“อันนี้อย่าทิ้งเลยเดี๋ยวก็ได้ใช้ อันนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อไปขอเก็บไว้นะ”
สำหรับบางคน ความคิดทำนองนี้มักจะผุดขึ้นมาในหัวเวลาที่จัดห้องหรือคัดแยกสิ่งของต่างๆ คนรอบข้างก็ดูเหมือนจะไม่เข้าใจเลย ยังมาบ่นด้วยว่าจะเก็บอะไรไว้นักหนา ถึงแม้จะรู้ตัวดีว่าเก็บไปก็รก แต่มันก็อดหนักใจไม่ได้เหมือนกัน
หลายๆ ครั้งก็มานั่งคิด ว่าเอ๊ะ เราเป็นคนเดียวหรือเปล่าที่มีอาการแบบนี้ ทำไมคนอื่นเขาคัดแยกทิ้งได้อย่างหน้าตาเฉย ในขณะที่เรานั้นกลับเสียดายนู่นนี่ไปหมด เห้อ ความรู้สึกแบบนี้มันคืออะไรกันแน่
ก่อนอื่นลองเช็คตัวเองกันสักหน่อยดีกว่า ว่ามีอาการแบบนี้หรือเปล่า
- ชอบเก็บของไว้เยอะๆ ไม่ว่าจะมีมูลค่าหรือไม่ก็ตาม
- รู้สึกว่าการจัดของมันวุ่นวายเหลือเกิน
- มีปัญหาการตัดสินใจ
- มีปัญหาเรื่องจัดการชีวิตตัวเอง
- หวงของมาก แทบไม่ให้ใครแตะต้องหรือยืม
- ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวไม่ราบรื่น
จริงๆ แล้วถ้าคุณมีอาการแบบนี้รวมๆ กัน คุณไม่ได้เป็นอยู่คนเดียวหรอกนะ แถมยังมีหลักการทางแพทย์อธิบายไว้อย่างชัดเจนเลยด้วย ว่านี่อาจเป็นสัญญาณของโรค Hoarding Disorder หรือที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่าโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ
โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของถือเป็นอาการทางจิต
แค่ชื่อก็ฟังดูจริงจังแล้ว คงจะคิดกันว่าอาการแบบนี้ถึงกับเรียกว่าเป็นโรคเลยเหรอ แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าเป็นหนักมากๆ โรคนี้จัดว่าเป็นอาการทางจิตที่ควรได้รับการรักษาเหมือนกัน
โรค Hoarding Disorder หรือโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ เป็นโรคที่มีอาการอยากเก็บทุกอย่างเอาไว้ ตัดใจทิ้งสักอย่างแทบไม่ได้เลย และมีแรงจูงใจว่าของเหล่านี้จะมีประโยชน์ในอนาคต สุดท้ายแล้วก็จะจบที่ความรก กินพื้นที่มากมายเต็มไปหมด ในกรณีที่หนักมากๆ อาจลามไปถึงรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง และคนรอบข้างเลยก็ได้
อาการมักเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่จะชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุขึ้นเลขสาม เพราะข้าวของจะเยอะขึ้น ในขณะที่คนทั่วไปสามารถแยกแยะของเพื่อทิ้งได้อย่างสบายๆ คนที่มีอาการนี้จะคิดเยอะมากเวลาจะตัดสินใจทิ้งสิ่งของ เพราะคิดว่าประโยชน์ของมันน่าจะยังมีอยู่บ้าง โรคนี้มีโอกาสพบมากในคนที่โสด อยู่คนเดียว มีปมในวัยเด็ก หรือเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นระเบียบนัก
โรคนี้ถือว่ายังใหม่อยู่นะ เพราะเพิ่งถูกเพิ่มมาอยู่ในหมวดโรคทางจิตเวชเมื่อปี 2013 นี้เอง อย่างไรก็ดี การศึกษาที่ผ่านมาก็พบว่ามีปัจจัยอย่างเรื่องทางพันธุกรรม ร้อยละ 50 ของคนที่เป็นโรคนี้มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเหมือนกัน และอีกหนึ่งปัจจัยคือความบกพร่องทางสมองบางส่วน ที่ส่งผลด้านความคิด
ถ้าอาการหนักมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตได้ไม่น้อย
การเก็บสิ่งของไว้เยอะๆ มันย่อมไม่ถูกสุขอนามัยอยู่แล้วล่ะ อาจกลายเป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อโรคได้ ไหนจะเกะกะทางเดินจนเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ถ้าในแง่ร้ายที่สุด ลองนึกภาพตามดูสิ ถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นมา กว่าจะแหวกทางออกมาได้ มันจะไม่ทันเอานะ
อ้างอิงจากรายงานของต่างประเทศ ถ้ามีคนเอาของไปทิ้งโดยพลการ อาจเกิดความบาดหมางกันเลยก็ได้ ลามไปถึงสร้างความตึงเครียดระหว่างคนในครอบครัว เพราะคนอื่นไม่เข้าใจ
40 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นโรคชอบสะสมสิ่งของ มีอาการชอบสะสมสัตว์ด้วย
สะสมสัตว์เนี่ยนะ!? ใช่แล้วอ่านไม่ผิดหรอก คนที่มีอาการชอบสะสมสัตว์ หรือที่เรียกว่า Animal Hoarding จะมีความคิดคล้ายกับโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ ตรงที่พวกเขาจะรู้สึกว่าสัตว์ปริมาณมาก ที่มีชีวิตด้วยนะ จะมีประโยชน์ในอนาคต ช่วยให้พวกเขาผ่านช่วงเวลาร้ายๆ ช่วยฟื้นฟูจิตใจยามอาภัพรัก หรือแม้กระทั่งผูกความทรงจำไว้กับสัตว์ ทำให้ไม่สามารถปล่อยจากการเป็นเจ้าของได้เลย แต่ขณะเดียวกันก็ลืมไปด้วยว่าการมีเยอะไปจะมีผลกระทบอะไรหรือเปล่า
การสะสมสัตว์เยอะๆ เริ่มจากความหวังดีนั่นแหละ แต่พอมีมากเข้า ก็ต้องระวังด้วยว่า มันอาจกลายเป็นการดูแลได้ไม่ทั่วถึง สุดท้ายแล้วความหวังดีก็จะหวนกลับมาทำร้ายทั้ง 2 ฝ่าย สัตว์เองเมื่อไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอก็กลายเป็นเหมือนถูกทอดทิ้ง กลายเป็นทำร้ายสัตว์โดยไม่ได้เจตนา นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงเรื่องสภาพแวดล้อมที่สะอาดด้วย ทั้งการจัดการของเสียภายในบ้าน
เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องการสะสมสัตว์นั้นมันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และเกี่ยวพันกับเรื่องความเปลี่ยวเหงาของมนุษย์อยู่ไม่น้อยเลย
เคยมีข้อมูลที่ระบุว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้มักเป็นหญิงโสด หรือหญิงหม้าย เริ่มแสดงพฤติกรรมหลังจากผ่านการสูญเสียมา ทำให้สัตว์เหมือนเป็นที่พึ่งทางใจที่ดีที่สุด หลายๆ คนก็มองตัวเองเป็นหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ รับน้องๆ ที่ถูกทอดทิ้งมาดูแลด้วยความรัก ยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากในการจะยกให้คนอื่น เพราะส่วนมากพวกเขาจะเชื่อว่าไม่มีใครดูแลสัตว์เหล่านี้ได้ดีเท่าตนเอง
ปรึกษาหมอเมื่อรู้ตัวเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ในปัจจุบันโรคแบบนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาที่ช่วยปรับวิธีคิดในสมองของเรา ลักษณะเดียวกับยาต้านอาการซึมเศร้า แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องบำบัดพฤติกรรมและความคิด ปรับใหม่เพื่อให้เข้าใจเหตุผล จะได้สามารถละอะไรได้บ้าง
ก่อนจะไปหาหมอ เราต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่มีอาการมักไม่มองว่าตัวเองผิดปกติหรือเป็นปัญหาอะไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไปกระทบคนอื่น ส่วนคนที่เริ่มรู้ตัวก็จะมีอาการลังเลที่จะไปปรึกษาหมอ เพราะมันทำให้ตัวเองรู้สึกผิดปกติหรืออายได้เหมือนกัน ถ้ารู้สึกว่าคนใกล้ตัวเป็นโรคนี้ ควรโน้มน้าวให้ไปพบหมอด้วยกัน และยืนยันด้วยว่าจะไม่มีใครเข้าไปยุ่งกับสิ่งของของเขาแน่นอน การเพิ่มพื้นที่เพื่อให้เก็บของได้มากขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะสุดท้ายก็จะเต็มอย่างรวดเร็ว
อาการลักษณะนี้ต้องอาศัยความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเองหรือเกิดขึ้นกับคนรอบข้างก็ตาม หลายๆ เคสคงไม่ได้เกิดจากความชุ่ยหรือความสกปรกส่วนตัวขนาดนั้น หากแต่ยังมีเรื่องสุขภาพจิตใจภายในที่ยากจะควบคุมด้วยเหมือนกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation