หนังประเภทหนึ่งที่พร้อมจะทำให้คนดูตบเข่าฉาดด้วยความเจ็บใจก็คือหนังหักมุม
คอหนังหลายคนชื่นชอบหนังแนวนี้ แม้ทำใจไว้บ้างแล้วว่าอาจจะโดนเขาหลอก แต่ก็เต็มใจให้หลอก แต่ที่เด็ดสุดคือแบบที่ไม่ได้เตรียมใจไป แต่หักมุมจนเราต้องจำไปตลอดชีวิต
และนี่คือหนัง 20 เรื่องที่มีจุดหักมุมน่าจดจำ คลำๆ ดูก็เจ็บหัวใจอยู่ไม่มากก็น้อย ถ้าใครมีเรื่องไหนที่เด็ดๆ ก็แชร์กันเข้ามาได้ เผื่อว่าสายหักมุมด้วยกันจะได้ไปตามดูเนอะ
Psycho (1960)
เริ่มต้นด้วยหนังเก่าที่อาจไม่ใช่เรื่องแรกที่มีการหักมุม แต่เป็นผลงานของผู้กำกับระดับตำนานอย่าง อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก หนังเล่าเรื่อง มาเรียน เครน เสมียนสาวที่ตัดสินใจขโมยเงินจากบริษัทก่อนหนีไปยังโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่นั่นเธอได้พบกับ นอร์แมน เบทส์ ที่อาศัยอยู่กับแม่ของเขาในโรงแรม แล้วจู่ๆ มาเรียน ก็ถูกฆ่าในห้องน้ำโดยเชื่อว่าเป็น ‘แม่’ ของนอร์แมน (ซึ่งกลายเป็นฉากฆาตกรรมระดับตำนาน)
จุดนี้ก็พอบอกได้ว่าเป็นจุดหักมุมแรกที่ตัวละครที่เราคิดว่า น่าจะเป็นนางเอกของเรื่องถูกฆ่าตายตั้งแต่ตอนต้นของหนัง จากนั้นหนังก็เดินเรื่องต่อด้วย ไลล่า เครน ที่ออกตามหาพี่สาวซึ่งโดนประกาศจับเรื่องขโมยเงินด้วย แต่เมื่อพบว่ามาเรียน อาจเคยพักที่โรงแรมของนอร์แมน เธอจึงร่วมมือกับคนอื่นๆ ตามหาความจริง แต่ ‘แม่ของนอร์แมน’ ก็ฆ่าคนที่มาสืบคดีไปจำนวนหนึ่ง สุดท้ายเรื่องราวก็เฉลยออกมาว่า แท้จริงแล้วฆาตกรคือนอร์แมนผู้มีอาการทางจิต ใส่เสื้อผ้าของแม่แล้วออกไล่ฆ่าคนนั่นเอง ไม่ใช่แค่เรื่องราวที่หักมุม แต่ด้วยสไตล์การกำกับและเล่าเรื่องของฮิทช์ค็อก ทำให้หนังแนวลึกลับหักมุมมีที่ยืนทและมีคนกล้าทำมากขึ้น
Planet Of The Apes (1968)
พิภพวานรฉบับดั้งเดิม พูดถึงกลุ่มนักบินอวกาศที่ออกเดินทางก่อนจะพบว่ายานของพวกเขาไปตกอยู่บนดาวที่ลิงเป็นเจ้าพิภพ มีเพียงนักบินอวกาศเทย์เลอร์เพียงคนเดียวที่รอดตายและเขาก็ถูกจับตัวไปโดยกลุ่มลิง ซึ่งเขาพยายามสื่อสารด้วยจนนักทดลองลิงพบว่า เทย์เลอร์ มีสติปัญญาเหมือนกับพวกลิง สุดท้ายเทย์เลอร์กลายเป็นปัญหาในสังคมลิง และทำให้ลิงกลุ่มใหญ่ต้องตัดสินใจพาเขาไปยังพื้นที่ต้องห้ามเพื่อให้เขาได้รับรู้ความจริง… ความจริงที่ว่าดาวดวงนี้ก็คือโลกมนุษย์ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงจนเหล่าวานรวิวัฒนาการขึ้นมา และครองโลกไปแทนแล้ว
Star Wars: Episode V – The Empire Strikes Back (1980)
“โอบีวัน ไม่เคยบอกเจ้ารึว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อของเจ้า”
“เขาบอกข้าแล้ว! เขาบอกว่าเจ้าข้าพ่อของข้า!”
“ไม่… ข้า…คือพ่อของเจ้า”
“ไม่! ไม่!!!!”
มาพูดกันตอนนี้ ช็อตหักมุมนี้อาจจะเชยจนคนดูเฉย แต่ช็อตหักมุมนี้สำคัญอย่างไร ก็สำคัญมากพอที่ตอนถ่ายทำนั้นคนที่รู้บทนี้จริงๆ เพียงแค่ 5 คนเท่านั้น (แถมหนึ่งในนั้นก็คิดว่าเป็นการบลัฟของดาร์ธ เวเดอร์) และถ้าไม่มีประโยคนี้ปรากฏขึ้นมา เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นไตรภาคชุดที่สอง กับภาคแยกย่อยอีกมากมายของ Star Wars เป็นแน่แท้
The Sixth Sense (1999)
มัลคอล์ม โครว์ จิตแพทย์ ที่อาศัยอยู่กับภรรยาเจอผู้บุกรุกยามค่ำคืน ทำให้เขาถูกยิง เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี มัลคอล์ม ได้พบเด็กชายโคล ที่ทำตัวแปลกๆ เก็บตัวไม่ยุ่งกับใคร มีบาดแผลตามตัว มัลคอล์ม จึงพยายามหาสาเหตุและหาหนทางรักษาเด็กคนนี้ให้เข้าสังคมได้ปกติ แต่มัลคอล์มคงคาดไม่ถึงว่าปัญหาจริงๆ ของเด็กชายก็คือ ‘เขาเห็นคนตายได้’ !?
พูดถึงหนังหักมุมแล้วไม่พูดถึง เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน ก็คงจะแปลกไปเสียหน่อย และหนังที่เราจะนำเอามาพูดถึงก็ต้องเป็นผลงานที่ทำให้คนทั่วโลกติดภาพว่าชายผู้นี้คือผู้ที่ทำแต่หนังหักมุมไปโดยปริยาย และส่งผลให้ชื่อหนังในไทยของเขามีคำว่า ‘สยอง’ แทบทุกเรื่องไปและนั่นคงเป็นข่าวดีสำหรับผู้ชม เพราะมันทำให้เราไม่ได้ชื่อไทยของเรื่องนี้เป็น ‘คนอึดตายแล้ว’ ออกมาให้เห็นกัน
Murder on the Orient Express (1974)
ระหว่างที่รถไฟโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส เดินทางข้ามประเทศจากอิสตันบูลไปสู่ลอนดอน จู่ๆ ก็มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นในรถไฟตู้หนึ่ง ผู้ตายถูกแทงถึงสิบสองครั้งในห้องพักด้านในที่ลงกลอนเอาไว้ บ่งบอกถึงความแค้นที่คุกรุ่น แอร์กูล ปัวโรต์ ที่บังเอิญอยู่บนรถไฟขบวนนี้ด้วยได้ค้นพบว่ามีผู้ต้องสงสัยอยู่หนึ่งกลุ่ม และเขาก็เริ่มไขปริศนาว่าใครเป็นฆาตกร ปมของคดีนี้เป็นเรื่องที่อาจเกินความคาดหมายของทุกคนแม้แต่นักสืบหนวดงามที่มาไขคดีนี้
อาการ์ธา คริสตี้ เป็นผู้แต่งนิยายรหัสคดีชื่อดัง ซึ่งหลายๆ คดีนั้นก็มีความลับซ่อนเงื่อนอยู่มาก แถมยังอำนวยต่อการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์พอสมควร อย่าง Murder on the Orient Express ก็กำลังจะมีฉบับสร้างใหม่ให้ดูกันช่วงปลายปีนี้ เพราะฉะนั้นเราจะยังไม่สปอยล์เต็มๆ เผื่อใครจะไปดูนะ
Inside Man (2006)
หนังแนวโจรกรรมก็เป็นอีกแนวหนึ่งที่มักมีการล่อหลอกคนดูให้สับสนไปตามตัวละครในเรื่อง เรื่องนี้ยิ่งหนักหนาด้วยการเปิดฉากมาบอกกับคนดูเลยว่า “แผนการปล้นของเขาเป็นแผนการปล้นที่สมบูรณ์แบบ” ก่อนจะย้อนไปยังเรื่องราวแท้จริงที่คนเล่าเรื่องกับพวกบุกเข้าไปปล้นแบงค์ แผนการคร่าวๆ ก็คือ เข้าไปปล้นแล้วให้โจรสลับตัวกันไปเป็นตัวประกันที่ถูกแยกกันขังไว้ ยอมโดนทำร้ายบ้างเพื่อสร้างจุดเด่นให้คนจดจำ และสุดท้ายทุกคนรู้แค่ว่า มีหัวหน้าโจรหรือคนเล่าเรื่องตอนแรกเท่านั้นที่ไม่มีใครเคยเจอ
เรื่องวุ่นวายขึ้นเมื่อตำรวจพยายามหาทางช่วยตัวประกันแต่ก็ไม่แน่ใจสถานการณ์ภายในธนาคาร แถมยังมีนักเจรจาที่เข้ามาข้องเกี่ยว รวมไปถึงความลับของแบงค์ที่โดนปล้น แม้ว่าหนังจะเล่าเรื่องแบบเปิดเผยเกือบจะทุกปมที่ทำใหเเราสงสัยมาทั้งเรื่อง แต่จุดพีคก็คือปมหักมุมสุดท้ายที่ว่าตัวเอกทำการปล้นให้สมบูรณ์อย่างไร และเมื่อเฉลยออกมามันก็ทำให้เราต้องตบเข่าฉาดเลยทีเดียว
Shutter Island (2010)
เรื่องเล่าเกี่ยวกับเท็ดดี้ ตำรวจสืบสวนที่เดินทางไปยังเกาะชัตเตอร์เพื่อตามล่านักโทษคนเดียวที่หายตัวไป และเมื่อเกาะเจอพายุเฮอร์ริเคนการไขคดีที่ควรเดินหน้าได้เร็วขึ้นเพราะทุกคนติดอยู่ด้วยกัน ทว่าความจริงกลับตรงกันข้ามเมื่อคดีกลับมีความลึกลับเพิ่มขึ้น หรือจะมีหมอบนเกาะที่ช่วยเหลือคนไข้ที่หายไป หรือจริงๆ เท็ดดี้ สืบคดีผิดพลาดกันแน่?
แค่ดูหน้าตาของลีโอนาร์โดเครียดๆ ก็ช่วยบิลด์อารมณ์แล้ว บวกกับเรื่องราวกับฉากหลังที่ไม่น่าจะมีใคร ‘หนีไปไหนได้’ เมื่อตอนที่ความจริงเผยออกมา ก็ทำให้เราต้องกลับมาคิดอีกครั้งว่าเราเคยมองข้ามจุดบอกใบ้อะไรของหนังไป
Memento (2000)
หนังที่ทำให้ชื่อของ คริสโตเฟอร์ โนแลน โด่งดัง (จริงๆ ต้องมีโจนาธาน โนแลนด้วยแต่หลายคนมักลืมน้องชายที่เป็นผู้เขียนบทให้กับ คริสโตเฟอร์) เรื่องราวชีวิตของชายคนหนึ่งที่ดันเกิดอาการป่วยจนทำให้เขาไม่สามารถจดจำความทรงจำใหม่ๆ ได้และต้องใช้วิธีการจด สัก หรือ ถ่ายรูปแทน แถมสไตล์ของหนังที่โนแลนเล่าเรื่องสลับฉากขาวดำกับฉากสีโดยตั้งใจก็ยิ่งปั่นหัวคนดูเพิ่มขึ้น
เมื่อตัวเอกก็ไว้ใจไม่ได้ (เพราะความทรงจำลบเลือน) การเล่าเรื่องก็ไม่ปกติ เพราะฉะนั้นพอจะบอกได้ว่าทุกจุดของหนังเป็นการหักมุมก็ว่าได้ การที่คนดูหยิบหนังเรื่องนี้มาดูซ้ำอีกเพื่อทำความเข้าใจว่า ใครทำอะไรที่ไหนก่อนไปถกกับคนอื่นต่อจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับหนังเรื่องนี้
Gone Girl (2014)
หนังเล่าเรื่องคดีการหายตัวอย่างลึกลับของ เอมี่ ดันน์ และหลักฐานหลายๆ อย่างบ่งชี้ว่าสามีของหล่อน นิค ดันน์ น่าจะเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปครั้งนี้ แต่นิคก็บอกว่าเขาไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการหายตัวไปของภรรยา รวมถึงว่าตัวเขาไม่คิดฆ่าภรรยาแน่ๆ หรือบางทีอาจมีอะไรซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ของคู่รักคู่นี้
จุดเด่นของเรื่องนี้ก็คือการหักมุมตั้งแต่ช่วงกลางเรื่อง ไม่ใช่ในช่วงท้ายเรื่อง แถมการหักมุมยังเชิญชวนให้เราต้องติดตามต่อว่า หลังจากความจริงเปิดเผยไปเปลาะหนึ่งแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ ซึ่งตัวผู้เขียนนิยายได้โดดมาเขียนและปรับบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง อรรถรสของหนังจึงไม่ตกลงไปจากต้นฉบับ รวมถึงการกำกับขั้นเก๋าของเดวิด ฟินเชอร์ และ การแสดงของ แม่นางรสสมุนไพร เอ้ย โรซามุนด์ ไพค์ ที่สอนบทเรียนให้เรารู้ว่า… ‘อย่าทำให้อิสตรีพิโรธ’ และใช่ หนังเรื่องนี้จึงไม่เหมาะกับการนัดเดทหวานแหววแต่อย่างใด
Fight Club (1999)
ตัวเอกของเรื่องรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับชีวิตมนุษยเงินเดือนแถมยังมีอาการนอนไม่หลับรับประทาน จนกระทั่งพบกับ ไทเลอร์ เซลล์แมนขายสบู่ ชายที่พร้อมแหกคอกทุกกฎระเบียบได้พบกันและก่อตั้ง ‘ไฟท์คลับ’ ที่ให้ชายหนุ่มในสังคมมาระบายความดิบที่ต้องเก็บเอาไว้ในตัว ก่อนที่เรื่องราวจะใหญ่โตจนกลายเป็นการทำ ‘โปรเจกท์เมย์เฮม’ เพื่อทำลายสังคมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดนี้ ว่าแต่ว่า ไทเลอร์เป็นใคร ทำไมถึงมีอิทธิพลต่อตัวเอกได้ขนาดที่เขายอมเปลี่ยนชีวิต
พอจะบอกได้ว่าหนังหักมุมเรื่องนี้เป็นหนังที่น่าจะถูกพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของยุค 90s โดยไม่เกี่ยวกับเจ้าหนูของ แบรด พิทท์ ที่แอบโผล่มานิดๆ ในหนัง แต่เพราะหนังเล่าเรื่องกระทบกับสังคมในยุคนั้นพอสมควร อย่างเช่นตัว ‘ไฟท์คลับ’ ในหนัง ก็มีคนพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง หรือแม้แต่การก่อการร้ายบางเหตุการณ์ก็กล่าวกันว่ามีแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้
อ๊ะ เราเผลอละเมิดกฎของไฟท์คลับที่ห้ามพูดถึงมันไปเสียแล้ว
The Game (1997)
ชีวิตของนายแบงค์ที่งานประสบความสำเร็จแต่ชีวิตส่วนตัวขาดความสุข ไม่เสวนากับภรรยาเก่าและน้องชาย ทั้งยังหลอนอยู่กับภาพของพ่อที่ฆ่าตัวตาย เมื่อนายแบงค์คนนี้อายุเข้าสู่วัย 48 ปี เท่ากับตอนที่พ่อเขาจบชีวิตตัวเอง เขาจึงยิ่งรู้สึกเคว้งจนกระทั่งน้องชายเขาส่งใบเชิญให้เขาได้เล่น ‘เกม’ แต่กลายเป็นว่าเกมนั้นกลับพาลจะทำให้ชีวิตเขาต้องตกอับ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้เขาได้เผชิญหน้ากับครอบครัวและตัวเองมากขึ้น งั้นเกมนี้มันมีเป้าหมายอะไรล่ะ?
ไปๆ มาๆ เราพูดถึงหนังของ เดวิด ฟินเชอร์ ถึงสามเรื่อง ถ้าเทียบกับอีกสองเรื่องที่พูดถึงไปแล้ว The Game อาจไม่ได้เล่นเทคนิคแพรวพราวแต่ใช้การบอกเล่าตรงๆ ก่อนจะปล่อยหมัดสำคัญตอนท้ายที่ทำให้คนดูต้องลืมหายใจไปชั่วขณะ
The Prestige (2006)
หนังคริสโตเฟอร์ โนแลน อีกเรื่อง ที่บางคนอาจเรียกกันขำๆ ว่าเป็นหนัง ‘วูลฟ์เวอรีน ปะทะ แบทแมน’ อันเป็นผลพวงจากการที่ได้ ฮิวจ์ แจ็คแมน กับ คริสเตียน เบล มารับบทนำ ตัวหนังจริงๆ เกี่ยวกับ การดวลกันของสองนักมายากล โรเบิร์ต แองกิเออร์ กับ อัลเฟรด บอร์เด็น ศิษย์ร่วมสำนักมายากลเดียวกันแต่กลายเป็นอริกันหลังจากแองจิเออร์เสียภรรยาคนแรกไป
การต่อสู้กันเริ่มตึงเครียดมากขึ้น เมื่อต่างฝ่ายต่างพยายามสร้างกลสลับที่ ซึ่งตอนแรกแองจิเออร์ใช้ทางกลแบบหนึ่งแต่ทำให้เขาต้องตกไปอยู่ใต้เวทีไม่เคยเห็นผู้ชมชื่นชมตัวเขา ก่อนที่บอร์เด็นจะสร้างกลลักษณะคล้ายกันแต่มีเทคนิคเร้าใจกว่า จนทำให้แองจิเออร์พยายามหาความลับว่า บอร์เด็นใช้เทคนิคแบบไหน และเขาก็ต้องเทคนิคใหม่ ซึ่งสุดท้ายแองจิเออร์ก็ได้อุปกรณ์ของ นิโคลา เทสลา มาใช้งาน และพัฒนากลสลับที่ฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งจุดหักมุมนั้นอยู่ที่ ‘เคล็ดลับที่แท้จริง’ ของกลทั้งสองชุดนี่เอง
The Mist (2007)
หนังเริ่มเรื่องหลังจากพายุพัดถล่มเมือง คุณพ่อกับลูกชาย รวมถึงเพื่อนบ้านละแวกเดียวกันจึงเดินทางไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งเพื่อซื้อของเข้าบ้าน ระหว่างที่ช็อปปิ้งอยู่นั้น หมอกหนาก็ลงมาปกคลุมตัวเมือง และมีสัตว์ประหลาดที่เอาชีวิตคนได้โดยง่ายอาศัยอยู่ในนั้น ผู้คนที่ติดอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องตัดสินใจว่าพวกเขาจะทำอย่างไร เมื่อสุดท้ายกลุ่มพระเอกตัดสินใจจะออกไป พวกเขาก็พบว่าเขาอาจจะไม่รอดและทำให้พระเอกตัดสินใจกระทำการอย่างหนึ่ง… และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในเรื่องกลับไม่ใช่สัตว์ประหลาดแต่เป็นมนุษย์ที่ตกอยู่ในความหวาดกลัว
ผลลัพธ์ที่ออกมาในตอนจบทำให้เราคิดว่าหนังเรื่องนี้ที่ได้ แฟรงค์ ดาราบอนท์ ดัดแปลงเนื้อเรื่องจากนิยายของสตีเฟ่น คิง ให้กลายเป็น ‘ฉากจบที่ขัดใจคนดูที่สุดในช่วงสิบปีหลัง’ ไปโดยปริยาย และความโหดของฉากจบที่แตกต่างจากนิยาย (ซึ่งคิงอนุมัติด้วย) ทำให้มีการตัดสินใจสร้างซีรีส์ทางทีวีและออกฉายอยู่ในอเมริกา ณ เวลานี้
Old Boy (2003)
ไม่ครับ เราจะไม่พูดถึงการ์ตูนต้นฉบับ หรือหนังฉบับฮอลลีวูด แต่เราพูดถึง Old Boy ฉบับเกาหลีที่ยืมโครงเรื่องของการ์ตูน ก่อนจะใส่ฉากบู๊โหดดิบเพิ่มเติมเข้าไปอันนั้นต่างหาก
หนังเล่าเรื่องของ โอ แดซู ชายหนุ่มที่ดูขี้เหล้าเมาหยำเปที่ถูกลักพาตัวแล้วไปขังอยู่ในห้องแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้รู้จากข่าวทีวีในห้องนั้นว่าภรรยาของเขาถูกฆ่า รวมถึงได้รับรู้ว่าฆาตกรตัวจริงก็คือคนที่ลักพาตัวเขามานั่นแหละ เวลาผ่านไปสิบห้าปีอยู่ๆ แดซู ก็ถูกปล่อยออกมา พี่แกจึงออกเดินทางเพื่อล้างแค้นทันที ซึ่งแดซูก็ใช้กำลังและความรุนแรงตามหาตัวคนร้ายซึ่งเขาก็พบว่า ลี วูจิน เป็นตัวการ แถมยังท้าทายว่าถ้าแดซูสามารถสืบหาความจริงได้ใน 5 วัน แล้วก็เป็นความจริงนั่นเองที่เป็นจุดหักมุมให้กับหนังและคนดูว่าสุดท้ายเราควรจะเข้าข้างใครในการชำระแค้นครั้งนี้
ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004)
หนังเปิดตัวค่าย GTH ที่เป็นใบเบิกทางให้หนังของค่ายนี้ฮิตติดลมบนจนถึงวันที่แปรสภาพมาเป็น GDH ในขณะเดียวกันก็เซ็ตเทรนด์การทำหนังผีหักมุมให้วงการหนังไทยอีกด้วย (ซึ่งก็เป็นทาง GTH/GDH เองที่ทำหนังผีหักมุมออกมาบ่อยๆ) และในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าคนทำหนังไทยสามารถลงความละเอียดทั้งด้านการถ่ายทำและเนื้อเรื่องได้ดี จนทำให้หนังเรื่องนี้โดนรีเมคในต่างประเทศมาแล้วสามครั้ง
หนังเล่าเรื่องธรรม์ กับ เจน เดินทางกลับมาจากงานแต่งงานของเพื่อนแล้วขับรถชนหญิงสาวคนหนึ่ง แทนที่พวกเขาจะลงไปช่วยเหลือเขากลับหนีไป หลังจากนั้นธรรม์ที่เป็นช่างภาพเริ่มมีอาการเจ็บป่วยแถมยังถ่ายรูปติดเงาลึกลับ ซึ่งเจนเองก็เจอเหตุการณ์แปลกๆ เช่นกัน ทั้งสองคนจึงพยายามสืบค้นว่า ‘ผีสาว’ ตนนั้นคือใคร ซึ่งเรื่องราวก็ดำเนินไปจนรับรู้ว่า ผีสาวตนนั้นคือเนตร แฟนเก่าของธรรม์ ซึ่งเลิกรากันไปแล้วและคาดว่าถ้าทำพิธีศพอย่างถูกต้องแล้ว เนตร จะเลิกหลอกหลอนพวกเขา…ซึ่งพวกเขาคิดผิด เพราะธรรม์มีความลับที่ไม่อยากเปิดเผยให้เจนรู้ซ่อนอยู่
รักแห่งสยาม (2007)
เราหยิบหนังเรื่องนี้มาพูดในฐานะหนังหักมุม ไม่ใช่เพราะการหักมุมตอนท้ายเรื่อง แต่หนังหักมุมเราตั้งแต่โฆษณาแล้ว ด้วยความที่หนังอาจจะมาในยุคสมัยที่คนดูหนังส่วนมากในไทยยังไม่พร้อมรับ LGBTQ ตัวอย่างและโฆษณาทำให้เราคิดว่าหนังจะต้องเล่าเรื่องคู่รักวัยรุ่นสองคู่ที่อาจจะมาสลับรางเส้นทางรักในดินแดนที่ถือว่าชิคที่สุดในสยามประเทศอย่าง ‘สยามสแควร์’
แต่เนื้อแท้ของหนังเรื่องนี้คือหนัง Coming Of Age ผสมกับดราม่าครอบครัวแบบเข้มข้นอย่างที่คนดูบางคนที่โดนโฆษนาชี้นำไป จนทำให้ในช่วงแรกผู้ชมแบ่งเป็นสองกลุ่มก็คือ ไม่รักก็จะรู้สึกเกลียดไปเลย กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป หนังเรื่องนี้ก็ทำให้หนังไทย (และละคร) กระแสหลักนำเสนอประเด็นความสัมพันธ์ครอบครัวที่มี LGBTQ มากขึ้น
โรงแรมนรก (1957)
หนังไทยระดับคลาสสิก ของ รัตน์ เปสตันยี บุคลากรคนสำคัญสำหรับวงการหนังไทย ระดับที่ติดอยู่ในโครงการ ‘100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู’ ของ หอภาพยนตร์แห่งชาติ หนังตลกเสียดสีเรื่องนี้มีความวุ่นวายมากมาย หรือถ้าบอกว่าเป็นการหักมุมแทบจะทุกองก์ของหนังก็ไม่ผิดนัก เนื้อหาเกี่ยวกับโรงแรมสวรรค์ แต่มีความวุ่นวายดั่งนรก นอกจากจะมีแขกแปลกๆ เดินทางมายังโรงแรมแห่งนี้แล้ว ยังมีการซ้อมดนตรีแบบวุ่นวายในห้องโถง คู่พระนางที่ประวัติลึกลับ รวมไปถึงยังมีกลุ่มโจรที่บุกเข้ามาเพราะหวังชิงเงินจำนวนมาก ซึ่งเรื่องทั้งหมดก็พลิกอีกครั้งในตอนท้าย
แม้หนังเรื่องนี้มีอายุอานาม 60 ปีแล้ว แต่กลับมีจังหวะในการนำเสนอที่สนุกสนานและอาจล้ำหน้ากว่าหนังที่ออกฉายทีหลังด้วย ถ้าสนใจหนังเรื่องนี้ ทางมูลนิธิหนังไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และผลิตแผ่น DVD ออกมาขายมานานแล้ว
เปนชู้กับผี (2006)
หนังเรื่องก่อนหน้าที่เรากล่าวไปก่อนหน้าเป็นหนังเก่าคลาสสิก แต่หนังผีเรื่องนี้ตั้งใจเล่าเรื่องให้เก่าตามสไตล์เรื่องผีของ ครูเหม เวชกร เรื่องราวของหนังจึงไม่ยุ่งยากซับซ้อนนัก หนังเล่าเรื่องของนวลจัน สาวตั้งครรภ์ที่เดินทางเพื่อตามหาตัวสามีที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนไปขอพักแรมในคฤหาสน์ของรัญจวน ที่มีข่าวลือว่าเธอซุกซ่อนชายชู้ไว้ และชู้คนนั้นอาจจะไม่ใช่คน…หรือจริงๆ คฤหาสน์หลังนี้ต่างหากที่กักเก็บสิ่งไม่มีชีวิตเอาไว้?
เกมส์มหาโชค (1986)
ก้อย และ เอ้ อาศัยอยู่บ้านติดกันกับ เกษรา เพื่อนของก้อย ที่หนีภัยสามีมาอยู่คนเดียวชั่วคราว ระหว่างนั้นเองเกษราได้เจอกับเศรษฐินีที่บอกว่าเธอเป็นยายที่ไม่ได้พบกันนานและจะมอบมรดก 100 ล้าน แต่ก็มีเงื่อนไขว่าอยากจะเห็นหลานสาวมีชีวิตคู่กับสามี ก้อยจึงออกอุบายให้เอ้ปลอมตัวเป็นสามีของเกษรา เพื่อเอาเงินมาแบ่งกันทีหลัง
ผลงานการกำกับของ เปี๊ยก โปสเตอร์ และเป็นหนังที่ปัญญา นิรันดร์กุลเป็นพระเอกในช่วงที่หนังไทยยังบูมก่อนถึงจุดเงียบเหงาไปในช่วงหนึ่ง หนังเดินเรื่องในแนวตลกที่ตั้งใจเล่นใหญ่กับสถานการณ์อันวุ่นวาย แต่จบแบบหักมุมเล็กๆ เมื่อความจริงเปิดเผยว่าบางทีเรื่องมรดกที่ว่านั้นอาจจะเป็นแค่ ‘เกม’ เล่นสนุกของคนมีเงินเหลือใช้เท่านั้นเอง
13 เกมสยอง (2006)
หนังไทยที่ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนของเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ กับการเริ่มต้นที่เล่าง่ายๆ กระตุ้นต่อมอยากได้เงินของมนุษย์กับเกมโชว์แบบเรียลลิตี้ที่แทรกซึมอยู่ในทุกหน่วยงานของประเทศไทย ทำให้ตัวละครที่หลงไปติดอยู่ในเกมก็ไม่อาจถอนตัว ทำได้เพียงการเล่นไปตามกติกาของเกมเท่านั้น กระนั้นเมื่อภูชิตต้องจำใจเล่นเกมไปถึงโจทย์หลังๆ เขาก็ต้องถามใจตัวเองมากขึ้น และปมสุดท้ายที่มาหักใจคนดูในเรื่องทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วนในลำคอไม่เบาทีเดียว
เรามีสองสิ่งที่เสียดายเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือ ฉบับรีเมคของฝรั่งมันดูไร้อารมณ์ และเราก็ไม่รู้ว่าจะได้ดู 14 ที่เป็นภาคต่อไหม