หลายคนมักหลงเข้าใจผิดว่าหากเป็นฝรั่งต้องเก่งภาษาอังกฤษ แต่อันที่จริงนอกจากประเทศอังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลียแล้ว ประเทศอื่นๆ ก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก
แต่เขากลับประสบความสำเร็จในการเรียนการสอน อาจปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัจจัยด้านรากฐานทางภาษาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ชาวต่างชาติหลายต่อหลายคนก็เรียนภาษาในระยะเวลาที่สั้นกว่าเด็กไทยเสียอีก โดยมีสถิติจาก Eurostat ระบุว่านักเรียน 96% ในกลุ่มประเทศ EU เรียนภาษาอังกฤษในระดับมัธยมศึกษา และ นักเรียนเหล่านี้มีค่าเฉลี่ยที่ดีในการพูดภาษาอังกฤษอยู่ลำดับต้นๆของโลกได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์
แล้วกับนักเรียนไทยล่ะ เราเรียนภาษาอังกฤษกันมานานแค่ไหนแล้ว?
เชื่อว่าเกือบทุกคนที่กำลังอ่านอยู่คงจะเรียนภาษาอังกฤษกันมาไม่ต่ำกว่า 5 หรือ 10 ปีขึ้นไป หลายคนอาจนั่งท่อง A B C กันตั้งแต่อนุบาล หรือบางคนอาจเริ่มเรียนในชั้นประถม ซึ่งหากนับดูดีๆ หลายคนอยู่กับภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาที่สองกันมาเกินครึ่งชีวิต แต่ถึงเราจะคลุกคลีอยู่กับภาษาที่สองนี้กันมานานแค่ไหน บางคนก็ยังต้องใช้เวลาในการนึกประโยคอยู่นานแสนนานกว่าจะตอบฝรั่งได้ว่ามาบุญครองไปทางไหนและหลายคนก็ยังคงรู้สึกกังวล เขินอาย และไม่ค่อยมั่นใจเมื่อต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
และใครจะคาดคิดว่าอาจารย์หรือคุณครูที่สอนภาษาอังกฤษให้เราเองนี่แหละบางครั้งก็มีกล้าๆกลัวๆในการพูดกับชาวต่างชาติ นั้นก็เพราะอาจารย์หรือคุณครูเหล่านี้เองใช้การสอนแบบท่องจำเน้นหลักความถูกต้องมากกว่าเพื่อสื่อสารซึ่งก็ทำไปตามหลักสูตรการเรียนการสอน หรือกับครูต่างจังหวัดที่มีโอกาสได้ใช้งานจริงกับชาวต่างชาติน้อยลงไปอีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงการศึกษามาตั้งแต่รุ่นครู เพราะครูที่สอนในชนบทก็คือคนที่อาศัยอยู่แถบนั้นอาจไม่ได้จบการสอนสายตรงหรือการสอนภาษาอังกฤษในระดับสูง และจากเศรษฐกิจที่หันเข้าสู่เมืองใหญ่ ครูที่ดีมีคุณภาพจึงเลือกเข้ามาสอนในเมือง
แม้เราจะรู้อยู่แล้วว่าประเด็นด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัญหาระยะยาวของประเทศที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง แต่ก็อดตกใจไม่ได้อยู่ดีเมื่อพบว่า ครูภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศไทยมากกว่า 75% มีความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษอยู่ในระดับ A2 (Lower Intermediate) หรือต่ำกว่า ซึ่งต่ำกว่าภาษาอังกฤษระดับพื้นฐาน จากการประเมินทักษะตามกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาหรือ CEFR หรือเทียบเท่าคะแนน IELTS 3.5-4 เท่านั้น
นอกจากนี้การสอนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ยังใช้การสอนแบบท่องจำ
เน้นหลักการ เรียนไว้ใช้สอบไม่ใช่เรียนเพื่อใช้ในการสื่อสาร ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาของนักเรียนไทยที่ว่า แม่นแกรมม่าแล้วทำไมถึงพูดไม่ได้ แถมระบบการเรียนการสอนแบบท่องจำนี้ยังจะส่งผลให้นักเรียนเบื่อหน่าย ไม่สนุกกับการเรียน ไปจนถึงอาจจะมีความรู้สึกในด้านลบหรือเกลียดภาษาอังกฤษไปเลยก็ได้
ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อย่าเพิ่งรีบกุมขมับเพราะมันยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะไม่ใช่เพียงแต่นักเรียนเท่านั้น ที่ประสบปัญหาในการสื่อสารภาษาอังกฤษ แต่ตัวครูผู้สอนจำนวนมากทั่วประเทศไทย ก็ไม่สามารถใช้งานภาษาอังกฤษได้จริง เกิดอาการประหม่า ในการพูดคุยกับชาวต่างชาติ และพบกับปัญหาเมื่อต้องฟังสำเนียงจากเจ้าของภาษา เพราะก็เรียนมาแต่ในตำราและไม่ได้มีโอกาสใช้งานในชีวิตจริงไม่ต่างกัน
เมื่อแม่พิมพ์ของชาติเองยังไม่พร้อม แล้วอนาคตของชาติจะพร้อมได้อย่างไร?
คำตอบคือ จะพร้อมได้ก็ต่อเมื่อครูผู้สอนเองมีความพร้อม และใช้ระบบการสอนที่ถูกต้อง โครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (RETC – Regional English Training Centre) จึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและ British Council เพื่อยกระดับการสอนให้กับคุณครูระดับประถม และมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือปฏิวัติการสอนภาษาอังกฤษจากเดิมที่เน้นหลักความถูกต้องในเรื่องแกรมม่าหรือคำศัพท์มาเป็นการสอนที่เน้นทักษะในการสื่อสารที่สามารถ ฟัง พูด อ่านและเขียนได้จริงแทน
โดยผลการสำรวจหลังระยะการดำเนินโครงการกว่า 2 ปี พบว่า 90% ของครูสอนภาษาอังกฤษที่เข้าร่วมโครงการ หรือคุณครูกว่า 15,300 คน มีความมั่นใจในการสอนภาษาอังกฤษมากขึ้น มีการพัฒนาในเรื่องของการวางแผนการสอน จัดการบทเรียน การให้โจทย์และตรวจเช็คความเข้าใจของนักเรียน และที่สำคัญที่สุดคือคุณครูทุกคนได้พัฒนาทักษะการสื่อสารและความรู้ภาษาอังกฤษของตนเองจากการได้ฝึกรบกับวิทยากรชาวต่างชาติตัวเป็นๆ
ทีนี้ก็พอจะโล่งอกไปได้บ้างว่าระบบการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยกำลังค่อยๆ พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น และได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งประเทศโลกที่สามอย่างเราจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วสักที
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.britishcouncil.or.th