“จะเรียน Coding ดีไหมนะ” (ทำท่าครุ่นคริส)
เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีคำถามนี้ป็อปอัพขึ้นมาในหัว เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่คนบอกว่า Coding เป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้ หากไม่เรียน ไม่สนใจ ก็จะกลายเป็นคนไม่ปรับตัวจนตกขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว
ก็จริงอยู่ที่ Coding เป็นทักษะใกล้ตัวที่มีประโยชน์ แถมยังอำนวยความสะดวกให้กับมวลมนุษยชาติมาโดยตลอด แต่ลึกๆ แล้วในใจก็ยังลังเลว่าจะเรียนดีไหมนะ จนกลายเป็นปัญหาระดับความคิด ที่เข้ามาปะทะจนเสียระบบเสมอ
หากใครเป็นเช่นนั้นไม่ต้องกังวล เพราะวันนี้ The MATTER จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเรียน Coding กัน ฉะนั้นเตรียมตรรกะของคุณให้พร้อม แล้วไปขจัดความเข้าใจผิดๆ ในโลกที่หมุนไปด้วยการโค้ดกัน
“เรียนทำไม ไม่ได้อยากเป็นโปรแกรมเมอร์สักหน่อย”
ไม่จริง เพราะการเรียน Coding ไม่ได้จบมาเป็นโปรแกรมเมอร์อย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้เชิงทักษะกระบวนการคิด และการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่างหาก โดยความรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกอาชีพ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเนิร์ดคอมพิวเตอร์เท่านั้น
รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล บอกว่า “เราเรียน Coding เพื่อเข้าใจทักษะและเข้าใจคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น เพื่อรู้ว่าจะใช้งานมันยังไง คล้ายกับการเรียนวิชาชีวะที่ไม่ได้เรียนเพื่อจบไปเป็นนักชีววิทยาเท่านั้น แต่เรียนเพื่อให้รู้ว่าร่างกายเราทำงานยังไง
“การเรียน Coding จึงเป็นสะพานที่จะพาเราไปสู่จุดหมายที่เราต้องการ ในอนาคตจะทำงานด้านไหน ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา นักการเมือง สื่อสารมวลชน นักบัญชี นักกฎหมาย ทุกคนต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานทั้งสิ้น ดังนั้นการเรียน Coding คือการเสริมทักษะให้เราสามารถทำงานในอนาคตได้อย่างดียิ่งขึ้น”
ฉะนั้นไม่ว่าอยากทำงานอะไร ทักษะนี้สัมพันธ์กับคุณไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ
“ไม่สำคัญหรอก ก็แค่วิชาทางเลือก”
ไม่จริง เพราะปัจจุบันวิชา Coding หรือที่รู้จักกันในนาม “วิทยาการคำนวน” อยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ที่สอนให้นักเรียนเป็นผู้เขียน ผู้พัฒนา และฝึกหัดคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงสร้างหลักสูตรแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ
- Computational Thinking สอนกระบวนการคิดเชิงคำนวณที่เป็นขั้นตอน เพื่อสามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
- Digital Technology สอนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสามารถรวบรวม จัดการ และการวิเคราะห์ข้อมูลได้
- Digital Literacy สอนความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล เพื่อใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ และป้องกันความเสี่ยงเป็น
นับเป็นวิชาพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องเรียนและให้ความสำคัญจนได้รับการเรียกว่า 21st Century Skills
“ต้องเก่งวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ถึงจะเรียนเข้าใจ”
ไม่จริง เพราะการเรียน Coding ใกล้เคียงกับการเรียนภาษา แต่เป็นภาษาที่ใช้คุยกับคอมพิวเตอร์ ฉะนั้นแค่เข้าใจโครงสร้างพื้นฐานก็เรียนรู้ได้
โดยเราสามารถนำทฤษฎีด้านภาษาศาสตร์เข้ามาจับ ไล่ตั้งแต่เริ่มเรียนจากคำ รู้ว่าไวยากรณ์ของภาษาคอมพิวเตอร์นั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร จากนั้นก็เริ่มรวมคำเป็นประโยคและสร้างบทสนทนาเป็นชุดคำสั่ง สุดท้ายก็คือรู้สำนวนและเข้าใจสำเนียงของภาษานั้นๆ เพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
ในทำนองเดียวกัน ภูมิปรินทร์ มะโน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสบการณ์การทำงานตั้งแต่อายุ 14 ปี ก็เปรียบเทียบการเรียน Coding ไม่ต่างอะไรกับการเรียนดนตรีเช่นกัน “การเรียนเปียโนเราต้องรู้ว่ามีโน้ตอะไรบ้าง มีคอร์ดอะไรบ้าง แล้วพอเล่นเปียโนไปสักพักจะรู้ว่า กดคอร์ดนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกยังไง ผมคิดว่าการ Coding คล้ายกับการเล่นเปียโนครับ อย่างแรกคือ คุณต้องรู้ก่อนว่าโครงสร้างพื้นฐานคืออะไร เขียนโค้ดนี้เพื่ออะไร ซึ่งทุกวันนี้มีแหล่งเรียนรู้มีเยอะมากให้เราค้นหาด้วยตัวเอง”
“รีบไปทำไม เรียนตอนมหาวิทยาลัยก็ยังทัน”
ไม่จริง เพราะการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กน้อยวัยประถมฯ หรือผู้ใหญ่วัยเกษียณ ทุกคนสามารถเรียน Coding ได้ โดยแต่ละช่วงวัยจะมีหลักสูตรความเข้มข้นแตกต่างกัน
เช่น การเรียนระดับพื้นฐานสุดๆ จะเรียนแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ แต่ใช้บัตรคำสั่งบังคับทิศทางเพื่อภารกิจบางอย่าง หรือการเรียนผ่านโปรแกรมสอนต่างๆ เช่น โปรแกรม Scratch ที่จะช่วยฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ผ่านการเรียงชุดคำสั่งเป็นขั้นเป็นตอน ไปจนถึงการเรียนรู้ระดับแอดวานซ์ที่จะต้องเขียนชุดคำสั่งจริงในคอมพิวเตอร์นั่นเอง
“เรียนๆ ไปเถอะ ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรอก”
ไม่จริง เพราะการเรียนแบบไม่ใช้คอมฯ เรียกว่า Unplugged Coding เป็นการเรียนขั้นพื้นฐานว่าด้วยเรื่องหลักการและวิธีการคิดเท่านั้น แต่เมื่อเรียนถึงขั้นตอนการเขียนโปรแกรมจริงๆ แล้ว คอมพิวเตอร์ก็ยังเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็น
เหมือนที่ ปาจรีย์ อัศวปยุกต์กุล ผู้ก่อตั้งสถาบัน Code Genius กล่าวว่า “การเรียน Coding ไม่ได้จบที่การคิดอย่างเป็นระบบ แต่หัวใจหลักสำคัญคือ ถ้าเรามีการคิดอย่างเป็นระบบที่ดีแล้ว จะสามารถลงมือเขียน Coding ได้ดีต่างหาก”
อย่างไรก็ตาม หากโรงเรียนไหนไม่พร้อมในด้านอุปกรณ์ ก็มีคำแนะนำว่าให้สอนเท่าที่ทำไหวก็พอ
“เรียนภาษาไหนก็เหมือนกันหมดนั่นแหละ”
ไม่จริง เพราะต่างภาษา ก็ต่างเอกลักษณ์ในการใช้งาน ภาษาคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีภาษาเดียวที่ทำได้ทุกอย่าง แต่เกิดจากหลายภาษาที่ประกอบกันเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายออกไป
โสภิตา จันทรส ครูคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ยกตัวอย่างว่า “การเขียนเว็บหนึ่งเว็บอาจต้องมีการรวมร่างหลายภาษาไม่ว่าจะเป็น css, HTML หรือ JavaScript ซึ่งแต่ละภาษาก็มีจุดเด่นและที่ต่างกันไป หากเว็บนั้นเน้นการแทรกข้อมูล อัปเดตข้อมูลก็จะใช้ภาษา SQL หากเน้นความสวยงามก็จะใช้ JavaScript เป็นต้น ทั้งนี้ภาษาใหม่ๆ เริ่มมีการออกแบบให้ใช้งานครอบคลุมได้มากขึ้นยืดหยุ่นมากขึ้น”
ฉะนั้นการเรียนภาษาที่หลากหลายก็จะทำให้เราได้เปรียบกว่าคนอื่นในสายงานนี้
“ตอนนี้ทำงานแล้ว เปลี่ยนสายไม่ได้หรอก”
ไม่จริง เพราะอย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า การเรียน Coding สามารถเรียนตอนไหนก็ได้ โดยเริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ ไปจนถึงการเขียนโค้ดระดับแอดวานซ์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อต้องการเรียน Coding ก็คือ เราต้องถามตัวเองให้ชัดเจนว่า โจทย์ของการเรียนนั้น เราเรียนไปทำไม
นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ภูมิปรินทร์ มะโน ย้ำเรื่องนี้ว่า “สิ่งสำคัญมากๆ คือต้องคิดให้ได้ก่อนว่าจะสร้างอะไร เช่น โจทย์ของผมคืออยากเรียนเพื่อสร้างเรือในเกม บางคนมีโจทย์ว่าอยากทำโปรแกรมซื้อหวยแบบไสยศาสตร์ ทำเป็นหน้าเว็บมีผ้าสามสี ใช้มือถูๆ ขูดๆ ก็ได้เลขออกมา พอได้โจทย์แล้วเราก็จะรู้ว่าขาดอะไรจะไปถึงจุดนั้น”
ท้ายที่สุดเทคนิคสำหรับคนเริ่มอยากเรียนก็คือ ขอแค่ลองเปิดใจ ลองใช้ ให้โอกาสกับมัน ถ้าเราพร้อมที่จะเรียนรู้ นั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับตัวท่ามกลางโลกที่หมุนไปด้วยการโค้ดแล้ว