งานที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ จะทำให้เรากลายเป็นคนสมองเสื่อมหรือเปล่า?
งานวิจัยใหม่พบว่า การใช้สมองอย่างหนักในการทำงานอาจให้ผลตอบแทนมากกว่าความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน แต่มันยังสามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้นได้ด้วย นั่นหมายความว่า การทำงานเหมือนเดิมทุกๆ วันหรือ Routine job ที่สมองถูกกระตุ้นเพียงเล็กๆ น้อยๆ นั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้น
งานวิจัยระบุว่า การทำงานซ้ำๆ เหมือนเดิมทุกวันของคนในช่วงอายุ 30, 40, 50 และ 60 ปี สัมพันธ์กับความเสี่ยงของความบกพร่องทางสติปัญญาสูงขึ้น 66% และความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมหลังอายุ 70 ปี เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเปรียบเทียบกับงานที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสูง
ทริน เอ็ดวิน (Trine Edwin) นักวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโล ในนอร์เวย์บอกว่า ผลลัพธ์ของเราแสดงให้เห็นว่าการทำงานต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในการรักษาความทรงจำเมื่อแก่ตัวไป และสถานที่ทำงานมีความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมสุขภาพทางปัญญา
ริชาร์ด ไอแซคสัน (Richard Isaacson) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันโรคระบบประสาทเสื่อมในฟลอริดา บอกว่า การใช้ชีวิต การมีเป้าหมาย การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการเข้าสังคม เป็นเครื่องมือที่ดีในการป้องกันความเสื่อมถอยทางสติปัญญาเมื่อเราอายุมากขึ้น การวิจัยในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การทำงานก็มีผลอย่างมากโดยการใช้สมองผ่านงานที่น่าสนใจมากขึ้น และการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอย่างต่อเนื่องจะช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน
งานวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและการประกอบอาชีพของชาวนอร์เวย์ 7,000 คน ในช่วงอายุ 30 ปี ไปจนถึงเกษียณอายุที่ 60 ปี และจัดหมวดหมู่ความต้องการด้านความรู้ความเข้าใจของอาชีพ 305 อาชีพในนอร์เวย์
งานรายวันที่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภท ‘งานที่มีการป้องกันสติปัญญา’ มักจะเกี่ยวข้องกับงานที่ใช้แรงกายแรงใจซ้ำๆ เช่น งานในโรงงาน และงานบัญชีทั่วไป “คนส่วนใหญ่ที่ทำงานแบบ Rountine job ในกลุ่มตัวอย่างของเรา เช่น แม่บ้าน ผู้ดูแล คนงานก่อสร้าง และคนส่งไปรษณีย์” เอ็ดวินเล่า
เอ็ดวินบอกอีกว่า งานรายวันควรประกอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหา และการอธิบายแนวคิดและข้อมูลให้คนอื่นฟัง และทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล “ในกลุ่มนี้มีทนายความ แพทย์ นักบัญชี วิศวกรเทคนิค และเจ้าหน้าที่บริการสาธารณะ แต่อาชีพที่พบเยอะที่สุดคือครู ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เพราะต้องอธิบายและวิเคราะห์ข้อมูล”
ผู้คนจำนวนมากในการศึกษานี้ยังคงอยู่ในงานที่มีความซับซ้อนเท่าเดิมในช่วงชีวิตการทำงาน ความสอดคล้องนี้ถือเป็นจุดแข็งของการศึกษาวิจัยนี้ซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาผลกระทบของประเภทงานในช่วงเวลาหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่สามารถอธิบายถึงความแตกต่างในหน้าที่การงานในแต่ละประเภทงานได้
ถึงอย่างนั้น การใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพสมองก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก เช่น การรับประทานที่ดี การจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หยุดสูบบุหรี่ คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และคอเลสเตอรอลสูง ประเมินและรักษาการสูญเสียการได้ยินและการมองเห็นอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและการจัดการความเครียดสามารถช่วยให้ผู้คนลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย
“อย่างที่พวกเขาพูดกัน ถ้าคุณไม่ใช้มัน คุณก็จะสูญเสียมันไป” ไอแซคสันบอก
อ้างอิงจาก