ย้อนไปเมื่อ 100 ปีที่แล้วนู้น Charles Spearman (ชาร์ล สเปียร์แมน) จิตแพทย์คลินิกผู้บุกเบิกนิยามของความชาญฉลาดของมนุษย์ (human intelligence) ในกรอบที่เขาเชื่อว่า ‘วัดได้’ โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) ที่ทำให้สังเคราะห์คนฉลาดและคนโง่อย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก เขายังนิยามองค์ประกอบทั่วไปของเชาวน์ปัญญา ที่เรียกว่า g-factor อันเป็นความคิดที่แฝงอยู่ภายใต้การกระทำทุกชนิดที่สามารถบ่งบอกลักษณะเชาวน์ปัญญาของคุณ
และครานั้นเองโลกเราจึงยอมรับว่า ‘เชาวน์ปัญญาสามารถวัดได้’ เป็นเวลามากกว่า 100 ปี จวบจนปัจจุบัน มีอีกคำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กันท่ามกลางความเปลี่ยนผันของโลก ว่า ‘ความชั่วร้าย’ วัดได้ไหม? คุณสามารถรู้ได้ไหมว่าชั่วร้าย ?
ในปีนี้ 2018 นักวิจัยจากทีมเยอรมันและเดนมาร์กมีความพยายามออกแบบองค์ประกอบทั่วไปของความชั่วร้ายในบุคลิกภาพชื่อว่า General Dark Factor of Personality หรือเรียกสั้นๆว่า D-factor โดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความชั่วร้ายซ่อนเร้นเป็นธรรมชาติเช่นกัน ขึ้นอยู่กับใครสามารถจัดการองค์ประกอบและสิ่งเร้าที่กระตุ้นความชั่วนั้นได้ดีแค่ไหน
ที่มาของ D-Factor
มนุษย์นั้นพึงแสดงบุคลิกที่สะท้อนถึงการมีจริยธรรม คุณธรรม และการอยู่ร่วมในสังคม ใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวในชีวิตประจำวัน เราแสดงออกไปว่าเราพึงอยากจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้เช่นเดียวกัน แต่จิตวิทยาก็ยังไม่ตัดบุคลิกภาพ ‘เชิงลบ’ ออกไปจากคุณเสียทีเดียว มันคงซ่อนเร้นและไม่แสดงออกอย่างชัดเจน จัดเป็นกลุ่ม Dark Traits ซึ่งไม่ค่อยมีการพูดถึงกันบ่อยนักในอดีต แต่ปัจจัยแนวโน้มของการทำความเข้าใจแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม การฆ่ากันตาย สงคราม การแย่งชิงทรัพยากรเป็นหัวข้อที่มีคนเริ่มสนใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ และมีประโยชน์มากในศาสตร์ด้านจิตวิทยาคลินิก อาชญาวิทยา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
เรียกได้ว่า ‘ด้านมืด’ ของมนุษย์มีความแซ่บในการทำความเข้าใจธรรมชาติอันซับซ้อนของพวกเราเลยทีเดียว แต่ความชั่วร้ายของมนุษย์จะจำแนกได้อย่างไรล่ะ? มันเหมือนกับเอาน้ำในมหาสมุทรมาใส่ขวดโหล แล้วเขียนป้ายกำกับว่าน้ำทะเลขวดไหนมาจากคาบสมุทรอะไร ถึงจะเค็มเหมือนกัน แต่ความเค็มต่างกัน เพราะพฤติกรรมของมนุษย์ล้วนทับซ้อนปนเปไปหมด
งานนี้นักวิจัย Morten Moshagen จากมหาวิทยาลัย Ulm University นำเสนอว่า เราสามารถจำแนกได้ด้วยองค์ประกอบ D-factors ที่หากมีคะแนนเทไปกลุ่มนี้มาก ก็มีแนวโน้มจะมีบุคลิกภาพเชิงลบในส่วนอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามทีมวิจัยมีความระมัดระวังมากในการนำเสนอแนวคิด D-Factors เพราะอาจมีการนำไปตีความในเชิงจริยธรรมอย่างผิดเพี้ยน ที่อาจสร้างคำถามใหม่ๆ ต่อสังคมมากกว่าให้คำตอบ
อะไรที่พวกเขาพบ?
จากงานวิจัย 4 ชิ้นพวกเขาเชื่อว่า มนุษย์มี D-Factor ราว 9 องค์ประกอบ ที่นำไปสู่พฤติกรรมชั่วร้ายของมนุษย์ ดังนี้
- ความเห็นแก่ตัว (egoism) บุคลิกที่แสวงหาประโยชน์สุขเพื่อตนเองโดยการตักตวงประโยชน์จากส่วนรวม
- ความเจ้าเล่ห์ (machiavellianism) คิดคำนวณวางแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อันชั่วร้าย
- ละทิ้งศีลธรรม (moral disengagement) แม้จะมีคุณธรรมประจำจิต แต่เมื่อมีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสมก็พร้อมจะละทิ้งศีลธรรมอย่างถาวรหรือชั่วคราว
- หลงตัวเอง (narcissism) มองตนเองสำคัญกว่าผู้อื่น ชอบเป็นจุดสนใจ คิดว่าตัวเองเด่นเลิศ
- ยึดมั่นในฐานันดรศักดิ์ (entitlement) เชื่อว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นๆ แตกต่างด้วยการศึกษา ฐานะ และยศถาบรรดาศักดิ์
- ไซโคพาธ (psychopathy) ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ต้องการแสดงพฤติกรรมเชิงลบออกมาเมื่อถูกกระตุ้น
- ซาดิสม์ (sadism) ชอบสร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ รู้สึกมีความสุขผ่านความเจ็บปวด
- เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (self-centeredness) พยายามไล่ตามคุณค่าผ่านขั้นบันไดทางชนชั้น ยึดติดวัตถุ มีความอยากครอบครองสิ่งที่สูงส่งโดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง
- เจ้าคิดเจ้าแค้น (spitefulness) มีความต้องการทำร้ายผู้อื่นทั้งด้านชื่อเสียง ทรัพย์สิน ร่างกาย หรือพรากความสะดวกสบายของผู้อื่น
มาถึงขั้นนี้หากคุณสนใจสำรวจ ความชั่วร้ายของคุณด้วยการทำแบบทดสอบ ก็เรียนเชิญที่ qst.darkfactor.org ซึ่งบททดสอบนี้อ้างอิงจากงานวิจัยของ Morten Moshagen ที่กล่าวในช่วงต้น แบบทดสอบแบ่งออกเป็น 3 แบบ ขึ้นอยู่กับคุณยินดีจะตอบคำถามเยอะและให้เวลามากแค่ไหน
D score มีตั้งแต่ 30 statement สั้นๆ ใช้เวลาทำไม่นาน จนถึง 90 Statement ที่ค่อนข้างวิเคราะห์ได้ละเอียดทีเดียว (ใน version ล่าสุดจะมี องค์ประกอบที่ 10 คือ ความโลภ (greed) เพิ่มมาด้วย)
ความชั่วร้ายที่เชื่อมโยง
จากการค้นพบ Dark Traits เชื่อมโยงให้เห็นว่า trait หนึ่งล้วนมีผลกระทบต่ออีก Trait หรือมีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะองค์ประกอบ machiavellianism, moral disengagement, psychopathy, sadism และ spitefulness ที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน
ซึ่งการพยายามเพิ่ม trait ที่ 10 คือความโลภ (greed) ทีมวิจัยพบว่า คนที่มีแนวโน้มทำแบบประเมิน D-Factor ได้คะแนนสูงกลุ่ม very high มีแนวโน้มที่พวกเขาจะเห็นแก่เงินเมื่อประจวบโอกาสเหมาะ อาจมีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อยสำหรับเงินนิดๆ หน่อย หรืออาจเข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่อาศัยการวางแผนซับซ้อนขึ้นสำหรับผลประโยชน์ที่ชวนตาลุกวาว
คุณลองทำแบบทดสอบแล้วได้คะแนนเท่าไหร่? คุณดาร์กแค่ไหน?
องค์ประกอบมืด (จริงๆ จะเรียกว่ามืดมิดไปเลยก็ไม่เชิง) ยังคงมีแสงสว่างในมิติของวิวัฒนาการที่สิ่งมีชีวิตพึงดิ้นรนในการอยู่รอด ทั้งที่ต้องเอาตัวเองรอดก่อน เอาครอบครัวให้รอด จนมาถึงทำให้สังคมรอด องค์ประกอบเหล่านี้ผลักดันสลับกันไปมาผ่านด้านสว่างและด้านมืดที่มนุษย์อุ้มชูมานานนับหมื่นๆ ปี ซึ่งในทางจิตวิทยาแล้วมักแชร์พื้นที่ร่วมกัน หาใช่แบ่งสีเป็นขาวดำ
บางบุคลิกคุณอาจซุกซ่อนมาตั้งแต่เด็ก เก็บงำมันไว้ในลิ้นชักไม่เอาออกมา แต่บางบุคลิกคุณอาจพึ่งค้นพบเมื่อครู่นี้ หรือเมื่อเวลาเหมาะสมมาถึงคุณกลับต้องทำความรู้จักกับตัวตนใหม่
ไม่ได้หมายความว่า คุณมี D-factor สูงแล้วคุณจะเป็นภัยของสังคม จำต้องอัปเปหิจากผู้คนที่คุณผูกพัน แต่เป็นเรื่องขั้นพื้นฐานที่น่าสนใจในการทำความเข้าใจองค์ประกอบคล้ายๆ กันที่คุณแชร์ร่วมกันกับผู้อื่น
อย่างไรก็ตามบุคลิกภาพของมนุษย์สามารถถูก ‘หยิบยืม’ ได้จากผู้คนที่คุณใกล้ชิด หากทำความรู้จักกับคนที่ทำเพื่อคนอื่นอยู่เสมอ คุณจะเห็นองค์ประกอบที่ทำให้เขาต้องเสียสละ และหากต้องผูกพันกับคนพลังลบ คุณก็ยังจะได้เรียนรู้จากปัจจัยรายล้อมที่ทำให้เขาต้องร้ายกาจต่อโลกใบนี้
บุคลิกภาพจึงเปรียบเสมือนสายน้ำที่ควบคุม โดยการกำหนดเส้นทางอย่างประนีประนอมต่อการเปลี่ยนแปลงที่คุณยังไม่ได้ค้นพบ
การยอมรับว่าคุณ “ร้ายกาจ” อยู่บ้าง ยังดีกว่าไม่รู้อะไรเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
The dark core of personality.
Moshagen, M., Hilbig, B. E., & Zettler, I. (2018). The dark core of personality. Psychological Review, 125(5),