ในฐานะตัวแทนเด็กที่เคยโดดเรียนอยู่บ่อยๆ ขอสรุปเหตุผลหลักที่ทำให้อนาคตของชาติสบายใจที่จะอยู่นอกห้องเรียนมากกว่า
วิชาน่าเบื่อ ครูสอนชวนง่วง ครูปกครองเฮี้ยวจัด คาบพละทีไรโดนสั่งวิ่งรอบสนามสองรอบก่อนเรียนทุกที ส่วนคาบชุมนุมก็แค่เข้ามาเช็กชื่อ นักเรียนเลยรักอยู่สองเวลาคือเวลาพักกลางวันกับเวลาเลิกเรียน เป็นต้น
อยากให้กดปุ่ม Delete เพื่อลบข้อความข้างบนออกไป เพราะเหตุผลที่ว่ามาเหล่านี้ไม่มีอยู่ในสารบบของ King’s College International School Bangkok (โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ หรือ King’s Bangkok) ที่ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก-พระราม 3 และกำลังจะเปิดสอนในเดือนกันยายน 2563 ที่จะถึงนี้
จากความเก่าแก่เกือบ 200 ปี ที่เต็มไปด้วยความเข้มข้นจนเป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีที่สุดในด้าน Academic Excellence ของสหราชอาณาจักร และเป็นโรงเรียนที่ได้รับการยกย่องจาก The Sunday Times ให้เป็น London Independent Secondary School of the Year 2017/18 อย่าง King’s College School Wimbledon ซึ่งจะถูกส่งต่อมาแบบถอดมาจากพิมพ์เดียวกันกับ King’s College School สาขาที่ 3 ของโลกในกรุงเทพมหานคร King’s จึงไม่ใช่แค่โรงเรียนที่ยึดเอาแต่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่กลับมุ่งเน้นว่า การศึกษาคือเรื่องที่ต้องใส่ใจอย่างรอบด้าน ทั้งนักเรียน ครู เพื่อน หลักสูตร กิจกรรมสันทนาการ รวมถึงการมีพี่เลี้ยงของชีวิตดีๆ สักคน
และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมนักเรียนที่ King’s ถึงอยากมาโรงเรียนทุกวัน และการโดดเรียนถือเป็นการพลาดโอกาสเรียนรู้อย่างสนุกสนานของชีวิต
หัวใจของการศึกษาคือมนุษย์ทุกคน และทรัพยากรทุกอย่างในโรงเรียน
เรามักจะได้ยินถึงประโยคที่ว่า การศึกษาต้องเน้นที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่สำหรับ King’s นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกคนในโรงเรียนคือหัวใจสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ประสบความสำเร็จ นั่นจึงทำให้ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกครู บุคลากร ไปจนกระทั่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นไปอย่างพิถีพิถัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และความเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดในชีวิตการเรียน
Thomas Banyard ครูใหญ่ของ King’s Bangkok อธิบายเพิ่มให้เห็นภาพว่า “สิ่งที่ King’s โฟกัสจริงๆ ไม่ใช่แค่ผลการเรียนที่เป็นเลิศ แต่มันคือการทำให้นักเรียนเป็นคนที่คมและรอบด้าน ดังนั้น King’s จึงให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการสรรหาบุคลากรด้านต่างๆ โดยคุณสมบัติหลักที่ต้องการคือแพสชั่นในการเป็นเพื่อนที่จะพานักเรียนทุกคนไปจนประสบความสำเร็จ บุคลากรทุกคนจึงต้องพร้อมจะเป็นพี่เลี้ยงที่นักเรียนสนิทใจจะพูดคุยได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน หรือเรื่องชีวิตส่วนตัว”
King’s จึงมีแนวคิดที่เรียกว่า ‘Pastoral care’ ซึ่งเป็น ‘คุณค่า’ ที่จะถูกปลูกฝังอยู่ในทุกเรื่องและทุกมิติของความเป็น King’s ไม่ว่าจะเป็นการเรียน กีฬา กิจกรรมสันทนาการ หรือแม้แต่กิจกรรมยามพักกลางวัน
“ถ้าจะแปล Pastoral care ให้ตรงตัวที่สุดก็คือ การดูแลเด็กให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งถามว่าการดูแลเด็กให้มีความเป็นอยู่ที่ดีทำยังไง ปกติแล้วพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของเด็กก็คือครอบครัว แต่ที่ King’s จะมีการมอบหมายให้ครูคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ใช่ครูประจำชั้น แต่ต้องเป็นครูที่รู้เรื่องราวของเด็กคนนี้ในระหว่างที่อยู่โรงเรียน เพราะว่าครูคนนี้จะเป็นตัวแทนของโรงเรียนในการคุยกับผู้ปกครองและคนอื่นๆ ในกรณีต่างๆ”
นอกจากนั้นครูใหญ่ธอมัสยังเสริมว่า เขามองการเรียนรู้ของเด็กเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ที่ต้องประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ครูคนหนึ่งที่จะมีหน้าที่ดูแลนักเรียน แต่ยังรวมไปถึงติวเตอร์ โค้ชกีฬา โค้ชกิจกรรม และเพื่อนๆ ในระบบ ‘บ้าน (House)’ ที่เด็กแต่ละคนจะได้คัดสรรไปอยู่ในบ้านต่างๆ กัน (อารมณ์เหมือนระบบบ้านทั้ง 4 หลัง ในวรรณกรรมคุ้นหูอย่าง Harry Potter) ซึ่งจะได้ทำให้นักเรียนได้เจอผู้คนที่หลากหลาย และมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างบ้านอีกด้วย
คุณธอมัสย้ำว่าผลลัพธ์ของความสำเร็จของ Pastoral care ก็คือการที่เด็กๆ มีสุขภาวะที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขต่อการเรียนรู้จนนำไปสู่ผลการเรียนที่ดีในที่สุด และการใช้ชีวิตที่ King’s และด้วยความ ‘ใส่ใจ’ เหล่านี้เอง ที่ค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ว่า เด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ควรจะเสริมหรือพัฒนาตรงไหน และจะทำอย่างไรให้เขาประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านแบบปราศจากความกดดันทางจิตใจและอารมณ์
Co-curricular หลักสูตรที่ให้เด็กใช้เวลาพักกลางวัน เพื่อค้นหาศักยภาพและแพสชั่นในอนาคต
“เราไม่ใช่ Extra-curricular Program หรือ หลักสูตรพิเศษ แต่ที่นี่เราเรียกว่า Co-curricular Program หรือหลักสูตรร่วมผสม ที่เรียกว่าหลักสูตรร่วมผสมเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ ของ King’s ที่เราให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน”
คุณธอมัสอธิบายความสำคัญของ Co-curricular Program ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบหลักของหลักสูตรจากที่ King’s โดย ‘หลักสูตรร่วมผสม’ ที่ว่านี้หมายถึงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แต่ออกแบบให้เป็นกิจกรรมที่อยู่นอกห้องเรียน โดยนักเรียนอาจใช้เวลาว่างที่มี เช่น ตอนพักกลางวัน ก่อนเข้าเรียนหรือหลังเลิกเรียน เพื่อเข้าร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจ โดยกิจกรรมที่ว่านี้ มีความหลากหลายตั้งแต่สายศิลป์ไปจนถึงสายวิทย์และกีฬาต่างๆ เช่น การละคร วาดภาพ ทดลองวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งร่วมกันออกแบบบอลลูนที่จะส่งไปลอยอยู่บนอากาศ!
“หลักสูตรร่วมผสมนี้จะมีหลักๆ อยู่สามเรื่องที่เราออกแบบมาให้พัฒนาเด็กๆ คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่องวิชาการ และสุดท้ายคือเรื่องกีฬา ในส่วนโปรแกรมวิชาการ ครูแต่ละคนก็จะมีวิธีการสอนที่แตกต่างกัน และมีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน แต่เรามีแพสชั่นที่อยากจะแชร์เรื่องต่างๆ ที่เราถนัดให้กับนักเรียน ยกตัวอย่างเช่น ในเย็นวันจันทร์ นักเรียนจะเลือกได้ว่าอยากมาฟังเลคเชอร์ของครูคนไหน ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พวกเขาต้องเรียนเลยก็ได้ แต่มันจะเป็นการเปิดมุมมองให้พวกเขาอย่างมาก … หรืออย่างกิจกรรมงานกลุ่ม ที่จะมีนักเรียนที่โตกว่ามาร่วมกิจกรรมไปพร้อมน้องๆ ซึ่งสำหรับเด็กโต พวกเขาสามารถใช้เวลานี้ฝึกการถ่ายทอด การพูด การคิดเป็นลำดับขั้นตอน แล้วเด็กเล็กเมื่อได้ทำงานกับพี่โตๆ ก็จะลดช่องว่างของการเรียนรู้ลง ทำให้เด็กที่ King’s ทุกคนเข้ากันได้ดี” คุณธอมัสกล่าว
แต่หลักสูตรร่วมผสมเหล่านี้ไม่ได้มีแค่โปรแกรมที่ทาง King’s กำหนดไว้ให้เท่านั้น เพราะโรงเรียนเองก็เปิดโอกาสให้เด็กได้เสนอกิจกรรมที่พวกเขาอยากทำ คุณธอมัสเล่าว่า “โรงเรียนจะเปิดโอกาสให้เด็กลองค้นหาแพสชั่นและความสามารถต่างๆ ซึ่งวิธีการนี้ นอกจากจะทำให้เด็กสนุกกับการเรียน เรียนรู้ไปอย่างไม่รู้ตัว ยังทำให้เด็กค่อยๆ ค้นพบตัวเองได้ตั้งแต่วัยนี้เลยว่าพวกเขาอยากทำอะไรในอนาคต ครูเองก็จะได้เจอเด็กมากกว่าชั้นที่ตัวเองสอน อย่างเช่นผมเป็นครูฟิสิกส์มาก่อน ก็ได้ไปเป็นโค้ชฟุตบอลและว่ายน้ำด้วย”
และนอกจาก King’s education ที่ประกอบด้วย 3 เรื่องหลักคือ Academic Excellence, Pastoral Care และ Co-curricular Programme แล้ว การให้คุณค่าเรื่องความนอบน้อม เคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งความเสียสละ (Manners, Respect, Selflessness) คืออีกหนึ่งของหัวใจหลักของ King’sธอมัสยกตัวอย่างเช่น “ถ้านักเรียนเห็นว่าบุคลากรคนไหนกำลังจะเดินเข้าอาคารเรียน พวกเขาจะเปิดประตูอ้ารอให้คุณเดินไปก่อนด้วยความต้อนรับ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติแบบนี้”
คุณธอมัสยังเสริมว่า “ภาพที่เราคุ้นเคยก็คือ ครูอาจจะสอนได้ดีมากๆ แต่ระหว่างครูกับเด็กยังมีความต่างทางลำดับชั้น คือครูสอนดีนะ แต่ว่านักเรียนไม่กล้าเข้าหา แต่ที่ King’s Wimbledon และแน่นอนว่าที่กรุงเทพฯ ด้วยเนี่ย ระบบของเราคือครูเป็นเหมือนเมนเทอร์ เด็กไม่ต้องกลัวที่จะเข้าหาเพื่อขอการสนับสนุนหรือความช่วยเหลือ ครูทุกคนจะรู้ตั้งแต่ก่อนเข้ามาสอนแล้วว่า ครูที่ King’s ไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือ แต่มีหน้าที่รับผิดชอบในความเป็นอยู่ของเด็ก รวมถึงครอบครัวหรือชุมชนของ King’s ทั้งหมดด้วย”
“ที่มักจะเซอร์ไพรส์ทุกคนก็คือ ครูของ King’s เนี่ย ทำไมดูว่างตลอดเวลาเลย เมื่อเด็กต้องการ”
คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำอย่างเดียว
ในโลกที่ใครๆ บอกว่าเราควรเรียนให้เก่งไปเลยอย่างเดียว และทำให้มันชำนาญ ครูใหญ่แห่ง King’s Bangkok ขอค้านว่า มันคือการปิดโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากจุดนี้เองที่ทำให้คุณธอมัสลองเปลี่ยนสายจากนักฟิสิกส์ ที่จบเกียรตินิยมอันดับ 1 จาก University of Oxford มาเรียนต่อประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านการศึกษาโดยเฉพาะ จนกระทั่งมาเป็นครูใหญ่ประจำ King’s Bangkok ด้วยความเชื่อมั่นว่าบทเรียนที่เขาถ่ายทอดและหลักสูตรที่เขาดูแลจะสามารถผลิตนักเรียนที่จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงกับโลกได้อีกจำนวนมาก
คุณธอมัสเล่าว่า “นอกจากฟิสิกส์ ผมชอบเล่นกีฬา ชอบดนตรี ชอบฟังเพื่อนเล่นดนตรี ผมเลยรู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นได้แค่อย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วมีความชอบหลายอย่างเหลือเกิน ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากกับการเรียนรู้ เพราะเรามักถูกสอนให้เป็นได้อย่างเดียว โฟกัสแค่อย่างเดียว ผมคิดว่าถ้าวันนั้นผมคิดว่าตัวเองเก่งฟิสิกส์แค่อย่างเดียว ป่านนี้ก็คงเป็นนักฟิสิกส์อยู่ที่ไหนสักแห่ง”
ส่วนแรงบันดาลใจการเป็นครูนั้น แท้จริงแล้วคุณธอมัสได้มาจากนิสัยการแบ่งปันของครอบครัวของเขา “ส่วนสำคัญที่ทำให้ผมอยากเป็นครูคือครอบครัว เพราะครอบครัวปลูกฝังแต่เด็กว่าเราต้องตอบแทนสังคมหรือโลกที่เราอาศัยอยู่ สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ผมอยากที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และผมชอบทำงานกับหนุ่มสาวหรือเด็กๆ ที่มีพลังอยู่เต็มเปี่ยมไปหมด สมมติอย่างนี้ โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘คู่ขนาน’ เสมอ สำหรับฟิสิกส์ สิ่งที่ผมพบว่าวิชานี้มันน่าสนใจมากๆ ก็เพราะว่า เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจริงๆ แล้วจักรวาลนี้มันถูกสร้างขึ้นมายังไง ในขณะเดียวกัน สำหรับการศึกษา เราไม่รู้ว่าอะไรคือวิธีการที่ดีที่สุดในการเรียนการสอน แต่ที่ King’s มันคือการมารวมตัวกันเพื่อพัฒนาวิธีการจัดการศึกษาไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความแตกต่างอย่างมีระบบ และไม่ทำในสิ่งที่เหมือนใคร”
King’s College School จากวิมเบิลดันสู่กรุงเทพมหานคร
จากจุดเริ่มต้นที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ส่งลูกชายไปเรียนที่อังกฤษแล้วเห็นพัฒนาการที่ก้าวหน้า ทั้งเรื่องวิชาการ กีฬา และความสามารถอื่นๆ รวมถึงความมั่นใจในตัวเองที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจและความตั้งใจว่า เขาจะต้องทำโรงเรียนในไทยให้ดีและมีคุณภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนในสหราชอาณาจักรให้ได้
ดร.สาคร เล่าให้ฟังว่าครั้งแรกที่ไปเยี่ยมชมโรงเรียนที่ King’s Wimbledon สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากนอกจากผลการเรียนของนักเรียนที่สามารถเข้าเรียนต่อ Oxford หรือ Cambridge ได้มากถึงประมาณ 25% ก็คือ Value ที่สะท้อนออกมาจากนักเรียนที่มาต้อนรับและพาชมโรงเรียน คือความมีมารยาท อ่อนน้อม โดยตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือที่ King’s Wimbledon ไม่มีกระดิ่งหรือระฆังบอกหมดเวลาระหว่างคาบเรียน ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นการยืนยันถึงการที่ทุกๆ คนในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน หรือครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องมีวินัยและมีความเคารพ หรือ Respect ซึ่งกันและกันมาก
แต่ไม่ง่ายที่โรงเรียนคุณภาพสูงที่ใส่ใจทั้งเรื่องความเป็นเลิศด้านวิชาการ และคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียน จะร่วมเซ็นสัญญามาเปิดสาขาที่ไหนง่ายๆ ดร.สาคร ผู้บุกเบิกและหมายมั่นปั้นมือจะนำหลักสูตรการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเข้ามายังประเทศไทยบอกว่า “เราไม่ได้เลือกเขา แต่เขาเลือกเรามากกว่า”
นั่นก็เพราะว่า กระบวนการที่ King’s Wimbledon จะเลือกพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมลงทุนทางการศึกษาสักเจ้า Board of Governor ของ King’s นำโดย Lord Deighton นั้นคัดเลือกไปถึงประวัติของผู้ร่วมก่อการครูทั้งหลาย ด้วยการตรวจสอบประวัติและงานที่ทำ นั่นจึงทำให้วันที่คณะของจากวิมเบิลดันมาเยี่ยมเมืองไทย พวกเขาไม่ต้องการที่จะไปพบรัฐมนตรีคนไหน นอกจากอยากไปเยี่ยมชม สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ ดร.สาคร และคณะเป็นอาสาสมัครดูแลอยู่
ดร.สาคร เล่าว่า “เขาดูประวัติเรา เราดู Shared Value ของเราว่าตรงกับเขาไหม ว่าเราอยากสร้างโรงเรียนที่ดีที่สุดจริงไหม เขาถามผมตอนประชุมบอร์ดว่า’ถามจริงๆ เถอะ ที่ต้องการร่วมมือกับ King’s Wimbledon เพื่อไปเปิดที่ไทยเนี่ย ต้องการอะไรที่สุดจากที่นี่ ผมตอบไปว่า “ต้องการให้เขาช่วยที่สุดคือเรื่องอาจารย์ เพราะการสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพในระดับสูงที่สุดนั้น ต้องอาศัยอาจารย์เป็นผู้ขับเคลื่อนที่แท้จริง นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเห็นความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างแท้จริง”
นอกจากนั้น ดร.สาคร ยังเล่าว่า กว่าคุณธอมัสจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูใหญ่ประจำ King’s Bangkok นั้น เขามีคู่แข่งทั้งหมด 65 คน ที่ผ่านการคัดเลือกโดยตรงจาก King’s Wimbledon “สุดท้ายแล้ว ด้วยความที่คุณธอมัสเป็นคนที่มีจิตวิญญาณของความเป็น King’s สูงมาก และเป็นคนที่มีแพสชั่นที่อยากจะสร้างโรงเรียนเพื่ออนาคต ไม่ใช่โรงเรียนในอดีต แต่เราต้องการเป็นอนาคตที่ดีของการศึกษา สำหรับคุณทอมเนี่ย เรามีศรัทธาในตัวเขา เราเชื่อว่าเขาทำได้ และเขาก็เคยทำมาแล้วอย่างดี”
King’s Bangkok กับทำเลรัชดาภิเษก-พระราม 3 ที่จะไม่ให้โรงเรียนกับรถติดเป็นของคู่กันอีกต่อไป
ด้วยที่ตั้งบนพื้นที่รัชดาภิเษก-พระราม 3 ผืนสุดท้าย ซึ่งใกล้กับจุดเชื่อมต่อทางด่วนทุกสาย จึงทำให้การเดินทางมาเรียนของนักเรียนเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะถนนสองด้านนั้นรวมกันแล้วมีถนนกว่า 10 เลน ภาพการจราจรติดขัดบริเวณรอบๆ โรงเรียนในเมืองดูจะเป็นสิ่งชินตาแต่ไม่เคยชินที่ต้องปรับตัวกันไปของคนเมือง ซึ่งสำหรับ King’s แล้วแนวคิดที่อยากป้องกันประเด็นนี้จึงถูกหยิบยกเข้ามาในแผนด้วย ดร.สาคร ตั้งใจว่า “เราใช้ระบบการบริหารการจอดรถเหมือนศูนย์การค้า เรารู้ว่าเด็กเราในช่วงแรกอาจจะไม่ได้มากขนาดนั้น แต่เราก็เตรียมพื้นที่จอดรถในอาคารไว้ถึง 250 คัน ตั้งแต่ต้น”
นอกจากนั้น ดร.สาคร ยังเสริมว่า King’s College International School Bangkok จะเปิดสอนตั้งแต่ระดับ Pre-Nursery คือเด็กอายุ 2 ขวบ ไปจนถึงชั้น Year 13 หรือวัยรุ่นอายุ 18 ปี โดยในขั้นแรกจะเปิดรับสมัครในเดือนมิถุนายน 2562 ที่จะถึงนี้เริ่มจากชั้น Pre-Nursery จนถึง Year 6 โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลและรายละเอียดการรับสมัครนักเรียน และจะเริ่มทำการเรียนการสอนในเดือนกันยายน 2563 ปีหน้า
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เว็บไซต์ของ King‘s Bangkok หรือคลิก http://bit. ly/KingsTheMatter