ความเปลี่ยนแปลงของวงการคริปโตเคอร์เรนซีที่น่าจะกระทบตลาดในประเทศไม่มากก็น้อย คงเป็นเรื่องของประกาศล่าสุดที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 11) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา หลักเกณฑ์นี้จะบังคับใช้ตั้งแต่ 11 มิถุนายน เป็นต้นไป โดยไม่มีการบังคับใช้ย้อนหลัง และให้ศูนย์ซื้อ-ขายปฏิบัติตามและกำหนดกฎเกณฑ์ของตัวเองให้เป็นตามประกาศภายใน 30 วัน
ใจความหลักๆ ของประกาศ คือ ห้ามแพลตฟอร์มซื้อ-ขายในไทยขึ้นทะเบียนซื้อ-ขาย (ลิสต์) เหรียญ 4 ประเภท ได้แก่ เหรียญมีม (meme token), fan token เหรียญที่สร้างจากกระแสหรือผู้มีอิทธิพล, NFT, และเหรียญประเภทที่แพลตฟอร์มซื้อ-ขายสร้างขึ้นเอง (กำหนดให้ห้ามขึ้นทะเบียนบนกระดานเทรดตัวเอง)
แน่นอนว่า ส่วนใหญ่นักลงทุนไม่ค่อยเห็นด้วยกับประกาศดังกล่าวเท่าไหร่นัก ทั้งในแง่ของการที่การกำกับใหม่นี้จะลดทอนการแข่งขันของผู้พัฒนาในไทย และอาจจะไม่แฟร์กับหลายๆ ฝ่ายในตลาดซื้อ-ขาย
เราลองมาดูรายละเอียดประกาศจาก ก.ล.ต. ทีละข้อกัน โดยละเอียดดีกว่า
1) ห้ามซื้อ-ขายเหรียญหรือโทเคนที่ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับโดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล (meme token)
2) ห้ามซื้อ-ขายเหรียญหรือโทเคนที่เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล (fan token)
3) ห้ามซื้อ-ขายโทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้ (non-fungible token : NFT)
4) ห้ามขึ้นทะเบียนซื้อ-ขายโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายเองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายเพื่อวัตถุประสงค์ ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน (blockchain)
ประกาศดังกล่าวเกิดการถกเถียงกันในกลุ่มนักเทรดนักลงทุน อย่างข้อ 1 คือ เรื่องเส้นแบ่งการเป็น ‘เหรียญมีม’ ว่าอยู่ตรงไหน เพราะ ก.ล.ต. บอกว่าบางเหรียญถูกเทรดและถูกชักจูงทำให้ราคาพุ่งสูงได้—เป็นเหรียญมีม แต่นักลงทุนก็มองว่า ตามธรรมชาติของตลาดคริปโตฯ ก็เป็นการเข้ามาเก็งกำไรอยู่แล้ว และข้อนี้อาจจะเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชัดเจน จึงสามารถนำไปเอาผิดใครก็ได้ตามการตีความ
ส่วนข้อ 3 ดูกระแสนักลงทุนจะไม่เห็นด้วยมากที่สุด อย่างที่จะเห็นผ่านตากันว่า NFT ปัจจุบันถูกใช้ในวงการศิลปะ ศิลปินหลายคนทำงานศิลปะและใช้ NFT ในการระบุครอบครองสิทธิ์เพียงหนึ่งเดียวเพื่อวางขาย (อ่านเรื่อง NFT : www.facebook.com) ปัจจุบันการใช้งาน NFT ในตลาดโลกค่อนข้างพิสูจน์แล้วว่าตัวเทคโนโลยีมีประโยชน์และใช้งานได้จริง เพราะไม่ได้ใช้ได้กับแค่งานศิลปะเท่านั้น แต่สามารถประยุกต์ใช้ในการระบุสิทธิ์เอกสารซื้อ-ขาย โฉนดที่ดิน หรือเอกสารระบุตัวตนได้ด้วย
และข้อ 4 ดูจะเป็นข้อค่อนข้างซับซ้อนที่สุด เพราะปัจจุบัน ‘Bitkub’ เป็นเจ้าเดียวในตลาดไทยที่ ‘ขึ้นทะเบียนเหรียญตัวเองบนแพลตฟอร์มตัวเอง’ ก่อนจะมีประกาศ ทำให้ ‘KUB’ เป็นเหรียญเดียวที่ยังรันต่อไปได้ ขณะที่เจ้าอื่นถูกสั่งห้ามขึ้นทะเบียนบนกระดานตัวเอง ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการต่อต้านการแข่งขันในตลาด (nnti-competitive) หรือไม่?
ซึ่งวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา แชนแนลยูทูบ ‘Bitcast’ ซึ่งไลฟ์สตรีมพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ได้ชวน ‘วรัชญา ศรีมาจันทร์’ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต. มาคุยถึงประเด็นประกาศฉบับใหม่ ซึ่งเธอบอกว่า ประกาศของ ก.ล.ต. มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำหน้าที่ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเหรียญและตลาดซื้อ-ขาย โดยการสั่งห้ามทั้ง 4 เหรียญมีจุดประสงค์ต่างกัน (ฟังคลิปเต็มได้ที่ : www.youtube.com)
วรัชญาบอกว่า เนื่องจากตลาดคริปโตฯ ไทย มีคนเข้ามาลงทุนเพิ่มหลายแสน มีการซื้อ-ขาย 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน และมีการสร้างเหรียญใหม่โดยใช้ต้นทุนต่ำและไม่มีที่มาที่ไป
“เราจะอยากให้ผู้คนเราเทรดเหรียญแบบนั้นหรือไม่ มันไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมอะไรเลย เหรียญแรกเป็นเรื่องของ meme tokenที่ทาง ก.ล.ต. เห็นว่ามันไม่ได้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสังคมประเทศโดยรวมอย่างไรเลย เป็นแค่การเก็งกำไรกันเท่านั้น” และบอกว่าจะมีไกด์ไลน์ออกมาเพื่อกำหนดการเป็น meme tokenในภายหลัง
ส่วนเหรียญ fan token วรัชญาบอกว่าเป็นเหรียญที่มีคุณค่าในตัวของมันอยู่ ใครรักใครชอบใครก็เอามาทำได้ เช่น เหรียญนักฟุตบอล แต่คุณค่าของเหรียญขึ้นกับอารมณ์ ความรู้สึก และการนำอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นมาโปรโมต ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ได้มีอะไรสะท้อนว่าราคาแค่ไหนจะเป็นความโปร่งใส
เหรียญ NFT เธอมองว่าเป็นการเอาเทคโนโลยีมาแทนค่าสิ่งของชิ้นหนึ่ง ซึ่งปกติเทรดนอกแพลตฟอร์มซื้อ-ขายอยู่แล้ว และทาง ก.ล.ต. จะไม่เขียนก็ได้ แต่เขียนเพื่อให้ชัดเจนว่าห้ามนำ NFT มาเทรด เธอบอกว่าไม่ได้มองว่าเทคโนโลยี NFT ไม่ดี แค่ไม่เหมาะจะนำมาเทรดบนบนแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย
ส่วนเหรียญที่ออกโดยศูนย์ซื้อขาย เธอให้เหตุผลว่าการที่ศูนย์ซื้อ-ขายนำเหรียญของตัวเองมาขึ้นทะเบียนขาย จะทำให้ศูนย์ซื้อ-ขายมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการดูแลราคาเหรียญให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะศูนย์ซื้อ-ขายมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์การเทรดของนักลงทุนบนแพลตฟอร์มให้เป็นธรรมโปร่งใส
ส่วนในประเทศที่เหรียญ KUB ถูกขึ้นทะเบียนไปแล้ว เธอบอกว่า ผู้พัฒนาไทยหรือศูนย์ซื้อ-ขายอื่นก็ยังสามารถพัฒนาเหรียญของตัวเองได้เหมือนกัน แต่ห้ามขึ้นทะเบียนซื้อ-ขายในตลาดตัวเอง และเธอชี้ว่ายังมีตลาดอื่นให้นำไปขึ้นทะเบียนได้ ซึ่งกฎตรงนี้อาจจะทบทวนได้ในอนาคต
“ผลในอนาคตระยะยาวจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า พี่ใหญ่ของเราที่ทำอยู่ทุกวันนี้จะทำยังไงกับเหรียญของเขาที่ลิสต์อยู่แล้ว ถ้าเขาทำและมีการกำกับดูแลที่ดี ก็มีโอกาสที่จะเป็นตัวอย่างและทำให้เห็นว่าไม่ได้มีปัญหา วันหลังเราสามารถทบทวนเรื่องนี้ได้”
“สิ่งที่เราอยากเห็นคือการพัฒนา อันนี้เราสนับสนุนแน่นอน การเข้าไปเก็งกำไรในตลาดเป็นธรรมชาติของตลาดนี้ ทำได้ตามสภาพหากนักลงทุนเข้าใจและรับความเสี่ยงตรงนั้นได้ แต่ส่วนที่เรารับไม่ได้ คือ การที่ใครก็แล้วแต่สักคนมีอำนาจที่จะไปควบคุมราคาซื้อหรือขาย ทำให้ราคาขึ้นหรือลงได้ตามอำเภอใจของตัวเอง ส่วนนั้นเราคิดว่ามันเป็นความไม่เป็นธรรมในการซื้อ-ขาย” วรัชญากล่าว
ลองฟังเสียงจากผู้พัฒนา
ประกาศฉบับดังกล่าวที่เราพูดถึงเป็นประกาศที่ถือว่ารวดเร็วมากจริงๆ เพราะไม่มีวี่แววจาก ก.ล.ต. มาก่อนเลย ดังนั้นผู้พัฒนาและศูนย์ซื้อขายต่างๆ จึงแสดงความกังวลว่า หากโดนกำกับแบบนี้ จะเกิดความไม่เป็นธรรมด้านการแข่งขันหรือไม่ และมากไปกว่านั้น ไทยจะยังมีสิทธิที่จะเป็นผู้นำโลกในเทคโนโลยีด้านนี้หรือไม่?
ใครพูดว่าอะไรบ้าง เราลองรวมรวบจากเสวนามาให้อ่านกัน
‘สำเร็จ วจนะเสถียร’ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของ Bitkub ให้ความเห็นว่า หลายคนอาจจะมองว่ากฎแบบนี้จะทำให้ตลาดไทยไม่ไปไหน แต่ส่วนตัวเห็นกลับกันว่า อย่าง meme token ส่วนใหญ่ก็จะไปเทรดกันใน decentralized exchange อยู่แล้ว โดยเข้าใจว่าหากขึ้นทะเบียนในแพลตฟอร์มซื้อ-ขายทั่วไปจะมีควบคุมยาก จึงยังไม่มีความกังวลอะไรกับประกาศดังกล่าว
ด้าน ‘พีรเดช ตันเรืองพร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Upbit Thailand บอกว่า เข้าใจเป้าหมายของ ก.ล.ต. ที่ไม่อยากให้นักลงทุนไปลงทุนอย่างไร้เหตุผล แต่ ก.ล.ต. ต้องตอบให้ได้ในเรื่องว่า จะทำอย่างไรให้การกำกับที่ออกมาสร้างตลาดการแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการ และทำยังไงให้สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมในไทยได้ เพราะตอนนี้เราก็แข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่ได้โดนกำกับขนาดนี้
‘เอกลาภ ยิ้มวิไล’ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง ของ Zipmex Thailand ตั้งคำถามว่าประกาศฉบับนี้ออกมาอย่างรวดเร็วมาก และตามรัฐธรรมนูญ ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานรัฐควรจะมีการรับฟังเสียงประชาชนและผู้ประกอบการ (hearing) ก่อน
ส่วน ‘กวิน พงษ์พันธ์เดชา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของ Bitazza พูดเจาะประเด็นเรื่องการนิยาม meme token เพราะเขามองว่าทุกเหรียญมีที่มาที่ไป เพราะมีการเขียนโค้ด มีการลงทุนขุดโดยนักลงทุน ยกตัวอย่าง Dogecoin ที่หลายคนบอกว่าไม่มีพื้นฐาน ก็กำเนิดมาหลายปีและมีปริมาณการซื้อ-ขาย
“การที่มีใครสักคนมีอำนาจบอกว่าอะไรเป็นมีมหรือไม่เป็นมีม มันก็เป็นการควบคุมตลาดมากเกินไปหรือเปล่า? …ส่วนเรื่องการห้ามลิสต์ NFT หรือกำหนดว่าห้ามทำอะไรกับนวัตกรรมใหม่ๆ เราถือว่าเราฆ่านวัตกรรมอนาคตไปแล้ว แล้วเทคโนโลยีแบบนี้จะไปเกิดในต่างประเทศแน่นอน…จริงๆ เราควรเอาวอลุ่มนักลงทุนเข้ามาในเมืองไทยให้มากขึ้น แต่การปิดกั้นกำหนดเหรียญห้ามลิสต์ในไทย จะดันให้ปริมาณการซื้อ-ขายและนวัตกรรมไปอยู่ต่างประเทศแทน” กวินกล่าว
ดูเหมือนว่าประกาศฉบับที่ 11 นี้จะยังมีช่องโหว่ให้ได้ตั้งข้อสงสัย รวมไปถึงประเด็นเรื่องความสมดุลของการ ‘กำกับ’ และ ‘การพัฒนา’ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามกันต่อไปแบบยาวๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Content by Narisara Suepaisal
#Brief #business #TheMATTER