จะเป็นอย่างไรถ้าเดินไปทางไหนก็เจอแต่กล้องวงจรปิด!?
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะได้พบกับ ‘กล้องวงจรปิด’ ที่สอดส่องอยู่ตามแยกหรือมุมที่พลุกพล่านใน ‘ฮ่องกง’ โดยตำรวจที่พยายามยกระดับการเฝ้าระวังความปลอดภัย แม้ว่าจะเพิ่มความกังวลให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญก็ตาม
แม้ว่าฮ่องกงจะติดอันดับเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลกมาโดยตลอด แต่ตำรวจในฮ่องกงบอกว่า กล้องรุ่นใหม่นี้มีความจำเป็นในการปราบปรามอาชญากรรม และมีความเป็นไปได้ว่าจะรองรับการติดตั้งระบบจดจำใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในตัวด้วย
สิ่งนี้ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมองว่า ฮ่องกงได้เข้าใกล้ความเป็น ‘จีน’ เข้าไปอีกขั้นซะแล้ว
ก่อนหน้านี้ ตำรวจฮ่องกงตั้งเป้าหมายจะติดตั้งกล้องวงจรปิดใหม่ 2,000 ตัวในปีนี้ (2024) และอาจติดตั้งมากกว่านั้นในปีต่อไป
คริส ถัง (Chris Tang) หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัย กล่าวกับสื่อท้องถิ่นเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า ตำรวจมีแผนที่จะนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้กับกล้องนี้ เพื่อที่ในอนาคตจะสามารถติดตามผู้ต้องสงสัยได้
ตำรวจฮ่องกงระบุว่า กำลังศึกษาว่าตำรวจในประเทศอื่นๆ ใช้กล้องวงจรปิดอย่างไร รวมถึงวิธีที่พวกเขานำ AI มาใช้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ากล้องใหม่นี้จะมีกี่ตัวที่มีความสามารถในการจดจำใบหน้า หรือกำหนดเวลาเปิดตัวเทคโนโลยีดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงได้ชี้ให้เห็นถึงเขตอำนาจศาลประเทศอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมถึงประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ที่ใช้กล้องวงจรปิดในการบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง เช่น สิงคโปร์มีกล้องวงจรปิด 90,000 ตัว และสหราชอาณาจักรมีมากกว่า 7 ล้านตัว
แต่นักวิจารณ์บางคนเตือนถึงการติดตั้งกล้องดังกล่าวและกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ฮ่องกงแตกต่างจากที่อื่นๆ คือสภาพแวดล้อมทางการเมือง ซึ่งพบเห็นการปราบปรามความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และเข้าใกล้ความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการมากขึ้น
กล้องวงจรปิดนี้มีความหมายอย่างไรในฮ่องกง?
ฮ่องกงมีกล้องวงจรปิดสาธารณะมากกว่า 54,500 ตัวที่หน่วยงานของรัฐใช้ หรือประมาณ 7 ตัวต่อประชากร 1,000 คน ตามการประมาณการของบริษัทวิจัยเทคโนโลยี Comparitech ในสหราชอาณาจักร
จำนวนดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงกันกับนิวยอร์กซิตี้ แต่ยังห่างไกลจากเมืองต่างๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่มากๆ เนื่องจากจีนมีกล้องวงจรปิดเฉลี่ยประมาณ 440 ตัวต่อประชากร 1,000 คน
ความกลัวการสอดแนมและการโดนควบคุมแบบจีนแผ่นดินใหญ่ทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมากในฮ่องกงช่วงที่มีการประท้วงในปี 2019 ซึ่งความกลัวนี้ยังได้ขยายวงกว้างไปยันชาวฮ่องกงจำนวนมากที่กลัวว่ารัฐบาลกลางของจีนจะรุกล้ำอำนาจการปกครองของฮ่องกง
ในเวลานั้นผู้ประท้วงมักจะปิดหน้าด้วยหน้ากากอนามัยและแว่นตาเพื่อปกปิดตัวตน และบางครั้งก็ทำลายกล้องวงจรปิด แม้ว่าบางครั้งกล้องนั้นจะมีไว้สำหรับจับภาพการจราจร สภาพอากาศและมลพิษเท่านั้น
ข้ามฝั่งมาในจีนเราจะพบว่าการเฝ้าติดตามเหล่านี้มีอยู่ทั่วไป โดยจีนมักจะโชว์ความสำเร็จต่างๆ เช่นการจดจำใบหน้าแบบเรียลไทม์ และได้ส่งออกเทคโนโลยีการเฝ้าระวังไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ตามการวิเคราะห์ของ Comparitec พบว่า 8 ใน 10 เมืองที่มีการเฝ้าระวังสูงสุดในโลกต่อหัวอยู่ที่จีน ซึ่งการจดจำใบหน้าเป็นส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การสแกนใบหน้าในการลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ไปจนถึงประตูที่สามารถจดจำใบหน้าได้ในสถานีรถไฟใต้ดินบางแห่ง หรืออย่างช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลจีนกำหนดให้ใช้การสแกนใบหน้าเพื่อติดตามสถานะสุขภาพของผู้คน
ด้านผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความสงสัยว่า กฎหมายที่มีอยู่ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนโดยมีข้อยกเว้นกว้างๆ สำหรับตำรวจจะเพียงพอหรือไม่สำหรับการบังคับใช้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า กล้องรุ่นใหม่อาจถูกใช้เพื่อการปราบปรามทางการเมือง หากใช้งานภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เข้มงวด
“หากทางการไม่รับรองต่อสาธารณชนว่าจะไม่ใช้กล้องเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว นี่อาจเป็นอีกก้าวหนึ่งในการทำให้การบังคับใช้กฎหมายของฮ่องกงซึ่งใกล้เคียงกับที่ทำในจีนแผ่นดินใหญ่” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
อ้างอิงจาก