เคยรู้สึกมั้ยว่าร่างกายของเราไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเข้างาน 9 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็น? ว่ากันว่า ‘นกที่ตื่นเช้า’ มักจะได้หาอาหารก่อนใคร แล้วถ้าเราดันเป็น ‘นกฮูก’ ที่ชอบออกหากินกลางคืนล่ะ?
ร่างกายของเราล้วนทำงานด้วยนาฬิกาชีวิตที่ต่างกัน ซึ่งถูกกำหนดจากพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนั้นก็ไม่แปลกที่บางคนตื่นเช้ามาพร้อมกับความตื่นตัวและพลังที่เปี่ยมล้น และบางคนที่ไม่ชอบการตื่นเช้าเอามากๆ แต่กลับพร้อมที่จะใช้ชีวิตในตอนกลางคืนแบบสุดๆ
ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งนี้เรียกว่าโครโนไทป์ (Chronotype) ที่อาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของเราไปตลอดทั้งวันอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เหล่านกที่ตื่นเช้าจะได้ประโยชน์จากการเริ่มงานตอน 8-9 โมง แต่เหล่านกฮูกที่ทำงานได้ดีในตอนกลางคืนกลับต้องมาทำงานตอนเช้า เพราะตารางเข้างานที่เข้มงวดทำให้พวกเขาเสียประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย และส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของพวกเขา
การจัดวันทำงานของเราให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตถูกเรียกว่า ‘Chronoworking’ ที่กลายเป็นเทรนดการทำงานแบบใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีแต่เทรนด์การทำงานที่เป็นแง่ลบซะส่วนใหญ่อย่าง ‘bare-minimum Mondays’ หรือการ ‘quiet quitting’
ซึ่งเทรนด์ Chronoworking นี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนก็ได้ หากปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ซึ่งเทรนด์นี้ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นของพนักงานตามสไตล์การทำงานของแต่ละคน
เว็บไซต์ Newsweek พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านท่าทางการนอนหลับ เจมส์ เลียนฮาร์ด (James Leinhardt) ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีที่นอน Levitex เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราออกกำลังกายไม่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตตามธรรมชาติของเราเอง
เลียนฮาร์ด บอกว่า เวลาของเราจะไม่ถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด งานต่างๆ จะใช้เวลานานกว่าเดิม และรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น และไม่กระตุ้นกล่องความคิดสร้างสรรค์ของเราด้วย ซึ่งทีมงานของเขาที่ Levitex ทำงานในเวลาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามีประสิทธิภาพสูงสุดตอนไหน
“แคโรรินา (Karolina) เพื่อนร่วมงานของผมจะไม่รับโทรศัพท์ก่อนบ่ายโมง เพราะเธอสามารถทำงานได้จนถึงตี 3 และนั่นก็โอเคเพราะตราบใดที่เธอมีชั่วโมงการทำงานและความสร้างสรรค์ของเธอก็หลั่งไหลออกมาในเวลาที่เหมาะสม ผมก็ไม่สนใจหรอก” เลียนฮาร์ดเล่า
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าหัวหน้าทุกคนจะมีความยืดหยุ่นขนาดนี้ ถ้าเป็นแบบนี้เราควรทำอะไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงสุดในช่วง 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น?
เลียนฮาร์ด บอกว่า หากเราโชคดีพอที่ชั่วโมงการทำงานของเรา อยู่ในช่วงเวลาทำงานพอดี เราก็แค่พยายามปรับให้มันเหมาะสมก็เท่านั้น
“แต่บางคนอาจจะพบว่าเวลาที่ดีที่สุดของเรามันเปลี่ยนไปในทุกๆ วัน การมีทัศนคติหรือความคิดที่ดีอาจเป็นการกำหนดเวลางานที่ใช้พลังงานสมองน้อยที่สุดแล้วในช่วงที่เรารู้สึกว่าไม่มีประสิทธิภาพ” เลียนฮาร์ดบอก
อ้างอิงจาก