ในวันที่คนทุกเพศทุกวัยหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
เริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างการพกถุงผ้าหรือการใช้แก้วแบบพกพาจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว เหล่านี้เป็นตัวอย่างในการแสดงให้เห็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนที่มีต่อโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่ ในแบบ SCG Circular Way และเป็นความรับผิดชอบที่จะส่งต่อโลกที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของเราอีกด้วย
บ้าน จึงเป็นสถาบันครอบครัวขั้นพื้นฐานที่เป็นพื้นที่บ่มเพาะความรักที่มีต่อโลกซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ของเราทุกคน เช่นเดียวกับ ตู่ – ภพธร สุนทรญาณกิจ นอกเหนือจากบทบาทนักร้องนักแสดงที่เราคุ้นเคยกันในหน้าจอ อีกบทบาทสำคัญที่บ้าน คือการเป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นคุณพ่อของน้องริสา ลูกสาววัยกำลังน่ารัก ที่มีบ้านหลังนี้เป็นเหมือนห้องเรียนเพื่อเรียนรู้วิธีคิด วิธีปฏิบัติ โดยซึมซับจากพฤติกรรมของพ่อแม่ และร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากเรื่องราวรอบตัวในบ้าน
ทุกคนยอมรับในความสามารถสำหรับบทบาทในวงการบันเทิงของคุณตู่อยู่แล้ว ส่วนบทบาทใหม่คือคุณพ่อ มีเรื่องไหนที่อยากปลูกฝังสำหรับการเลี้ยงลูกในยุคนี้บ้าง
เลี้ยงลูกในยุคนี้คือ ผมไม่รู้จะเปรียบเทียบกับอะไร เพราะก็เลี้ยงลูกในยุคเดียว (หัวเราะ) แต่ก็มีปัญหาที่กังวลมากเรื่องหนึ่งคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งผมเองก็เสพเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเรามากเลยนะ อย่างทุกวันนี้เราออกไปเดินนอกบ้านก็มีฝุ่น PM 2.5 ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นจริงๆ วันที่เราเดินไปทางไหนทุกคนใส่หน้ากากกันหมด เหมือนในหนังเลย ผมว่ามันใกล้กว่าที่เราคิดมากเลยครับ
จริงๆ ก็มีคนเตือนเรามาเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กจนโต แต่ว่าในช่วงนี้ผมรู้สึกว่า รุ่นที่จะกระทบจริงๆ คือรุ่นของลูกเรานี่ล่ะ ตัวเราเอง ณ ตอนนี้เราก็เริ่มรู้สึกได้แล้วว่ามันน่าจะเกิดจากปัญหาที่มนุษย์พวกเราทุกคนสร้างขึ้นมา หรือเราละเลยโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่แปรปรวน หรือฝุ่นควัน ที่เราเองก็เห็นแล้วว่ามันคือผลกระทบที่เราละเลยตลอดเวลาที่ผ่านมา
การที่เรามีลูก ทำให้หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยหรือเปล่า?
จากเดิมก็มีความสนใจอยู่แล้วครับ เพราะเคยใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกามาหลายปีเลยมีประสบการณ์เรื่องการรีไซเคิลก็รับมาจากที่นั่นค่อนข้างเยอะ อย่างที่นั่น ทุกบ้านเขาจะมีถังขยะมาให้ ซึ่งจะมีทั้งขยะเปียกถังสีดำ ขยะจากสวนถังสีเขียว ขยะรีไซเคิลถังสีฟ้า ซึ่งเขาก็จะแบ่งเป็นวัน เช่น วันอังคารรถก็จะมารับขยะรีไซเคิลนะ ในถังนั้นก็จะมีแต่พลาสติก หรือกระดาษ ทุกคนจะรู้ว่า ถ้าเราใช้กระป๋องหรือขวดน้ำเสร็จแล้วต้องนำมาล้างก่อนทิ้ง ทุกอย่างต้องแยกชัดเจน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีมาก แล้วมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นคนดีหรือเปล่าแต่ว่าเขาปลูกฝังจนมันกลายเป็นเรื่องอัตโนมัติสำหรับทุกคน เหมือนว่าทุกคนต้องทำ ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นของทุกคน แล้วก็เป็นสิ่งที่ผมชอบมากๆ
พอมามีลูกเอง ผมก็อยากสร้างความตระหนักในเรื่องพวกนี้ให้กับลูก ซึ่งจะเริ่มต้นได้ก็ต้องเริ่มจากที่ตัวเรามีความตระหนักนั้นด้วยตัวเองก่อน โดยเริ่มจากทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ว่าถ้าเรามีความคิดแบบนี้อยู่ในหัวว่าเราจะต้องทำให้ได้ สักวันหนึ่งมันก็จะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ ซึ่งที่บ้านผมก็พยายามทำอยู่ ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเราตลอดครับ
อยากให้คุณตู่เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ที่บ้านสร้างจิตสำนึกเรื่องการแยกขยะในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง
ผมว่าเด็กเขาสอนไม่ยากครับ คือถ้ามันเริ่มต้นที่พ่อแม่แล้ว พ่อแม่ทำแบบนี้มาตลอดสักวันหนึ่งลูกก็จะต้องทำตาม ทุกอย่างที่เราเป็น คือสิ่งที่มันจะเห็นได้ชัดในลูกของเราครับ อย่างการแยกขยะ ตอนนี้เขาอาจจะเล็กเกินไปที่จะเข้าใจสิ่งนี้ แต่ถ้าในบ้านเราทำได้และเราลงมือทำจริง เขาก็จะค่อยๆ เรียนรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรทำ และอนาคตก็อาจจะได้แชร์กับเพื่อนๆ แล้วทำตามกันครับ
อย่างตอนนี้ก็เริ่มต้นจากเรื่องของอาหาร เราพยายามให้ลูกทานอาหารให้หมดจาน บางทีก็เป็นเรื่องลำบาก แต่ค่อยๆ ปลูกฝังไปทีละนิด เรื่องการแยกขยะ นอกจากสอนน้องแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคนในบ้านทุกคนว่าจะต้องแยกขยะในบ้าน แยกกระดาษ พลาสติก ขยะเปียก เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ ส่วนทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า เราก็ใช้เท่าที่จำเป็น เพราะมันไม่ได้ช่วยแค่โลกอย่างเดียวครับ มันยังช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านเราด้วย
ส่วนนอกบ้านเราก็พยายามใช้ถุงผ้า พวกกล่องหรือถุงจากร้านค้าก็จะพยายามรับให้น้อยลง อะไรที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ก็จะพยายามนำกลับมาใช้ซ้ำครับ
คุณตู่ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคม คิดว่าการแยกขยะช่วยลดปัญหาวิกฤตทรัพยากรได้มากน้อยแค่ไหน
มีคนให้ข้อมูลผมว่ามา อีกประมาณปี 2050 ซึ่งลูกเราโตแล้ว ทรัพยากรหลายอย่างกำลังจะหมดไป ทุกอย่างจะแพงขึ้นแล้วก็ลองนึกว่าเราขุดทุกอย่างที่เราจะขุดได้ เราเอามาจากโลกทุกอย่างแล้ว ขึ้นมาบนพื้นผิวตรงนี้ที่เราใช้กัน ก็เป็นโจทย์สำหรับพวกเราว่า จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่เราเอาขึ้นมาแล้ว อยู่ไปกับเราให้ได้นานที่สุด ซึ่งก็คือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิด Circular Economy ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ในบ้านพังก็นำมาซ่อม ขวดน้ำจานชาม ทำได้กับทุกอย่างที่เราคิดได้รอบๆ ตัวเราครับ ผมว่าถ้าพวกเราทุกคนรู้ถึงปัญหานี้ และพยายามที่จะช่วยกันก็น่าจะทำให้ปัญหานี้เบาลง
ผมว่าแค่เรามีความตระหนัก มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าเราจะมีลูกหรือไม่มีลูก แค่รู้สึกว่าอยากให้โลกใบนี้อยู่ไปได้นานกว่านี้ อยากให้โลกดูแลเรา ดูแลลูกหลาน เราก็ต้องเริ่มจากการดูแลโลกกันก่อนครับ
อยากให้คุณตู่ชวนทุกคนมาเปลี่ยนพฤติกรรม หรือให้กำลังใจคนที่คิดจะเริ่ม เพื่อช่วยรักษาโลกใบนี้ให้กับลูกหลานของเราต่อไป
ผมอยากให้กำลังใจกับทุกคนที่กำลังพยายามทำสิ่งนี้ และก็เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่คิดจะเริ่มทำ แต่ยังไม่ได้ทำสักที เพราะมันยากเหลือเกิน แต่จริงๆ แล้วอยากให้ทุกคนลองเริ่มต้นดูครับ เริ่มต้นจากการพกถุงผ้า เอาแก้วของตัวเองติดตัวไปด้วยทุกที่ บางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
แล้วปัญหาทั้งหลายที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่ยังเด็ก พอโตขึ้นมันก็ยิ่งใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที หลายคนอาจจะคิดว่า เราแค่คนคนเดียวจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราทำแบบนี้ แต่คนอื่นไม่ทำ แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ มันก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะฉะนั้น อยากให้ทุกคนช่วยกันครับ เราคนละไม้คนละมือ ยังดีกว่าไม่มีใครทำอะไรเลย ผมอยากให้ทุกคนมีความคิดนี้ไว้ แล้วมันก็จะทำให้โลกของเราน่าอยู่ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเราได้ครับ
เรียนรู้และค้นหาแนวทางปฏิบัติตามวิถี SCG Circular Way รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/2HeeRTL