หลายคนอาจรู้สึกว่า ‘ความดี’ ต้องใช้ความพยายามหรือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากถึงจะเห็นผล แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แค่เพียงเจตนาที่ดี คำพูดที่ดี และการแสดงออกที่ดีเป็นต้นทุน ก็สามารถลงมือได้ทันทีกับสิ่งรอบตัว
และหากทำอย่างสม่ำเสมอ รู้ตัวอีกทีการทำดีนั้นก็อาจจะขยายผลไปเรื่อยๆ และนำพากลุ่มคนที่คิดดีทำดีมารวมตัวเพื่อทำความดีในระดับที่ใหญ่กว่าเดิมได้
เหมือนกับเส้นทางความเป็นมาของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่เริ่มต้นด้วยจิตใจอันกว้างขวางของหลวงปู่ไต้ฮง ส่งต่อความศรัทธาและแรงบันดาลใจให้ผู้คนมารวมตัวอาสาทำความดีเพื่อช่วยเหลือสังคม จนพลังความดีนั้นข้ามน้ำข้ามทะเลจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ประเทศไทย และดำรงอยู่ด้วยความตั้งใจจะช่วยเหลือสังคมไทยจนครบ 110 ปีแล้ว
จากจุดเล็กๆ ในวันนั้น ทำให้เกิดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่คอยช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย สังคมสงเคราะห์ และต่อยอดขยับขยายกลายเป็น 3 หน่วยงานเครือข่ายที่อยากมอบ ‘โอกาส’ ทำความดีกับผู้คนจำนวนมากผ่าน 3 รูปแบบ
หนึ่ง—กระจายโอกาสทางการศึกษา
สอง—มอบโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และฐานะ
และสาม—เปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีองค์ความรู้ทางด้านแพทย์แผนจีน ต่อยอดการรักษาเพื่อเป็นการแพทย์ทางเลือกให้คนไทยต่อไป
ใช่แล้ว จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในแผ่นดินจีน สู่โครงการดีๆ มากมายในแผ่นดินไทย อย่างที่คุณสามารถเห็นจากผลงานของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งบนเว็บไซต์ pohtecktung.org—รวมถึง 3 หน่วยงานเครือข่ายที่เราอยากแนะนำให้คุณได้รู้จัก
การจะช่วยชีวิตผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ
หน่วยงานเครือข่ายแรกที่เราอยากแนะนำคือ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีปณิธานประจำมหาวิทยาลัยว่า ‘เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม’
ย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ. 2485 ก่อนจะเป็นมหาวิทยาลัย ที่นี่เคยเป็นโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยที่ผลิตพยาบาลช่วยผดุงครรค์ ถัดจากนั้นอีก 40 ปีต่อมา คณะกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งก็ตัดสินใจขยายให้เป็นวิทยาลัยพยาบาล โดยเปิดสาขาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นคณะแรก ต่อมาจึงเปิดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิตอีกคณะหนึ่ง
นอกจากนั้นก็ยังตั้งชื่อใหม่ว่า ‘วิทยาลัยหัวเฉียว’ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งหน่วยงานเครือข่ายอีกสองแห่ง เพราะคำว่า หัวเฉียว แปลว่า คนจีนโพ้นทะเล กลุ่มคนผู้พาอุดมการณ์นี้มาสู่ประเทศไทย
ต่อมาในปี 2533 เมื่อมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งดำเนินงานครบ 80 ปี จึงคิดขยายโอกาสด้านการศึกษา จึงมีมติและยื่นขอรับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัย ให้วิทยาลัยหัวเฉียวยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัย พร้อมกับได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อ ‘มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ’ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535
จนถึงปัจจุบันก็นับเป็นเวลา 79 ปีแล้วที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้มอบโอกาสทางการศึกษา และสร้างบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับใช้สังคมตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ ผ่านหน่วยงานเครือข่ายอย่างมหาวิทยาลัยหัวเฉียว
เมื่อให้การศึกษาจนได้บุคลากรที่มีความรู้ในการช่วยชีวิตคนแล้ว ก็ต้องใช้โอกาสนั้นช่วยคนให้ได้มากที่สุด
หน่วยงานเครือข่ายที่สองก็คือ โรงพยาบาลหัวเฉียว ซึ่งแต่เดิมก็เริ่มต้นจากสถานพยาบาลผดุงครรภ์เล็กๆ ให้บริการทำคลอดแก่ผู้คนทั้งในและนอกสถานที่
แต่พอมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประชากรในกรุงเทพฯ ก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการบริหารมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเล็งเห็นว่าสถานที่เดิมคงไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากพอ จึงวางแผนย้ายสถานพยาบาลจากหลังวัดเทพศิรินทราวาสมายังบริเวณถนนบำรุงเมือง สถานที่ตั้งในปัจจุบัน พร้อมก่อสร้างอาคารที่ทันสมัยและมีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น
ในปี 2513 อาคาร 22 ชั้นจึงสร้างแล้วเสร็จ ด้วยทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธาซึ่งทยอยบริจาคกันมาอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลจึงมีทุนมากพอที่จะจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้พร้อมสรรพ ท้ายที่สุดการก่อสร้างทุกส่วนก็สมบูรณ์ และเปิดให้บริการรักษาพยาบาลในทุกสาขาโรค สำหรับผู้ป่วยทุกเชื้อชาติ ศาสนา และฐานะ อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2521 จนถึงทุกวันนี้ โดยตั้งเป้าที่จะเป็นรพ.ทั่วไปที่ให้บริการครบวงจรด้วยคุณภาพตามมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) และยึดมั่นในปณิธานของหลวงปู่ไต้ฮง
นอกจากการศึกษา และการเปิดพื้นที่ให้บริการทางการแพทย์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเล็งเห็นว่ามีคุณค่าและจะส่งผลที่ยิ่งใหญ่ต่อๆ ไป นั่นก็คือ แพทย์แผนจีน
หน่วยงานเครือข่ายที่อยากแนะนำเป็นแห่งสุดท้ายก็คือ คลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า ‘สถานพยาบาลหัวเฉียวแผนโบราณ’ ซึ่งเปิดให้บริการฟื้นฟู-รักษาสุขภาพให้คนไทยด้วยศาสตร์ความรู้แพทย์แผนจีน ทั้งรูปแบบการรักษาและการใช้สมุนไพรจีน อันเป็นศาสตร์ที่ถูกคิดค้นและพัฒนามาตลอดหลายพันปี ก่อนที่ในปี 2539 จะเริ่มนำวิธีฝังเข็มเข้ามาใช้ ซึ่งถือเป็นการรักษารูปแบบใหม่ในขณะนั้น ทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นที่รู้จัก
แม้จะเป็นศาสตร์ดั้งเดิม แต่คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวก็ไม่เคยหยุดพัฒนาทั้งองค์ความรู้และบุคลากร โดยมีการจัดฝึกอบรมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน มีการวางระบบการให้บริการให้เป็นมาตรฐาน อีกทั้งยังมีการก่อตั้งอาคารคลังยาสมุนไพรจีนซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จนกลายเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ผู้คนให้ความไว้วางใจ
จากความตั้งใจส่วนตัว สู่ภารกิจความดีเล็กๆ ณ พื้นที่ห่างไกลในประเทศจีน สามารถส่งต่อแรงบันดาลใจมาไกลถึงเมืองไทย จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ด้วยมือของคนเพียงคนเดียว รวมพลังผู้คนเข้าหากัน จนเกิดเป็นการช่วยเหลือผู้คนที่ยิ่งใหญ่
จากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่มีจุดเริ่มต้นอยากช่วยบรรเทาทุกข์ความเดือดร้อนให้ประชาชน สู่ 3 หน่วยงานเครือข่ายที่ส่งต่อโอกาสให้ผู้คนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ในวาระครบรอบ 110 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจึงอยากเชิญชวนทุกคนเริ่มต้นแบ่งปันพลังดีๆ ด้วยการทำความดีง่ายๆ กับเรื่องใกล้ตัว พร้อมเปิดโอกาสให้ส่งต่อแรงบันดาลใจถึงกันและกัน ผ่านการบันทึกความดีบนเว็บไซต์ https://ต้นไม้แห่งความดี.com เพื่อบอกให้ทุกคนได้รู้ว่า ความดีทำง่าย ทำได้เลย
เพราะการกระทำเล็กๆ ในวันนี้อาจจะต่อยอดกลายเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน
หากอยากรู้ว่าภารกิจความดีที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งยึดมั่นอยู่ในอุดมการณ์การทำงาน 6 ข้อ มีอะไรบ้าง แล้วการจะเริ่มต้นทำความดีของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งนั้นมีจุดเริ่มต้นอย่างไร ร่วมค้นหาไปพร้อมๆ กันได้ที่ https://thematter.co/brandedcontent/poh-teck-tung_110anv/149812
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.huachiewtcm.com/มารู้จักหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
https://www.hcu.ac.th/about/ความเป็นมาของมหาวิทยาลัย
http://www.hc-hospital.com/about-huachiew.html