ภาพแผ่นหลังของเด็กหนุ่มปรากฏบนจอโทรทัศน์ ก่อนหน้านี้เกือบหนึ่งปีเขาต้องโทษคดีใช้ยาเสพติด ถูกตัดสินจำคุกและรอลงอาญาเป็นเวลาสองปี ด้วยความเครียดหลายครั้งเขาเกือบจะหุนหันลงมือกระทำการรุนแรงหรือสุ่มเสี่ยง
แต่นั่นเป็นก่อนหน้าที่คลินิกจิตสังคมในระบบศาลจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาแก่เขา จนเด็กหนุ่มที่มีแนวโน้มจะหวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีกครั้งเพื่อบรรเทาความเครียดหลังโดนจับกุม หันมาหาทางออกด้วยวิธีอื่นแทน มากกว่านั้นจากที่เคยสูบบุหรี่วันละซอง ก็ลดเหลือเพียงวันละห้ามวน ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าตัวกับแม่ก็แน่นแฟ้นขึ้นเป็นลำดับ
นี่คือหนึ่งในอีกหลายพันตัวอย่างที่บ่งชี้ว่า ผู้ที่กระทำความผิดนั้นหากได้รับการเยียวยาที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขและมีส่วนร่วมกับผู้คนอื่นๆ และชี้ให้เห็นว่าการส่งพวกเขาสู่เรือนจำนั้นไม่ใช่ทางออกเดียวของการแก้ปัญหาเหล่านี้
นั่นเพราะ 375,716 คือตัวเลขแสดงจำนวนผู้ต้องขังในปี 2019 จากเรือนจำทั้งประเทศไทยที่กรมราชทัณฑ์ให้ข้อมูลไว้ ซึ่งมากกว่าเมื่อสิบปีก่อนกว่าแสนราย จึงนับเป็นประเทศที่รั้งอันดับที่ 6 ที่มีนักโทษมากที่สุดในโลกและสูงที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียน
ในขณะที่เรือนจำยังมีขนาดเท่าเดิม นั่นแปลว่าภายใต้กรอบกรงที่บีบจำกัดจำนวนนักโทษกลับเพิ่มขึ้นจนเกิดเป็นภาวะ ‘นักโทษล้นคุก’ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง ทั้งเรื่องสุขภาวะที่มีรายงานอยู่เป็นระยะว่านักโทษไม่มีที่นอนมากพอหรือโรคติดต่อต่างๆ เช่น วัณโรคที่กระจายสู่กันง่ายเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด ตลอดจนภัยที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น อย่างปัญหาความตึงเครียดด้านอารมณ์และจิตใจ ก็ใช่ว่าคนเหล่านี้ล้วนทำผิดมา พวกเขาจึงต้องได้รับการลงโทษ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาสมควรได้รับการปฏิบัติราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์ เพราะคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขานั้นเท่าเทียมกันกับพวกเราทุกคน
นี่เองที่เป็นต้นธารแรกของคลินิกจิตสังคมในระบบศาล โครงการที่เกิดจากการร่วมมือของ 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), 2. กรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์, 3. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), 4. สำนักงานศาลยุติธรรม, 5. กรมคุมประพฤติ, 6. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, 7. ศาลจังหวัดปทุมธานี, 8. ศาลจังหวัดตลิ่งชัน, 9. ศาลอาญาธนบุรี, 10. ศาลจังหวัดนนทบุรี, และ 11. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในการนำผู้ต้องโทษคดีลหุโทษอย่างการใช้ยาเสพติดและความรุนแรง มาปรับทัศนคติดูแลสุขภาพจิตใจเพื่อลดทอนความตึงเครียด ผ่านหลักสูตรการให้คำปรึกษาที่ออกแบบโดยสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ได้แก่การจัดการภาวะเสพติด การให้คำปรึกษาครอบครัว และการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม พร้อมมีอาสาสมัครที่รับบทบาทเป็นผู้เอื้ออำนวยและกระตุ้นให้ผู้ต้องหาสำรวจแรงจูงใจในการก่อคดี ตลอดจนเป็นผู้แนะแนวทางชีวิตโดยการถามถึงเป้าหมายและเส้นทางการดำเนินชีวิตของผู้ต้องหา เพื่อนำพวกเขากลับเข้าสู่สังคม มีการศึกษา อาชีพและสวัสดิการที่เท่าเทียมกันกับคนอื่นๆ รวมทั้งยังมีบทบาทเป็นผู้ให้ความรู้ด้านสุขภาพจิต (Psycho-Educator) เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าถึงบริการสุขภาพกรณีที่ผู้ให้คำปรึกษาเห็นว่ามีปัญหาสุขภาพเกินขีดความสามารถของคลินิกจิตสังคมแล้ว
ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวผ่านสายตาของ ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สสส. คาดหวังว่าสักวันหนึ่งโครงการนี้จะขยับขยายไปทั่วประเทศและทำให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการช่วยเหลือเยียวยาปัญหาด้านจิตใจอย่างเท่าเทียมกัน
เห็นปัญหาอะไรถึงเริ่มสร้างโปรเจกต์นี้ขึ้นมา
มันมาจากปัญหาสำคัญที่ว่า นักโทษล้นเรือนจำเกิดจากกระบวนการพิพากษาให้นักโทษมีความผิดแล้วส่งไปยังเรือนจำมากขึ้นทุกทีๆ ซึ่งประเด็นหนึ่ง เราต้องทำความเข้าใจกับระบบยุติธรรมในเมืองไทยก่อนว่าผู้ต้องหานั้น ไม่ว่าจะในคดีลหุโทษหรือในคดีความผิดสูงๆ ทุกคนมีความผิด ระบบการลงโทษคือ จะต้องเอาพวกเขาไปกักขัง เพื่อที่จะไม่ให้ทำอันตรายกับคนภายนอก ซึ่งก็ไม่ผิดนะเพราะระบบและวิธีคิดมันถูกสร้างมาแบบนี้
เมื่อนักโทษในเรือนจำมีมากขึ้น เรือนจำไม่สามารถดูแลได้ คุณภาพชีวิตทั้งกายและใจของนักโทษในเรือนจำก็ไม่ค่อยดีด้วยข้อจำกัดต่างๆ เพราะฉะนั้นมันมีแนวคิดใหม่ที่มองว่าคุณค่าของมนุษย์จะต้องได้รับการยอมรับมากขึ้น ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่นสามารถปรับพฤติกรรมได้ คือสนับสนุนกระบวนการต่างๆ เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้พวกเขาสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยที่ครอบครัว คนรอบข้างสามารถดูแลให้คนกลุ่มนี้ไม่ทำพฤติกรรมที่ไปทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง ก็เลยเป็นวิธีการทำงานที่ศาลเริ่มต้นดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552
จากนั้นก็เริ่มมีนวัตกรรมในการใช้จิตสังคมในระบบศาล ซึ่งถือเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) และเป็นมาตรการทางเลือกแทนการดำเนินคดีอาญาเชิงเบี่ยงเบนคดี ซึ่งเป้าหมายคือ การเป็นคลินิกที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพวกเขาให้ดีขึ้น ช่วยให้สภาพแวดล้อมเป็นมิตรมากขึ้น
ตอนนี้เรามีทั้งหมด 5 ศาลที่เป็น MOU และอีก 5 ศาลที่สนใจดำเนินการจัดตั้งคลินิกจิตสังคม คือมีการตกลงกันว่าจะมีคลินิกจิตสังคมในระบบศาลซึ่งมันต้องการหลักสูตรการอบรมและการพัฒนาคนทำงาน คลินิกต้องการที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ความร่วมมือที่เหมาะสม รวมทั้งต้องการงบประมาณ ณ จุดนี้เองทำให้ สสส. ที่เห็นความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีของประชากรในทุกกลุ่ม จึงเข้ามาสนับสนุนงานวิชาการในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางต่างๆ สำหรับผู้ให้คำปรึกษา ช่วยสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติของชีวิตขณะถูกจับกุม จนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตภายใต้การให้คำปรึกษาของผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม สร้างสัมพันธภาพในครอบครัว ลดความเสี่ยงในการหลบหนีคดี และลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ ในขณะที่ชุมชนและสังคมจะได้รับประโยชน์เชิงความรู้สึกปลอดภัยมีความอุ่นใจในการดำรงชีวิต คืนคนดีสู่สังคม นอกจากนี้ สสส. ยังช่วยสนับสนุนการปรับปรุงระบบข้อมูลสำหรับการประเมินผลบริการ และสนับสนุนในการถอดบทเรียนรูปแบบคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมอีกด้วย
สิ่งแรกคือเราต้องเริ่มมองว่านักโทษเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันก่อนหรือเปล่า
ใช่ครับนี่คือวิธีคิดที่จำเป็น ระบบยุติธรรมในสังคมไทยจะต้องมี Human touch คือต้องให้ความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคน เขามีความสามารถในการจัดการชีวิตและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
สังคมทั่วไปต้องพยายามเข้าใจด้วยว่าคนทุกคนทำผิดพลาดได้ ปัจจุบันเราเป็นสังคมที่คนส่วนหนึ่งพร้อม bully คนอื่น เนื่องมาจากการกระทำผิด การเป็นจำเลย ความบกพร่องในชีวิต คนกลุ่มนี้จะถูกตีตราเลือกปฏิบัติตลอดเวลา เขาจะไม่ได้รับความเข้าอกเข้าใจ ความเมตตาจากมวลชนส่วนใหญ่ เพราะคิดว่าพวกเขาทำแบบนั้นก็สมควรแล้วที่จะเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในคุก นี่แหละคือปัญหา หากเราไม่จัดการประเด็นสำคัญเรื่องคนทุกคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์ เราก็จะไม่ก้าวข้ามการ bully คนอื่นอย่างที่เห็นกันตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เราจะอยู่ด้วยกันด้วยความเมตตา ผมเชื่อมั่นมาตลอดว่าความเมตตามันสามารถลดปัญหาสำคัญต่างๆ ได้ โดยเฉพาะประเด็นการสนับสนุนให้มีสุขภาพจิตที่ดี สสส. เน้นงานสุขภาพจิตในกลุ่มประชากรทุกระดับ โดยเน้นไปที่งานวิชาการ พื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาศักยภาพคนทำงานและกลุ่มเป้าหมาย การขยายผล การสื่อสารสังคม โดยงานสุขภาพจิตนั้นทำเพื่อให้เราสามารถส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพจิตที่ดีของคนในทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ต้องหาหรือจำเลยเหล่านี้ให้เขาสามารถมีสุขภาพจิตที่ดีได้
10 ปีที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคดีหรือกลุ่มผู้ที่ได้รับการเยียวยาเหล่านี้ไหม
ผมจะยกตัวอย่างข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ส. ปี 2557-2559 ที่ศาลอาญาธนบุรีให้เห็นภาพตัวเลขผู้กระทำความผิดจาก 2,227 เคส พบว่ามีการกระทำความผิดซ้ำ หลังจากที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เข้าร่วมกับการบำบัดจิตสังคมเพียง 33 เคสและในปี พ.ศ. 2562 ศาลอาญาธนบุรีมีเคสที่เข้ามารับการปรึกษา 1,180 เคส แต่พบว่ามีการกระทำผิดซ้ำเพียง 2 เคส หรือเป็นร้อยละ 0.2 ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์เชิงบวก และไม่ใช่เพียงแค่ที่ศาลธนบุรีเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงศาลจังหวัดนนทบุรี ตลิ่งชัน ปทุมธานี เชียงใหม่ ที่มีทิศทางของตัวเลขผลลัพธ์แบบเดียวกัน ที่เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จว่าคลินิกจิตสังคมช่วยให้คนเข้าใจตัวเอง เข้าใจสถานการณ์ปัญหา ปรับเปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง พฤติกรรมและสามารถรับมือกับความท้าทายรูปแบบต่างๆ ในชีวิตได้
จริงๆ แล้วผมอยากจะเน้นว่า ผลตอบรับความสำเร็จคือ ตัวเลขในอัตราการกระทำผิดซ้ำมันลดลงอย่างมีความสำคัญ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า คนเหล่านี้เมื่อได้รับการบำบัดทางจิตสังคมแล้วไม่กระทำความผิดซ้ำอีก
อย่างนั้นเราควรจะต้องเริ่มแก้ที่กระบวนการกฎหมายไหม
ถูกครับ ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่สนับสนุนให้คลินิกจิตสังคมเป็นส่วนหนึ่งของงานศาล กฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย พ.ศ. 2561 เป็นไปในทิศทางยุติธรรมสมานฉันท์ส่งผลเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาลและบริการที่เกี่ยวข้อง ทีนี้มันมีความท้าทายเรื่องของการวินิจฉัยของผู้พิพากษา จากการที่ศาลอาจจะไม่เชื่อว่ามีวิธีการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนพวกนี้ได้
ความท้าทายในตอนนี้คือ เราไม่มีการสื่อสารทางสังคมที่มากพอในการทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้กับสังคมและผู้พิพากษา เพื่อที่จะสื่อสารกับศาลว่า คนควรจะได้รับโอกาสแบบนี้แทนที่จะส่งพวกเขาเข้าเรือนจำอย่างเดียว เพื่อที่จะมีทางออกที่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน การพิพากษาในแต่ละเคสอาจมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ต้องหาหรือจำเลยบางคนต้องได้รับการลงโทษให้ไปอยู่ในเรือนจำ แต่ในบริบทของบางคนอาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับการลงโทษแบบนั้น ในสถานการณ์เหล่านี้ มันมีวิธีอื่นๆ ที่จะดูแล ส่งเสริมวิธีคิด พัฒนาพฤติกรรมและให้คุณค่าความเป็นมนุษย์กับคนเหล่านั้น
ที่เราพูดกันในระยะสั้นเป้าหมายคือ การร่วมมือกับระบบศาลและผู้พิพากษา แล้วถ้าระยะยาวเรามีวิธีอย่างไรในเชิงสังคม
เราอยากให้คลินิกจิตสังคมในระบบศาลมันถูกบูรณาการเข้าไปในทุกศาล เพื่อความยั่งยืนในระบบ หลังจากนั้นคือการดูแลคนกลุ่มนี้ให้มีสุขภาวะที่ดี
ส่วนการสนับสนุนในเชิงสังคมที่ต้องมุ่งเน้นคือ การทำให้สังคมมีความเข้าอกเข้าใจและไม่ตัดสินต่อคนที่กระทำความผิด ซึ่งมันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายและต้องการเวลา เราไม่ได้คาดหวังว่าสังคมจะไปขนาดนั้นได้อย่างเร็ววันหรอก เราจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ได้รับบริการที่เป็นมิตรมากพอ ได้รับการใส่ใจจากสังคม ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถอยู่ในสังคมด้วยสุขภาพกายที่ดี สุขภาพจิตที่แจ่มใส สุขภาพชีวิตที่มีความสุข เป้าหมายของ สสส. คืออยากให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุข ให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีเป้าหมาย
อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ผู้ให้คำปรึกษาในคลินิกจิตสังคมส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกษียณ พวกเขาเข้ามาทำด้วยจิตอาสาที่อยากจะช่วยเหลือคนอื่น เขาอาสามาทำงานแบบไม่ได้รับเงิน เพราะฉะนั้นทีมนี้พอถึงจุดหนึ่ง เขาก็ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านอายุ สิ่งที่ต้องเตรียมการคือ พัฒนาผู้ให้คำปรึกษาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ที่จะเข้ามาแทนทีมเหล่านี้ที่ออกไป ดังนั้นการพัฒนาความสามารถและสนับสนุนกำลังใจให้พวกเขาก็เป็นสิ่งสำคัญ
คนที่เข้าโครงการเป็นใครบ้าง
โดยปกติจะมี 4 กรณีที่จะเข้าร่วมคลินิกจิตสังคมได้ ได้แก่ 1) ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนในคดีที่เสพสารเสพติด ครอบครองสารเสพติดจำนวนเล็กน้อย หรือขับขี่และเสพสารเสพติดหรือสุรา รวมทั้งผู้ต้องหาในคดีความรุนแรงในครอบครัวหรือคดีอาญาอื่นที่มีโทษไม่ร้ายแรง และศาลพิจารณาให้ประกันตัว โดยศาลจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาเข้ารับคำปรึกษาที่คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมด้วย 2) จำเลยที่ได้รับการประกันตัวและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ถ้าศาลเห็นสมควร โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยอายุน้อย และก่อเหตุกระทำความผิดอันเนื่องจากความประพฤติ เช่น การทำร้ายร่างกาย การกระทำความผิดเนื่องจากการเสพสุรา/ยาเสพติด โดยศาลจะมีคำสั่งให้เข้ารับคำปรึกษาระหว่างพิจารณาคดี 3) จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษและกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ถ้าศาลเห็นสมควรให้มีการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมที่เสื่อมเสียของจำเลย ศาลอาจกำหนดให้จำเลยเข้ารับคำปรึกษาที่คลินิก ตามระยะเวลาที่เห็นสมควร เช่น 2 หรือ 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี และ 4) ผู้ที่สมัครใจเข้ารับคำปรึกษาเอง ส่วนใหญ่จะเป็นบิดามารดาหรือญาติที่นำบุตรหลานมาเข้ารับคำปรึกษาเนื่องจากไปใช้ยาเสพติด หรือเป็นผู้เสียหายในคดีความรุนแรงในครอบครัว
มองโปรเจกต์นี้เป็นอย่างไรในอนาคต
จะเป็นไปในทิศทางที่มีความยั่งยืนเชิงระบบมากขึ้น เป็นนโยบาย มีการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรจะเป็นแค่การพัฒนาโมเดลแล้ว ความฝันของเราคือ อยากเห็นคลินิกจิตสังคมในระบบศาลเป็นบริการหนึ่งในทุกศาลในประเทศไทย เพื่อจะดูแลกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เคยกระทำผิด จริงๆ ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรมีใครถูกทำให้ไม่มีคุณค่าความเป็นมนุษย์จากความผิดที่ได้ทำลงไป