ชีวิตที่มีความสุข ก็คือการสะสมชีวิตประจำวันที่มีความสุขทีละเล็กละน้อย
โรงพยาบาลก็คือหนึ่งในสาธารณูปโภคในชีวิตของทุกคนที่จำเป็นต้องแวะเวียนเข้าใช้บริการเสมอ การสร้างโรงพยาบาลที่มีความสุขจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของประชากรไทยเช่นเดียวกัน
โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย
เริ่มต้นขึ้นจากความร่วมมือระหว่างเอสซีจี นำโดยมูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี โดยหน่วยงาน Cement and Construction Solution (CCS) ได้ประสานความถนัด ความรู้ ความสามารถของแต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างโรงพยาบาลต้นแบบของความสุขที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พ.ศ. 2560 – 2569 โดยการออกแบบให้ตอบกับความต้องการของผู้ใช้งาน ผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า BIM หรือ Building Information Modeling โมเดลสามมิติที่สร้างงานก่อสร้างเสมือนจริง จึงสามารถวางแผนการก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ เกิดของเสียน้อยที่สุด พร้อมกับเพิ่มความสุขให้ได้มากที่สุด
ปลอดภัยจากความเจ็บไข้ โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน
โครงการ “เฉลิมราชย์ราชา” เป็นโครงการที่เอสซีจี และมูลนิธิเอสซีจี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายจิตอาสาทั่วประเทศ สร้างสรรค์ขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” จุดประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในทุกด้านที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนชาวไทยในทุกพื้นที่
โดย “โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย” เป็นหนึ่งในโครงการที่ต้องการมอบสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนด้วยการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างมีความสุขถ้วนหน้า จึงเกิดการปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงพยาบาลให้สะดวกทั้งงานบริการตามมาตรฐานสากล ไปพร้อมกับการพัฒนาความสุขจากการใช้งานพื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ดังพระปณิธานขององค์นายกกิตติมศักดิ์ ที่ได้พระราชทานเป็นหลักชัยไว้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2529 “ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลแห่งนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่ง ได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้ โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน”
BIM เทคโนโลยีสร้างพื้นที่เสมือนจริง
จากเป้าหมายมาสู่การลงมือทำ การออกแบบเริ่มต้นด้วยการลงพื้นที่ภาคสนามจริงกับพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จ.อุดรธานี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเก็บข้อมูลทางด้านพื้นที่ การวิเคราะห์ทางกายภาพ ผังแม่บท ครอบคลุมไปจนถึงความต้องการของบุคลากรและผู้รับบริการในการใช้งานพื้นที่จริง เกิดเป็นการทำงานออกแบบด้วยการมีส่วนร่วม (Participatory Design) เพื่องานออกแบบชิ้นใหม่ให้ตอบกับความต้องการจริงของผู้ใช้งานในแต่พื้นที่ จนเกิดเป็นต้นแบบอาคารและพื้นที่ให้บริการภายในโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่งที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องฟังก์ชันการใช้งานและดีไซน์เพื่อให้สอดรับกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น
ด้วยเอกลักษณ์ของรูปแบบอาคารที่แตกต่างกัน ประกอบกับแนวทาง SCG Circular Way ของทาง SCG ที่ต้องการใช้ทรัพยากรในการก่อสร้างอย่างคุ้มค่าที่สุด เทคโนโลยี BIM หรือ Building Information Modeling จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบ ที่รวมแบบสถาปัตย์ โครงสร้าง และงานระบบเข้าด้วยกัน ด้วยการวางแผนการใช้งานวัสดุและเทคนิคในการก่อสร้างผ่านทางโมเดลสามมิติ จึงช่วยประหยัดทั้งเวลา วัสดุ ลดการสูญเสียวัสดุก่อสร้างส่วนเกิน และนำวัสดุเหลือใช้ในงานก่อสร้างอย่างเศษคอนกรีต ให้กลับมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอีกครั้ง จากของเสียจึงฟื้นกลับมาสร้างคุณค่าได้อย่างสมบูรณ์
4 ภาค กับ 4 แนวความคิดในการออกแบบ
ความท้าทายในงานออกแบบของแต่ละพื้นที่คือบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องความต้องการใช้งาน พื้นที่ทางกายภาพ และอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทั้งหมดถูกแปลเข้าสู่งานออกแบบให้เข้ากับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่งได้ตอบกับโจทย์ของแต่ละพื้นที่
เริ่มจากภาคอีสาน ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จ.อุดรธานี กับอาคาร เรือนสุขใจ พื้นที่พักคอยพร้อมสวนสมุนไพร ที่เป็นเหมือนกับชานหรือระเบียงที่ยื่นออกมาจากพื้นที่สีเขียวกับร่มไม้ใหญ่เดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมระหว่างรอคอยได้อย่างมีความสุข เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน และตอบความต้องการใช้งานพื้นที่ขั้นพื้นฐานได้ทั้งเรื่องสภาพอากาศ และห้องน้ำบริการ
และที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น กับอาคาร เฮือนสุขใจ ศาลาพักญาติรูปแบบเรียบง่ายกลิ่นอายสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่าง ลายแคน แก่นคูณ เข้ามาสร้างเอกลักษณ์ให้กับอาคาร ภายในสร้างพื้นที่เอื้อให้เกิดอิริยาบถสบายระหว่างการใช้งานเป็นครอบครัว ทั้งการนั่งล้อมวงทานข้าวหรือการนอนพักผ่อน พร้อมกับพื้นที่อำนวยความสะดวกเพื่อการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่
ต่อมากับอาคาร ชานสุขใจ ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก อาคารที่เกิดจากปรับปรุงพื้นที่ระหว่างอาคาร OPD ใหม่และห้องผ่าตัด ให้เป็นพื้นที่พักคอยสำหรับญาติผู้ป่วยที่สอดคล้องกับกิจกรรมระหว่างรอ และปรับปรุงทางเชื่อมระหว่างอาคารให้กลายเป็นเหมือนสวนหน้าบ้านของพื้นที่พักรอ โดยเชื่อมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันผ่านทางไม้ระแนงและแผ่นกั้นพื้นที่แบบโปร่งแสง สร้างความเคลื่อนไหวภายในพื้นที่ และดึงบรรยากาศโดยรอบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์
สุดท้ายที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี กับอาคาร ลานสุขใจ ทางเชื่อมหน้าโรงพยาบาลรูปแบบใหม่ที่เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐาน ไปพร้อมกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและเป็นมิตรกับญาติผู้ป่วยที่มาพักรอ
จากพื้นที่นำร่อง สู่การขยายผลอีก 17 แห่ง
ในโครงการระยะที่สองนี้ ทางโครงการได้ขยายผลทั้งในแง่จำนวนของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอีก 17 แห่ง และความร่วมมือกับภาคีนักออกแบบและมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนสถาปัตยกรรม และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี โดย หน่วยงาน Cement and Construction Solution (CCS) ภายในภูมิภาคที่ตั้งของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 17 แห่ง เพื่อการทำงานอย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทั้งหมดต้องการให้เสร็จสิ้นทันกำหนดภายในปี พ.ศ.2563
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของ “โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็ จพระยุพราชทั่วไทย” ได้ที่ http://bit.ly/36pnEN8
BIM Technology : http://bit.ly/2LGctaY