีเขียวมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 3 ตารางเมตรต่อคน เช่น เขตพระโขนง เขตบางกะปิ เขตบางเขน เขตลาดกระบัง เขตลาดพร้าว เป็นต้น อย่างในกรณีนี้ ก็ขอยกตัวอย่างเขตลาดกระบังซึ่งมีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 2.79 ตารางเมตรต่อคน น้อยกว่าค่ามาตรฐานมากๆ
ก็คือแคบเกิ๊นนนน
หรือบางที่ก็คือว่างเปล่า ไม่มีพื้นที่สีเขียวที่ใช้งานได้จริงๆ เลย เช่น เขตบางนา เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา
สำหรับทางแก้ไข UDDC เสนอยุทธศาสตร์ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ยุทธศาสตร์ระดับเมือง โดยให้นำที่ดินรกร้างหรือที่ดินที่ใช้ประโยชน์ได้ต่ำกว่าศักยภาพจริงมาทำเป็นพื้นที่สีเขียว รวมถึง การเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์มาสู่ระบบรางทำให้ที่ดินบางแห่งมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ได้
ส่วนยุทธศาสตร์ระดับเขต คือการเพิ่มคุณภาพพื้นที่สีเขียวในด้านการเข้าถึงจากย่านละแวกบ้าน ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนนำที่ดินมาพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผ่านกลไกที่ กทม.มี เช่น ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ.2558
ซึ่งถ้า กทม.สามารถดำเนินตามข้อเสนอแนะนี้ได้ เราก็อาจมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับปารีสซึ่งมีพื้นที่สีเขียว 13 ตารางเมตรต่อคน หรือลอนดอน ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวที่ 19 ตารางเมตรต่อคนก็เป็นได้นะ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคก้าวไกล มีนโยบายให้ซื้อหรือเช่าที่ดินเอกชน และใช้มาตราการทางภาษีจูงใจให้เอกชนยอมปล่อยที่ดิน
ขณะเดียวกัน วิโรจน์ยังกล่าวด้วยว่า ที่ว่างขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น กทม.จำเป็นต้องออกข้อบัญญัติที่เป็นธรรมเพื่อให้ใช้สอยพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ เช่น ให้อาคารสร้างใหม่ทุกแห่งต้องมีพื้นที่สีเขียวที่ใช้ประโยชน์ได้
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ ใช้นโยบายภาษีที่ดิน และนำพื้นที่รกร้างมาสร้างสวน Pocket Park ให้คนเข้าถึงได้ โดยนำเอาพื้นที่รกร้างของ กทม. มาทำเป็นสวน พร้อมกับจะปรับให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่จะมาออกกำลังกายให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน และบางสวนก็สามารถเสริมจุดเด่นของสวนนั้นๆ ได้
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายพื้นที่สีเขียวโดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้นจะปรับปรุงพื้นที่สาธารณะเดิม ระยะกลางจะเปลี่ยนพื้นที่รกร้างและที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นสวนสาธารณะแบบ Pocket Park
ส่วนในระยะยาว ก็จะจ้างรุกขกรมืออาชีพมาดูแลต้นไม้ใน กทม. และร่วมมือกับภาคเอกชนว่าหากมีที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และมีความประสงค์จะมอบให้ กทม.นำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว จะสามารถนำไปลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ อัพเดทผังเมืองให้เหมาะสมพร้อมบังคับใช้กฎหมายผังเมืองให้จริงจังขึ้น
อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มรักษ์กรุงเทพ จะกลับมาสานต่องานเดิม เดินหน้าเพิ่มพื้นที่เป็น 10 ตร.ม./คน เพื่อให้ประชาชนมีสวนสาธารณะและมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น ทั้งสวนขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก
รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ ระบุว่าจะหาพื้นที่ว่างในชุมชน เพื่อทำเป็น Pocket Park ตามนโยบายกระจายงบประมาณเขตละ 50 ล้านบาท ทั้ง 50 เขต เพื่อให้ประชาชนทำโครงการต่างๆ ร่วมกับ กทม.และใช้การลดภาษีมาช่วยให้ให้ประชาชนที่มีที่ดิน แต่ไม่ได้ใช้งาน สามารถมาทำร่วมกับ กทม.ได้ และอาจทำเป็นสวนสาธารณะร่วมกับการทำเกษตรควบคู่ไปด้วย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ มีนโยบายพื้นที่สีเขียวโดยจะพัฒนาพื้นที่ร่วมกับภาคเอกชน พร้อมเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคเอกชน หาพื้นที่ว่างให้ประชาชนช่วยกันปลูกต้นไม้ โดยมีนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ตั้งเป้าให้ประชาชนช่วยกันปลูก 5 คนปลูก 1 ต้น เพื่อให้ได้ต้นไม้เพิ่มขึ้นถึงหลักล้านต้น นอกจากนี้ ก็จะเพิ่มศักยภาพสวนที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มอัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวให้ดีขึ้น
อีกทั้ง ชัชชาติเคยระบุว่า เน้นการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับภาคเอกชน โดยใช้มาตรการทางภาษีที่ดิน และสวนสาธารณะต้องเดินถึงภายใน 15 นาที เพื่อให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่พ่อแม่ลูกมาเดินใช้พื้นที่ได้
ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า จะทำให้พื้นที่สีเขียวอยู่ในระยะที่เข้าถึงได้ 400 เมตร และจะขอเพิ่มพื้นที่สีเขียวมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงกระจายงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่
ศิธายังกล่าวอีกว่า จะหั่นงบปรับปรุงสวนลุมพินี 50% เพื่อนำไปจัดสรรงบประมาณในการดูแลสวนอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ และพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อหาพื้นที่สีเขียวเพิ่ม
สุดท้ายเมืองหลวงของเราจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นไหม และจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ ต้องมาลุ้นกันนะ