สำหรับใครที่เป็นนักอ่าน น่าจะสังเกตได้ว่า ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ งานหนังสือขนาดเล็กได้เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น เรียกว่าจัดกันแทบจะเดือนชนเดือน ทำให้งานมหกรรมหนังสือประจำปีที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้งเริ่มถูกลดความสำคัญลงไป
เพราะปัจจัยสำคัญอย่างการย้ายสถานที่จัดงาน ทำให้นักอ่านหันมาสนใจงานหนังสือขนาดเล็กกันมากขึ้น เพราะสะดวกเรื่องการเดินทางมากกว่า ประกอบกับเอกลักษณ์ของการจัดงานที่มีการรวมประเภทหนังสือหรือกลุ่มคนอ่านแบบเดียวกัน ก็ยิ่งเป็นโอกาสของคนทำหนังสือเล็กๆ ที่รวมตัวกันจัดงานมากขึ้น
The MATTER ชวนไปคุยกับ จรัญ หอมเทียนทองอดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และเจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาวถึงทิศทางของการจัดงานหนังสือในยุคใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและความหวังของนักอ่านรุ่นใหม่ รวมไปถึงความพิเศษของ Winter Book Fest 2020 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-20 ธันวาคมนี้ ณ สามย่าน มิตรทาวน์ ในฐานะผู้จัดงาน ที่จุดกระแสให้วงการหนังสือหันมาสนใจงานหนังสือขนาดเล็กกันมากขึ้น
มองวงการหนังสือทุกวันนี้เป็นอย่างไร
คนอื่นเขาอาจจะบอกว่าคนอ่านหนังสือน้อย แต่ผมมองว่าคนอ่านไม่ได้น้อยนะ คนอ่านเพิ่มขึ้น เพราะเขายังอ่านหนังสือที่มันตอบสนองเขาอยู่สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นว่าหนังสือประเภทฉาบฉวย เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มีแต่หนังสือที่เป็นจริงเป็นจัง แล้วรูปเล่มหนังสือที่สวยงามงานอีเวนต์หรือว่าสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็กระตุ้นให้คนอยากอ่านหนังสือรวมถึงการมีบล็อกมีแอปต่างๆ สิ่งเหล่านี้จูงใจให้คนอยากอ่านมากขึ้นทั้งสิ้น
งานหนังสือขนาดเล็กที่เกิดขึ้นบ่อยๆ สะท้อนทั้งในแง่ของคนอ่านและคนทำหนังสืออย่างไรบ้าง
คือถ้าพูดตรงๆ คือพอศูนย์สิริกิติ์ปิด ประหนึ่งผึ้งแตกรัง มีคนกลุ่มน้อยๆ พยายามหากลุ่มของตัวเองเพราะว่าไปลองจัดสถานที่ใหม่ มันก็ไม่ได้ตอบสนองคนมากขึ้น เพราะติดเรื่องการเดินทางเมื่อเวทีใหญ่ปิดลง มันก็แตกเป็นเวทีย่อย เพื่อตอบสนองลูกค้าแต่ละกลุ่มซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ณ ปัจจุบันนี้ ขนาดของสถานที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว เปรียบเหมือนกับโรงหนังขนาด 700 ที่นั่ง ที่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว แต่จะเป็นโรงหนังเล็กๆ เพราะว่ามันทำอะไรได้มากขึ้น ฉายหนังได้มากขึ้น รอบมากขึ้น เช่นคนอ่านหนังสือวาย เขาก็จัดกลุ่มขายหนังสือเอง มีการเก็บค่าเข้า ก็มีคนมา การจัดงานเฉพาะแบบนี้ สิ่งที่มันง่ายที่สุดคือ ทั้งคนจัดและผู้ร่วมงานพูดภาษาเดียวกัน ขอความร่วมมือด้วยกันได้ ทุกคนถือว่าเป็น stakeholder เป็นหุ้นส่วนกัน เพราะว่ามันไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ เราเป็นคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวมาจัด แล้วก็ต่อรองพื้นที่ ต่อรองสปอนเซอร์ เชิญคนนั้นคนนี้มาแต่ก็ไม่ได้เป็นงานที่คนจัดหวังกำไร เพราะการจัดอีเวนต์งานหนังสือหวังกำไรยาก
การที่สำนักพิมพ์มารวมตัวจัดกันเอง มีจุดแข็งกว่าการมีเจ้าภาพเจ้าเดียวยังไง
คือถ้ามีโฮสต์เจ้าเดียวที่จัดเหมือนทุกครั้ง สุดท้ายก็จัดได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี ดอกไม้ต้องร้อยดอกบานสะพรั่งในสวน จะบานดอกเดียวไม่ได้ ฉะนั้นใบไม้ก็สำคัญ ใบประดับเล็กประดับน้อยก็ทำให้คนอยากมางานเรา อย่างถ้างานมี 90 สำนักพิมพ์ ก็มีแฟนคลับ 90 กลุ่ม ถ้าแฟนคลับแต่ละกลุ่มมากลุ่มละ 50 คนต่อวัน ก็แสดงว่าคนเข้างาน 4,000-5,000 คนต่อวันแล้วนะ การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ สถานการณ์มันเปลี่ยน การมีออนไลน์มาก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ร้านหนังสือก็เปลี่ยนไป สำนักพิมพ์มาจัดงานและมาขายเอง ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากขายนะ แต่ร้านหนังสืออาจจะไม่ตอบโจทย์เพราะไม่มีที่วางหนังสือให้เขาดังนั้นการจัดงานเช่นนี้ เป็นการชดเชยงานที่ไม่มีอยู่ เป็นงานที่ทำให้คนอ่านกับคนทำมาเจอกัน เป็นการพบปะเสวนาของคนทำหนังสือมากกว่า
ย้อนกลับไปตอนช่วงโควิด-19 มันทำให้พฤติกรรมของนักอ่านและคนทำหนังสือต้องปรับตัวมากน้อยขนาดไหน
โควิดมันทำให้คนทำหนังสือรู้ว่าออนไลน์ช่วยได้ มันเปลี่ยนแปลงโลกไปเลยนะ สมัยก่อนอาจไม่มีทางเลือก คนอ่านก็อยากจะจับตัวหนังสือจริงๆ แต่ปัจจุบันพอมีโควิด การไม่มีตัวหนังสือให้จับ กลับทำให้ความเชื่อถือที่มีต่อสำนักพิมพ์เพิ่มมากขึ้น เช่น ผมชอบ Salmon Books ทำหนังสืออะไรออกมาผมก็ซื้อ เหมือนเรามี loyalty กับสำนักพิมพ์ใดสำนักพิมพ์หนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้ดูตัวหนังสือก่อนเลย และในขณะเดียวกัน โอกาสของสำนักพิมพ์ก็เพิ่มขึ้น เพราะว่าออนไลน์มันช่วย จะเห็นว่าก่อนหน้าที่มีโควิด หนังสือไม่เคยเข้าไปขายใน Shopee กับ Lazada แต่ปัจจุบันมีเต็มเลยหรือเปิดเฟซบุ๊กมา มีคนขายหนังสือเต็มไปหมดเลย ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่มี ในวิกฤตมันมีโอกาสอยู่ ทำให้คนทำหนังสือเห็นทางออกที่ทำให้วงการหนังสืออยู่ได้ และทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ อยากจะทำมากขึ้น เพราะเขามองเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งร้านหนังสือก็ได้
เมื่อตลาดหนังสือเปิดกว้างขึ้น ทำให้คนยุคนี้อ่านหนังสือกว้างขึ้นกว่าเมื่อก่อนหรือเปล่า
ถามว่าคนรุ่นใหม่อ่านกว้างขึ้นหรือเปล่า มันอาจจะไม่กว้างมาก แต่เขาอ่านลึกขึ้น แล้วถามว่าทำไมเขาถึงอ่าน ก็เพราะอะไรก็ตามที่คุณบังคับไม่ให้อ่าน เขาก็จะพยายามหามาอ่าน มนุษย์มีวิญญาณกบฏอยู่คนอ่านรุ่นใหม่ พอเขาอ่านแล้วก็จะยิ่งอ่านไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ ที่หนังสือเรียนไม่ได้สอน เขาไม่อ่านประวัติศาสตร์อยุธยาหรอกมันไกลไป อ่านแค่ช่วง 2475 ประวัติศาสตร์ระยะใกล้พอ คุณบอกว่าอยากให้คนไทยเรียนประวัติศาสตร์ เขาก็เรียนแล้วนี่ไง แต่เขาเรียนระยะสั้น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน แตกต่างกันอย่างไร
คือสมัยก่อนนู้นก็ห้าม เขาห้ามเราอ่านหนังสือ ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ ห้ามอ่าน ‘แลไปข้างหน้า’ ห้ามอ่าน ‘พระเจ้ากรุงสยาม’ เราก็ใช้การซีรอกซ์อ่านกัน แต่ปัจจุบันนี้ต้องห้ามยังไงก็หาอ่านได้ เพราะมีออนไลน์ให้อ่าน ด้วยพฤติกรรมของคนยุคนี้ ทำให้เขาอยากจะศึกษามากขึ้น เพราะมีการไปกระตุ้นเขาคุณต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามปกติ แล้วสังคมจะคลี่คลายด้วยตัวมันเอง คุณไม่สามารถทำอะไรเขาได้หรอก ให้เขาอ่านไปแล้วเขาจะจำแนกได้เอง หนังสือไหนดี หนังสือไหนไม่ดี ใช่หรือไม่ใช่ หนังสือมันคือเสรีภาพ เขาควรมีเสรีภาพในการอ่าน ไม่ใช่ไปบังคับเขา เมื่อก่อนหนังสือของ ‘ฟ้าเดียวกัน’ ขายไม่ได้ แต่ตอนนี้ขายดี เพราะใครทำให้เขาขายดี มันถึงกลับมาที่เดิมว่ามนุษย์มันมีวิญญาณกบฏอยู่
ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นกลับทำให้คนหาหนังสือประวัติศาสตร์มาอ่านมากขึ้น ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อวงการหนังสืออย่างไร
คนก็จะมางานหนังสือเล็กๆ เพื่อซื้อเหล่านี้ เพราะว่าร้านหนังสือไม่มีให้ซื้อไงอย่างหนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ บางร้านเขาก็ไม่รับวาง ฉะนั้นพอมีงานตรงนี้มาคนก็อยากจะไปดูไปซื้อหนังสือที่เขาอยากอ่าน อีเวนต์หนังสือจะรองรับคนอ่านหนังสือที่มาหาหนังสือที่แตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไป เพราะร้านหนังสือ จะสวมหมวก 3 ใบ ใบแรกคือสำนักพิมพ์ ใบที่สองคือผู้จัดจำหน่าย ใบที่สามคือร้านหนังสือ ฉะนั้นหนังสือพวกนี้จะอยู่ใบที่สาม ซึ่งทำกำไรให้ร้านเขาน้อยที่สุด กำไรมากสุดในร้านก็คือหนังสือที่เขาทำเอง รองลงมาคือการจัดจำหน่าย ทำให้เวลาไปร้านหนังสือก็จะเจอหนังสือของเขาอย่างเดียว หาหนังสืออื่นๆ ไม่ค่อยเจอ
อยากให้เล่าถึงที่มาของ Winter Book Fest เป็นการต่อยอดมากจาก ABC Book Fest อย่างไร
คือจริงๆ แล้วเราตั้งใจจะจัดปีละ 2 ครั้ง เป็น Summer กับ Winter แต่ทีนี้ Summer เจอโควิด ก็เลยเลื่อนไปเป็นเดือนสิงหาคม เปลี่ยนชื่อเป็นงาน ABC Book Fest ซึ่งเรามองว่าอาจจะเป็นงานแรกประจำปีมั้ง คนเลยมากันเยอะคนอ่านชอบ มีคนถามมาตลอดเวลาว่าจะจัดอีกทีเมื่อไหร่ ก็เลยคิดว่าลองทำ Winter ดูสิว่าเราจะสำเร็จไหม เพราะถ้าสำเร็จ ก็จะจัดต่อทุกปีเป็น Summer กับ Winter ซึ่งครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์เยอะขึ้นกว่าเดิม ครั้งก่อนมี 50 กว่าแห่ง ครั้งนี้มี 90 แห่ง หลายแห่งก็เปิดตัวหนังสือใหม่ในงาน เสน่ห์ของงานหนังสือคือมีหนังสือใหม่ คือทุกคนพร้อมใจกันมา ศิลปิน และกิจกรรมบทเวทีก็มากกว่าเดิม
สำหรับงานครั้งนี้ มีไฮไลต์อะไรที่น่าสนใจบ้าง
มีเรื่องเสวนาเรื่อง ‘เด็กไทยอ่านอะไรอยู่’ มีเปิดตัวหนังสือ ‘100นวัตกรรมสร้างฟินแลนด์’ ไฮไลต์คือมันจะมีนิทรรศการ ‘เข้าใจแตกต่าง’ ที่สอดคล้องกับการเสวนา ‘ศิลปะขับเคลื่อนสังคม’ ซึ่งได้คุณประชา สุวีรานนท์ มาพูด คือกิจกรรมในงานพวกนี้จะมีความเป็น Book Festival ไม่ใช่ Book Fair เพราะมีการแสดงดนตรีสดขับกล่อมมีการทำ workshop คือมีภาคบันเทิงเข้ามาเสริม
แตกต่าง เข้าใจ Tolerance Posters Exhibition
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญในงาน Winter Book Fest กับนิทรรศการพิเศษที่เคยตระเวนจัดแสดงมาแล้วกว่า 31 ประเทศทั่วโลก ซึ่งอยู่ภายใต้ THE TOLERANCE PROJECT ที่ต้องการสร้างการยอมรับทางสังคมและความเข้าใจอันแตกต่างไปสู่ผู้คนในประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายในเชิงโครงสร้าง สังคม และวัฒนธรรม ผ่านโปสเตอร์ที่ออกแบบโดยศิลปินทั่วโลกกว่า 164 ชิ้นรวบรวมโดย MirkoIlić ศิลปินนักเคลื่อนไหวชาวบอสเนีย ชวนไปคุยเบื้องหลังของนิทรรศการที่จัดขึ้นในไทยครั้งนี้ กับนอร์ธ – ดนัยพันธ์ วัชรีวงศ์ ผู้จัดนิทรรศการ กับประเด็นของผลงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศในครั้งนี้ ว่ามาจัดที่ไทยได้ยังไง
คือเมื่อตอนปี 2003 ผมเคยได้มีโอกาสทำงานกับคุณ MirkoIlić ที่นิวยอร์ก เขาเป็นดีไซน์เนอร์ที่มาจากทางบอสเนีย แต่ย้ายมาอยู่นิวยอร์ก เขาทำงานอยู่ตึกเดียวกันกับคุณ Milton Glaser ที่เป็นศิลปินด้วย ผมเห็นว่าแกทำนิทรรศการเรื่อง Tolerance Posters Exhibition เราก็ส่งข้อความไปว่าเราสนใจ น่าจะมีจัดที่เมืองไทยนะ เพราะมันเข้ากับสถานการณ์เมืองไทยตอนนี้ แล้วก็บังเอิญทาง Winter Book Fest ติดต่อมาอยากจะให้ผมเข้าไปคุยเสวนาเรื่องศิลปะกับการขับเคลื่อนทางสังคมพอดี ผมก็เลยอีเมลไปบอกคุณ Mirko เขาก็บอกว่าไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรมากมาย นอกจากว่าขอว่าเป็นสถานที่ที่ใครก็มาดูได้ ไม่มีการเก็บค่าเข้าชม
รูปแบบของงานโปสเตอร์ในโปรเจกต์นี้เป็นลักษณะไหน
รูปแบบงานเปิดกว้างมาก มีกติกาคือขอแค่มีคำว่า Tolerance อยู่ในงาน โปรเจกต์เริ่มต้นจากศิลปิน 40 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 164 คนแล้ว บางคนอาจจะพูดเรื่องความหลากหลาย บางคนอาจจะพูดเรื่องความแตกต่างทางเพศ บางคนอาจจะบอกว่าการที่เราไปเกลียดเขา มันก็เหมือนกับเราเกลียดตัวเอง ปกติงานกราฟิกมักจะไม่ค่อยถูกรวมเข้าไปอยู่ใน Fine arts แต่งานนี้จะได้เห็นว่ากราฟิกดีไซน์เนอร์ก็มีการออกความเห็นทางสังคมได้นะ ไม่ได้ทำแต่โฆษณาอย่างเดียว
พอมาจัดในไทย มองว่าเหมาะกับสถานการณ์ในสังคมตอนนี้อย่างไร
คือโปสเตอร์ชุดนี้เริ่มโปรเจกต์เมื่อปี 2017 แล้วมีเรื่องการแบ่งแยก การเหยียดสีผิว การเหยียดเพศ มีการเกลียดชังเกิดขึ้นกันเยอะมาก โปสเตอร์ชุดนี้มันน่าสนใจตรงที่ผมก็ยังสรุปไม่ได้ว่า Tolerance แปลเป็นภาษาไทยว่าอะไร อย่างเราชอบพูดกันว่าภาษาอังกฤษไม่มีคำว่าเกรงใจใช่ไหม ภาษาไทยก็ไม่มีคำว่า Tolerance เหมือนกันคือถ้าเสิร์ชมันจะแปลเป็นประโยคว่า ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ปล่อยให้ตัวเองคิดไปสุดกู่ทางใดทางหนึ่ง ยอมรับว่ามีคนคิดไม่เหมือนกันได้ซึ่งไม่ใช่แปลว่า อดทน ตามในดิกชันนารี พอเป็นชื่อภาษาไทยคุณจรัญก็เลยตั้งว่า ‘แตกต่าง เข้าใจ’ ประเด็นคืออยากให้คนฟังกันมากขึ้น ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ก็อย่าเพิ่งรีบเข้าใจก็ได้ บางทีถ้าไม่เห็นด้วยเราอาจจะต้องใช้ความ Tolerance นี้เข้ามาช่วย อย่าเพิ่งไปตัดสินอะไร ศิลปะทำให้ตัวศิลปินเองไม่โดดเดี่ยวเพราะได้ express ความรู้สึกของตัวเองออกมาแล้ว คนที่มาดูก็รู้สึกว่ามีคนคิดเหมือนเรา ไม่ได้อึดอัดเรื่องนี้อยู่คนเดียว
Winter Book Fest2020 เทศกาลหนังสือฤดูหนาว
10 – 20 ธันวาคม 2563
สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์