คุณว่าในประเทศไทย จะมีสักกี่ที่ที่คุณจะพบงานศิลป์อย่างอาร์ตทอยแสนจะแรร์ไอเท็ม ไปพร้อมๆ กับพระพุทธรูป, องค์พระพิฆเนศ ตลอดจนรูปปั้นบรอนซ์ที่สะท้อนความคิด และสังคมจากศิลปินชาวไทย ที่ถ่ายทอดความคิดของตัวเองเข้ากับความเชื่อและวัฒนธรรม ออกมาเป็นงานศิลปะหลากรูปแบบที่งดงามอย่างหาตัวจับได้ยากจากหลายยุคหลายสมัย
เราเฉลยให้เลยตั้งแต่ย่อหน้านี้ นั่นคือทั้งหมดทั้งมวลที่เรากล่าวเมื่อข้างต้น สามารถพบได้ใน ณ สยาม แกลเลอรี สถานที่รวมประติมากรรมหลากหลายสไตล์นับร้อยชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานพุทธศิลป์ งานร่วมสมัย งานรูปเหมือน งานพระบรมรูปต่างๆ ฯลฯ ที่หาชมได้ยากและมีเพียงไม่กี่ชิ้นในโลก ที่คุณมัญชุสา เจ้าของแกลเลอรีตั้งใจเก็บสะสมและเปิดให้ทุกคนได้รับชมฟรี
และนี่คือ 5 รูปแบบงานประติมากรรมที่จัดแสดงในแกลเลอรี ตามไปดูกัน
อาร์ตทอย
คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะบอกว่า ‘อาร์ตทอย’ เป็นมากกว่าของเล่นที่หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษอย่างเห็นได้ชัด และหลายคนคงผ่านหูผ่านตารูปลักษณ์และใบหน้าอันคุ้นตามาบ้างแล้วในงานป๊อปคัลเจอร์อื่นๆ ตามโฆษณา โทรทัศน์หรือสื่อโซเชียลมีเดีย
‘อาร์ตทอย’ น่าจะเปรียบได้กับสรวงสรรค์ของเหล่านักสะสมของเล่น เพราะไม่เพียงแต่เป็นคลังแสงของเหล่าของเล่นหลากยุคหลากสมัย แต่ความโดดเด่นของอาร์ตทอยจาก ณ สยามแกลเลอรี คือเป็นแหล่งรวมของเล่นที่ออกแบบและผลิตในจำนวนจำกัดจากศิลปิน งานอาร์ตทอยจึงเป็นงานที่มีเพียงไม่กี่ชิ้นบนโลก เพราะผ่านการตีความและสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ จากตัวศิลปิน จึงไม่แปลกที่มันจะเป็นที่ต้องการของเหล่านักสะสมของเล่นทั่วโลกที่อยากมีอาร์ตทอยไว้ครอบครองท่ามกลางเหล่าของเล่นจากอุตสาหกรรมที่ผลิตขึ้นมาหน้าตาเหมือนกันนับพันชิ้น
ซึ่งโซนอาร์ตทอยที่ ณ สยาม แกลเลอรี มีหลากหลาย ทั้งอาร์ตทอยจากศิลปินชาวต่างชาติ และอาร์ตทอยโดยศิลปินชาวไทย รวมถึงงานโมเดล ฟิกเกอร์ และของสะสมอื่นๆ ที่ถูกรวมไว้ที่นี่ การได้มาเดินชมจึงเหมือนการได้กลับไปสู่วัยเด็กอีกครั้ง
งานประติมากรรมร่วมสมัย
และที่ป๊อปปูล่าร์ในหมู่คนรุ่นใหม่ไม่แพ้อาร์ตทอย คืองานแสดงลำดับถัดมาอย่างงานประติมากรรม ก็อาจนับว่า ‘แมส’ ไม่แพ้กัน หากแต่มีความร่วมสมัยมากกว่า เพราะงานประติมากรรมที่จัดแสดงใน ณ สยาม แกลเลอรี คืองานแบบ Contemporary ที่รูปแบบของงานเน้นที่การสื่อความหมายสะท้อนวิธีคิดและสังคมของตัวศิลปิน เช่นงานชิ้น อนุโมทนา ของศิลปินชาวไทย ที่ว่าด้วยภาพชายกำลังนั่งสมาธิไปพลาง ใช้เท้าคีบไม้เซลฟี่เพื่อถ่ายรูปตัวเองตอนกำลังนั่งสมาธิไปพลาง สะท้อนภาวะอยากค้นหาความสงบ ทว่าก็ยังเสพติดโลกแห่งคำชมอยู่ (อุ้ย…) หรือชิ้นงาน Venus ซึ่งคือชื่อเทพีแห่งความงามของตำนานกรีกผู้มองเงาสะท้อนของตัวเองในน้ำ และเป็นงานที่ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุดว่าแม้แต่เทพีแห่งความงามยังไม่อาจหลุดพ้นจากสังขารที่กำลังร่วงโรยลงได้
เหตุผลที่น่าสนใจประการหนึ่งว่าทำไมงานศิลปะร่วมสมัยจึงได้รับความสนใจจากกลุ่มคนมากเป็นพิเศษ อาจอยู่ตรงที่มันบอกเล่าเรื่องราวและสัมผัสความรู้สึกของหลายๆ คนที่เข้ามาชมงานโดยปราศจากคำพูดหรือปราศจากตัวอักษร ตลอดจนการที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งยุคเก่าและใหม่ ก็มีส่วนที่ทำให้ทำหน้าที่สื่อสารออกไปยังคนหลายๆ กลุ่มด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกแต่อย่างใดถ้าจะ ‘โดนใจ’ คนจำนวนมาก
งานประติมากรรมพระพิฆเนศ
พระพิฆเนศนับเป็นหนึ่งในเทพเจ้าฮินดูที่ชาวไทยให้ความเคารพนับถืออย่างแพร่หลายในฐานะที่เป็นเทพประทานพรและความสำเร็จให้ ดังนั้นจึงเป็นเทพที่อยู่คู่กับคนไทยในวัฒนธรรมกระแสหลัก ตลอดจนงานศิลป์และงานประติมากรรมที่ได้รับการตีความอย่างหลากหลายจากศิลปิน
พระพิฆเนศที่มีรูปลักษณ์มีเศียรเป็นช้างและร่างกายเป็นมนุษย์ ได้รับการสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมตามจินตนาการของศิลปินอย่างน่าสนใจ เพราะมีทั้งพระพิฆเนศในวัยเด็กที่เป็นลูกช้างอวบอิ่ม ตลอดจนเมื่อพระองค์เติบใหญ่แล้ว และมีบุคลิกแววตาน่าเกรงขาม ทั้งยังมีปางต่างๆ มากมาย ด้วยคุญมัญชุสาและสามีเองชื่นชมและบูชาพระพิฆเนศเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว การสะสมงานศิลปะที่ถ่ายทอดถึงองค์พระพิฆเนศจึงนับเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของทั้งสอง “หนึ่งในชิ้นงานที่ชอบคือ ‘บรมครู มหานาฏราช’ ด้วยแนวคิดของศิลปินที่ผสมผสานศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยอย่างโขน กับองค์พระพิฆเนศที่เคารพนับถือเป็นครู จึงเกิดเป็นประติมากรรมที่รวมสุดยอดของบรมครูด้านศิลป์อย่างแท้จริง” เธออธิบาย พร้อมขยายความให้เห็นถึงจุดเด่นของงานอย่างลวดลายของโขนที่ได้รับการสรรสร้างอย่างบรรจงจากศิลปินลงบนเนื้องาน
พระบูชาเก่ากึ่งพุทธกาล และพุทธศิลป์
สำหรับคนที่ไม่ใช่สายเช่าพระอย่าเพิ่งทำหน้างงว่าสองกรณีนี้แตกต่างกันอย่างไร อธิบายอย่างย่นย่อ คือจุดประสงค์และกระบวนการการสร้างงานทั้งสองชิ้น คุณมัญชุสาอธิบายว่า พระบูชาเก่ามีเสน่ห์อยู่ที่ประวัติการจัดสร้างและผ่านการปลุกเสกโดยเกจิดัง ทั้งยังมีหลายรุ่นและหาได้ยาก ขณะที่พระพุทธศิลป์เป็นพระบูชาใหม่ที่สร้างสรรค์โดยศิลปิน และอาจไม่ได้ผ่านการปลุกเสกมาก่อน หากแต่ความโดดเด่นคือความสวยงามหมดจดที่แตกต่างกันไปตามแต่ฝีมือของศิลปิน และมีจำนวนจำกัด “ศิลปินแต่ละท่านจะมีสไตล์ในการสร้างองค์พระต่างกัน แล้วแต่แนวคิดที่ศิลปินจะหยิบยกออกมา” เจ้าของ ณ สยาม แกลเลอรีเล่า ก่อนขยายความถึงชิ้นงานที่เธอสนใจอย่างพระพุทธชินสีห์ซึ่งเป็นพระบูชาเก่าที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2499 และมีไม่เกิน 85 องค์
พระบรมรูปรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์
สำหรับคุณมัญชุสา การได้จัดแสดงพระบรมรูปรัชกาลที่ 9 อาจเป็นหนึ่งในการแสดงงานที่เธอภาคภูมิใจที่สุด ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เคารพและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ และในฐานะที่เธอเป็นนักสะสมผลงานศิลปะมาอย่างยาวนาน เธอจึงรวบรวมผลงานที่มีรัชกาลที่ 9 จากหลากหลายศิลปินทั่วประเทศไทยไว้ในแกลเลอรี กล่าวได้ว่างานนับร้อยชิ้นที่เธอสะสมและจัดแสดงนั้น ไม่มีชิ้นไหนซ้ำกันเลย
“เมื่อเราเห็นงานประติมากรรมของพระองค์ท่านแล้วก็รู้สึกมีกำลังใจในการทำงาน ในการดำเนินชีวิต เราก็พยายามยึดตามหลักคำสอนของพระองค์ ไม่ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็มีแบบอย่างคือพระองค์ท่าน มาวันนี้ก็รู้สึกภูมิใจที่ ณ สยาม แกลเลอรี ได้รวบรวมงานประติมากรรมเกี่ยวกับพระองค์ท่านไว้มากที่สุดในประเทศไทย” เธอว่า และแม้จะเลือกงานชิ้นโปรดไม่ได้ แต่เธอขอเลือกพระบรมรูปมหาราชาภิเษก
“มองแล้วคำว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม’ ลอยขึ้นมาเลย และมันยิ่งใหญ่จริงๆ ค่ะ”
และหากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่หลงใหลและสนใจงานศิลป์เหล่านี้ สามารถไปเยี่ยมชมแกลเลอรีได้ตลอดวันทำการ และในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ มีนิทรรศการ “พ่อไม่ได้จากไปไหน” โดยจัดแสดงงานศิลปะจากหลากศิลปินที่พร้อมพาทุกคนหวนกลับไปยังความทรงจำอันอ่อนโยนในหัวใจกับในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกครั้ง
ใครสนใจก็ไปเข้าชม ณ สยาม แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ และห้องแสดงผลงานศิลปะ
เปิดทุกวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 09:30 – 18:00 น. ซอยลาดพร้าว 122-124 แยก 1
Facebook : ณ สยาม แกลเลอรี Line : http://nav.cx/7rFeUY0
โทร. : 02-514-0600, 082-559-1444