ในประเด็นเกี่ยวกับการค้นหาความถนัดของตนเอง หาตัวเองไม่เจอมั่ง หรือกว่าจะหาเจอก็สายเสียแล้ว ซึ่งความถนัดที่ว่าก็อาจส่งผลต่อหน้าที่การงานหลังเรียนจบโดยตรง
และก็เป็นการศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษานี่เองที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอยู่บ่อยๆ ว่าหลักสูตรต่างๆ ที่ยังมีอยู่นั้น มันเอื้อให้เด็กไทยสามารถค้นพบตัวเองได้อย่างไร ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปอยู่ทุกวัน อาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ความถนัดหรือทักษะใหม่ๆ ก็เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากขึ้น แล้วสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในมหาวิทยาลัยนั้นเพียงพอแล้วหรือยัง
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีสุดแนวของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งในแง่ความเป็นศิลปินและนักธุรกิจคงได้เห็นกันจนชินตา แต่ในฐานะที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง เขาคือผู้ที่ปลุกปั้นให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ ที่พยายามดีไซน์หลักสูตรให้เอื้อกับทักษะที่จำเป็นต่ออนาคตในการทำงาน และประเด็นที่ว่ามหาวิทยาลัยจะช่วยให้เด็กไทยสามารถค้นพบตัวเองได้อย่างไร เขาคนนี้น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด
การศึกษาในยุคปัจจุบันดูเหมือนว่าไม่ได้สอดคล้องหรือตอบโจทย์กับตลาดแรงงานยุคดิจิทัล มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นด่านสุดท้าย ก่อนจะป้อนนักศึกษาเข้าสู่โลกของการทำงาน ควรจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง
จากอดีตถึงปัจจุบันวงการการศึกษาไทยค่อนข้างจะอยู่ในกรอบเดิมๆ เลยทำให้ไม่สามารถมีหลักสูตรที่ทันต่อโลกออกมาได้มากเพียงพอ คือ ทั่วไปยังย่ำอยู่กับที่เนื่องจากติดอยู่ในความคิดและค่านิยมเก่าๆ ที่ได้รับมาจากสังคมที่มีมาแต่อดีต อย่างค่านิยมที่คิดว่าต้องสอบเอ็นทรานซ์ ตอนหลังก็เปลี่ยนเป็นแอดมิชชันเพื่อที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ยิ่งในยุคดิจิทัลมันเปลี่ยนเร็วมาก พอมีกรอบต่างๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ช้า อย่างเช่นหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งอาจารย์บางท่านอาจจะมีหัวคิดทันสมัย แต่คณะอาจจะไม่รองรับ
วันนี้มหาวิทยาลัยต้องมีก็คือหลักสูตรที่เป็นแกนกลางในการซัพพอร์ตเด็ก และก็ยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบและเรียนรู้ทั้งจากอาจารย์และมืออาชีพในสถานที่ที่เหมาะแก่การเรียนรู้จริงๆ ผมเชื่อว่าเด็กอาจจะคิดอะไรได้ดีกว่าครูหรืออาจารย์ เพราะหลักไม่ได้เปลี่ยน แต่รายละเอียดมันเปลี่ยนไป อย่างเช่นวิชา marketing หลักของวิชาไม่ได้เปลี่ยนไป ซึ่งแก่นเดิมของ marketing ยังมีอยู่ คือทำธุรกิจต้องมีกำไร รายได้ต้องมากกว่าค่าใช้จ่าย และต้องมีความคิดสร้างสรรค์ให้ธุรกิจมีความแตกต่าง ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจได้ แต่ว่าตอนนี้มันเป็น marketing ในโลกดิจิทัล ซึ่งในโลกดิจิทัลเด็กอาจจะรู้มากกว่าอาจารย์ก็ได้
มองว่าตลาดแรงงานทุกวันนี้ต้องการคนทำงานแบบไหน
ผมเองก็อยู่ในภาคธุรกิจเข้าใจโลกธุรกิจ ว่าเขาต้องการอะไร บอกได้เลยว่าบริษัทของผมไม่เคยดูว่าคนนี้เรียนจบมหาวิทยาลัยอะไร ได้เกียรตินิยมหรือเปล่า ผมไม่เคยรู้เลยว่าพนักงานของผมเรียนจบอะไรมา เราดูเขาว่ามีประสบการณ์การทำงานแค่ไหนมากกว่า สำคัญคือคิดเป็นไหม เวลาผมไปกินอาหารข้างนอก ผมเห็นเจ้าของร้านที่ใส่ใจในการเสิร์ฟอาหารมาก มันสะท้อนถึงความสนใจในงานนั้นๆ ของเขา
อาชีพที่ต้องการใบปริญญาคืออาชีพทั่วไปที่ต้องการชุดความรู้แบบเดิม อย่างนักบัญชี แพทย์ แต่อาชีพใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเรียนมาทั้งหมด แต่แค่ทำได้และมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นว่าเด็กต้องเรียนจบด้วยซ้ำ เป็นที่พิสูจน์แล้วว่า นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในโลกนี้เรียนไม่จบปริญญา โลกในอนาคตแทบจะไม่ดูแล้วว่าคุณเรียนอะไรมา แต่สำคัญที่ว่าคุณทำอะไรเป็น คุณคิดเป็นไหมต่างหาก กระทั่งการเรียนระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ต้องถามตัวเองว่าเรามีไปทำไม แต่ในบางสาขาวิชาชีพที่มีประโยชน์ก็ควรมี
แสดงว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั่วไปในปัจจุบันไม่เอื้อต่ออาชีพที่เกิดขึ้นใหม่เลย
ทุกวันนี้มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เป็นโจทย์ยากของผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา ในขณะเดียวกันก็ยากมากที่มหาวิทยาลัยจะคิดหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมารองรับ เพราะติดข้อบังคับอะไรต่างๆ มากมาย โจทย์มันเปลี่ยนไปแล้ว ควรจะเอาอนาคตเป็นที่ตั้งมากกว่า ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาทั่วโลกช้ากว่าวงการธุรกิจ วงการศึกษาเป็นผู้ตามวงการธุรกิจ เรากำลังพูดถึงอาชีพหลักๆ ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์คนสมัยใหม่ ไม่ได้พูดถึงอาชีพอย่างแพทย์ วิศวกร ซึ่งอาชีพเหล่านี้ยังสามารถเรียนในระบบเดิมได้ แต่ทุกวันนี้แม้กระทั่งการเรียนกฎหมายยังมีสาขาใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์โลกมากกว่า เช่นเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญา อาชีพใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องเทคโนโลยีอย่าง Tech Startup เกมดีไซน์ หรืออาจจะเป็นอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกก็ได้ หรือจะเป็น business model ใหม่ๆ สมมติเป็นร้านอาหารที่ผสมผสานอย่างอื่นเข้าไป หรือจะเป็นบริษัทที่ไม่ใช่แค่หากำไร แต่มอบความสุขให้ลูกค้าได้ด้วย ซึ่งในอดีตวิชาเหล่านี้หรืออาชีพแบบนี้ยังไม่มี
เป็นเพราะกรอบตรงนี้หรือเปล่าที่ทำให้บัณฑิตใหม่ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่าต้องการทำอะไรในอนาคต
ก่อนจะตัดสินว่าเด็กคนนี้ไม่เอาไหน ไม่เรียนอย่างที่ควรจะเรียนหรือคะแนนไม่ดี จบปริญญามาทำงานไม่ได้ สังคมไม่ควรจะตัดสินด้วยค่านิยมเดิม ควรจะตั้งคำถามก่อนว่าค่านิยมที่เรามีอยู่มันโบราณไปหรือเปล่า เราควรจะเปลี่ยนหรือโยนทิ้งไหม
ถ้าพูดถึงกรอบที่ใหญ่กว่านั้น เราต้องมีอนาคตของเด็กเป็นตัวตั้ง อนาคตคือเด็กอยากทำงานอะไร แล้วค่อยมาดูว่าควรจะเรียนสาขาอะไร แล้วมหาวิทยาลัยอะไรที่ตอบโจทย์ที่เด็กต้องการจะไป เป็นโจทย์ของเด็ก ไม่ใช่โจทย์ของผู้ปกครอง อาจารย์ หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งจริงๆ เด็กบางส่วนรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แต่บางส่วนก็ยังไม่รู้ ยังเดินตามค่านิยมที่กำหนดโดยสังคมอยู่ เด็กจะไปมุ่งเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ อยากจะเป็นอะไร ถึงขนาดเรียนให้จบๆ ไปก่อน แล้วก็ค่อยมาค้นพบว่านี่มันไม่ใช่ตัวเรา ก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่
คิดว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากอะไร
ผมคิดว่าสังคมทำให้เด็กเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เด็กเป็นเอง ผมคิดว่าเราต้องไม่ตีกรอบให้เขา ต้องให้เขาหัดคิดเอง ควรที่จะดีใจที่เขาคิดไม่เหมือนเรา เราในที่นี้คือผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และครู ให้เขาหัดเป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเราตีกรอบให้เขามาตั้งแต่เด็ก ตอนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเขาจะหาตัวเองไม่เจอ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีอาชีพใหม่ๆ พวกนี้เกิดขึ้นตลอด ผมคิดว่าเราไม่ควรบังคับลูกให้เป็นแบบเรา เพราะอนาคตเป็นของเขา แต่ถ้าสมมติว่าลูกเหมือนพ่อแม่ที่ประหยัดและขยันก็ดีไป ถ้าเขารักและเอ็นจอยกับอาชีพที่เหมือนเราก็ดีไป ก็เป็นไปได้ที่ลูกจะชอบอะไรที่เหมือนเรา แต่บางทีอาจจะไม่ใช่ เพราะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เริ่มรู้แล้วว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเดินตามรอยเท้าของใคร และไม่ใช่เห็นแค่ว่าเป็นอาชีพที่รายได้ดี ทุกอาชีพในโลกนี้ กระทั่งการเป็นเชฟเป็นพ่อครัว ถ้าบอกว่าเป็นพ่อครัวในร้านก๋วยเตี๋ยวอาจจะได้เงินไม่มาก แต่ถ้าคุณมีใจรักมีความคิดสร้างสรรค์ คุณก็อาจจะเป็นเชฟระดับอินเตอร์จนกลายเป็นเจ้าของกิจการได้ แล้วเงินทองก็จะตามมาเอง ต้องมีใจรักถึงจะทำได้ดี
จริงๆ พ่อแม่แค่ห่วงลูก กลัวว่าลูกจะอดตาย กลัวลูกไม่มีอาชีพ โลกสมัยนี้ชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่ควรจะรู้ไว้ว่าสาขาอาชีพที่เราไม่รู้จัก มันอาจจะสุดยอดเลยก็ได้ จริงๆ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ถ้าทำได้ดีคุณก็สามารถประสบความสำเร็จได้หมด สังคมใหญ่กว่าผู้ปกครอง ผู้ปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยากจะให้เด็กถามตัวเองมากกว่าว่าอยากจะทำอาชีพอะไร แล้วจึงค่อยเลือกสิ่งที่จะเรียน
คิดว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากอะไร
ผมคิดว่าสังคมทำให้เด็กเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เด็กเป็นเอง ผมคิดว่าเราต้องไม่ตีกรอบให้เขา ต้องให้เขาหัดคิดเอง ควรที่จะดีใจที่เขาคิดไม่เหมือนเรา เราในที่นี้คือผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และครู ให้เขาหัดเป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเราตีกรอบให้เขามาตั้งแต่เด็ก ตอนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเขาจะหาตัวเองไม่เจอ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีอาชีพใหม่ๆ พวกนี้เกิดขึ้นตลอด ผมคิดว่าเราไม่ควรบังคับลูกให้เป็นแบบเรา เพราะอนาคตเป็นของเขา แต่ถ้าสมมติว่าลูกเหมือนพ่อแม่ที่ประหยัดและขยันก็ดีไป ถ้าเขารักและเอ็นจอยกับอาชีพที่เหมือนเราก็ดีไป ก็เป็นไปได้ที่ลูกจะชอบอะไรที่เหมือนเรา แต่บางทีอาจจะไม่ใช่ เพราะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เริ่มรู้แล้วว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเดินตามรอยเท้าของใคร และไม่ใช่เห็นแค่ว่าเป็นอาชีพที่รายได้ดี ทุกอาชีพในโลกนี้ กระทั่งการเป็นเชฟเป็นพ่อครัว ถ้าบอกว่าเป็นพ่อครัวในร้านก๋วยเตี๋ยวอาจจะได้เงินไม่มาก แต่ถ้าคุณมีใจรักมีความคิดสร้างสรรค์ คุณก็อาจจะเป็นเชฟระดับอินเตอร์จนกลายเป็นเจ้าของกิจการได้ แล้วเงินทองก็จะตามมาเอง ต้องมีใจรักถึงจะทำได้ดี
จริงๆ พ่อแม่แค่ห่วงลูก กลัวว่าลูกจะอดตาย กลัวลูกไม่มีอาชีพ โลกสมัยนี้ชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่ควรจะรู้ไว้ว่าสาขาอาชีพที่เราไม่รู้จัก มันอาจจะสุดยอดเลยก็ได้ จริงๆ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ถ้าทำได้ดีคุณก็สามารถประสบความสำเร็จได้หมด สังคมใหญ่กว่าผู้ปกครอง ผู้ปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยากจะให้เด็กถามตัวเองมากกว่าว่าอยากจะทำอาชีพอะไร แล้วจึงค่อยเลือกสิ่งที่จะเรียน
แสดงว่าการศึกษาในระบบสำคัญต่อวิชาชีพน้อยลงหรือเปล่า
ผมคิดว่ามันไม่มีสูตรตายตัว ปริญญาไม่สำคัญไปกว่าที่เด็กจะได้เรียนรู้อะไร การเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อเอาใบปริญญาอย่างเดียวจึงไม่ได้อะไร แต่ถ้าเรียนรู้เพื่อที่จะคิดให้เป็น ทำให้เป็น จึงสำคัญกว่า ผมไม่คิดว่าเด็กที่เรียนเก่งมากๆ จะประสบความสำเร็จในชีวิตเสมอไป สังคมจึงต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ การศึกษาถึงจะเปลี่ยนไปและแข็งแรงขึ้น น่าภูมิใจกว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งสามารถทำอาชีพอะไรที่ประสบความสำเร็จมากๆ ได้ และวิชาชีพนั้นไม่ได้มีสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยเลย
ถ้าระบบการศึกษาไทยไม่หลุดไปจากกรอบเดิม ประเทศไทยก็จะไม่เจริญ เราจะกลายเป็นสังคมที่ฉาบฉวย แค่อยากจะมีปริญญาเพื่อจะไปอวดคนอื่นๆ เราควรที่จะมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง รู้ว่าเราอยากทำอะไร สนใจและทำมันได้ดี ถึงจะรู้จักช้าไปก็ไม่เป็นไร เพราะระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อให้เราได้รู้จักตัวเองให้เร็วพอ อย่างน้อยการได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก ยังดีกว่าการทนฝืนเพื่อให้เรียนจบ และไม่ได้อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองในอนาคตเลย จึงอยากให้เอาอนาคตเป็นที่ตั้งก่อน ผมไม่ได้แนะนำให้เรียนไม่จบแล้วไปทำงานเลย แต่ถ้าคุณได้เรียนในสิ่งที่คุณชอบ คุณจะเรียนจบได้เอง เพราะคุณไม่ได้เรียนไปเพื่อใบปริญญาหรือตอบโจทย์สังคม แต่ถ้าคุณเรียนเพื่ออนาคตของตัวคุณเอง คุณจะสามารถเรียนจบได้ง่ายๆ เลย อย่ามองว่าใบปริญญาเป็นตัวการันตีอนาคต อยากให้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและสนใจ จะไม่มีประเด็นเรื่องเรียนไม่จบ การเรียนจะกลายเป็นเรื่องง่าย แค่คุณต้องไปอยู่ให้ถูกที่ สังคมไม่ควรครอบงำเด็กว่าใบปริญญาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อโลกเปลี่ยนไปขนาดนี้ การเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีกรอบจึงได้เปรียบมากๆ เพราะเขาไม่บังคับให้คุณอยู่ในกรอบตั้งแต่ต้น
นอกจากพ่อแม่ที่ต้องเข้าใจเด็กแล้ว มองว่ามหาวิทยาลัยจะช่วยเหลือเด็กได้อย่างไร
ผมว่าเป็นเรื่องยากสำหรับมหาวิทยาลัยที่จะซัพพอร์ตตรงนี้ได้หมด เพราะไม่มีทางจะรู้จักตัวเด็กได้ดีไปกว่าตัวของเขาเอง แต่อย่างน้อยเราไม่ตีกรอบให้เขา ทำให้เขามีโอกาสสูงที่จะเจอตัวเอง การให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางในการเรียนนั้นคือการซัพพอร์ตที่ดีที่สุด ให้เป็นหลักกว้างๆ ไม่มีถูกผิด สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรทำคือสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ และมีความคิดเป็นของตัวเอง มีการลงมือทำจริง แต่การเรียนรู้ด้วยตนเองก็สำคัญที่สุด การเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย 4 ปีไม่ว่าจะเรียนสาขาวิชาอะไร โลกมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ถ้าคุณขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง มี open mind มีสมองที่เปิด ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีกรอบ
การศึกษาไทยก็ควรจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยหัดคิด จริงๆ การเรียนไม่ได้จำกัดอยู่แค่มหาวิทยาลัย ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย ตอนนี้การเรียนอะไรไปก็จะมีหนังสืออยู่แค่ห้าเล่มสิบเล่ม ซึ่งไม่พออยู่แล้ว อีกหน่อยก็คงไม่มีหนังสือแล้ว คุณก็ต้องค้นคว้าทุกอย่างด้วยตัวเอง การเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยก็มีหลักอยู่ไม่กี่ข้อ และคำแนะนำของอาจารย์ที่เป็นหลัก สุดท้ายเด็กก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง หน้าที่การศึกษาก็มีอยู่เท่านี้
ในส่วนของมหาวิทยาลัยกรุงเทพเองมีการวางแผนสำหรับการศึกษาในอนาคตอย่างไร
ในฐานะที่เราเป็น Creative University เราจะต้องคิดนอกกรอบไปเรื่อยๆ ต้องคิดหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์อนาคต รองรับโลกที่เปลี่ยนไป ไม่อยู่ในกรอบ จะเป็นการช่วยเด็กให้ประสบความสำเร็จในชีวิต เราจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต สิ่งที่เราเปิดสอนน่าจะเป็นทางเลือกได้ อย่างน้อยถ้าคุณยังไม่ค้นพบตัวเองตอนที่เข้ามาปี 1 แต่ก็ยังสามารถเรียนข้ามคณะได้ เรามีพันธมิตรจากบริษัทต่าง ๆ ที่ตรงกับสิ่งที่เด็กเรียนหรือสนใจให้เลือก ผมคิดว่าเด็กที่ทุ่มเทและสนใจเขาจะค้นพบคำตอบ และจะมีทางไปได้เอง การซัพพอร์ตของมหาวิทยาลัยจะซัพพอร์ตด้วยตัวอย่าง มากกว่าที่จะเป็นการป้อนหรือเป็นการสอนแบบเดิมๆ ไม่ใช่การให้จำ ถ้าคุณคิดในกรอบเดิมก็เป็นแกะขาวที่เดินกันไปเป็นฝูง จะไม่มีใครที่กลายเป็นผู้สำเร็จ จะมีแต่ผู้ตาม ผมอยากเห็นคนที่เป็นแกะสีเทา จากแกะสีขาวที่ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีดำทีหลัง เป็นแกะสีเทาที่รู้ตัวว่าไม่จำเป็นต้องเดินตามแกะสีขาวทั้งฝูง มหาวิทยาลัยจึงมีหน้าที่ไกด์ให้เขาได้ค้นพบตัวเอง โดยที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับอะไร
บางคนถามว่าต้องเรียนจบก่อนค่อยเริ่มทำงานไหม แต่มหาวิทยาลัยกรุงเทพให้เด็กได้ลองทำก่อนเลย ไม่ต้องรอให้เรียนจบก่อน ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการทำงานและโอกาส ถ้าโอกาสเข้ามาก็ต้องรีบฉวย ต้องทำตอนนี้ในตอนที่ยังมีไฟ ไม่สำคัญว่าจะทำตอนที่เรียนอยู่หรือเรียนจบแล้วค่อยทำ ไม่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องรอใบปริญญา ถ้าใบปริญญาคือความสำเร็จ แต่ความสำเร็จมันลอยอยู่ตรงหน้าแล้วไม่ฉวยไว้ก็น่าเสียดาย เพราะการเรียนในระบบสามารถเรียนเมื่อไรก็ได้ ปริญญาจึงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ แต่ก็เป็นพื้นฐานที่ดี การศึกษาจึงเป็นแค่สะพานเชื่อมไปสู่อนาคตที่เราต้องการ ไม่ได้สำคัญที่สุด แต่เป็นหลักที่ทำให้เรายึดและก้าวไปสู่อนาคตได้
ในอนาคตมหาวิทยาลัยอาจจะไม่มีคณะหรือหลักสูตรด้วยซ้ำ แต่จะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณได้เป็นในสิ่งที่คุณอยากเป็น ซึ่งถ้าถึงตรงนั้น การศึกษาไทยจะก้าวไปอีกขั้นแล้ว อย่างถ้าคุณอยากเรียนอะไรแล้วเราสามารถจัดให้ได้ก็คงจะดีมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากให้เป็น ในอนาคตอาจจะไม่มีมหาวิทยาลัยในโลกนี้ แต่มหาวิทยาลัยก็ยังเป็นสถานที่ให้ทุกคนมาเรียนรู้ได้
อยากจะบอกอะไรกับนักศึกษายุคใหม่ในวันนี้
ผมก็คงบอกว่า การเรียนมหาวิทยาลัยเป็นแค่สิ่งที่มีไว้เป็นสะพานที่คุณเดินข้าม พอคุณจบออกมาแล้ว ก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะประสบความสำเร็จ ความสำเร็จจริงๆ อยู่ข้างใน ไม่ได้อยู่ที่หลักสูตรหรือปริญญา เรียนที่ไหนก็ได้ เรียนอะไรก็ได้ แต่แค่เรียนในสิ่งที่คุณรัก ความสำเร็จจะมาเอง ความสำเร็จเบื้องต้นอยู่ที่ใจ ก่อนอื่นคุณต้องมีความสุขก่อน ความสำเร็จถึงจะตามมา ถ้าคุณทำแล้วมีความสุข นั่นคือสำเร็จในชีวิตแล้ว เลือกทำในสิ่งที่รัก เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ ถ้าไม่มีในสิ่งที่ตรงกับความต้องการ ก็เลือกในสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดและไปต่อได้ เราเรียนเพื่อให้เรารู้
ความสำเร็จในชีวิตอย่าวัดจากสังคมภายนอก ให้วัดจากตัวคุณเองที่สนุกกับมัน เพราะฉะนั้นการเรียนในสิ่งที่เราอยากเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าไปเรียนในสิ่งที่คนอื่นอยากให้เรียนหรือกลัวตกงาน ความสำเร็จในหน้าที่การงาน อย่าวัดเป็นเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว การที่ได้ทำอาชีพที่เรารัก นั่นถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตแล้ว ความสุขในสิ่งที่ทำคือสิ่งที่ดีที่สุด บางอย่างเงินก็ให้เราไม่ได้ ถ้าได้ทำในสิ่งที่รัก เงินก็จะงอกเงยออกมาเอง เป็นผลพลอยได้มากกว่า
ความสำเร็จในชีวิตคือได้ทำในสิ่งที่ทำให้ชีวิตแต่ละวันมีความสุข แต่ต้องเป็นความสุขที่ไม่เห็นแก่ตัวด้วย