เมื่อวานนี้ (12 กุมภาพันธ์) 2 สื่อมวลชน ณัฐพล เมฆโสภณ และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ถูกตำรวจแสดงหมายจับ จากเหตุทำข่าวกรณีนักกิจกรรมพ่นกำแพงวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566
คำถามจึงเกิดขึ้นอีกครั้งกับความสำคัญของเสรีภาพสื่อ
ในเรื่องนี้ The MATTER ได้พูดคุยกับ อ.พรรษาสิริ กุหลาบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลกระทบต่อวงการสื่อสารมวลชน และทางออกที่ควรมีร่วมกัน ระหว่างสื่อมวลชน ประชาชน และภาครัฐ
การคุกคามสื่อมวลชน กับการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว
“ยิ่งมีคดีนี้ มันยิ่งทำให้บรรยากาศของสังคมตึงเครียดขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น” คือความเห็นของ อ.พรรษาสิริ ต่อกรณีการจับกุม 2 สื่อมวลชน ซึ่งเธอมองว่า “เป็นการจับที่ข้ามขั้นตอน เป็นขั้นตอนที่ไม่ค่อยชอบธรรม และไม่ค่อยสมเหตุสมผล”
อ.พรรษาสิริ ชี้ถึงผลกระทบที่จะตามมาว่า “อย่างแรกก็คือ มันสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว หรือสร้างบรรยากาศที่ทำให้คนรู้สึกว่า ตกลงเรารายงานเรื่องอะไรได้บ้าง ดังนั้น สื่อมวลชนเองก็อาจจะเริ่มคิดกันแล้วล่ะว่า แล้วตกลงกิจกรรมแบบไหนที่จะสามารถรายงานได้
“พอสื่อมวลชนสับสน ว่าตกลงรายงานเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ใช่ไหม แล้วกลายเป็นว่าถูกจับไปด้วยทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เหตุอันควรที่จะต้องถูกจับ หรือไม่ใช่ความชอบธรรมที่จะต้องถูกจับเลย เรื่องเหล่านี้มันก็จะค่อยๆ ถูกทำให้เงียบไปในสังคม”
เมื่อมีการปิดกั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ “มันก็ทำให้สังคมไม่สามารถจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ เพราะความขัดแย้งมันยังไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างจริงจัง อย่างมีอารยะ อย่างเป็นเหตุเป็นผล เพราะมันถูกปิดกั้นไปแล้วตั้งแต่ต้น”
ทำไมต้องใส่ใจเสรีภาพสื่อ
“เขา [สื่อมวลชน] เหมือนเป็นตัวแทนของประชาชนในการจะเข้าไปสอดส่องว่ามันมีความไม่ปกติ มันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในสังคมบ้าง” อ.พรรษาสิริ อธิบาย
“การที่สื่อมวลชนเป็นตัวแทนของเรา แล้วก็เข้าไปเสาะหาเรื่องเหล่านี้มา และมานำเสนอให้สังคมรับรู้ มันก็ทำให้เรารู้ว่า หนึ่ง สังคมเรามันมีปัญหาอะไร สอง เราจะได้ช่วยกันคุยกันถกเถียงกัน อภิปรายร่วมกัน และหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล อย่างมีอารยะ อย่างที่เรายอมรับความเห็นที่แตกต่าง มันจะได้ทำให้มุมมองต่างๆ สามารถเอามาวางบนโต๊ะแล้วก็คลี่คลายความขัดแย้งตรงนี้ได้”
และไม่ใช่แค่สื่อมวลชน หากแต่ต้องปกป้องทั้งเสรีภาพสื่อ และเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนทั่วไป หรือสื่อพลเมือง
“วันหนึ่งเราอาจจะผันตัวเป็นนักข่าวพลเมือง เราอาจจะผันตัวเป็นนักข่าวอิสระขึ้นมาก็ได้เหมือนกัน ดังนั้น ประชาชนทั่วไปควรจะต้องให้ความสำคัญกับทั้งเสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองด้วยเช่นกัน”
ทางออกของปัญหา ท่ามกลางการปิดกั้นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อ.พรรษาสิริ มองว่า ในช่วงภายใต้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2566 เป็นต้นมา มี 2 สัญญาณที่บ่งชี้ว่า สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อเริ่มน่าเป็นห่วง
ประการแรก คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคก้าวไกลใช้ ม.112 เป็นนโยบายหาเสียง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่ง อ.พรรษาสิริ มองว่า “มันส่งสัญญาณว่าการพูดคุยเรื่อง ม.112 สถาบันกษัตริย์ ทำได้อย่างจำกัดมากขึ้น พสื่อมวลชนก็จะมีความเกร็งที่จะไม่กล้าที่จะรายงานประเด็นเกี่ยวกับ ม.112 หรือสถาบันกษัตริย์ ในเชิงการวิพากษ์วิจารณ์
“ความเกร็ง ความกลัวของสื่อมวลชนตรงนี้ มันก็ทำให้ประชาชนก็ขาดโอกาสที่จะทำให้เราได้ถกเถียงกันในเรื่องที่จริงๆ มันเป็นความขัดแย้งสำคัญ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา” เธอระบุ
ประการที่สอง คือ กรณีการจับกุมสื่อมวลชนล่าสุด “พอมันมีการจับนักข่าวตรงนี้ … มันก็ยิ่งส่งสัญญาณว่า สื่อมวลชนทำงานได้อย่างจำกัดมากขึ้น ดังนั้น ถ้าทิศทางมันยังไปอย่างนี้เรื่อยๆ แนวโน้มมันก็เริ่มน่าเป็นห่วง และเริ่มน่ากังวลมากขึ้น แล้วมันจะทำให้ความตึงเครียดในสังคมเริ่มเพิ่มขึ้น”
อ.พรรษาสิริ เสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ คือ สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยในการพูดคุย ซึ่งจะไม่ทำให้ถูกคุกคาม หรือถ้ากลัวว่าจะนำเสนอประเด็นที่อาจผิดกฎหมาย ก็ให้พิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมาย ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง รวมถึงรับประกันเสรีภาพของสื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ