อารมณ์กับเหตุผลดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน เวลาที่เราอยู่ในที่สาธารณะ อารมณ์เป็นสิ่งที่เราต้องสะกดเอาไว้ จะไปยืนหัวเราะร่าอยู่กลางรถไฟฟ้า หรือร้องไห้ในห้าง เป็นสิ่งที่เราถูกสอนมาว่าไม่ควรทำถ้าไม่จำเป็น โรงเรียนเป็นพื้นที่สำคัญที่เราเติบโตและค่อยๆ ได้รับการศึกษา เราต่างค่อยๆ เรียนรู้ที่จะมีเหตุผล รู้จักควบคุม ปิดบังอารมณ์ความรู้สึกของเราเอง
ระยะหลัง ถึงแม้ว่าจะมีกระแสเรื่อง ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ ขึ้นมา เป็นสิ่งที่นักศึกษาพยายามบอกว่าความฉลาดทางอารมณ์เป็นอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้ความฉลาดทางวิชาการ การใช้เหตุผลและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย แต่ในทางปฏิบัติ ในการให้กระบวนการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้าใจกับเด็กๆ เรื่องของ ‘อารมณ์’ ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในความรู้สึกของเด็กๆ กลับเป็นสิ่งที่ถูกละเลย
เวลาที่เด็กๆ เกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ สิ่งที่เรามักจะทำคือบอกให้ระงับ ปิดบัง และหยุดความรู้สึกต่างๆ มากกว่าจะชักชวนให้เด็กๆ สำรวจ และทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายในใจของเด็กๆ สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่า เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราเองกลับมีปัญหาในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของเราเอง เราไม่เข้าใจว่าเรากำลังรู้อะไรกันแน่ เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเราจะทำยังไงกับมันดี
มีงานศึกษาและกระแสในโรงเรียนว่า เฮ้ย เราละเลยเรื่องอารมณ์และความเข้าใจเรื่องของอารมณ์ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ไป มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งที่บอกว่าการฝึกฝนให้เด็กๆ ทำความเข้าใจอารมณ์ที่ละเอียดซับซ้อนส่งผลเชิงบวกในแง่พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กๆ ผู้คนที่มีทักษะทางอารมณ์ – มีความเข้าใจและละเอียดอ่อนต่ออารมณ์ความรู้สึกมีผลการศึกษาสูงกว่า มีความสัมพันธ์กับผู้คนได้ดีกว่า และมีพฤติกรรมเสี่ยงในแง่มุมต่างๆ น้อยกว่า
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างเด็กๆ ที่มีหัวใจ มีความฉลาดละเอียดอ่อนซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม โรงเรียนและนักการศึกษาจึงตอบรับและส่งเสริมให้อารมณ์กลายเป็นวาระสำคัญหนึ่งในการให้การศึกษา
ในอเมริกามีการพัฒนาการโครงการชื่อ RULER สนับสนุนโดยคณะนักวิจัยจาก Yale Center for Emotional Intelligence เป็นโปรแกรมที่เริ่มใช้ในโรงเรียนกว่าพันแห่งในสหรัฐเริ่มต้นในช่วงปี 2005 แกนกลางของโปรแกรมคือการผนวกประเด็นทางอารมณ์เข้าไปในการให้การศึกษาของโรงเรียน
แนวทางของ RULER ในการให้การศึกษาเรื่องอารมณ์ประกอบด้วย 5 เป้าหมายใหญ่ คือการรับรู้ (Recognize) อารมณ์ความรู้สึกทั้งของตัวเองและของคนอื่น เข้าใจ (Understanding) สาเหตุและผลกระทบของอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น นิยาม (Lebeling) คือรู้จักที่จะแยกแยะประสบการณ์ทางอารมณ์ของตัวเองด้วยคำและความหมายต่างๆ ได้อย่างแม่นยำว่าจริงๆ ความรู้สึกนั้นมันคืออะไร มีความเฉพาะเจาะจงอย่างไรบ้าง และสองตัวอักษรสุดท้ายคือเรียนรู้ที่จะแสดงออก (Expressing) และจัดการ (Regulate) อารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายให้เป็นไปในทางบวก ให้นำไปสู่การเติบโตในแง่มุมต่างๆ
ผลของการใช้โครงการ RULER ในโรงเรียน พบว่าเกิดผลเชิงบวก มีรายงานว่าในโรงเรียนที่ใช้โครงการ RULER มีอัตราการ bully กันน้อยกว่า นักเรียนมีภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าต่ำกว่า เด็กๆ มีภาวะผู้นำและมีรายงานผลการเรียนที่ดีกว่า
อารมณ์และความรู้สึกเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก เป็นนามธรรม และแน่ล่ะว่าการจะทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจกลับเป็นเรื่องซับซ้อนและเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน เรียนรู้ แนวทางสำคัญคือการกลับไปทบทวน พยายามอธิบาย และหาคำนิยาม ค่อยๆ ทำความรู้จักและเรียนรู้ความรู้สึกที่นิยามยากเหล่านั้น ดังนั้น ถ้าเราได้รับการฝึกฝนเพื่อเรียนรู้อารมณ์ของตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ ก็อาจจะเป็นการติดอาวุธทางความคิด ทางทัศนคติ และอาจทำให้เราใช้ชีวิตอยู่กับความยุ่งๆ กับความรู้สึกยากๆ ทั้งหลายได้ดีขึ้น
บางทีเราถูกสอนให้เข้าใจทุกอย่างบนโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเราแท้ๆ เรากลับไม่เข้าใจมันเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก