ความห่วงใยของพ่อแม่อาจมาในรูปแบบของการช่วยเหลือ แต่จะเป็นอย่างไร หากแม่ติดต่ออาจารย์มหาลัยเพื่อช่วยลูกที่เป็นนักศึกษาแต่ไม่ได้ไปสอบ?
มีรายงานระบุ แม่ชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งโพสต์ข้อความลงในฟอรัมออนไลน์ว่า “ในตอนที่ลูกชายของฉันอยู่มัธยมต้นและมัธยมปลาย ฉันก็เคยติดต่อสื่อสารกับครูของเขาผ่าน KakaoTalk [แอปพลิเคชั่นแชท] แล้วมันต่างกับการคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยไหม? ฉันทำอะไรผิดพลาดที่พยายามช่วยลูกชายของฉันหรือไม่?”
แม่คนนั้นยังเล่าต่อว่า ลูกชายของเธอเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เตรียมตัวสำหรับการสอบมิดเทอมตลอดทั้งคืน แต่ปรากฏว่าเขาตื่นไปสอบไม่ทัน จนไปถึงห้องสอบสายกว่าเวลาสอบ 20 นาที ทำให้เขาพลาดการสอบในครั้งนั้นไป
ลูกชายของเธอเสียใจมาก และโทษตัวเองที่พลาดการสอบ แม่ของเขาจึงไปที่ตึกคณะ เพื่อขอข้อมูลติดต่ออาจารย์ แต่ทางเจ้าหน้าที่บอกเธอว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลส่วนตัว ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งหลังจากทราบเรื่อง ลูกชายของเธอก็ไม่พอใจที่เธอพยายามเข้าหาอาจารย์เช่นกัน
หลังจากที่แม่โพสต์เรื่องราวเหล่านั้นบนโลกออนไลน์แล้ว ก็มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายคนออกมาคอมเมนต์ว่าลูกควรจะจัดการชีวิตตัวเอง ทั้งยังมีความเห็นที่มองว่าเหตุการณ์นี้ จะเป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับลูกชาย พร้อมยังให้คำแนะนำว่าควรให้นักศึกษาไปปรึกษากับอาจารย์โดยตรงจะเป็นทางแก้ที่ดีที่สุด
เหตุการณ์ในครั้งนี้ ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ปกครองพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาของลูก เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์ เช่น มีผู้ปกครองติดต่อไปที่คณะ เพื่อให้นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนไม่ได้ สามารถเข้าเรียนในวิชานั้นๆ จนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ประกาศเป็นการภายในว่า ให้นักศึกษาจัดการเรื่องการเรียนด้วยตนเอง ไม่ใช่ผ่านผู้ปกครอง
เรื่องราวของแม่ชาวเกาหลีใต้คนนี้ สะท้อนให้เห็นถึง ‘Helicopter Parent’ หรือผู้ปกครองที่ดูแลลูก ‘มากเกินไป’ ซึ่งรวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมและคุมลูกเกินความจำเป็น อันมีสาเหตุเนื่องมาจากความกังวลที่ว่า ลูกของพวกเขาอาจประสบอันตรายหรือไม่ประสบความสำเร็จ
ที่ผ่านมา เคยมีการศึกษาถึงผลกระทบของ Helicopter Parenting พบว่า การเลี้ยงดูเช่นว่า จะทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดหรือการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ทั้งยังมีส่วนในการยับยั้งพัฒนาการทางปัญญา อารมณ์ อาจทำให้เด็กเกิดความวิตกกังวลและยังอาจส่งผลถึงพฤติกรรมทางสังคมของเด็กๆ
การศึกษาดังกล่าวยังพบอีกว่า สำหรับเด็กในระดับชั้นมหาวิทยาลัย การที่ผู้ปกครองเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเรียน ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าและเกิดความวิตกกังวลเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้ง เด็กเหล่านั้นก็ยังจะมีความพากเพียรน้อยกว่า
สำหรับเรื่อง Helicopter Parenting ในสังคมเกาหลีใต้ ฮาจีฮยอน อาจารย์ภาควิชาจิตเวช มหาวิทยาลัยคอนกุก อธิบายไว้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ เพราะในสังคมเกาหลี เป็นเรื่องปกติที่ลูกจะอาศัยอยู่กับผู้ปกครอง และไม่ได้แยกตัวออกมาจากครอบครัวทันทีที่เป็นผู้ใหญ่ รวมถึงการอยู่การอยู่กับพ่อแม่จนกระทั่งการแต่งงานก็เป็นเรื่องปกติ
ในบางครอบครัวที่ลูกแยกออกมาอยู่คนเดียว ฮาจีฮยอนก็อธิบายต่อว่า ถึงแม้พวกเขาจะอยู่แยกกัน แต่คนหนุ่มสาวจำนวนมากก็ยังคงพึ่งพาพ่อแม่ “โดยความใกล้ชิดดังกล่าวมักบ่งชี้ว่า ทางร่างกาย จิตใจ และการเงิน เด็กดังกล่าวไม่ได้รับอิสรภาพอย่างเต็มที่ ทําให้พวกเขายังคงถูกมองว่าเป็นคนที่พ่อแม่ต้องดูแล”
รวมไปถึง ยังมีรายงานอีกว่า ในมหาวิทยาลัยบางแห่งก็มีเว็บแยกต่างหากสำหรับผู้ปกครอง เพื่อตรวจสอบกิจกรรมของบุตรหลานและส่งข้อร้องเรียนอีกเช่นกัน
อ้างอิงจาก