ภาวะโลกร้อนกลายเป็นเรื่องของทุกคน…
เมื่อมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกชีวิตบนโลก ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกรวน น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 80 ปีที่เกาหลีใต้ ไฟป่าที่ออสเตรเลียเกิดขึ้นทุกปี ประเทศไทยแล้งหนัก หิมะดันไปตกกลางทะเลทรายตะวันออกกลาง และกลับกัน ญี่ปุ่นร้อนจนกุ้งในแม่น้ำสุก! มันส่งสัญญาณบอกมนุษย์กลายๆ ว่า หากไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง มนุษย์คงจะไร้บ้านกันทั้งโลก ในอีกไม่เกินหนึ่งศตวรรษนี้
ดังนั้นเกือบทุกประเทศทั่วโลกจึงได้มานั่งร่วมโต๊ะประชุมกัน และพูดคุยกันว่า เราจะปักธงเป้าหมายหนึ่ง และมุ่งไปให้ได้ ภายในไม่กี่สิบปีนี้ นั่นคือ NET ZERO หรือการสร้างสังคมปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
การที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือ 0 เลย นอกจากกลไกทางกฎหมายแล้ว การเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ก็กลายเป็นส่วนสำคัญ เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่จะช่วยเร่งกระบวนการรักษ์โลกให้ไวขึ้นด้วย
โลกร้อน เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องแก้ปัญหา ไม่ว่าจะรัฐ เอกชน หรือคนทั่วไป ว่าแต่จะแก้ยังไง เทคโนโลยีมีบทบาทแค่ไหน เราชวนไปพูดคุยกับตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ จากแต่ละภาคส่วน ‘ยุทธนา เจียมตระการ’ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี, ‘อาทิตย์ ลิ้มไพศาล’ Senior Vice President เครือ BDMS ตัวแทนจากภาคธุรกิจ, ‘ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์’ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และ ‘โทนี่ – คณาเนศ เวชวิธี’ เยาวชนคนรุ่นใหม่ จากมงฟอร์ตวิทยาลัย
ซึ่งพวกเขาได้เข้าร่วมพูดคุยและหาแนวทางความร่วมมือด้าน ESG เป็น ‘ครั้งแรก’ ในงาน ‘ESG Symposium 2022 : Achieving ESG and Growing Sustainability’ งานที่รวมภาคเอกชน ภาครัฐ ประชาสังคม คนรุ่นใหม่ ทั้งในไทยและระดับโลก มาพูดคุย เสวนากัน เมื่อ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อสรุปแผนผลักดันนวัตกรรม กุญแจสำคัญที่จะพาโลกในวันนี้ มุ่งสู่สังคมที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เมื่อ ‘NET ZERO’ เป็นประเด็นสำคัญกับทุกชีวิตบนโลก
อย่างที่เกริ่นไปว่า ในหลายปีที่ผ่านมา เราเจอภัยพิบัติใหญ่ที่เกิดขึ้นแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน และก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่บอกได้ว่าคำว่า “โลกจะแตกแล้ว” ไม่ไกลเกินจินตนาการเลย การลดการปล่อยคาร์บอนอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ด้วย – แล้ว NET ZERO สำคัญอย่างไรกับมวลมนุษยชาติ
แน่ล่ะ คำตอบมันง่ายนิดเดียว ว่าถ้าเรายังอยากมีบ้านอยู่ เราต้องให้กลับคืนธรรมชาติบ้างแล้ว ไม่เช่นนั้นธรรมชาติก็จะเอาคืน
“หลายปีที่ผ่านมา เรามีภาวะซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้านสภาวะอากาศ ยกตัวอย่างเช่น ไฟป่า ฝนตกอย่างหนัก น้ำท่วม อากาศร้อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดูเหมือนไกลตัว มันไม่ไกลตัวอีกต่อไป แต่อาจเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้วันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ก็ได้” ยุทธนา เกริ่นให้ฟัง ซึ่งเขาเสริมว่า อย่างกรุงเทพมหานคร ก็มีโอกาสจมลงทะเลด้วยซ้ำ
แน่ละว่าการรักษ์โลก เป็นงานกลุ่มของคนทั้งโลกที่เราต้องร่วมมือกันทำ ประเทศไทยเองในฐานะประเทศฐานผลิตใหญ่ของโลก ก็ต้องเข้าร่วมแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
“ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลก และภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นเรื่องของโลก เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ” นี่คือความคิดเห็นจากกิติพงค์
แล้วจะสร้างสังคมไทยให้ ‘พร้อม’ อย่างไร สู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ
ถ้าประเมินภาพโดยรวมแล้ว ประเทศไทยก็คงไม่ใช่ประเทศผู้นำด้านการรักษ์โลก หรือประเทศที่ผลักดันวิถีชีวิตกรีนๆ แบบประเทศโซนยุโรป สแกนดิเนเวีย เท่าไหร่นัก ซึ่งอาจจะไม่แปลก ประเด็นนี้ ยุทธนาก็บอกว่า เป็นเพราะประเทศไทยค่อนข้าง “อุดมสมบูรณ์’ เราไม่ค่อยคุ้นชินกับสภาพอากาศที่รุนแรง หรือสภาพการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติสักเท่าไร ซึ่งในแง่กลับกัน ทำให้คนไทยอาจไม่กระตือรือร้นในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดการทิ้งขยะแบบไม่เป็นระเบียบ หรือการไม่แยกขยะ ทำให้ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ หรือนำมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
‘การเตรียมพร้อม’ มีหลายเรื่องที่ต้องทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเชิงนโยบาย รณรงค์การแยกขยะ และการปลูกฝังมายด์เซ็ตผู้บริโภค เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่อีกเรื่องสำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ “การให้ความสำคัญในเรื่องการทำนวัตกรรม”
อย่างที่บอกไป เราปล่อยปละละเลยโลกมานาน ความพร้อมสู่ NET ZERO ในวันนี้ หากไม่มีส่วนผสมของเทคโนโลยี คงเป็นไปได้ยาก
“มันก็เป็นเหมือนกับ Shortcut เป็นทางลัด เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้ถึง NET ZERO เร็วมากยิ่งขึ้น” โทนี่ เยาวชนที่สนใจประเด็นความยั่งยืน บอกเล่าความคิดเห็นของเขา
ซึ่งผู้ใหญ่อีก 3 คนก็เห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีคือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ยั่งยืน เพราะมันทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้มาก่อน เช่น CCUS (Carbon Capture, Utilization and Storage) เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ Hydrogen การสกัดพลังงานไฮโดรเจนสะอาดมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน
แต่ความพร้อมด้านนวัตกรรมของไทยเอง ก็ต้องเตรียมหลายด้าน แบ่งออกเป็น 4 หมวด สำคัญคือ
1) การทำนวัตกรรม
2) เงินทุน
3) ทักษะประสบการณ์ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และ
4) มายด์เซ็ตของผู้บริโภค
เพราะการที่มันจะแพร่หลายได้ ผู้บริโภคจะต้องเข้าใจ และหันมาใช้สิ่งเหล่านี้
“นวัตกรรมจะว่ายากก็ยาก แต่ว่าจะว่าง่ายก็เป็นไปได้นะครับ” กิติพงค์ เริ่มต้นเล่าจากมุมมองของเขา “มันจะยากเฉพาะช่วงแรก ทำ Prototype ต้นแบบอันแรก ถ้าเราทำตัวนั้นขึ้นมาได้ ที่เหลือมันเหมือนกับ Xerox มันก็จะแพร่กระจายออกไปได้เยอะ ตัวนี้รัฐบาลก็ได้ส่งเสริมทั้งการให้เงินทุนวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ร่วมมือกับต่างประเทศ โดย สอวช. เอง ก็มีการทำนโยบายในเรื่องนี้ เสนอกับรัฐบาลในการพัฒนา เช่น เราพัฒนาเรื่องของกำลังคน หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการทำ Verification ของมาตรฐานคาร์บอน”
ขณะที่ อาทิตย์มองว่า นวัตกรรมคือส่วนที่สำคัญ ทว่าต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสมด้วย “เราไม่ต้องปฏิวัตินวัตกรรมอะไรมากมายก่ายกอง เราเพียงแต่ต้อง Action ลงมือทำ นวัตกรรมปัจจุบันมีเยอะแยะที่จะเอามาใช้ เรามีความมุ่งมั่นแค่ไหนที่จะเอามาใช้ แต่ว่าก็ต้องฉลาดใช้ด้วย”
ร่วมกันทำให้ ‘นวัตกรรม’ เป็นกุญแจสำคัญเซฟโลก
จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละภาคส่วน ก็ยืนยันแล้วว่านวัตกรรมคือส่วนสำคัญในการช่วยและปกป้องโลกใบนี้ ทีนี้มาเจาะลึกกันว่า จะทำอย่างไรให้นวัตกรรม เป็นเรื่องที่ผู้คนสนใจ จนมันมีพลังมากพอที่จะเข้ามาอยู่ในชีวิตของผู้คน มากกว่าจะเป็นวิจัยขึ้นหิ้งที่ไม่ได้ใช้จริง
“มีประโยคหนึ่งที่ว่า Innovation เท่ากับ Invention + Commercialization คือจริงๆ แล้วทุกวันนี้มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดเวลา เพื่อหาคำตอบให้กับโจทย์ที่มีความท้าทายในโลกนี้ แต่ประเด็นก็คือว่านวัตกรรมเหล่านี้ ในตอนที่เริ่มคิดใหม่ๆ ก็จะมีต้นทุนที่สูง เป็นจุดที่เราต้องการความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกคนในโลกนี้ ทุกคนในประเทศไทย เพื่อที่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องเกี่ยวกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ยุทธนา เริ่มต้นให้คำตอบในประเด็นนี้ก่อน ซึ่งโทนี่ก็เสริมว่า ในมุมของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตจนคุ้นชินกับเทคโนโลยีและโลกเมตาเวิร์ส ในอนาคตผู้คนต้องใช้ชีวิตกับนวัตกรรมอย่างแน่นอน เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเริ่มต้นใช้ตั้งแต่วันนี้จึงสำคัญ
“วันนี้แม้มันจะแพง ถ้าเราไม่ทำในวันนี้ มันก็จะไม่มีนวัตกรรมนี้ให้ใช้ในอนาคต” โทนี่ บอก
ขณะที่กิติพงค์ในฝั่งภาครัฐ ก็บอกว่า พวกเขามีความตั้งใจที่จะลดความเสี่ยงภาคเอกชน เพราะเข้าใจว่าการลงทุนสูง และใช้เวลานานกว่าจะได้ผลตอบแทน ผ่านการให้เงินทุนและการออกนโยบายให้เกิดความต้องการใช้เทคโนโลยี
“ในฝั่งของภาครัฐ สามารถที่จะช่วยตรงนี้ได้ โดยการช่วยสนับสนุนแล้วก็ลดความเสี่ยงของภาคเอกชน อย่างเช่น สนับสนุนทางด้านการเงิน สนับสนุนเรื่องของบุคลากร หรือแม้แต่การไปปลดล็อกเรื่องของกฎ ระเบียบต่างๆ ให้มันง่ายขึ้น อันนี้ก็ทำให้เราสามารถที่จะกระตุ้นให้เกิด Demand ได้มากขึ้น”
ช่วยโลกใบนี้ด้วย NET ZERO งานกลุ่มที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว การรักษ์โลกก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี หรือเป็นหน้าที่ของภาครัฐ เอกชน เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของผู้บริโภคทุกคน ที่จะต้องปรับตัว ปรับวิถีชีวิต และเริ่มต้นได้จากตัวเองเสมอ
ยุทธนาและอาทิตย์เสนอว่า เราอาจจะต้องเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการบริโภค อาจจะลองหยิบฉลากมาดูหน่อยว่าสินค้านั้นๆ ใช้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า
“เรื่องของโลกร้อน แล้วก็ NET ZERO เป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปอย่างน้อยก็เลือกบริโภคสินค้า ที่ลดภาวะโลกร้อน”
ขณะที่เสียงคนรุ่นใหม่ โทนี่บอกว่า นอกจากการจับจ่ายแล้ว คนรุ่นใหม่ยังลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงจากความสามารถตัวเองได้ด้วย และคิดว่าทุกคนมีความสามารถในการทำนวัตกรรม ไม่ต้องล้ำ อย่างน้อยก็ริเริ่มอะไรใหม่ๆ
“เราเป็นคนรุ่นใหม่ เรายังต้องอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกนาน อย่างน้อยก็ 50-60 ปีครับ คงจะดีกว่าที่เราลุกขึ้นมาทำนวัตกรรม หรือแก้ปัญหาช่วยลดโลกร้อน”
หรืออาจจะง่ายกว่านั้น อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญนอกจากการปรับวิถีชีวิต หรือการริเริ่มการทดลองใหม่ๆ ก็คือการหันมาสนับสนุนนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี ที่ถูกผลิตมาเพื่อช่วยโลก เพราะหากมีแต่คนคิด แต่ไม่มีคนใช้ สุดท้ายก็ราคาแพงเท่าเดิม และนวัตกรรมก็จะตายในที่สุด
เพราะแน่นอนว่า ผู้บริโภค ซึ่งคือพวกเรา– มนุษย์ทุกคนบนโลก คือจุดเริ่มต้นของปัญหา จึงต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาด้วย เพื่อพาประเทศไทย และโลก ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ NET ZERO ตามที่ทั่วโลกได้สัญญาร่วมกันเอาไว้