“เรากำลังมองดูฉากสุดท้ายในชีวิตของดวงดาว จะว่าเป็นตัวอย่างอนาคตอันไกลโพ้นของดวงอาทิตย์ก็ได้ และการสังเกตการณ์ของ JWST ก็ได้เปิดหน้าต่างใหม่ไปสู่การทำความเข้าใจเหตุการณ์ในจักรวาลอันน่ามหัศจรรย์เหล่านี้” ไมค์ บาร์โลว (Mike Barlow) นักวิทยาศาสตร์หนึ่งในผู้นำโครงการ JWST Ring Nebula Imaging Project กล่าว
เรากำลังพูดถึงภาพของ ‘เนบิวลาวงแหวน’ (Ring Nebula) หรืออีกชื่อคือ Messier 57 (M57) ที่อยู่ห่างออกไปราว 2,200 ปีแสง ซึ่งถูกปล่อยออกมาล่าสุดจากการเก็บภาพของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope หรือ JWST) ทั้งเป็นภาพที่คุ้นเคยเพราะศึกษากันมานาน และได้เซอร์ไพรส์ด้วยรายละเอียดใหม่ๆ
ภาพรายละเอียดสูง จากฝีมือทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ ผ่านกล้องเนียร์อินฟราเรด (NIRCam) ของ JWST ภาพนี้ เผยให้เห็นรายละเอียดโครงสร้างของเนบิวลารอบนอก ไปพร้อมๆ กับบริเวณด้านในที่ล้อมรอบดาวแคระขาว ซึ่งเคยเป็นดาวฤกษ์มาก่อน แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นดวงดาวที่หนาแน่นมากๆ ขนาดเทียบเท่าดาวเคราะห์
เนบิวลาวงแหวน เป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ (planetary nebula – ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับดาวเคราะห์) ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) เป็นเป้าหมายที่เป็นที่นิยมมากในหมู่นักดาราศาสตร์และคนสนใจอวกาศ เพราะตั้งอยู่ไม่ไกล และหันหน้าเข้าหาระบบสุริยะ ทำให้เห็นรายละเอียดได้เต็มที่ ที่สำคัญ คือ ใกล้จนกล้องโทรทรรศน์มือสมัครเล่นก็มองเห็นได้
อย่างที่ แจน คามี (Jan Cami) นักดาราศาสตร์สมาชิกโครงการ JWST Ring Nebula Imaging Project บอก “ผมเคยเห็นเนบิวลาวงแหวนตอนเป็นเด็กผ่านกล้องโทรทรรศน์เล็กๆ ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทรงพลังมากที่สุดในโลกที่เคยถูกสร้างมา เพื่อมองดูวัตถุเดียวกันนี้”
เมื่อดาวฤกษ์ที่มีมวลพอๆ กับดวงอาทิตย์หมดพลังงาน กระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชันก็จะหยุดลง ตัวดาวฤกษ์เองก็จะยุบตัวลงเพราะแรงโน้มถ่วงของตัวเอง ขณะที่ไฮโดรเจนด้านนอกจะยังมีปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันต่อไป จนกระจายออกไปด้านนอก เกิดเป็นดาวยักษ์แดง (red giant) ซึ่งเมื่อเย็นลงก็จะกลายเป็นวัตถุหลากหลายรูปร่างและสีสัน เช่นเดียวกับเนบิวลาวงแหวน
และเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ของเรา ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการเดียวกันในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้า
อ้างอิงจาก